29 มิ.ย. 2023 เวลา 05:00 • ศิลปะ & ออกแบบ

วินเซนต์ แวน โก๊ะ: ผู้สร้างแสงดาวสว่างไสว่ด้วยหัวใจขุ่นมัว

“ภาพราตรีประดับดาว (The Starry Night, 1889)”
ราตรีประดับดาว (The Starry Night) หนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของศิลปินชาวดัตช์ “วินเซนต์ แวน โก๊ะ” ภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนเหนือหมู่บ้านบนเนินเขาเล็ก ๆ เป็นที่สนใจด้วยลักษณะของท้องฟ้าที่หมุนวน พร้อมกับแสงดาวสีเหลือง และขาวที่แทรกกระจายอยู่ทั่วท้องฟ้า พระจันทร์เสี้ยวสีเหลืองส่องสว่างอยู่ทางขวา มีดาวศุกร์อยู่ตรงกลางทางซ้าย และดวงดาวอีกมากมายที่ฉายแสงเป็นลูกกลม ๆ
ต้นไซปรัสตั้งตระหง่านอยู่เหนือพื้นทางด้านซ้าย กิ่งก้านสีเข้มของพวกมันม้วนงอไปตามการเคลื่อนไหวของท้องฟ้า มีหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางด้านล่างของผืนผ้าใบ ยอดแหลมเรียวของโบสถ์ตระหง่านตัดกับท้องฟ้า แสงไฟจากหมู่บ้านทำให้รับรู้ได้ว่าเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อันอบอุ่น และเงียบสงบ
โรงพยาบาล Saint-Paul-de-Mausole
ภาพราตรีประดับดาว (The Starry Night) เป็นภาพทิวทัศน์ที่ถูกวาดขึ้นจากความทรงจำ คาดว่าแวนโก๊ะเริ่มวาดภาพนี้ในปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคม ระหว่างที่เขาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล Saint-Paul-de-Mausole ใกล้กับ เมืองแซ็ง–เรมี–เดอ–พรอว็องส์ (Saint-Rémy-de-Provence) ประเทศฝรั่งเศส จากอาการป่วยทางจิต และทางกายจากการตัดหูตนเอง ในช่วงเวลาหลายเดือนที่เขารักษาตัวอยู่ที่นี่เขาได้วาดภาพไว้มากมายแม้จะเป็นช่วงเวลาที่สิ้นหวังที่สุดในชีวิตของเขาเองก็ตาม
ภาพวาดอันงดงามนี้มีข้อสังเกตอยู่ว่า หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใต้เนินเขานั้นไม่สามารถมองเห็นได้จากหน้าต่างห้องพักของเขา ต้นไซปรัสในภาพทางด้านซ้ายก็ปรากฏอยู่ใกล้กว่าความเป็นจริง และแน่นอนว่าท้องฟ้านั้นถูกวาดขึ้นใหม่ตามความคิดของเขา
1
จากการวิจัยพบว่าว่าแท้จริงแล้วดวงจันทร์ในวันที่เขาวาดภาพนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงพระจันทร์เสี้ยวเหมือนที่ปรากฎในภาพวาด แต่เป็นเป็นวันที่พระจันทร์เกือบเต็มดวงประมาณสามในสี่ แวนโก๊ะได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างของท้องฟ้า และเพิ่มสีเหลืองสีขาวให้กลายเป็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงมะลังมะเลืองขึ้นเอง
2
ห้องของแวนโก๊ะในโรงพยาบาล Saint-Paul de Mausole
พอล วูลฟ์ นักอายุรเวชวิทยา ได้ตั้งสมมติฐานว่าแวนโก๊ะมีความชื่นชอบสีเหลืองเป็นอย่างมาก เช่นในภาพ "The Starry Night" นี้ รวมไปถึงผลงานอื่น ๆ จะสังเกตเห็นว่าแวนโก๊ะมักใช้สีเหลืองอยู่บ่อยครั้ง แม้จะทำให้ภาพวาดของเขามีสีที่ไม่เป็นไปตามความจริงก็ตาม วูลฟ์กล่าวว่ามันเป็นผลมาจากการใช้ดิจิทาลิส (Digitalis) ที่พบในยารักษาอาการโรคลมบ้าหมูมากเกินไป หรือบางคนยังเชื่อว่าแวนโก๊ะอาจป่วยด้วยพิษจากสารตะกั่ว หรือเป็นโรคทางสมองจึงทำให้เขาใช้สีผิดเพี้ยนไป
ต้นไซปรัส (Cupressus)
ต้นไซปรัสเป็นตัวแทนของความเป็นอมตะ ในภาพวาดกิ่งก้านต้นไซปรัสเอื้อมขึ้นไปรวมกับท้องฟ้าที่หมุนวน ทำหน้าที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างโลกกับสวรรค์ การตีความสัญลักษณ์ของต้นไซปรัสนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงถึงจดหมายที่แวนโก๊ะได้เขียนเขียนถึงน้องชายของเขา
เขาได้เปรียบเทียบความตายกับรถไฟที่เดินทางไปยังดวงดาว ต้นไซปรัสในภาพจึงมีความเชื่อมโยงไปถึงการฆ่าตัวตายในปีต่อมาของแวนโก๊ะ ต้นไซปรัสยังได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับหอไอเฟล เนื่องจากเขาเริ่มวาดภาพนี้ในเดือนมิถุนายน ปี 1889 ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังจากที่หอไอเฟลได้รับการเปิดตัวในงานนิทรรศการโลก (International Exposition) ของปีนั้น ดาวดาวพร่างพรายในภาพจึงเปรียบได้กับการจุพลุในงานเฉลิมฉลองนั่นเอง
หมู่ดาว
นักฟิสิกส์ Jose Luis Aragon เปรียบเทียบว่าเนื่องจากศิลปินสร้างผลงานศิลปะในช่วงเวลาที่จิตใจปั่นป่วนรุนแรง เขาจึงสื่อออกมาผ่านการใช้ฝีแปรงที่หมุนวนจากการวาดท้องฟ้า ฝีแปรงนั้นยังมีลักษณะที่เหมือนกับสายน้ำวน และกระแสอากาศที่ปั่นป่วน ถือว่าเป็นความสำเร็จของแวนโก๊ะที่สามารถสื่อสารความตื่นตระหนกนั้นได้อย่างแม่นยำโดยการใช้พู่กันไล่ระดับสี และแสง
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งได้กล่าวว่า ลักษณะการใช้ฝีแปรงเช่นนนี้เกิดจากความหลงใหลในดาราศาสตร์ของแวนโก๊ะ เขามักจะอ่านนิตยาสาร “L’Astronomie” เป็นประจำ และท้องฟ้าที่หมุนวนนี้อาจเป็นการเลียนแบบภาพวาดดาราจักรน้ำวน (Whirlpool Galaxy) ที่วาดขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3 (William Parsons, 3rd Earl of Rosse)
วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3
ภาพดรออิ้งดาราจักรน้ำวน (Whirlpool Galaxy) โดย วิลเลียม พาร์สันส์ ปี 1845
ภาพท้องฟ้าของแวนโก๊ะ
นอกจากนี้ เมื่อเทียบดูตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้า กับตำแหน่งดาวในภาพวาด จากตำแหน่งหน้าต่างในห้องของแวนโก๊ะในโรงพยาบาลพบว่าตำแหน่งของดวงดาวในปี 1889 นั้นมีความสอดคล้องกัน
ตำแหน่งดวงดาวจากท้องฟ้ายามค่ำคืนจากหน้าต่างโรงพยาบาลในปี 1889
จากการศึกษาตำแหน่งดาว เวลาตี 4 ของวันที่ 19 มิถุนายน ดาวที่สว่างที่สุดดวงหนึ่งของแวนโก๊ะในภาพวาดของเขาซึ่งอยู่ทางขวาของต้นไซเปรสนั้นน่าจะเป็นดาวศุกร์ ที่มุมขวาบนคือดวงจันทร์ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์ สันนิษฐานว่าแวนโก๊ะอาจจะปรับเปลี่ยนลักษณะของดวงจันทร์ตามความพอใจของเขาเอง กลายเป็นพระจันทร์เสี้ยวที่มีรัศมีสว่างไสว นอกเหนือจากนั้นแล้วดาว และกลุ่มดาวอื่นๆ เช่น คาเปลลา แคสสิโอเปีย และเพกาซัส ก็ล้วนมีตำแหน่งเดียวกับดาวในผลงานชิ้นนี้
2
คืนที่ดาวพร่างพรายมีชีวิตชีวามากกว่าเวลากลางวัน
1
แวน โก๊ะ ฆ่าตัวตายในปีต่อมา อาชีพศิลปินของเขานั้นสั้นเพียง 10 ปี และไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่เขาตั้งใจไว้ “The Starry Night” ได้กลายเป็นผลงานที่ผสมผสานระหว่างความจริง และความฝันด้วยเทคนิคการวาดที่ไม่เหมือนใคร ผลงานชิ้นนี้ยังคงแสดงให้เห็นภาพจิตใจที่บอบช้ำ และสับสนวุ่นวายของแวนโก๊ะ ขณะเดียวกันนั้นก็ยังเป็นการพรรณนาถึงความสนใจด้านอื่น ๆ ของเขาด้วย
แวนโก๊ะจากไปด้วยใจเศร้าโศก ไม่ทันได้รู้ว่าผลงานของเขาจะเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา ไม่ทันได้รู้ว่าผลงานของตนนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการศิลปะอย่างไรบ้าง ในขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงาน “The Starry Night” เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และทุกคนจะจดจำเขาในฐานะศิลปินผู้สร้างแสงดาวสว่างไสว ดวงดาวของเขาส่องแสงมาตั้งแต่ปี 1889 และจะส่องแสงสว่างเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้รักศิลปะทุกคนตลอดไป
-ซับศิลป์-
ที่มา
โฆษณา