Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
30 มิ.ย. 2023 เวลา 08:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จาก “มนต์แคน แก่นคูน” ถึงการหมดยุคของ “เมืองโตเดี่ยว”
ทำไมเศรษฐกิจภูมิภาคถึงเป็นอนาคตของประเทศไทย
แต่หลายปีผ่าน ย้อนเงินย้อนงานและวันเวลา เฮ็ดให้ฮักเฮาฮ้างป๋า โชคชะตาพัดพาจากกัน ข่าวว่าน้องนางไอ่ มีคนป้อนไข่ ได้เข้าพาขวัญ จนมีลูกมีเต้านำกัน อ้ายนั้นจำต้องเฮ็ดใจ
(1)
ข้างต้นนี้คือบางวรรคของเพลง “นางไอ่ของอ้าย” เพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบน YouTube ประเทศไทยปี 2565 โดย “มนต์แคน แก่นคูน” (กิตติคุณ บุญค้ำจุน) เป็นศิลปินผู้ขับร้อง ไม่ใช่แค่ปี 2565 เท่านั้น อันที่จริงมนต์แคน แก่นคูน คือศิลปินไทยที่สร้างประวัติศาสตร์มียอดวิวสูงสุดใน YouTube ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อนแล้ว
เมื่อมองดู 10 อันดับมิวสิกวิดีโอที่มียอดวิวสูงสุดของไทยจะพบว่า ศิลปินที่มีฐานแฟนคลับแบบผสมผสานระหว่าง “คนกรุงเทพฯ” กับ “คนต่างจังหวัด” (ตามความเข้าใจแบบกว้าง ๆ) อยู่อีกอย่างน้อยสามคน ได้แก่ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ นักร้องเพลงเพื่อชีวิตระดับตำนาน ต่าย-อรทัย นักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดัง และโจอี้–ภูวสิทธิ์ อนันต์พรสิริ เจ้าของเพลง “นะหน้าทอง” ที่ใช้เสียงพิณอีสานเข้ามาทำเพลง
คงไม่เกินจริงไปนักหากจะบอกว่า ในเชิงวัฒนธรรมแล้ว คนกำหนดรสนิยมกระแสหลักของสังคมไทยไม่ใช่แค่เพียง “กรุงเทพฯ” หรือ “ส่วนกลาง” อีกต่อไป เพราะในโลกใหม่ โอกาสและความเป็นไปได้มีได้มากกว่าหนึ่งแบบ
ในโลกของการพัฒนาเศรษฐกิจและโอกาสใหม่ของประเทศไทย ก็มีลักษณะเช่นนี้
(2)
ตลอดเวลากว่า 60 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ “กรุงเทพฯ” คือ ตัวแทนของ “ความเป็นสมัยใหม่ (modernization)” ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน บริการของรัฐ ระบบสาธารณสุข การศึกษา การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี รวมไปถึงสินค้าและบริการ กรุงเทพฯ จึงมีโอกาสมากกว่าเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างเทียบกันไม่ได้ ความแตกต่างทางด้านโอกาสเหล่านี้จะดึงดูดผู้คนจากทั่วภูมิภาคให้ยิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ มากขึ้น
เหตุที่กรุงเทพฯ เป็น “เมืองโตเดี่ยว” ของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องของดิน ฟ้า อากาศ หรือว่าคนกรุงเทพฯ เก่งกว่าคนที่อื่น ๆ หากแต่เป็นผลโดยตรงมาจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1–3 (พ.ศ. 2504–2519) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ประปา การคมนาคมขนส่ง การจัดตั้งสถานศึกษา และการสาธารณสุข นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์กลางของการเมืองวัฒนธรรม และการเมืองการปกครองของประเทศอีกด้วย แม้ต่อมาภายหลังจะมีความพยายามกระจายการพัฒนาสู่ส่วนอื่น ๆ แต่การพัฒนาก็ยังอยู่ภายใต้แนวคิดที่มองว่า กรุงเทพฯ คือศูนย์กลาง
แต่แนวคิดในการพัฒนาเช่นนี้กำลังกลายเป็นเรื่องล้าสมัยด้วยข้อเท็จจริง 2 ประการ ประการแรก การเติบโตของเศรษฐกิจกรุงเทพฯ เริ่มพบกับข้อจำกัดมากขึ้น กล่าวคือ แม้เศรษฐกิจกรุงเทพฯ จะยังคงเติบโตสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศ แต่หากเทียบกับในอดีต กรุงเทพฯ ก็เติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างมาก
โดยก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เศรษฐกิจกรุงเทพฯ เคยเติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8% ตั้งแต่หลังวิกฤตเป็นต้นมาอัตราการเติบโตเฉลี่ยลดเหลือเพียง 4-6% ตลอดทศวรรษ 2540 และลดเหลือ 3-5% เท่านั้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งในแง่หนึ่งก็สอดคล้องกับลักษณะของเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่
ประการที่สอง เศรษฐกิจภูมิภาคมีศักยภาพที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ให้คึกคักมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเชื่อมต่อคนและธุรกิจได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยปรากฏการณ์นี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจขนาดเล็กให้มีโอกาสเจริญเติบโตและเชื่อมโยงกับตลาดที่ใหญ่ขึ้น และห่วงโซ่อุปทานในระดับข้ามชาติจะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น (The Economist, 2014)
ดังนั้น อนาคต โอกาส และความเป็นไปได้ใหม่ของประเทศไทยจึงอยู่นอกกรุงเทพฯ
(3)
โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ แยกไม่ออกจากกระบวนการกลายเป็นเมือง (urbanization) ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ (megatrend) ของโลก McKinsey Global Institute Cityscope database ทำการศึกษาเมืองที่ประชากรมากกว่า 200,000 คนทั่วโลก พบว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีเมืองที่มีประชากรมากกว่า 200,000 คนขึ้นไป ทั้งหมด 34 เมือง
และประชากรที่อยู่ในเมืองเหล่านี้มีอยู่ทั้งหมด 24.5 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 38% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ แต่ในปี 2573 คนเมืองที่อยู่ใน 34 เมืองนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 49% ของประชากรทั้งประเทศ พูดอีกอย่างคือ นอกจากกรุงเทพฯ แล้วยังมีเมืองอื่น ๆ อีกเกือบครึ่งของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการเติบโต
ลักษณะเด่นประการหนึ่งของการขยายตัวของความเป็นเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ เมืองขนาดกลาง (medium weight city) หรือเมืองที่มีประชากรระหว่าง 200,000–5,000,000 คน จะมีการขยายตัวที่เร็วกว่าเมืองขนาดใหญ่ (Dobbs
et.al
., 2011) สำหรับประเทศไทย มีเมืองตั้งแต่ขนาดกลางค่อนไปทางจิ๋วขึ้นไปรวมทั้งสิ้น 34 เมือง
โดยมีกรุงเทพฯ เพียงเมืองเดียวเท่านั้นที่จัดว่าเป็นมหานคร (ประชากรมากกว่า 5 ล้านคน) ที่เหลือเป็นเมืองขนาดกลางค่อนไปทางเล็กและเมืองขนาดกลางค่อนไปทางจิ๋วทั้งหมด และไม่มีเมืองขนาดกลางปกติเลย อาศัยฐานข้อมูลนี้ Woetzel
et.al
. (2014) คาดการณ์ว่า ในระหว่างปี 2556–2573 มีเมืองกว่า 31 เมืองทั่วประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยในหลายหัวเมืองในส่วนภูมิภาคของไทยจะเติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
แม้งานวิจัยข้างต้นจะมีอายุร่วม 10 ปี แต่ก็สอดคล้องกับข้อมูลในปัจจุบัน สำนักงานภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำการเก็บข้อมูลเศรษฐกิจพบว่า ในระหว่างปี 2558–2562 เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเติบโตเฉลี่ย 3.92% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 3.42%
ในขณะที่เศรษฐกิจภาคเหนือเติบโตเฉลี่ย 3.18% (อัตราเติบโตภาคเหนือถูกฉุดเนื่องจากการเติบโตในปี 2558 ติดลบ 1.2%) และภาคใต้เติบโตเฉลี่ย 3.24% ซึ่งแม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีศักยภาพที่จะเติบโต เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐยังไม่ได้ปรับทิศทางนโยบายและแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคได้มากเท่าที่ควร
(4)
หลายคนอยากกลับมาใช้ชีวิตในพื้นที่ แต่โอกาสทางธุรกิจ...ไม่ค่อยมี เลยไปอยู่กรุงเทพฯ ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่อยู่ จะสร้างของใหม่ ๆ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างไร
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เนื่องจากแต่ละภาคแต่ละพื้นที่ก็มีบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างกันไป ฉะนั้น ความต้องการแต่ละที่จึงแตกต่างกันไปด้วย เพื่อจะผลักดันให้ภูมิภาคต่าง ๆ เป็น source of growth ทางเศรษฐกิจใหม่ ของไทย ธปท. เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค และทำงานนโยบายอย่างลงลึกตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ผ่านสำนักงานภาคทั้งสามแห่ง ได้แก่
สำนักงานภาคเหนือที่เชียงใหม่ สำนักงานภาคใต้ที่หาดใหญ่ สงขลา และสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ที่ผ่านมา สำนักงานภาคได้จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินรายเดือน ไตรมาส และปี เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินรอบตัวอย่างลงลึกและรอบด้าน และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตได้
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของสำนักงานภาคคือ การจัดทำเครื่องชี้เร็วเศรษฐกิจภูมิภาค (BOT Regional Activity Tracker: BOT RAT) ซึ่งใช้ข้อมูลแบบใหม่มาช่วยในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจ เช่น ข้อมูลจาก Google Trends ข้อมูลจากการรับฟังทางสังคมออนไลน์ (social media listening) ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลการค้นหาและการจองที่พัก ข้อมูลการขนส่งสินค้า ฯลฯ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการจับชีพจรและแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
ในปี 2565 ธปท. เห็นว่า เศรษฐกิจภูมิภาคจะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง (smooth takeoff) จากวิกฤตโควิด 19 ได้ จึงจัดสัมมนาวิชาการประจำปีขึ้นในประเด็นเฉพาะที่สอดคล้องกับโจทย์ของแต่ละพื้นที่ โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้เข้าร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจกับเจ้าหน้าที่ ธปท. ในสำนักงานภาค นักวิชาการและนักธุรกิจในพื้นที่ในทุกเวที ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มจะได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทำนโยบายการเงินของ ธปท.
(5)
คึดฮอดคือเก่า แม้ฮักสองเฮาสิสุดทางฝัน ใจอ้ายก็ยังยืนยัน ถึงชาตินี้นั้นบ่ได้เป็นแฟน.....ชาตินี้ขาดคู่ฮ่วมใจ สิถ่าชาติใหม่ นางไอ่ของอ้าย
โชคชะตาไม่ได้พัดพาให้นางไอ่กับอ้ายแดงจากกัน หากแต่ว่าเป็นนโยบายการพัฒนาที่ลำเอียงเข้าข้างเมืองใหญ่ หากในอนาคตประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตได้ ผู้คนมีแหล่งงาน แหล่งเงิน และสาธารณูปโภคพื้นฐานคุณภาพดีใกล้เมืองที่ตนเติบโต ไม่ต้องย้ายไปไหน โอกาสที่นางไอ่กับอ้ายแดงจะได้สมหวังในรักก็คงจะมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน
กองบรรณาธิการ พระสยาม BOT MAGAZINE
เศรษฐกิจ
ธุรกิจ
การเงิน
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย