30 มิ.ย. 2023 เวลา 01:49 • ประวัติศาสตร์
Church of the Holy Sepulchre

จะขอตามไปสุดหล้า

ศศิรี sasiree
ตอน ชาโลมเยรูซาเล็ม II
ณ ที่แห่งนี้ โบสถ์สุสานศักดิ์สิทธิ์ the Holy Sepulchre Church กลาง Old City Jerusalem คือจุดพบ ของ East meet West ไม่ใช่ East แบบจีน เกาหลี ฯลฯ ที่เรามักนึกถึง แต่มันคือ East ของศาสนจักรที่นำกลุ่มโดยกรีกออร์โธดอกซ์ Greek Orthodox *(1) และ West ในที่นี้คือ ศาสนจักรตะวันตก Roman Catholic Church ผู้แสวงบุญในนิกายข้างต้นนี้รวมถึงกลุ่มโปรเตสแตนต์ หลั่งไหลมาเยี่ยมชมโบสถ์สุสานศักดิ์สิทธิ์แบบไหล่เบียดกัน นั่นเป็นเพราะเหตุไร ?
การขุดพบทางโบราณคดี ประกอบกับประเพณีที่ยาวนานเกือบสองพันปี ทำให้เชื่อกันว่า the Holy Sepulchre Church น่าจะเป็นตำแหน่งที่องค์พระเยซูถูกตรึง ฝัง และฟื้นคืนพระชนม์ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า ในธรรมเนียมชาวยิว จะไม่มีการประหาร หรือ ฝังศพ ภายในกำแพงเมืองอย่างแน่นอน แต่หากเราถอยเวลาไปยุคของพระวิหารหลังที่ 2 ที่บูรณะโดยเฮโรด เราจะพบว่าจุดที่โบสถ์ตั้งอยู่นั้นอยู่นอกกำแพงเมือง *(2) นักประวัติศาสตร์ยุคนั้น Eusebius (c. AD 260-340) บันทึกว่ากลุ่มคริสเตียนชาวยิวถือว่าทีนี่เป็นจุดตรึงกางเขน
Holy Sepulchre Church โบสถ์สุสานศักดิ์สิทธิ์
ในคริสต์ศักราช (AD.) 135 จักรพรรดิ Hadrian ได้สร้างวิหารวีนัสขึ้นคร่อมตำแหน่งนี้เพื่อล้มล้างความสำคัญของสถานที่ ต่อมาในปี 325 AD. จักรพรรดิคอนสแตนตินก็ได้สั่งรื้อวิหารวีนัส แล้วสร้างเป็น the Holy Sepulchre Church แทน ต่อมาในศตวรรษที่ 7 และ 11 โบสถ์ถูกผู้บุกรุกชาวเปอร์เซีย และชาวมุสลิมทำลายจนเสียหายหนัก โบสถ์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นผลจากการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงครูเสด (ศตวรรษที่ 12 ถึง 13 )
บรรยากาศภายในโบสถ์ประดับประดาอย่างเต็มขนาด ทั้งภาพวาดที่ฝาผนัง แท่นเทียนสูงใหญ่หลายแบบ โค้มระย้าทั้งใหญ่น้อยรายรอบ ภาพวาดอัครทูตทุกคน ควันธูปคละเคล้ากับกลิ่นกำยานรวมถึงมดยอบที่หอมหวาน ผู้คนแน่นขนัดเนื่องจากมีการเดินเวียน procession ของหลากกลุ่มผู้แสวงบุญ หลายคนนำเครื่องรางมาเป็นถุงๆ (อาทิ ไม้กางเขนเล็กๆ) มาสัมผัสกับ Stone of Anointing เพื่อ “บันดาล” ให้เป็นของขลัง
Stone of Annointing
ผู้แสวงบุญในปัจจุบันที่มาเยี่ยมชมโบสถ์สุสานฯ แทบทุกคนจะต้องมาเดินตามรอย The Via Dolorosa (the way of sorrow) ด้วยเช่นกัน ประเพณีนี้ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เพื่อรำลึกถึงหนทางสู่กลโกธาของพระเยซู เป็นสิ่งที่ Via Dolorosa ฉายภาพอยู่ใน 14 Stations หรือ 14 ป้าย โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่ปิลาตตัดสินคดี จบสิ้นที่การฝังพระศพที่โบสถ์สุสานฯ
สำหรับชาวคาทอลิกแล้ว แต่ละป้ายใน 14 Stations มีความสำคัญทุกป้าย แต่สำหรับชาวโปรเตสแตนท์ มีการยึดถือเพียง 9 Stations เท่านั้นโดยการอ้างอิงพระกิตติคุณยอห์น ลูกา และ มัทธิว จึงกล่าวได้ว่า Stations ทั้งหมดประกอบด้วยส่วนที่อ้างอิงพระคัมภีร์ บวกกับ ส่วนที่เป็นประเพณีของกลุ่มศาสนจักรตะวันออก และ ศาสนจักรตะวันตก มันเป็นไปแทบไม่ได้ที่เราจะรู้อย่างแน่ชัดว่า แต่ละป้ายคือพิกัดที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆจริงๆตามประวัติศาสตร์
ดังนั้น Via Dolorosa คือสิ่งที่สะท้อนเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น เส้นทางที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน และ “การยอมเพราะรัก” ขององค์พระคริสต์
1st Station : การตัดสินโดยปิลาตที่ Praetorium*(3) ณ จุดที่เรียกว่า ลานศิลา Stone Pavement (ยอห์น 19.1-16)
2nd Station : การโบยตีพระเยซูและเริ่มแบกกางเขน (ยอห์น 19.17)
3rd Station : การล้มลงครั้งแรกของพระเยซู (ประเพณี Polish Catholic Church)
4th Station : พระเยซูพบพระมารดานางมารีย์ ระหว่างทาง (ประเพณี Armenian Catholic Church)
5th Station : ซีโมนแห่งไซรีน ถูกบังคับให้แบกกางเขนแทน (มัทธิว 27.32)
6th Station: นางเวโรนิกาเช็ดโลหิตบนพระพักตร์พระองค์ (ประเพณี Church of Saint Veronica)
7th Station: พระเยซูล้มลงครั้งที่ 2 (ประเพณี Coptic Church)
8th Station: พระเยซูตรัสว่า “จงร้องไห้เพื่อเยรูซาเล็ม” (ลูกา 23.27-31)
8th Station
9th Station: พระเยซูล้มลงครั้งที่ 3 (ประเพณี Ethiopian Coptic Church)
10th Station: ทหารนำฉลองพระองค์มาจับฉลากแบ่งกัน (ลูกา 23.34 ยอห์น 19.23)
11th Statiion: การตรึงที่ไม้กางเขน (ยอห์น 19.18-23)
12th Station: ที่สถานแห่งหัวกะโหลก*(4) เขาตรึงพระองค์ไว้ (ลูกา 23.33)
13th Station: การเชิญพระศพลงจากกางเขน (ลูกา 23.50-52)
14th Station: การฝังพระศพในอุโมงค์ (ลูกา 23.53-56)
จาก Via Dorolosa สู่ the Holy Sepulchre ซึ่งอยู่ใน Christian Quarter ทั้งคู่ เราเดินเลาะไปไม่ไกลก็ถึง Jewish Quarter ที่ซึ่ง the Western Wall (Wailing Wall) กำแพงร้องไห้ตั้งอยู่ กำแพงไม่ใหญ่นัก มีความสูง 60 ฟุต กว้าง 1600 ฟุต และมีความลึกลงไปใต้ดินอีก 50 ฟุต ในอดีต บริเวณนี้ถูกปกครองโดยรัฐบาลจอร์แดนทำให้ชาวยิวไม่สามารถมาอธิษฐานได้
แต่เมื่ออิสราเอลชนะสงครามหกวัน Six-Day War ในวันที่ 7 มิถุนายน 1967 ชาวยิวทั่วโลกก็หลั่งไหลมาอธิฐานยังที่แห่งนี้ไม่ขาดสายเนื่องจากชาวยิวถือว่า Western Wall คือตัวแทนของความบริสุทธิ์ของพระเจ้า คือที่ที่อยู่ใกล้ห้องอภิสุทธิสถานที่สุด พวกยิว ultra orthodox จะผูก Tefillin*(5) ไว้ที่หน้าผาก และ แขนซ้าย ตามคำสั่งของพระเจ้าใน เฉลยธรรมบัญญัติ 6.8 เขาจะสวม tallit เสื้อคลุมอธิษฐานที่มีพู่ห้อยดังที่พระเจ้าบัญชาไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล กันดารวิถี 15.37-41
นี่ละหรือ กำแพงร้องไห้ หรือ Western Wall ที่มักเป็นภาพข่าวไปทั่วโลกเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นในเยรูซาเล็ม
Western Wall or Wailing Wall
เชิงอรรถ
*(1) กลุ่มศาสนจักรตะวันออก ประกอบด้วย Greek Orthodox, Armenian Orthodox, Coptic (Egyptian) Orthodox, Ethiopian Orthodox, และ Assyrian Orthodox
*(2) ในช่วงครูเสด คริสตศักราช 1095 – 1291 (AD.) มีการขยายขอบเขตกำแพงเมืองและบูรณะโบสถ์สุสานศักดิ์สิทธิ์
*(3) Praetorium เต็นท์ที่พักและทำงานของผู้ปกครองชาวโรมันในสมัยโบราณ
*(4) ภาษาอารเมคเรียกว่า กลโกธา
*(5) Tefillin คือกล่องสีดำเล็กๆ มีสายรัดติดอยู่ ภายในบรรจุข้อพระคัมภีร์ จาก อพยพ 13.1-10 , 13.11-16 และ เฉลยธรรมบัญญัติ 6.4-9 , 6.13-21
โฆษณา