29 มิ.ย. 2023 เวลา 06:20 • สุขภาพ

ม.มหิดล แนะ "ก้อนสำลีในขวดยา" ควรใช้อย่างปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันกระแส "รักษ์โลก" ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการออกแบบและใช้บรรจุภัณฑ์ยาที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกระแสโลก โดยปัจจุบันพบว่าผู้ผลิตยาทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นและความปลอดภัยเรื่องการใช้ "ก้อนสำลีในขวดยา" กันมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงกชพรรณ ชูลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง "ก้อนสำลีที่ใช้ในทางเภสัชกรรม" (Pharmaceutical Coil) ซึ่งจะใส่ในขวดยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบใช้หลายครั้ง (multiple dose container) โดยมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ยาเม็ด หรือแคปซูลเกิดความเสียหาย หรือแตกหักในระหว่างการขนส่ง
โดยทั่วไปสำลีที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว จะทำมาจากทั้งวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ได้แก่ "ฝ้าย" (Cotton) และ "เรยอน" (Rayon) และเส้นใยที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ คือ "โพลีเอสเตอร์" (Polyester) ซึ่งเป็นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจาก "พลาสติก" ที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
สำลีที่นำมาใช้บรรจุขวดยาทั้ง 3 ชนิด จะมีคุณภาพสูง แตกต่างไปจากสำลีที่ใช้ทางเครื่องสำอาง และควรได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของเภสัชตำรับ (Pharmacopoeia) เช่น เภสัชตำรับอเมริกา USP <670> AUXILIARY PACKAGING COMPONENTS ซึ่งจะมีหัวข้อทดสอบด้านต่างๆ เช่น การพิสูจน์เอกลักษณ์ (identification) ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณกากที่เหลือจากการเผา ความชื้นที่หายไปเมื่ออบแห้ง (loss on drying) ซึ่งสำลีที่ทำมาจากวัสดุแต่ละชนิด ก็จะมีหัวข้อทดสอบและข้อกำหนดที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการจำหน่ายสำลีที่ทำจากวัสดุชนิดต่างๆ รวมทั้งฟองน้ำจากพลาสติก ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป รวมทั้งช่องทางออนไลน์ กรณีที่ต้องการซื้อมาใช้เพื่อบรรจุลงในขวดยา ควรพิจารณาข้อมูลจากผู้ผลิตสำลีอย่างถี่ถ้วน เช่น ตรวจสอบใบรับรองการผลวิเคราะห์คุณภาพ (COA - Certificate of Analysis)
เนื่องจากสำลีที่ใช้ จะสัมผัสกับยาเม็ดหรือแคปซูลโดยตรง จึงควรเลือกใช้สำลีที่สะอาด ได้มาตรฐานเภสัชตำรับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีตกค้าง จุลชีพ และอื่นๆ ที่อาจทำให้ตัวยาเสื่อมสลาย หรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
เมื่อผู้บริโภคเปิดขวดบรรจุภัณฑ์แล้วพบสำลี ควรหยิบออกไปทิ้ง ไม่ควรใส่กลับเข้าไปในขวดยาอีก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนของยาจากสิ่งสกปรกภายนอก รวมทั้งความชื้นที่อาจทำให้ตัวยาเสื่อมสลายได้
หากคำนึงในแง่ของความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายบังคับให้ระบุวิธีกำจัดสำลีที่เหมาะสมบนฉลากหรือเอกสารกำกับยา เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าควรทิ้งลงถังขยะประเภทใด จึงอาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะสำลีที่ทำมาจากพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงกชพรรณ ชูลักษณ์ ยังได้กล่าวแนะนำทิ้งท้ายสำหรับผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องใช้สำลีบรรจุในขวดยาหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนของยาเม็ดและแคปซูลจากสารเคมีตกค้างในสำลี และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะสำลีที่ทำจากฝ้ายซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หากจำเป็นต้องใช้สำลีบรรจุในขวดยา ควรเลือกสำลีที่ได้มาตรฐานตามเภสัชตำรับ และอาจระบุบนฉลาก และ/หรือเอกสารกำกับยา เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าควรกำจัดทิ้งอย่างไร
ในปัจจุบัน วงการบรรจุภัณฑ์ยามีแนวโน้มในการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น แผงบลิสเตอร์ หรือขวดพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งผู้ผลิตมักหยิบยกนำมาเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน เพื่อแสดงจุดยืนที่ต้องการจะดูแลสิ่งแวดล้อม และให้ผู้บริโภคที่กังวลเรื่องขยะพลาสติกสามารถเลือกซื้อได้อย่างสบายใจ
ติดตามข่าวสารจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่น่าสนใจได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงกชพรรณ ชูลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โฆษณา