29 มิ.ย. 2023 เวลา 07:32 • ประวัติศาสตร์
เยรูซาเลม

จะขอตามไปสุดหล้า

ศศิรี sasiree
ตอน ชาโลม เยรูซาเล็ม I
ตะวันพลบแล้วเมื่อรถของเรามาถึงจุดหมาย เยรูซาเล็ม ! ภาพเมืองเก่าตัดกับขอบฟ้าสีม่วงบ่มเทาสวยแปลกตาอย่างยิ่ง พลันหัวหน้าทัวร์ก็เปิดเพลงชาโลมเยรูซาเล็มเคล้าคลอกับบรรยากาศ สะกดดวงจิตของเราทุกคนในขณะที่สายตาเราจ้องมองเมืองขององค์พระผู้เป็นเจ้า
Shalom Shalom Jerusalem
Peace be to you
When Messiah comes to take us home, may His praise be found in you
Pray for peace Jerusalem, City of our God
There salvation was poured out for you
The atoning of the Lord
1
เยรูซาเล็ม นครศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา อันได้แก่ ศาสนา คริสต์ ยูดาห์ และอิสลาม นครที่ผู้คนแก่งแย่งกันครอบครอง นครเก่าแก่อายุมากกว่าสามพันปีที่ยังคงความสง่างามและมีความสำคัญมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง นครนี้ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเงินแต่อย่างใด แต่เป็นศูนย์กลางทางจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ อัตลักษณ์ และ ปณิธานสูงสุดของผู้คนหลายพันล้านคน
เยรูซาเล็ม ประกอบไปด้วยเมืองเก่า (old city Jerusalem) ซึ่งมีกำแพงเมืองล้อมรอบ และเมืองใหม่ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ เมืองเก่านี้คือที่ๆ นักแสวงบุญรวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยี่ยมชมปีละกว่า 5 ล้านคน
เมืองเก่า มีพื้นที่ประมาณ 0.9 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาพระวิหาร (Temple Mount)* (1) ความสูง740 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ด้านทิศใต้และตะวันตกล้อมไปด้วยหุบเขา Kidron และ Hinnom ด้านตะวันออกติดชิดกับ old city คือ ภูเขามะกอกเทศ (Mount of Olives) และแน่นอน หัวใจของเมืองเก่าคือ วิหารซาโลมอน (Solomon’s Temple) ซึ่งปัจจุบันมีสุเหร่าทองคำ (Dome of the Rock) สร้างทับอยู่
Mount of Olives
ด้วยชัยภูมิเมืองที่มีหุบเขาล้อมรอบสามด้าน ทำให้กองทัพโยชูวาไม่สามารถยึดครองเมือง Jebus *(2) นี้ได้ จวบจนถึงปี 1002 ก่อนคริสต์ศักราช (BC.) กษัตริย์ดาวิดได้เข้าพิชิต และสร้าง เมืองดาวิด (city of David) ขึ้น แต่งตั้งให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
ในพระคัมภีร์เดิมและใหม่กล่าวถึงเยรูซาเล็มบ่อยครั้ง ในแง่การเป็นปลายทางของการชุมนุมในเทศกาลสำคัญๆ “ความสุขมีแก่ผู้ที่กำลังของเขาอยู่ในพระองค์ ผู้ซึ่งใฝ่ใจมุ่งหน้าไปยังเยรูซาเล็ม” ( สดุดี 84.5) ประมาณการกันว่าในยามปกติ เยรูซาเล็มในยุคนั้น มีประชากรราวสามหมื่นคน แต่เมื่อช่วงเทศกาลจะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่รวมกันถึง สองแสนกว่าคน
วิหารซาโลมอน หรือพระวิหารหลังที่ 1 ถูกกองทัพบาบิโลนทำลายลงอย่างราบคาบ ในปี 587 BC. ตามคำพยากรณ์ของ เยเรมีย์ 7.1-11 เราสามารถเข้าใจถึงความโศกเศร้าของการสูญเสียนี้ได้จากพระธรรมเพลงคร่ำครวญ (Lamentations )ซึ่งเชื่อว่าเขียนโดยผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์
ในปี 538 BC. กษัตริย์ไซรัส แห่งเปอร์เซีย ก็ได้อนุญาตให้เชลยชาวยิวกลับถิ่นฐาน และมีการบูรณะพระวิหาร รวมถึงกำแพงเมืองขึ้นมาใหม่
โมเดล วิหารซาโลมอน
ประวัตศาสตร์หลังจากนี้เล่าถึงวงจรของการทำลายและบูรณะเยรูซาเล็ม ตั้งแต่ ปี 332 BC. อเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดเยรูซาเล็ม ราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemaic) ของอียิตป์เข้ายึดในปี 312 BC. ปกครองอยู่ประมาณ 100 ปี ตามด้วย ราชวงศ์ซิลูซิด (Seleucids) ของกรีกเข้ายึดแทน เกิดกบฎยิว Maccabean ซึ่งได้รับชัยชนะเหนือซิลูซิด ทำให้เยรูซาเล็มรุ่งเรืองอีกครั้งเป็นเวลา 103 ปีภายใต้ ราชวงศ์ฮัสโมเนียน (Hasmonean) ของยูดาห์
ในปี 63 BC. จักรวรรดิโรมันเข้ายึดครองเยรูซาเล็ม แต่งตั้งเฮโรด (Herod the Great) มาปกครองแคว้นยูเดีย ท่านได้ทำการบูรณะพระวิหารโซโลมอน รวมถึงขยายลานและอาณาเขตของพระวิหาร ซึ่งต่อมารู้จักกันว่าเป็นพระวิหารหลังที่ 2 *(3) และในพระวิหารหลังนี้นี่เองที่พระเยซูทรงทำพันธกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์สุดท้ายก่อนการถูกตรึงที่กางเขน
พระเยซูทรงทราบดีว่าการเดินทางเข้าเยรูซาเล็มจะนำมาซึ่งสิ่งใด หากพระองค์เพียงทำพันธกิจรอบๆ กาลิลี ก็จะไม่มีการเผชิญหน้ากับบรรดาฟาริสี สภาแซนเฮดริน(Sanhedrin)* (4) รวมถึงปิลาต ผู้ว่าการชาวโรมัน ที่นี่เท่านั้นที่การประกาศตัวว่า พระองค์คือใครจะสร้างผลกระทบต่อสาวก และผู้ติดตามอื่นได้ในวงกว้าง ณ ที่นี่...ที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและฟื้นขึ้นมาในวันที่ 3 อันเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลกแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินไปเลย
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในอาณาเขตเมืองเก่าที่เป็นไฮไลท์ คือ พระวิหารหลังที่ 1 และ 2 ที่เคยตั้งอยู่ มี โบสถ์สุสานศักดิ์สิทธิ์ ( the Church of the Holy Sepulchre) ที่สร้างโดยพระนางเฮเลน่ามารดาจักรพรรดิคอนแสตนติน Via Dorolosa – the way of sorrow เส้นทางเดินที่พระเยซูแบกกางเขนสู่โกลโกธา และ กำแพงร้องไห้ the Wailing Wall
ภายในกำแพงเมืองมีการแบ่งอาณาเขตในการพำนักและค้าขายออกเป็น 4 ส่วน กล่าวคือ มี Christian Quarter Jewish Quarter Muslim Quarter และ Armenian Quarter น่าจะจัดสรรเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน
สำหรับ บริเวณ Temple Mount นั้นถือเป็นส่วนกลางที่ผู้แสวงบุญทั้งคริสต์ และ อิสลามสามารถจะไปเยี่ยมชมได้ แต่คนยิวเองจะไม่ขึ้นไปที่ Temple Mount เนื่องจากใต้ Dome of the Rock นั้น คือพระวิหารเดิม และในพระวิหารจะมี ห้องอภิสุทธิสถาน Holy of Holies ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งกรุณาและหีบพันธสัญญา เป็นที่ซึ่งปุโรหิตจะเข้าเฝ้าพระเจ้าได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง เพื่ออธิษฐานทูลขอการล้างบาปให้กับชนชาติอิสราเอล ชาวยิวเกรงกลัวว่าหากไปเดินรอบๆ Dome of the Rock อาจจะเหยียบย่ำโดนอภิสุทธิสถานโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้
ตามทางเดินใน Christian Quarter
เชิงอรรถ
*(1) Temple mount หรือ mount Moriah ใน 2 พงศาวดาร 3.1 จากนั้นโซโลมอนทรงเริ่มสร้างพระวิหารขององค์พระผู้เป็นเจ้าบนภูเขาโมริยาห์ในกรุงเยรูซาเล็ม
*(2) ชื่อเดิมของเยรูซาเล็ม คือ เยบุส Jebus 2 ซามูเอล 5.6-10
*(3) ปี 70 AD กองทัพโรมันภายใต้ จักรพรรดิ Vespasian นายพล Titus ก็ได้ทำลายพระวิหารหลังที่ 2 เกือบสิ้น เหลือเพียงกำแพงฝั่งตะวันตก (the Wailing Wall หรือ the Western Wall) อยู่ในปัจจุบัน
*(4) Sanhedrin ศาลสูงสุดของชาวยิวซึ่งประชุมกันที่กรุงเยรูซาเล็ม
โฆษณา