3 ก.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

มองเขา มองเรา: ความแตกต่างของรัฐสภาไทย กับ อังกฤษ

เมื่อแอดมินได้มีโอกาสย้อนกลับมาดูการเมืองไทย นับตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 24 สิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งในระหว่างที่พลเอก ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตลอดเวลา พร้อมกับมีการตั้งข้อสังเกตและความสงสัยที่ไม่ชอบมาพากลของการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 (ภาพ: Nationtv)
หนึ่งในนั้นรวมถึง “วุฒิสภา” ที่มาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมาจากการสรรหา 244 คน และโดยตำแหน่ง 6 คน รวม 250 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา แล้วได้ดำเนินการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงทำให้วุฒิสภาชุดนี้ ถูกมองว่าเป็นฐานอำนาจ “ชั้นดี” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้จะมีการยุติบทบาทไปในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562
กระทั่งเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแบบ “ตุกติก” ทิ้งไว้ด้วยความสงสัยและคำครหาอันไม่พึงพอใจของประชาชนส่วนหนึ่ง รวมถึง “บัตรเขย่ง” จนได้พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา มาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ปรากฏว่าการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คงเป็นเพียงแค่ภาพในอุดมคติของคนบางกลุ่ม ซึ่งไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงได้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (ภาพ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
ขณะเดียวกัน เวลาที่มีการประชุมร่วมของรัฐสภาในสมัยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน การให้ความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาค่อนข้างที่จะร่อยหรอ ไม่เต็มที่ แล้วยังมีการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แลดูไม่เหมาะสมออกปรากฏสู่สาธารณชน เช่น การใช้ถ้อยคำวาจาที่หยาบคาย ส่อเสียด แทะโลม, การชูนิ้วแสดงของลับ, การท้าทายเชิงวิวาทต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน, การมาทำงานเพียง 6 วัน ที่เหลือเป็นการลา 394 วัน เป็นต้น
เว้นแต่จะเป็นวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่สมาชิกวุฒิสภาจะปรากฏตัวกันอย่างพร้อมพรั่งเป็นพิเศษ แล้วพร้อมลงมติให้รัฐบาลนี้ดำรงอยู่ต่อไป ท่ามกลางกระแสความไม่พึงพอใจต่อการบริหารประเทศ ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่น่าอุจาดของผู้นำรัฐบาล
จนเกิดเป็นการตั้งประเด็นให้มีการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดตั้งคำถาม นำไปสู่ #สวมีไว้ทำไม ขณะเดียวกันก็ยังมี #สวเนรคุณ เพราะเห็นได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ไม่สมกับฐานะของผู้ทรงเกียรติ และเงินเดือนที่พึงจะได้รับ ซึ่งมาจากภาษีประชาชน
สมาชิกวุฒิสภา (ภาพ: Voice Online)
การมีอยู่หรือไม่มีของวุฒิสภา ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะมีบางส่วนที่เห็นและเข้าใจมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีวุฒิสภาเคียงข้างกันกับสภาผู้แทนราษฎรมาแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว เช่นเดียวกับระบอบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ รวมไปถึงที่มีคนบางกลุ่มได้เชื่อมโยงไปว่าแท้ที่จริงแล้ว ประเทศไทยเองก็ได้นำรูปแบบการปกครองมาจากประเทศอังกฤษ จึงนำมาสู่การเป็นกรณีศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างรัฐสภาไทย กับ อังกฤษ
สำหรับรัฐสภาของประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร มีที่มาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษ ถูกยึดครองโดยชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างแองเจิล (Angles), จูท (Jutes) แซกซอน (Saxons) และนอร์มัน (Normans) ซึ่งต่างฝ่ายต่างเป็นปฏิปักษ์ และตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา จึงได้มีการจัดระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอำนาจ
จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาการปกครองโดยมีฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้น แต่การใช้กฎหมายก็ยังเป็นหน้าที่ของสภาที่ปรึกษา (The Witenagemot) และพระปรีชาสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์
เมื่อระบบศักดินา (Feudalism) มีความแข็งแกร่งขึ้นโดยกลุ่มตระกูลเจ้าที่ดิน เกิดความเป็นชนชั้นอย่างชัดเจนในช่วงศตวรรษที่ 10 ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 11 และ 12 พระมหากษัตริย์จึงทรงพยายามแสวงหาการสนับสนุนจากระบบศักดินา ด้วยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นเรียกว่า “มหาสภา” (The Great Council) โดยแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากพระและขุนนาง ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ ทั้งในเรื่องนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
ภาพวาดพระมหากษัตริย์แองโกล-แซกซอน กับคณะสภาที่ปรึกษา (The Witenagemot) ในพระคัมภีร์ Hexateuch อังกฤษโบราณ ช่วงศตวรรษที่ 11 (ภาพ: Wikimedia Commons)
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ หรือสมเด็จพระเจ้าจอห์นผู้เสียแผ่นดิน (John Lackland) ได้เกิดวิกฤติทางการเมือง เนื่องจากพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจในการเรียกเก็บภาษีมากขึ้น เพื่อนำมาทำสงคราม กลายเป็นการกดขี่ประชาชน รวมถึงไม่ให้ความสำคัญกับมหาสภา และละเมิดข้อบังคับต่าง ๆ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของขุนนางเพื่อต่อต้าน บังคับให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญอย่าง “มหากฎบัตร” หรือแมกนา คาร์ตา (Magna Carta) ในปี ค.ศ. 1215 (พ.ศ. 1758)
ภาพวาดสมเด็จพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ทรงลงพระปรมาภิไธยในมหากฎบัตร หรือแมกนา คาร์ตา (Magna Carta) เมื่อปี ค.ศ. 1215 (พ.ศ. 1758, ภาพ: Wikimedia Commons)
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 แห่งอังกฤษ มีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงมหากฎบัตร เพื่อให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีความเด็ดขาด นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนาง จนเกิดการยึดอำนาจ โดยไซมอน แอมองฟอร์ด (Simon de Monfort) ในปี ค.ศ. 1265 (พ.ศ. 1808) แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และได้มีการเรียกประชุมรัฐสภา (Parliament) นอกจากจะมีพระและขุนนางเข้าร่วมการประชุมแล้ว ยังได้เลือกอัศวินและชาวบ้าน อย่างละ 2 คน เข้าร่วมการประชุมด้วย
ไซมอน แอมองฟอร์ด (Simon de Monfort) ผู้ก่อกบฏในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 แห่งอังกฤษ เสียชีวิตในสมรภูมิเอฟแชม (Battle of Evesham, ภาพ: Wikimedia Commons)
โดยที่รัฐสภามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ร่าง และแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้แทนจากพลเมืองเข้าร่วมประชุม และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบผู้แทน (Representative)
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้มีการเรียกประชุมรัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิก 3 กลุ่ม คือ ขุนนาง พระ และสามัญชน ซึ่งต่อมาปลายศตวรรษที่ 14 ได้พัฒนามาเป็นระบบสองสภา (Bicameralism) ประกอบด้วย สภาขุนนาง (House of Lords) คือ สภาที่ประกอบด้วยพระและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สภาสูง” และสภาสามัญชน (House of Commons) คือ สภาที่ประกอบด้วยผู้แทนสามัญชนและขุนนางชั้นผู้น้อย เรียกอีกอย่างว่า “สภาล่าง”
รัฐสภา นอกจากมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและร่าง แก้ไขกฎหมายต่าง ๆ แล้ว ยังทำหน้าที่ในการคานอำนาจกันระหว่างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อำนาจขุนนางและสามัญชนด้วย
จนในศตวรรษที่ 13 – 15 เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองเพียงฝ่ายเดียวแล้ว แต่การใช้อำนาจทางการเมืองร่วมกับรัฐสภา และการถูกจำกัดทางพระราชอำนาจยังคงเกิดขึ้นอยู่ ฉะนั้น การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารของพระมหากษัตริย์ มาตรการต่าง ๆ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะต้องมีการแถลงต่อรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การอภิปรายในรัฐสภาต่อไป
แต่ภายหลังก็ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐสภาอยู่บ่อยครั้ง อันเนื่องมาจากความพยายามในการสร้างเสริมพระราชอำนาจ ทำให้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เกิดความรุนแรงขั้นสุด ถึงกับมีการยกเลิกระบอบกษัตริย์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบสาธารณรัฐในช่วงหนึ่ง โดยนายพลโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell)
ภาพวาดนายพลโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell, ภาพ: Wikimedia Commons)
เมื่อนายพลโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ถึงแก่กรรมแล้ว อังกฤษก็ได้มีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสภาองคมนตรี แต่สภาองคมนตรีไม่ขึ้นตรงต่อรัฐสภา จึงเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐสภาขึ้นมาอีก
จนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เมื่อพระองค์ต้องการให้มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก นำไปสู่การล้มล้างพระราชอำนาจ แล้วพัฒนามาเป็นการที่รัฐสภามีอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก พร้อมให้มีการกำหนดขอบเขตของพระมหากษัตริย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปการเมือง ค.ศ. 1832 (Reform Act, 1832, พ.ศ. 2375) ขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายอย่าง ประกอบด้วย การทำให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลดลง มีการขยายสิทธิเลือกตั้ง การผลักดันให้เกิดกลุ่มการเมืองรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมือง และการทำให้สภาสามัญเป็นสถาบันทางการเมืองหลักอย่างแท้จริง ปรากฏเป็นแบบแผนสืบมาถึงปัจจุบัน
สรุปแล้ว รัฐสภาของอังกฤษ จากอดีตถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย สภาขุนนาง หรือ สภาสูง คือ สภาที่ประกอบด้วยพระและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และสภาสามัญชน หรือ สภาล่าง คือ สภาที่ประกอบด้วยผู้แทนสามัญชนและขุนนางชั้นผู้น้อย โดยที่ทั้งสองสภานั้นทำหน้าที่คอยถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน และดำเนินควบคู่กันไปในระบบการเมืองของประเทศอังกฤษ
โดยที่สภาขุนนาง ประกอบด้วย ขุนนางสืบเชื้อสาย (Hereditary Peers), ขุนนางตลอดชีพ (Life Peers), ขุนนางโดยตำแหน่งที่เกี่ยวกับนักบวชสมณศักดิ์ (Archbishops and Bishops) และขุนนางกฎหมาย (Law Lords) ทำหน้าที่พิจารณาและแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากสภาสามัญ แต่ไม่สามารถแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับเงินได้ เพราะต้องอยู่ในความรับผิดชอบของสภาสามัญเท่านั้น รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยตั้งกระทู้ถามและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่ไม่มีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหรือรัฐบาลได้
ภายในสภาขุนนาง (House of Lords) พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: UK Parliament)
ส่วนสภาสามัญ ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจากอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ทำหน้าที่ในการตรากฎหมาย ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถาม อภิปราย ควบคุมฝ่ายบริหารโดยการคัดค้าน เสนอญัตติและลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี รัฐบาล รวมถึงการพิจารณา ตรากฎหมายเกี่ยวการเงินของประเทศ
ภายในสภาสามัญ (House of Commons) พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: UK Parliament)
ก่อนการประชุมรัฐสภาในแต่ละครั้ง ก็จะต้องมีการประกอบพิธีเปิดประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ สำหรับพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (The State Opening of Parliament) ได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ที่มีการสร้างพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1834 (พ.ศ. 2377) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสามัคคีของ 3 องค์ประกอบสำคัญในรัฐสภา ประกอบด้วย องค์พระประมุขแห่งรัฐ สภาขุนนาง และสภาสามัญชน
พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: arch daily)
การเปิดประชุมรัฐสภาจะประกอบพิธีภายในสภาขุนนาง พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ในวันแรกของการประชุมรัฐสภาชุดใหม่หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปได้ไม่นาน ซึ่งพิธีดังกล่าว องค์พระประมุขแห่งรัฐจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน
หากองค์พระประมุขแห่งรัฐไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินได้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้ากระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์เดินทางมาประกอบพิธี โดยการอ่านกระแสพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา เช่น ในปี ค.ศ. 1959 และ 1963 (พ.ศ. 2502 และ 2506) ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กำลังทรงพระครรภ์เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค และ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเอดินเบอระ ตามลำดับนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอบรี เป็นผู้แทนพระองค์
และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (The State Opening of Parliament) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565, ภาพ: UK Parliament)
ลำดับพิธี เริ่มต้นด้วยการที่องค์พระประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้า หรือสมเด็จพระราชินีนาถตามแต่รัชสมัย จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถม้าพระที่นั่งจากพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม ไปยังพระราชวังเวสต์มินเตอร์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง จะทรงพระดำเนินไปประทับที่ห้องฉลองพระองค์ (Robing room) เพื่อทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท (The Imperial State Crown) และทรงฉลองพระองค์ Robes of State
พระแสงแห่งรัฐ (The Sword of State, ภาพ: The Royal Collection Trust)
เสร็จแล้วจะทรงพระดำเนินออกจากห้องฉลองพระองค์โดยริ้วขบวน มีผู้เชิญพระแสงแห่งรัฐ (The Sword of State) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1678 (พ.ศ. 2221) เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยผู้เชิญพระมาลาแห่งการบำรุงรักษา (Cap of Maintenance)
ซึ่งเป็นของขวัญที่สมเด็จพระสันตะปาปาประทานให้แก่พระมหากษัตริย์อังกฤษมาตั้งแต่สมัยโบราณ มักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการรับรองและสิทธิพิเศษในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ผ่านคณะบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ภายในหอศิลป์หลวง (Royal Gallery)
พระมาลาแห่งการบำรุงรักษา (Cap of Maintenance, ภาพ: The Royal Collection Trust)
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ เสด็จพระราชดำเนินผ่านคณะบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ภายในหอศิลป์หลวง (Royal Gallery) ก่อนเสด็จออกยังสภาขุนนาง (House of Lords) ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (The State Opening of Parliament) เมื่อปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553, ภาพ: UK Parliament)
แล้วเสด็จออกยังสภาขุนนาง ประทับบนพระราชบัลลังก์ (The Sovereign's Throne) ท่ามกลางสมาชิกพระราชวงศ์ ผู้มีบรรดาศักดิ์ และนักบวชทรงสมณศักดิ์ ซึ่งเฝ้าฯ อยู่ ณ ที่นั้น แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่เฝ้าฯ ทั้งหมดนั่งลง
พระราชบัลลังก์ (The Sovereign's Throne) ภายในสภาขุนนาง (House of Lords) พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: UK Parliament)
จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เบิกคทาดำ หรือ แบล็กร็อด (Black Rod) ไปเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ที่สภาสามัญชนมาเฝ้าฯ ที่สภาขุนนาง เมื่อแบล็กร็อดไปถึงยังสภาสามัญชนแล้ว ประตูของสภาสามัญชนก็จะปิดลงตรงหน้าโดยทันที
การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องย้อนหลังไปถึงครั้งสงครามกลางเมือง (The Civil War) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความเป็นอิสระจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของสภาสามัญชน ซึ่งประตูสภาสามัญชนจะเปิดออกก็ต่อเมื่อแบล็กร็อดได้เคาะประตู 3 ครั้งด้วยคทาดำประจำตัว
ผู้เบิกคทาดำ หรือ แบล็กร็อด (Black Rod) ทำการเคาะประตู 3 ครั้งด้วยคทาประจำตัว ก่อนจะเข้าไปป่าวประกาศเชิญสมาชิกสภาสามัญชนไปเฝ้าฯ รับกระแสพระราชดำรัสที่สภาขุนนาง ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (The State Opening of Parliament) เมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560, ภาพ: UK Parliament)
เมื่อประตูเปิดแล้ว แบล็กร็อดก็จะเข้าไปป่าวประกาศเชิญสมาชิกสภาสามัญชนไปเฝ้าฯ รับกระแสพระราชดำรัสที่สภาขุนนาง ซึ่งจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามของพระราชบัลลังก์ (Bar of the House) ขณะเดียวกันแบล็กร็อดอีกท่านหนึ่งจะทำการเชิญคทาพิธีการ (Ceremonial mace) ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางสภาสามัญชน แล้วจะเดินนำหน้าประธานสภาสามัญ กับแบล็กร็อด ผู้เบิกคทาดำออกไป
เมื่อทุกอย่างพร้อมเพรียงแล้ว องค์พระประมุขแห่งรัฐจะมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหาที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาล ประกอบด้วยนโยบายและกฎหมายที่เสนอสำหรับการประชุมรัฐสภาชุดใหม่ เมื่อจบกระแสพระราชดำรัสแล้ว จะทรงรับความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ แล้วทรงพระดำเนินกลับไปประทับที่ห้องฉลองพระองค์ เพื่อทรงเปลื้องพระมหามงกุฎและฉลองพระองค์ Robes of State
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภาในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (The State Opening of Parliament) เมื่อปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562, ภาพ: UK Parliament)
เสร็จแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถม้าพระที่นั่งออกจากพระราชวังเวสต์มินเตอร์ กลับยังพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม หลังจากนั้นจะมีการเชิญคทาพิธีการกลับไปตั้งยังสภาสามัญชนเหมือนเดิม พร้อมกับการประชุมรัฐสภาครั้งใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
ที่ผ่านพ้นไปคือ ข้อมูลพอสังเขปสำหรับความเป็นมา ลักษณะ ตลอดจนธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในระบบสองสภาของประเทศอังกฤษ ที่มีพัฒนาการอันยาวนาน จนกลายมาเป็นรูปแบบการปกครอง ดังที่ปรากฏให้เห็นเช่นทุกวันนี้ แล้วเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการเมืองไทย ที่ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
 
#สวมีไว้ทำไม #สวเนรคุณ #รัฐสภา
โฆษณา