Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
มองเขา มองเรา: ความแตกต่างของรัฐสภาไทย กับ อังกฤษ 2
หลังจากที่ “มองเขา” อย่างประเทศอังกฤษ ถึงความเป็นมาของระบบสองสภา (Bicameralism) ไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงทีของการ “มองเรา” อย่างประเทศไทย ถึงความเป็นระบบสองสภาบ้าง หลังจากที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว
แน่นอนว่า การจะให้ประชาชนในฐานะประมุขแห่งอธิปไตยองค์ใหม่มาทำการบริหารโดยตนเอง เห็นทีจะเป็นสิ่งที่จะกระทำได้อยาก ด้วยเพราะประชาชนไม่ได้มีเพียงคนใดหรือหมู่ใดเป็นเฉพาะประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือ ความรู้สึกนึกคิด ความต้องการต่าง ๆ ก็มีมากมายร้อยแปดพันเก้า จึงเกิดเป็นระบบของผู้แทน (Representative Democracy) เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน ทั้งในเรื่องการออกกฎหมาย นโยบาย ตลอดจนการตรวจสอบการทำงานของรัฐสภา
เมื่อผู้แทนจากแหล่งที่ต่าง ๆ มารวมตัวกัน ระบบสภาก็เกิดขึ้นตามมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้กับฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่จะมีผลกระทบต่าง ๆ ต่อประเทศชาติและประชาชน
โดยในระยะแรก ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว (Unicameralism) ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยได้มีการกำหนดที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 รูปแบบ ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกของคณะราษฎร และการเลือกตั้งของประชาชน
ผ่านไป 10 กว่าปี เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ก็ได้มีการบัญญัติคำว่า “พฤฒสภา” ขึ้น เป็นสภาที่ 2 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งขององค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชน
ซองบัตรเลือกตั้งและหีบบัตรเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 (ภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา)
โดยพฤฒสภา มีหน้าที่ในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี จึงกลายจุดเริ่มต้นของระบบสองสภา (Bicameralism) ในประเทศไทย
หลังจากนั้น พฤฒสภาก็ได้ถูกสิ้นสภาพบทบาท เมื่อพลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการก่อรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ระบบสองสภาก็ไม่ได้หายไปไหน เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ได้กำหนดให้มี “วุฒิสภา” หรือก็คือ พฤฒสภาแต่ก่อนเก่ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและการควบคุมตรวจสอบการบริหาราชการแผ่นดิน ซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ความเป็นระบบสองสภาของไทยมีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
พลโท ผิน ชุณหะวัณ ให้สัมภาษณ์ ณ กองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม ภายหลังการก่อรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการกำหนดบทบาทของวุฒิสภาเสียใหม่ โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงตรวจสอบฝ่ายบริหาร และองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่น ๆ ทั้งศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ด้วย แล้วต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ยังมีข้อวิพากษ์ถึงความเป็นอิสระและปลอดจากการเมือง
การเลือกตั้งประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 (ภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา)
ดังนั้นเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2550 ต่อเนื่องมาถึงฉบับปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการปรับโครงสร้างที่มา องค์ประกอบ และบทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา เพื่อให้เกิดความสมดุล และมีความเหมาะสมในการจัดโครงสร้างระบบรัฐสภาแบบสภาคู่ หรือก็คือการคอยถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน และดำเนินควบคู่กันไปในระบบการเมืองของประเทศไทย (แต่ในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือ!?)
รวมถึงที่มาของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เปลี่ยนไปเป็นการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ เช่นครั้งแรกที่มีวุฒิสภา คือ ปี พ.ศ. 2490 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐประหาร ซึ่งก็คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ก่อนการประชุมรัฐสภาในแต่ละครั้ง ก็จะต้องมีการประกอบพิธีเปิดประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ สำหรับการเปิดประชุมรัฐสภาในประเทศไทยก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับประเทศอังกฤษ แต่จะมีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและประเพณี สำหรับการเปิดประชุมรัฐสภาในประเทศไทย มีชื่อเรียกหลัก ๆ ว่า “รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา” แต่ก็มีบางคราวที่มีชื่อเรียกต่างกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วง อย่างเช่น รัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ เป็นต้น
โดยรัฐพิธีดังกล่าว ถือเป็นพิธีการสำคัญของประเทศไทย ในการประกาศให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันว่า จะมีคณะบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารปกครองประเทศ แล้วจึงถือเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน และมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะที่เป็นพระประมุขแห่งรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยที่รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ได้เริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรีขึ้น และมีการเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 หากแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหิธรเสนาบดี ราชเลขาธิการ อัญเชิญพระราชดำรัสไปอ่านเปิดประชุม
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ก็ได้อาศัยประเพณีที่ถือปฏิบัติมาใช้เปิดประชุมสภา โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญพระราชดำรัสไปอ่านเพื่อเปิดการประชุม
พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต (ภาพ: The Nation)
จากนั้น ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้วจึงมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเรื่อยมา และก็ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กล่าวถึงการประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในมาตรา 122 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้”
การเปิดประชุมรัฐสภา จะมีการประกอบรัฐพิธีขึ้นภายในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามมาตรา 121 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
พระแท่นมนังคศิลาบาตร ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต (ภาพ: The Nation)
แต่ก็มีบางคราวที่มีการเปิดประชุมรัฐสภานอกสถานที่ เช่น การเรียกประชุมสมัชชาแห่งชาติในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งได้มีการเปิดประชุมที่ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2516 ซึ่งสภาแห่งนี้ได้รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “สภาสนามม้า”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (ภาพ: Way Magazine)
หรือในการเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้มีการประกอบรัฐพิธีขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ
รัฐพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (ภาพ: MGR Online)
รวมถึงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ถูกปิดอย่างไม่มีกำหนดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ประกอบกับสัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงต้องมีการสรรหาที่ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาใหม่ ซึ่งก็ได้มาลงเอยที่ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (ภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา)
ลำดับพิธี เริ่มต้นด้วยการที่องค์พระประมุขแห่งรัฐ เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงจะประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระแท่นมนังคศิลาบาตร ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
จากนั้น องค์พระประมุขแห่งรัฐจะมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อจบกระแสพระราชดำรัสแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมเช่นเวลาเดียวกับที่เสด็จออก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสร็จแล้ว องค์พระประมุขแห่งรัฐจะเสด็จลงจากพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับ หลังจากนั้น การประชุมรัฐสภาครั้งใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต (ภาพ: Dr. Ukrit Mongkolnavin)
แน่นอนว่า เมื่อนำวุฒิสภามารวมกับสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็จะกลายเป็นรัฐสภา ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชน แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนเสมอไปสำหรับประเทศไทยในการที่จะต้องมีระบบสภาเดี่ยวหรือสภาคู่เป็นการเฉพาะเจาะจงไปตลอด เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วง
สำหรับช่วงที่ประเทศไทยที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว เกือบทั้งหมดมักจะเป็นช่วงหลังที่มีการรัฐประหารหรือยึดอำนาจ แล้วมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงเป็นเหตุให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทนี้ เพื่อการสนับสนุนฝ่ายที่เข้ามาใช้อำนาจปกครองในช่วงเวลาดังกล่าว
และช่วงที่มีการใช้ระบบสองสภา ส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงเวลาปกติ โดยที่สภาที่สองหรือวุฒิสภามักมาจากการแต่งตั้ง แล้วมีการกำหนดให้วุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ส่วนบทบาทในด้านนิติบัญญัติและการควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนใหญ่มีน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎร
อนึ่ง การที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนมาเป็นระบบสองสภา เสมือนหนึ่งภาพที่ไม่อาจแยกจากความทรงจำของใครหลาย ๆ คนได้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะสืบเนื่องมาจากการได้มีโอกาสศึกษาถึงระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ แล้วนำมาปรับใช้ เพื่อให้มีความคล้ายคลึงและเหมาะสมกับระบบในประเทศไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ใครหลาย ๆ คนเข้าใจว่า ประเทศไทยมีระบบการเมืองและรัฐสภาเช่นเดียวกับอังกฤษ
แต่หากมองให้เห็นถึงรายละเอียดบางอย่างก็จะเห็นว่า ประเทศอังกฤษ เป็นระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาขุนนางและสภาสามัญชน ส่วนประเทศไทย เป็นระบบสองสภาที่ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองอย่างนั้น สามารถที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ถึงหน้าที่การทำงานในแต่ละส่วน แต่ไม่อาจสามารถที่จะนำรูปแบบทั้งสองนั้นมาทาบได้อย่างสนิทมิดชิด เนื่องจากประเทศไทยได้มีการยกเลิกระบบบรรดาศักดิ์ของขุนนางไปแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รวมถึงบทบาทของวุฒิสภาที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากแต่เดิม โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เริ่มตั้งแต่ที่มาโดยมาจากการสรรหา 244 คน และโดยตำแหน่ง 6 คน รวม 250 คน ซึ่งล้วนแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนํา และดำเนินการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
แล้วในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่มีการระบุว่า วุฒิสภาสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญก็จะต้องมาจากการเลือกโดยวุฒิสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียงส่วนหนึ่งต้องมาจากวุฒิสภา จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 คน และร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และกระบวนการยุติ ก็จะต้องมีการประชุมและลงมติร่วมกันระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร
หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่าน แต่วุฒิสภาลงมติไม่ผ่าน ก็จะต้องมีการประชุมร่วมกันใหม่ จึงทำให้วุฒิสภาชุดนี้มีอำนาจเสมอด้วยสภาผู้แทนราษฎร แล้วยังทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความอิสระอย่างแท้จริง แล้วที่สำคัญวุฒิสภาชุดนี้ ไม่ต่างอะไรกับการเป็นฐานอำนาจ “ชั้นดี” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเสริมความมั่นคงให้กับรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การประชุมของวุฒิสภา ภายในห้องประชุมพระจันทรา สัปปายะสภาสถาน (ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ)
มีอย่างที่ไหน! ที่ให้อำนาจวุฒิสภาเกินกว่าขอบเขตที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะบทไหน หรือมาตราใดก็ไม่สมควร ยิ่งเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐประหารด้วยแล้ว คงสามารถคาดเดาไปถึงกาลข้างหน้าได้เลยว่า เสถียรภาพทางการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
แล้วจึงไม่แปลกใจเลยว่า เวลาที่มีการประชุมร่วมของรัฐสภาในสมัยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน การให้ความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาค่อนข้างที่จะร่อยหรอ ไม่เต็มที่ แล้วยังมีการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แลดูไม่เหมาะสมออกปรากฏสู่สาธารณชน เช่น การใช้ถ้อยคำวาจาที่หยาบคาย ส่อเสียด แทะโลม, การชูนิ้วแสดงของลับ, การท้าทายเชิงวิวาทต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน หรือแม้แต่การมาทำงานเพียง 6 วัน ที่เหลือเป็นการลา 394 วัน เป็นต้น
เว้นแต่จะเป็นวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่สมาชิกวุฒิสภาจะปรากฏตัวกันอย่างพร้อมพรั่งเป็นพิเศษ แล้วพร้อมลงมติให้รัฐบาลนี้ดำรงอยู่ต่อไป แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ได้ร่างถึงบทบาทวุฒิสภาไว้เสมือนหนึ่งกลไกทางการเมืองที่ตายตัว
เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางอำนาจในการบริหารประเทศ ขาดความสำนึกในฐานะที่เป็นเพียงแค่ผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ โดยไม่คำนึงถึงเสียงของผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอันแท้จริง ซึ่งก็คือ ประชาชนชาวไทยทั้งมวล จึงกลายมาเป็นกระแสความไม่พึงพอใจต่อการบริหารประเทศ ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่น่าอุจาดของผู้นำรัฐบาล
เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากวุฒิสภาที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี จนเกิดเป็นการตั้งประเด็นให้มีการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดตั้งคำถาม นำไปสู่ #สวมีไว้ทำไม หรือ #สวเนรคุณ อยู่ร่ำไป พร้อมกับความคลางแคลงใจถึงความเหมาะสมสำหรับคำว่า “ส.ว. ผู้ทรงเกียรติ” ซึ่ง...คู่ควรแล้วจริง ๆ หรือ!?
จากการที่ได้ “มองเขา มองเรา” ในครั้งนี้จะเห็นว่า ประเทศไทยได้มีการนำรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษมาใช้จริง แต่ก็มีความแตกต่างในบางรายละเอียด ส่วนที่มีผู้พบเห็นและเข้าใจมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีวุฒิสภาเคียงข้างกันกับสภาผู้แทนราษฎรมาแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว เช่นเดียวกับระบอบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ ในส่วนนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในระยะแรก ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว (Unicameralism) ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 โดยได้ให้มีการบัญญัติคำว่า “พฤฒสภา” ขึ้น จึงกลายเป็นรากฐานของระบบสองสภา ที่ในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็น “วุฒิสภา” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หลังจากการรัฐประหาร โดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ นั่นเอง
แม้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะคอยถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน และดำเนินควบคู่กันไปในระบบการเมืองของประเทศไทยก็ตาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงว่า เหมาะสมที่จะใช้ระบบสภาแบบไหน เพราะถ้าหากมีการใช้ระบบสองสภาแล้วไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นให้กับสังคม ประเทศชาติและประชาชนแล้ว ระบบสภาเดี่ยวอาจจะเป็นคุณประโยชน์มาจากระบบสองสภาก็เป็นได้
ด้วยเพราะในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็เป็นระบบสภาเดี่ยวโดยส่วนใหญ่ถึง 114 ประเทศ แต่ก็มักเป็นประเทศรัฐเดี่ยว มีอาณาเขตดินแดนที่ไม่ได้กว้างขวางและเป็นระบบรัฐสภา ซึ่งไม่แน่ว่าวันใดวันหนึ่ง ประเทศไทยอาจจะมีการใช้ระบบเป็นสภาเดี่ยวขึ้นมาก็เป็นได้ แล้ววันนั้นหากเป็นจริงขึ้นมา การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดตั้งคำถาม จนนำไปสู่ #สวมีไว้ทำไม หรือ #สวเนรคุณ นั้น อาจจะกลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำที่ผ่านในชีวิตของใครหลาย ๆ คน รวมถึงการเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ก็เป็นได้
อ้างอิง:
●
ขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) การว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการวิจัยโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในระบบสภาคู่ กับประสิทธิภาพในการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยไทย โดย สถาบันพระปกเกล้า (
https://kpi.ac.th/uploads/pdf/L5PNjY8JYtdC3Bv8uKsY471fw3djj1c6dPdYl5Su.pdf
)
●
ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ : ‘ประชาธิปไตย’ แบบไทย? โดย แนวหน้า (
https://www.naewna.com/politic/columnist/41206
)
●
พระราชดำรัสเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ ราชตฤณมัยสมาคม โดย หอสมุดรัฐสภา (
https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/give%20%26%20take/main%20page/smacha/NALT-speech_smacha.pdf
)
●
พฤฒสภา โดย ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า (
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พฤฒสภา
)
●
พฤฒสภา โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (
https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_politic/download/article/article_20180417154732.pdf
)
●
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา โดย รัฐสภาไทย (
https://www.parliament.go.th/ratpiti/rattapite.htm
)
●
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๐ ก ๖ เมษายน ๒๕๖๐ (
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2103519.pdf
)
●
รูปแบบรัฐสภาไทย พ.ศ. 2475-ปัจจุบัน โดย พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (
https://parliamentmuseum.go.th/89y/content2.html
)
●
ส.ว. มีไว้ทำไม? : เสาหลักค้ำประกันการสืบทอดอำนาจให้ คสช. โดย ประชาไท (
https://prachatai.com/journal/2020/06/88071
)
●
สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ทรงแนะให้รอบคอบ-บริสุทธิ์ใจ โดย MGR Online (
https://mgronline.com/politics/detail/9490000154399
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#สวมีไว้ทำไม #สวเนรคุณ #รัฐสภา
สว
วุฒิสภา
สภา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย