30 มิ.ย. 2023 เวลา 03:45 • ปรัชญา

การปะทะกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (2)

ตอนจบ การรุกของมนุษย์และการโต้กลับของธรรมชาติ
การปะทะกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ด้วยเหตุผลสามประการด้วยกัน
1) ประการแรก มนุษย์มีความขัดแย้งพื้นฐานในตัวเอง คติพุทธกล่าวว่า มนุษย์มีจิตอันเป็นปภัสร แต่จิตนั้นได้เศร้าหมองด้วยบาปและอกุศลทั้งหลาย บางศาสนากล่าวว่ามนุษย์มีบาปกำเนิด มนุษย์มี 2 บุคคลิกภาพ นักวิชาการบางคนเปรียบว่ามนุษย์ดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ แต่มีสมองเหมือนคนยุคหิน จากความขัดแย้งพิ้นฐานนี้ เมื่อมนุษย์มีอำนาจและจำนวนผู้นคนมากขึ้น ทั้งอยู่อย่างแออัดในเมืองทั้งหลาย ความขัดแย้งดังกล่าวจึงทวีความรุนแรง
ความขัดในตัวมนุษย์แสดงออกเป็นรุปธรรมสองคู่ด้วยกัน คู่หนึ่งได้แก่ความไม่พอใจในตนเองและการหลงตนเอง การไม่พอใจตนเองนั้น ทำให้เห็นว่าตนเองไม่งาม ไม่บริสุทธิ มักผิดพลาด มีความคิดลงโทษตนเอง ดูหมิ่นตนเองไม่มั่นใจ ไม่องอาจ ส่วนการหลงตนเอง ทำให้เกิดความคิดว่าตนเองพิเศษดีกว่าใคร ความผิดพลาดทั้งหลายล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้อื่นกระทำขึ้น
ความขัดแย้งอีกคู่ เป็นระหว่างความดีกับความชั่ว บุญและบาป เมื่อขัดแย้งกันนานไป ประกอบตนมีอำนาจในการควบคุมและดัดแปรสูงขึ้น ได้เกิดความคิดประหลาดขึ้นว่าบุญและบาปไม่มีจริง เป็นสิ่งหลอกลวงให้ไม่มีความเป็นอิสระ เกิดขึ้นมากในหมู่คนสมัยใหม่
จากความขัดแย้งในตนเองนี้ได้ขยายวงไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเหตุการณ์และสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ครอบครัว สุขภาพ การงาน องค์กร สร้างการแบ่งแยก การไม่ไว้วางใจกัน สำหรับในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เกิดเป็นการจลาจลและสงครามได้โดยไม่ยาก ในขณะนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง ทั้งยังมีจุดเดือดในที่อื่นๆอีก
ที่ขยายวงขึ้นไปอีก เป็นความขัดแย้งกับอารยธรรมของตนเอง เห็นว่าอารยธรรมของตนแม้ว่าจะเกิดประโยชน์ ก็กดดันไม่ให้ทำอะไรตามใจ หรือได้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่ต้องการ ต้องการพลิกกลับให้ตนได้ประโยชน์มากกว่านี้ หรือรักษาประโยชน์ของตนได้ยาวนาน จนถึงที่สุดเป็นการขัดแย้งหรือการปะทะกับธรรมชาติ ที่มีลักษณะเอาเป็นเอาตายสูง
2) ประการที่สอง การพอกพูนความรู้ของมนุษย์อย่างรวดเร็ว
ดินแดนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่ยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 ได้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ที่เรียกว่าการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม อันที่จริงทุกอารธรรม มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตน เช่น อารยธรรมจีนก็ได้คิดสร้างเครื่องกลต่างๆมากมาย ประดิษฐ์กระดาษและดินปืน มียุคแห่งการสำรวจของตนเอง แต่ทั้งหมดก็หยุดชะงักลง ไม่ก้าวสู่ขั้นการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหมือนในยุโรป
การปฏิวัติทั้งสองได้ได้เปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ต่อธรรมชาติอย่างไม่หวนกลับ ก่อนหน้านั้นมนุษย์มองธรรมชาติเป็นเชิงจิตวิญญาณ เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ควรแก่การสักการะบูชา แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ทำให้มนุษย์มองธรรมชาติเปลี่ยนไปเป็นเชิงวัตถุแบบต่างๆ ดังนั้นโลกนี้หรือพระแม่ธรณีที่อ่อนโยนและมีเมตตาต่อมวลมนุษย์ จึงเปลี่ยนเป็นวิชาภูมิศาสตร์ ดวงอาทิตย์หรือสุริยเทพกลายเป็นกลุ่มแก๊สมหึมา ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจนเป็นสำคัญ ดวงดาวอื่นที่ส่องแสงระยิบระยับในยามราตรี ก็เป็นแบบเดียวกัน
สรุปได้ว่ามนุษย์มีความรู้เรื่องธรรมชาติทั้งในระดับที่กว้างใหญ่ของธรรมชาติ เป็นแกแล็กซี่และดวงดาวจำนวนมาก และรู้รายละเอียดเกี่ยวกับอนุภาคและอะตอมมากขึ้น ความรู้เหล่านี้ตอกย้ำความเป็นวัตถุของธรรมชาติว่ามันเป็นไปของมันเอง ไม่ต้องการสิ่งใดมาช่วยสร้าง นักปรัชญาตะวันตกคนหนึ่งกล่าวในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ว่า “พระเจ้าตายแล้ว และมนุษย์ได้สังหารพระองค์”
3) การกำเริบในความสำเร็จหรือการไม่มีทางเลือกของมนุษย์ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนมนุษย์เข้าปะทะกับธรรมชาติ อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการกำเริบในความสำเร็จ หรือการไม่มีทางเลือกของมนุษย์ก็ได้ ถ้าหากจะจัดสาเหตุของความสำเร็จและการเรืองอำนาจของมนุษย์ในเวลาอันสั้น คงได้เป็น 3 ประการคือ
ก) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ถ่านหิน น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ข) การเชื่อมต่อ ข่าวสาร ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงานและแร่ธาตุต่างๆเข้าด้วยกัน ค) การเป็นเมือง เป็นรูปธรรมของการเชื่อมต่อผู้คน โครงสร้างพื้นฐาน การไหลเวียนของข่าวสาร แร่ธาตุ พลังงาน
ในทั้งสามประการนี้ เกิดปัญหาชัดขึ้นในสองประการ ได้แก่ ก) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีพลังงานเข้มข้น ขุดเจาะผลิตง่าย เก็บรักษาง่าย สะดวกในการขนส่งและการใช้ ได้ร่อยหรอหมดไปเรื่อยๆ ต้องหันมาใช้พลังงานทดแทน ได้แก่พลังน้ำ นิวเคลียร์ แสงแดด และลมเป็นต้น ที่ให้พลังไฟฟ้า มักต้องสร้างเป็นระบบหรือข่ายใยขนาดใหญ่ จึงมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้
ข) การเป็นเมือง ที่เพิ่มมากขึ้นทุกที จนในต้นศตวรรษที่ 21 มีประชากรเมืองมากกว่าประชากรในชนบทเป็นครั้งแรก การเป็นเมืองแม้จะมีประโยชน์ในการสร้างศูนย์กลางและการไหลเวียนเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรจำนวนมาก แต่ก็มีความจำกัดของมัน ประเทศที่มืประชากรเมืองเกินร้อยละ 80 ได้เริ่มรู้สึกถึงความกดดันในการรักษาการเป็นเมือง โดยเฉพาะอภินครไว้ กรณีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เมืองจำนวนมากในโลกเหมือนเมืองร้าง นครหลวงคาทูมของซูดาน จู่ๆก็เกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนในเมืองนี้ต้องพากันอพยพหนีตาย
จากนี้มนุษย์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้สามารถเชื่อมต่อได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ความมั่นคงทางการปกครอง เข้าใจและควบคุมธรรมชาติได้มากขึ้น
ยุทธศาสตร์ในการรุกของมนุษย์
มนุษย์มียุทธศาสตร์ในการรุกเข้าใจและควบคุมธรรมชาติสองด้านใหญ่ ด้านหนึ่งใช้ความเร็ว เป็นความได้เปรียบของมนุษย์ที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมได้เร็วกว่าวิวัฒนาการทางธรรมชาติ ในเวลาอันสั้นมนุษย์สามารถเอาชนะสัตว์และพืชที่เป็นองค์ประกอบทางชีวะในระบบนิเวศ ได้ดัดแปลงทั้งโลกเป็นเหมือนกับตนเอง อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตว่า มนุษย์น่าจะขัดแย้งกันเองมากกว่ากับธรรมชาติ เพราะว่าขณะนี้การแข่งขันเอาชนะกันทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของชาติต่างๆ ได้ดำเนินไปอย่างเอาเป็นเอาตาย
อีกด้านหนึ่งได้การรวมศูนย์พลังหรือการเชื่อมต่อความรู้และเครื่องมือ ลงไปในเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เพี่อสร้างความแรงในการปะทะ ทำให้ได้เปรียบในระยะสั้น เป็นที่สังเกตว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงตลอดศตวรรษที่ 20 มนุษย์ดูมีความมั่นใจว่าจะสามารถเข้าใจเอาชนะธรรมชาติที่เป็นเพียงวัตถุได้ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 จึงได้เริ่มรู้สึกกันว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ และพวกเขากำลังทำลายตัวเองมากกว่า
ยุทธศาสตร์การโต้กลับของธรรมชาติ
ที่เรียกว่ายุทธศาสตร์การโต้กลับของธรรมชาติ เป็นการกล่าวตามความเข้าใจของมนุษย์เท่านั้น แท้จริงธรรมชาติอาจไม่คิดด้วยซ้ำว่าได้ถูกโจมตีโดยมนุษย์ เพราะว่าโลกใบนี้เมื่อเทียบกับขนาดของระบบสุริยะแล้ว ก็เล็กกว่าฝุ่นเสียอีก
ธรรมชาติใช้หลากหลายวิธีในการโต้กลับมนุษย์ ได้แก่ 1) การใช้ขนาดและเวลาที่มีเหมือนไม่จำกัด เช่น มนุษย์มีอายุคาดหมายเฉลี่ยทั้งโลกไม่ถึง 100 ปี และคาดว่าจะไม่เกินนั้น ดวงอาทิตย์นี้ขนาดใหญ่กว่าโลกมาก อุบัติขึ้นเมื่อราว4.5 พันล้านปีมาแล้ว และจะดำรงอีกหลายพันล้านปีกว่าจะ “ดับ” คล้ายกับเกิดครั้งเดียวดับครั้งเดียว มนุษย์เกิดบ่อยกว่าดับบ่อยกว่า คติพุทธกล่าวว่า “สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาย่อมมีความดับเป็นธรรมดา”
2) ใช้ความหลากหลายโอบล้อม ธรรมชาติไม่ได้เป็นของมนุษย์สปีชีส์เดียวหากยังเป็นของสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่น มีพืชและแบคทีเรียเป็นต้น ทั้งยังเป็นของสิ่งไม่ชีวิตทั้งหลาย ได้แก่ พลังงานและวัตถุจำนวนมาก
แต่มนุษย์มีความจำกัดในการปฏิบัติเพียงในสปีชีย์ของตน กระทั่งเพียงกลุ่มเล็กๆของตน พร้อมกับสัตว์เลึ้ยงและพืชไม่กี่ชนิด กับสิ่งปลูกสร้างอีกจำวนหนึ่ง ขณะที่พวกเขาไม่อาจอยู่ได้โดยไม่มีพืชและแบคทีเรีย ความคับแคบของมนุษย์ ทำให้เขากำจัดชีวิตอื่น จนเกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ ซึ่งจะลามมาสู่มนูษย์ในที่สุด ธรรมชาติย่อมกว้างใหญ่และรู้ดีกว่ามนุษย์
3) การให้มนุษย์ทำลายตนเอง ธรรมชาติรู้ดีว่า มนุษย์มีความขัดแย้งมากมาย ตั้งแต่ขัดแย้งกับตัวเอง กับผู้อื่น กับสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ได้ปะทะกับธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปแล้ว ก็มีความเป็นไปได้มากว่าพวกเขาจะทำลายตนเองจากความขัดแย้งอื่นทั้งหลาย
4) การเปิดเผยความจริงแก่มนุษย์โดยลำดับ มนุษย์เมื่อเริ่มเข้าใจธรรมชาติด้วยวิธีการทางวิยาศาสตร์สมัยใหม่ คิดว่าธรรมชาติเหมือนเครื่องกล เข้าใจได้ไม่ยาก คิดว่ากฎที่ตนค้นพบนั้นเป็น “กฎธรรมชาติ” ทั้งที่มันเป็นเพียงกฎทางคณิตศาสตร์และกฎทางฟิสิกส์ง่ายๆเท่านั้น
เมื่อมีความรู้มากขึ้น มนุษย์จึงรู้ว่าวัตถุมีความซับซ้อนยิ่ง เช่นอนุภาคเป็นได้ทั้งคลื่นและวัตถุ มันสามารถอยู่หลายที่ในเวลาเดียวกันได้ วิทยาศาสตร์ที่เคยบอกว่าอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้แน่นอน ขณะนี้บอกได้เพียงความเป็นไปได้เท่านั้น ความรู้ที่ใกล้ตัวเช่นชีวิตกำเนิดในโลกได้อย่างไร ก็ทำได้เพียงเสนอทฤษฎีกันไปต่างๆ
5) การให้มนุษย์เชื่องลง เมื่อมนุษย์รู้ว่า พวกเขาไม่ได้รู้อะไรมากมาย ทั้งสิ่งที่เขาสร้างขึ้นจากความรู้ของเขา ล้วนก่ออันตรายและทำลายพวกเขาได้ทั้งสิ้น เช่นการผลิต การบริโภคและมาตรฐานการครองชีพของพวกเขา ก่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทำให้โลกร้อนระอุ อาวุธนิวเคลียร์มีอำนาจทำลายล้างมนุษย์จนหมดสิ้นได้หลายรอบ นวกรรมใหม่คือปัญญาประดิฐ์ ก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากขึ้นเตือนว่า มันสามารทำลายมนุษย์ได้เช่นกัน
วิธีตอบโต้ดังกล่าวของธรรมชาติ เป็นเพียงกรอบเค้าโครง ยังเหลือพื้นที่กว้าง สำหรับมนุษย์ตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าจะทำอะไรและอย่างไรต่อไปดี
ธรรมชาติเห็นว่า มนุษย์มีพัฒนาการไปตามศักยภาพและเหตุปัจจัยของตน และนั่นย่อมไม่ใช่ธรรมชาติทั้งหมด
 
ธรรมชาติจักมอบความเบ่งบานแก่ดวงจิตมนุษย์ที่เข้าใจในธรรมชาตินั้น
ภาพประกอบบทความโดย กันต์รพี โชคไพบูลย์
โฆษณา