28 มิ.ย. 2023 เวลา 13:06 • ดนตรี เพลง

Ado - ศิลปินในดวงใจ

ถ้ามีคนถามว่า นักร้องคนโปรดของผมคือใครในตอนนี้ ผมตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า Ado ไม่เพียงว่าเป็นนักร้องหญิง หรือนักร้องญี่ปุ่นที่ชอบที่สุด แต่เป็นนักร้องที่ชื่นชอบที่สุดในทุกหมวดหมู่ แน่นอนว่าในอดีตก่อนที่จะได้รับฟังเสียงของเธอ ผมก็ชื่นชอบเสียงร้องของคนอื่นที่สุดมาก่อนเหมือนกัน ไม่ว่าในอนาคตจะเปลี่ยนใจเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ที่แน่นอนคือติดใจน้ำเสียงของ Ado
Ado ภาพวาดโดย Orihana นักวาดขาประจำของ Ado
ผมเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ตอนอยู่มัธยม และโตมากับเพลงแนว Rock แบบยุคเก่า ๆ หน่อย เช่น Guns N’ Roses หรือ Led Zeppelin แต่คนรอบตัวอายุใกล้เคียงกับผมไม่ค่อยมีใครสนใจแนวเพลงแบบเดียวกันกับผมเท่าไหร่นัก
แน่นอนว่า เมื่อมีงานโรงเรียน ผมก็จะต้องไปฟังและฝึกเล่นเพลงที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นในตอนนั้น แต่หากให้เลือกนั่งฟังเอง ก็คงมีเพลย์ลิสต์ที่น่าเขินอายอยู่พอสมควร เช่นมีแต่เพลงเก่า ๆ แบบ Oasis หรือ The Beatles แล้วแต่อารมณ์ ไปคาราโอเกะกับเพื่อนก็ร้องได้แต่เพลงทั่ว ๆ ไปที่เคยฟังตอนยังเป็นนักเรียนอยู่ พอติดลมขึ้นมาหน่อยก็กดเพลงเก่าหน่อย ๆ อย่าง Elvis Presley หรือ Frank Sinatra มันก็แอบเขิน ๆ หน่อย ๆ
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ส่วนใหญ่แล้วพวกผมฟังแต่เพลงภาษาไทยไม่ก็ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเรียนในโรงเรียนภาษาอังกฤษและเป็นคนไทยโดยกำเนิด เมื่อผมเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส ก็คิดว่า ในโลกนี้น่าจะมีเพลงและดนตรีดี ๆ อีกมากมายเลยที่ขับร้องเป็นภาษาที่ไม่คุ้นหู ตั้งแต่นั้นก็เริ่มหาเพลงภาษาอื่น ๆ ฟัง เริ่มจากฝรั่งเศสเพราะกำลังเรียนอยู่อย่างจริงจัง จนตราตรึงใจกับเพลง Non, Je ne regrette pas ของ Edith Piaf ซึ่งอาจจะคุ้นหูจากหนังเรื่อง Inception กับเพลง J’ai deux amours
Edith Piaf
เมื่อทำลายกำแพงทางภาษาออกไปได้ คลังเพลงก็ขยายออกไปกว้างขึ้น แต่ก็คิดว่า จริง ๆ แล้วความชอบวง Guns N’ Roses ก็มาจากความชื่นชอบของคุณแม่ แต่แม่ก็ฟังภาษาอังกฤษไม่ออกเลย หรือเพื่อนบางคนที่ชื่นชอบบางเพลงของ Fujii Kaze อย่าง Shinunoga E-wa หรือบางเพลงของ Vaundy อย่าง Odoriko ก็ฟังภาษาญี่ปุ่นกันไม่ได้แต่อย่างใด ก็สามารถชื่นชอบเพลงภาษาเหล่านั้นได้
เสียงดนตรีเป็นภาษาอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นคนที่เล่นกีต้าร์สาย Blues เป็นหลัก กับฟังและเล่น Jazz บ้าง เช่น Chet Baker หรือ Joe Pass ซึ่งเป็นเพลงที่มีเสียงร้องน้อย หรือ Classic ดัง ๆ อย่าง Four Seasons ของ Vivaldi ฟังดนตรีเหล่านี้ที่ไม่มีเนื้อร้องแล้วกลับรู้สึกเหมือนกับว่าเข้าใจสิ่งที่มันสื่อให้เรารับรู้ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ มันไม่จำเป็นต้องมีคำพูดสักคำ แต่ก็ทำให้รู้สึกคล้อยตามไปกับข้อความที่ดนตรีนำเสนอ เสมือนว่าเป็นภาษาที่สื่อออกมาได้แต่เพียงเสียงดนตรีเท่านั้น
Chet Baker
ไม่ใช่ว่าผมด้อยค่าดนตรีที่เป็นเทรนด์หรือเป็นที่นิยมกันในสังคม เพียงแต่ว่าเพลงโดยทั่วไปที่คนรอบตัวของผมเขาฟังกันไม่ถูกหูผมเท่าไหร่ หลาย ๆ ครั้งผมแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าเพลงไหนเป็นเพลงไหน หากไม่ได้นั่งฟังดี ๆ สำหรับผม เพลงหลาย ๆ เพลงมันคล้าย ๆ กันหมด จนผมก็รำคาญหูของผมเหมือนกัน
จริง ๆ แล้ว นอกจากจะเรื่องมากเรื่องการเลือกฟังเพลง ผมก็เรื่องมากเรื่องเสียงร้องเหมือนกัน ครั้งหนึ่งผมไปกินข้าวเย็นกับครอบครัวที่ร้านอาหารหนึ่งที่มีดนตรีสด และมีการเปลี่ยนนักร้องสลับกันไปมา ผมที่เบื่อขนาดที่เอา Tetris ขึ้นมาเล่น สักพักหูก็ไปสะดุดที่เสียงร้องของนักร้องหญิงคนหนึ่ง ขนาดที่ผม Pause เกมแล้วหันไปดูว่าใครร้อง ปรากฏว่าในขณะเดียวกันคุณพ่อก็บอกคุณแม่ผมว่า คนนี้ร้องดี ผมเห็นด้วย ในบรรดานักร้องทั้งหมด คนนี้ร้องดีสุด
ถึงแม้กระนั้น ผมก็สามารถฟังเพลงที่ไม่มีเสียงร้องได้ หรือเสียงร้องเป็นเสียงที่ปรุงแต่งขึ้นมา เช่น Vocaloid แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แนวที่ชอบ แม้ว่าจะเคยชอบเพลงอย่าง World is Mine โดย Supercell ด้วยเสียงของ Hatsune Miku ก็ตาม คือ หากดนตรีทำออกมาให้เข้ากันกับเสียง Vocaloid ผมก็ชอบฟังครับ เช่น Lag Train ของ Inabakumori ซึ่งมีจังหวะทำนองดนตรีที่เหมาะสมและเข้ากันกับเสียง Vocaloid
Lag Train ของ Inabakumori
ผมมาเริ่มฟังเพลงญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเรียน เพราะเพลง God Knows ที่ประกอบอนิเมะในใจผมตลอดกาลอย่าง Suzumiya Haruhi ด้วยความประทับใจเสียงร้องของ ฮิราโนะ อายะ ที่ทรงพลังและจับใจ สมัยนั้นนักดนตรีที่ดูอนิเมะคงจะหลีกเลี่ยงเพลงของ K-on! ไม่ได้เหมือนกัน
จากนั้นก็ไม่ได้สนใจเพลงญี่ปุ่นอีกจนกระทั่งฟังวง Yoasobi เริ่มจากเพลงที่โด่งดังอย่าง Racing into the Night และประทับใจกับดนตรี เนื้อเพลง และเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของคู่หูนี้ ติดใจสไตล์เนื้อเพลงคงคอนเซ็ปต์เปลี่ยนนิยายเป็นดนตรี ผมจึงได้รู้ว่า เนื้อเพลงญี่ปุ่นแปลกกว่าเพลงภาษาอื่น ๆ จริงอยู่ว่าเพลงรักเป็นที่นิยม แต่การเขียนเนื้อเพลงมักจะทำเป็นการบอกเล่าเรื่อง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ฟังแล้วไม่เบื่อ
Yoasobi
หลังจากนั้นก็ไล่นั่งฟังเพลงญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมใน YouTube อย่างจริงจัง สไตล์เพลงของญี่ปุ่นมีความแตกต่างอย่างน่าเหลือเชื่อ เป็นดนตรีที่ให้ความสำคัญกับเสียงร้องและซับซ้อน ทำให้การนั่งแกะเพลงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างงดงาม ไลน์กีต้าร์มีลักษณะที่แตกต่างจากแนวที่ฝึกอยู่เป็นประจำ ทำให้นิ้วมือซ้ายไม่รู้ว่าจะต้องขยับอย่างไร
หลายคนเห็นว่าผมฟังเพลงญี่ปุ่นและรู้ว่าผมชอบดูอนิเมะก็คงจะคิดว่าผมฟังเพลงอนิเมะเป็นหลัก แน่นอนว่าผมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเพลงอนิเมะบางเพลงที่อยู่ในเพลย์ลิสต์ของผม แต่มีสัดส่วนน้อยมากหากเทียบกับรายการเพลงอื่น ๆ เพราะส่วนตัวผมแล้ว ผมมองว่าเพลงอนิเมะมีเค้าโครงใกล้เคียงกัน ฟังไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันแล้วรู้สึกเบื่อ (แต่เพลงเปิดอนิเมะสมัยนี้มีความสดใหม่มาก ทำให้ผมทึ่งเหมือนกัน)
นอกจากเพลงอนิเมะแล้ว เพลงญี่ปุ่นอื่น ๆ มีความสดและแปลกใหม่มาก เป็นดนตรีที่ไม่คุ้นหู ยิ่งทำให้เกิดความสนใจมากขึ้นไปอีก เจอนักร้องเก่ง ๆ หลายคนที่ฟังเสียงร้องก็ทำเอาใจเต้น เหงื่อออก และบางทีน้ำตาไหลได้ อย่าง LiSA หรือ Aimer นอกจากนี้ยังเจอนักร้องหญิงอีกคนที่มีน้ำเสียงทรงพลังอย่าง Minami ที่ร้องเพลง Crying for Rain ประกอบอนิเมะ Domestic Girlfriend (ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่คิดว่าจะได้ดู) อย่างกับว่าผมนิยมฟังเสียงร้องของผู้หญิง (ตลกตัวเองเหมือนกัน)
LiSA ใน The First Take
ไม่นาน ผมก็ได้ยินเสียงที่สะดุดใจผม เมื่อผมเปิดไปเจอเพลง Backlight ที่ใช้ประกอบ One Piece Film RED ด้วยความที่โตมากับเพลงสาย Rock มันกลายเป็นเพลงที่มีดนตรีและเสียงร้องแหกปากประทับใจขึ้นหิ้ง แต่ตอนนั้นผมก็ไม่ได้สนใจว่าใครเป็นร้องเพลงนี้เท่าไหร่ เพราะคิดว่าเป็นเพลงประกอบหนัง (เหตุผลอะไรก็ไม่รู้) ทำให้คิดแค่ว่า นักร้องคนนี้เก่งจังเลยแหะ เหลือบไปเห็นคำว่า [ADO] ก็คิดแค่ว่าน่าจะเป็นชื่อวง หารู้ไม่ว่า อีกไม่นาน ผมจะเสพติดเสียงของผู้หญิงคนนี้
มารู้ที่หลังว่า Vaundy เป็นคนทำเพลงนี้
Backlight (Gyakko) โดย Ado และ Vaundy
หากเพลง Backlight แนะนำขึ้นมาอีก ผมก็จะกดฟังอีกเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว จนหลังจากนั้นไม่นานนัก ผมก็รู้ว่า Ado เป็นชื่อนักร้อง ด้วยความสนอกสนใจ ก็เลยตามไปฟังสักเพลง เอาเพลงที่มียอดผู้ชมเยอะที่สุด อย่าง Usseewa และเท่านั้นแหละครับ น้ำตาจะไหล
ผมบอกว่าผมชอบเพลงแนว Rock แต่ก็ไม่ได้ชอบแบบ Metal เพราะส่วนตัวแล้วไม่ชอบเสียงหากปากเท่าไหร่ คนอาจจะมองว่า Usseewa ก็เป็นเพลงสายแหกปากเพลงหนึ่ง แต่ผมเห็นต่าง มันเป็นการใช้เทคนิกแบบ Distortion หรือ Fry (ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเพราะไม่รู้เรื่องการร้องเพลง) ที่ผสมกับเมโลดี้ที่เข้ากันอย่างน่าเหลือเชื่อ มันไม่เหมือนเป็นการแหกปากปกติ แต่เป็นการร้องเพลงอย่างหนึ่งดี ๆ นี่เอง
หลังจากนั้นก็รู้ว่า Usseewa เป็นเพลง Debut ผมก็คิดแต่ว่า เพลงนี้อ่ะนะ เป็นเพลง Debut และก็เริ่มไล่ฟังเพลงอื่น ๆ ของ Ado ทั้งวันทั้งคืน กลายเป็นว่า ผมเคยได้ยินเสียงของ Ado มาตั้งนานแล้ว เพราะเป็นเสียงที่ร้องเพลงที่ผมชื่นชอบเพลงหนึ่ง นั่นคือ Kinmokusei ของ Kujira ผมก็ทึ่ง ๆ เหมือนกันว่า นั่นเสียง Ado เหรอ
Kinmokusei โดย Kujira Feat. Ado
เอาล่ะ ผมพล่ามมามากแล้ว แต่ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะได้เขียนเกี่ยวกับ Ado อีกหรือไม่ ไหน ๆ จะเขียนเกี่ยวกับนักร้องคนนี้แล้ว ก็ขอเขียนให้มันสุด ๆ ไปเลยจะดีกว่า คนที่ไม่รู้จัก Ado ก็คงจะงง ๆ ว่า ใครวะ ซึ่งพอจะเข้าใจได้ แต่หากคุณเป็นคนที่ติดตามวงการบันเทิงญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น อนิเมะ หรือดนตรีโดยทั่วไปแล้ว ชื่อนี้เป็นชื่อที่มองข้ามไม่ได้เลย และยิ่งหากคุณติดตาม One Piece และเคยดู Film RED แล้ว จะไม่รู้จัก Ado ไม่ได้ เพราะเธอคือเสียงร้องเพลงของอุตะ
Ado เป็นใคร คำตอบคือไม่รู้ ตัวตนที่แท้จริงของเธอเป็นความลับ ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 20 (ซึ่งเรารู้ว่าเธอเกิดวันที่เท่าไหร่ปีอะไร) ชื่อ Ado เป็น Stage name ที่เธอใช้ในเวปไซต์ญี่ปุ่น Niconico เนื่องจากเธอชื่นชอบการร้องเพลงตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจร้องเพลง Cover ลงเวปไซต์นั้นภายใต้ชื่อ Ado ในฐานะ Utaite หรือคนร้องเพลง Cover บน อินเตอร์เน็ต
Ado เล่าว่า เธอได้ชื่อนี้จากหนังสือเรียน เป็นคำเรียกตัวละครสมทบในการแสดง Kyogen ตัวหลักเรียกว่า Shite ตัวสมทบเรียกว่า Ado เธอเห็นว่าเป็นคำที่เพราะดี จากนั้นก็คิดว่า หากเธอได้เป็นตัวละครสมทบในละครชีวิตของใครสักคนก็คงดีไปเลย ซึ่งต่อมา คำว่า Kyogen ถูกใช้เป็นชื่ออัลบั้มแรกของ Ado
การแสดง Kyogen
ช่างเป็นความคิดที่เหมาะเจาะกับช่วงชีวิตของผมเหมือนกัน เมื่อผมคิดได้ว่า ผมไม่สามารถเป็นตัวละครหลักได้เลย แม้แต่เรื่องราวชีวิตของตัวเองก็มองเป็นเห็นตัวเองเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น เพราะดูทรงแล้ว อย่างมากก็เป็นได้แค่ตัวละครสนับสนุนของเรื่องราวชีวิตของคนอื่นเท่านั้น การที่มีคนคิดเห็นคล้าย ๆ กันแบบนี้ ยิ่งทำให้อิ่มเอมใจเหลือเกินครับ
เสียงของ Ado ได้รับอธิพลมาจากดนตรีที่คุณพ่อของเธอชื่นชอบ เช่น เพลงของวง Queens และ Kiss และ Ado ก็เติบโตมากับความชื่นชอบเพลง Vocaloid อย่าง Hatsune Miku เท่าที่เห็น ผมเข้าใจว่า Ado ไม่ได้เรียนร้องเพลง แต่พัฒนาเสียงร้องของเธอเอง (แต่ผมหวังว่าเธอได้รับคำแนะนำของ Vocal Coach มืออาชีพนะ เพราะการใช้เสียงของเธออันตรายมากหากทำไม่ถูกต้อง และผมก็อยากจะได้ยินเสียงของเธอต่อไปเรื่อย ๆ)
Hatsune Miku กับ Ado ในเพลง Tokyo Sang at Night (Tokyo wa yoru)
เส้นทางของเธอเริ่มอย่างเรียบง่าย วันดีคืนดีอยากร้องเพลงก็ร้อง ร้องเหนื่อยก็เล่นเกม วันไหนอยากเอาลงอินเตอร์เน็ต ก็เข้าไปในตู้เสื้อผ้า และอัดเสียงร้องตัวเอง อัพโหลดลงอินเตอร์เน็ต หารู้ไม่ว่า เสียงร้องของเธอเป็นที่นิยมอย่างมาก ฐานผู้ติดตามเยอะขึ้นเรื่อย ๆ กับฝีมือที่พัฒนามากขึ้น สร้างเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จนวันหนึ่ง เธอได้เปลี่ยนจากการเป็นนักร้อง Cover บนอินเตอร์เน็ต จนมีเพลงเป็นของตัวเอง
Usseewa โดย Ado และ Syudou
หนึ่งวันก่อนเธออายุครบ 18 เพลง Debut ของ Ado เผยแพร่ นั่นคือ Usseewa เป็นเพลงที่เขียนและผลิตโดย Syudou ซึ่งเป็นนักทำดนตรี Vocaloid ที่ทำเพลง Hatsune Miku มากมาย เพลง Usseewa ระเบิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ด้วยแนวเพลงตึง ๆ เสียงร้องทรงพลัง และเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านตั้งแต่ชื่อที่แปลประมาณว่า “หุบปากไปซะ” ถ้าผมได้ฟังเพลงนี้ตอนยังเป็นวัยรุ่น คงจะอินไม่น้อยเลย
แน่นอนว่า เมื่อเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านด้วยภาษาที่รุนแรงแบบนั้น คงเป็นเรื่องที่มีเสียงต่อต้านจากสังคมญี่ปุ่นพอสมควร โดยเฉพาะผู้ใหญ่ กลายเป็นเพลงหนึ่งที่ถูกแบน ไม่ให้เหล่าวัยรุ่นฟัง จริง ๆ แล้ว นอกจากเนื้อเพลงที่เขียนโดย Syudou ที่มีเนื้อหารุนแรงแล้ว น้ำเสียงดุดันของ Ado ก็เสริมสร้างอารมณ์ตึง ๆ นั้นมากขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่สังคมอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่นจะเสียงแตกแบบนั้น
ไม่กี่ปีต่อมา Ado ร่วมงานกับ PinocchioP ผู้สร้างดนตรีสาย Vocaloid อีกท่านหนึ่ง ทำเพลง I’m a Controversy ด้วยเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาหนึ่งเป็นการตอบกลับเสียงตอบรับของเพลง Usseewa เป็นเพลงที่มีจังหวะสนุก เนื้อเพลงหน้าเห็นใจ ประกอบกับ MV ที่ตลก
I'm a Controvery (Atashi wa mondaisaku) โดย Ado และ PinnochioP
อย่างไรก็ตาม Usseewa ก็ได้รับเสียงตอบรับและความนิยมอย่างท่วมท้น จนติด Chart Billboard Japan Hot 100 และได้อับดับสูงสุดที่อันดับที่ 1 ชื่อเสียงของ Ado กลายเป็นที่รับรู้ และหลังจากนั้น เธอได้รับโอกาสในการร้องเพลงมากมายจากนักเขียนเพลงมากหน้าหลายตา เช่น jon-YAKITORI และ Vaundy แต่เธอก็ยังไม่ลืมจุดกำเนิดของตัวเอง และอัพโหลด Cover ของอินเตอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ
สัญลักษณ์ของ Ado นอกจากชื่อ และอวาตารแนวอนิเมะของเธอแล้ว ก็คือ กุหลาบสีฟ้า ซึ่งในภาษาดอกไม้ของญี่ปุ่นแล้ว มีความหมายว่า “ความฝันที่เป็นจริง” (A dream comes true) เท่าที่อ่านผ่านตามา มันมีที่มาจากการที่กุหลาบ แม้ว่าจะมีหลายสี แต่สีฟ้าเป็นสีที่หาไม่ได้ในธรรมชาติ ดังนั้น การที่กุหลาบมีสีฟ้าจึงเปรียบเสมือนความฝันที่เป็นจริง
Ado จับเอากุหลาบฟ้ามาเป็นสัญลักษณ์ของเธอ เพื่อสื่อถึงความฝันที่เป็นจริง ความฝันของเด็กผู้หญิงที่ชอบร้องเพลงของ Vocaloid และอัดเพลงในตู้เสื้อผ้าลงอินเตอร์เน็ต สู่การเป็นนักร้องที่นักเขียนเพลง Vocaloid มากหน้าหลายตาเลือกให้มาร้องเพลงของพวกเขา และเป็นนักร้องที่มีเพลงเป็นของตัวเอง และอีกความฝันหนึ่ง ที่จะมีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง ในสถานที่ที่สามารถรับผู้ชมมากมาย และได้ขับร้องเพลงของเธอให้แฟน ๆ ฟัง
ปกอัลบั้ม Kyogen วาดโดย Orihana เจ้าเดิม
และแล้ว ในปี 2022 เดือนสิงหาคม เธอได้ทำความฝันนั้นให้เป็นจริงแล้ว โดยการจัดคอนเสิร์ตของเธอ ณ Saitama Super Arena สนามที่สามารถรองรับผู้คนได้มากถึง 36,000 คน เป็น Indoor Arena ที่ใหญ่อันดับสองของโลก
ผมที่ติดตามฟังเพลงของ Ado ก็สงสัยเหมือนกันว่า เธอจะเล่นสดอย่างไร ไม่ใช่ในประเด็นว่าเธอจะสามารถปกปิดตัวตนของเธอบนเวทีอย่างไร แต่เพราะว่าเพลงที่เธอร้อง ใช้พลังเสียงเยอะมาก ๆ อยากรู้ว่าเธอจะขยับร่างกายอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ของเพลงเหล่านั้น อยากเห็น Performance ของเธอ แม้ว่าจะได้เห็นบ้างแล้ว เช่น Usseewa (Piano ver.) และ Odo (Live) ที่หาดูได้บน YouTube
Ado Live Campanella
ผมไม่มีโอกาสได้ไปดูคอนเสิร์ตด้วยตัวเอง ทำได้แต่นั่งคาดหวังว่าสักวันจะได้เห็น Ado บนเวทีมากกว่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อมีประกาศว่าจะวางขาย Blu-ray บันทึกการแสดงคอนเสิร์ต Campanella เช้านั้นผมไม่รีรอเลยแม้แต่น้อย และกด Pre-order กดจ่ายตังโดยทันทีแบบไม่ต้องคิดเยอะ และเมื่อแผ่นมาส่งถึงที่บ้าน และผมนั่งดูแบบตื่นเต้นเหมือนเด็กที่เพิ่งได้เกมใหม่
แม้ว่า Ado จะไม่เปิดเผยใบหน้า แต่ก็เป็นศิลปินคนหนึ่งที่ทำให้แฟนคลับหลงรักและผูกพันไปกับตัวตนของ การตอบโต้กับแฟนคลับอย่างเป็นกันเองด้วยเสียงห้าว ๆ และใช้คำพูดแบบเด็กผู้ชายอย่างสนุกสนาน ทำให้รู้สึกเข้าถึงได้แต่ก็รู้สึกห่างไกล ผ่านการพูดคุยฉันเพื่อนสนทนากัน ไม่ว่าระหว่างเธอจัดรายการวิทยุ หรือระหว่าง Stream เล่นเกม
Ado ในฐานะ DJ รายการ All Night Nippon
Ado เป็นนักร้องที่ได้รับการชื่นชมและยกย่องเสมือนเป็นเด็กอัจฉริยะ เทพธิดา หรือลูกรักพระเจ้า แน่นอนว่าเราอาจจะเรียกเธอได้เป็นผู้มีพรสวรรค์ แต่เธอก็แสดงให้เห็นว่าของแบบนี้ไม่ใช่ว่านั่งเฉย ๆ แล้วจะได้มา Ado โพสคลิปฝึกร้องเพลงของเธอลง Twitter เป็นครั้งคราว แสดงให้เห็นถึงพัฒนาของเสียงของเธอ เสียงของ Ado ในตอนนี้พัฒนามาไกลมากหากเทียบกับเพลงแรก ๆ ที่เธอ Cover และจะพัฒนาไปได้ไกลมากกว่านี้อีก
Ado คือหนึ่งในศิลปินที่น่าติดตามที่สุดแห่งยุคสมัย และผมเชื่อว่า Ado จะได้รับพื้นที่ในประวัติศาสตร์วงการดนตรีหน้าหนึ่งอย่างแน่นอนครับ
โฆษณา