30 มิ.ย. 2023 เวลา 04:10 • ไลฟ์สไตล์
กระทรวงการต่างประเทศ

นักการทูตกับความหลากหลาย: ดิว-ศิรธันย์ สิทธิธัญวัฒน์ นักการทูตข้ามเพศ

กระทรวงการต่างประเทศขอร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ด้วยบทสัมภาษณ์สุดพิเศษกับ คุณดิว-ศิรธันย์ สิทธิธัญวัฒน์ นักการทูตข้ามเพศ
LGBTQ+ เป็นนักการทูตได้จริงหรือ?
ดิวบอกกับเราว่า ก่อนที่เธอจะสอบผ่านคัดเลือกเป็นนักการทูต เธอมีความกังวลอย่างมากว่า การที่เธอเป็นบุคคลข้ามเพศจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอขาดคุณสมบัติและสอบไม่ผ่านคัดเลือก เนื่องด้วยว่ากระทรวงการต่างประเทศอาจไม่เคยมีนักการทูตเป็นบุคคลข้ามเพศมาก่อน
คืนก่อนการสอบคัดเลือกครั้งสุดท้าย หรือการสอบสัมภาษณ์เพื่อวัดทัศนคติและบุคลิกภาพ ดิวบอกว่าระหว่างกลางดึกคืนนั้น เธอเคยคิดด้วยว่าถ้าหากตอนนี้เธอไปตัดผมให้สั้นเพื่อที่จะได้ดูเหมือนผู้ชายให้ได้มากที่สุดยังทัน แต่สุดท้ายเธอฉุกคิดได้ว่า ทำไมต้องมากังวลกับเรื่องนี้ด้วย
ขณะที่เธอกำลังเครียดกับเรื่องนี้ ผู้สมัครท่านอื่นที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิดนั้น กำลังเตรียมตัวสอบอย่างขะมักเขม้น โดยไม่ต้องมากังวลว่าจะต้องตัดผมสั้นหรือไว้ผมยาว จะเลือกใส่กางเกงหรือใส่กระโปรง ทำให้ท้ายที่สุด ดิวไม่เลือกที่จะแสร้งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเธอ โดยเธอเลือกที่จะเป็นตัวเองและแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของเธอไปสอบคัดเลือก
She put the ‘T’ in Diplomat
ในห้องสอบสัมภาษณ์ มีหนึ่งคำถามที่ดิวจำได้ขึ้นใจเลยคือ “คุณคิดว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง สำหรับการมีนักการทูตเป็นบุคคลข้ามเพศ?” เธอตอบโดยไม่ลังเลว่า “พร้อมแล้ว” ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้คนมากมายหลากหลาย ซึ่งรวมถึงผู้คนจากกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย และหากนักการทูตคือตัวแทนของผู้คนในประเทศ การที่นักการทูตเป็นบุคคลข้ามเพศหรือผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ จากกลุ่ม LGBTQ+ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
อีกทั้งการที่ประเทศไทยมีนักการทูตจากกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเปิดเผยนั้น ยังสามารถส่งเสริมท่าทีและการดำเนินการของไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายและประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างมีน้ำหนักมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเธอเชื่อว่า คำตอบนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอสอบผ่านคัดเลือก และได้การบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการ
“รู้หรือไม่” ‘เอกอัครราชทูตจากสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย นายมาร์ก กูดดิง เป็นหนึ่งในนักการทูตที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนว่าเป็นเกย์ นอกจากนี้เอกอัครราชทูตจากสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยท่านก่อน นายไบรอัน เดวิดสัน ก็เป็นบุคคลจากกลุ่ม LGBTQ+ เช่นเดียวกัน’
ดิวขณะปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ประสานงาน (Liason Officer) ในการประชุมเอเปค ๒๐๒๒
ปัจจุบัน ดิวปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักการทูตมาราวหนึ่งปีเศษ เราเลยอยากถามเธอว่าความคาดหวัง (Expectation) และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Reality) ในอาชีพนักการทูตนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?
ดิวบอกว่าก่อนจะเข้ามารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เธอเคยมีประสบการณ์ในการทำงานในหน่วยราชการอื่นมาก่อน ซึ่งแต่ละหน่วยราชการก็มีแนวปฏิบัติสำหรับบุคคลข้ามเพศที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละหน่วยและบุคคล
เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฝึกงานที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ดิวแต่งกายไปฝึกงานด้วยเครื่องแบบนิสิตหญิง แต่กลับถูกตำหนิว่า การสวมเครื่องแบบนิสิตหญิงนั้นผิดระเบียบ และขอให้เธอแต่งกายให้ตรงตามเพศกำเนิด ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความไม่สบายใจให้กับเธอ เนื่องจากกฎระเบียบไม่ได้ระบุชัดเจนในเรื่องนี้
ทว่า วันรุ่งขึ้นผู้ดูแลการฝึกงานของนักศึกษาได้เข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกับเธอว่า เธอไม่จำเป็นต้องแต่งกายตรงตามเพศกำเนิด โดยเธอสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของเธอได้อย่างเสรี เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดใดระบุว่าต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด โดยบุคลากรที่เข้ามาตักเตือนเธอนั้นอาจกระทำไปเพราะกลัวผู้บังคับบัญชาตำหนิ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ดิวย่อท้อที่จะทำงานในสายงานราชการต่อไป
งานแรกของดิวก่อนจะสอบได้เป็นนักการทูตปฏิบัติการที่กระทรวงการต่างประเทศก็เป็นงานในหน่วยงานราชการเช่นกัน ซึ่งเธอกล่าวว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีมากช่วงเวลาหนึ่ง เพราะที่ทำงานของเธอเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่ง เธอสามารถแต่งหน้าหรือสวมกระโปรงไปทำงานได้ด้วยความมั่นใจในทุกเช้า เมื่อเข้ามาทำงานในกระทรวงการต่างประเทศดิวจึงคาดหวังว่า เธอจะพบกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างเช่นเดียวกับหน่วยงานที่เธอจากมา
ทว่า ความเป็นจริงในช่วงแรก ๆ นั้นต่างกับความคาดหวังของเธอไปเล็กน้อย ซึ่งโดยส่วนตัวเธอคิดว่า อาจเป็นเพราะการมีนักการทูตข้ามเพศเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน อาจทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติต่อกันในลักษณะใดจึงจะเหมาะสมที่สุด
ในช่วงเริ่มต้นการทำงานในฐานะนักการทูตดิวบอกว่า เธอเริ่มต้นด้วยการแต่งกายตามเพศกำเนิดมาทำงานก่อน เพราะเกรงว่าหากเธอแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของเธอไปทำงานอาจเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันกับตอนฝึกงานในอีกหน่วยงานหนึ่ง
ภายหลัง สำนักบริหารบุคคลของกระทรวงฯ ได้แจ้งกับเธอว่า เธอไม่จำเป็นต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด โดยเธอมีอิสระที่จะแต่งกายในลักษณะใดก็ได้บนพื้นฐานของความเหมาะสมตามบริบทของเวลาและสถานที่ ทำให้หลังจากนั้นเธอได้เปลี่ยนมาแต่งกายตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศของเธอ
ดิวบอกกับเราว่าสำหรับผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการในอดีต (หรือรวมถึงปัจจุบันสำหรับบางแห่ง) ไม่ได้มีเพียงแต่บุคคลข้ามเพศที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านการแสดงออกหรือการแต่งกาย ชายและหญิงเองต้องประสบกับปัญหานี้เช่นกัน เช่น การมองว่าผู้หญิงสวมกางเกงมาทำงานดูไม่เหมาะสม หรือการมองว่าผู้ชายไม่ควรสวมเสื้อสีชมพู เพราะเป็นสีชมพูแสดงถึงความเป็นผู้หญิง รวมถึงการห้ามย้อมสีผมสีสันสดใสด้วย
อย่างไรก็ตาม ดิวมองว่า ปัจจุบัน ข้อจำกัดเหล่านี้เริ่มลดน้อยลง และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสังคมไทยเริ่มเปิดกว้างต่อความหลากหลาย และเคารพความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น
Call me by my name
หนึ่งสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานในฐานะนักการทูตก็คือการสื่อสาร เมื่อเราสื่อสารกับคู่สนทนา เราจำเป็นต้องเรียกแทน เขา/เธอ ด้วยสรรพนามบางอย่าง ซึ่งสำหรับดิว เธอมักแนะนำให้คู่สนทนาใช้สรรพนามเรียกแทนตัวเธอด้วยชื่อของเธอเอง หรือใช้สรรพนามเพศหญิง (She/her) แทนเมื่อต้องติดต่อกับชาวต่างชาติ แต่ดิวก็กล่าวเสริมว่า เธอก็ไม่ได้รู้สึกไม่สบายใจเมื่อถูกเรียกแทนด้วยสรรพนามเพศชาย (He/him) เพราะเธอทราบดีอยู่แล้วว่าตัวตนของเธอนั้นคือใคร โดยเธอไม่กังวลว่าใครมาเป็นผู้นิยามตัวตนของเธอ
ขณะนี้ ดิวปฏิบัติหน้านี้ในตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการ ฝ่ายอำนวยการ สำนักนโยบายและแผน รับผิดชอบดูการประสานงานด้านกลไกรัฐบาล และงานอำนวยการสำหรับภารกิจด้านมนุษยธรรมของกระทรวงการต่างประเทศ เช่น การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทยสู่ยูเครน ซูดาน และเมียนมา
นอกจากนี้ เธอยังได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการต่างประเทศระหว่างหน่วยงานราชการไทยและสิงคโปร์ ณ ประเทศสิงคโปร์ (ติดตามบทสัมภาษณ์ 'ประสบการณ์ข้าราชการแรกเข้า ภายใต้โครงกาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการไทย - สิงคโปร์ ที่ลิงก์ด้านล่าง) รวมถึงดิวยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติครั้งสำคัญของไทยในปีที่ผ่านมา อย่างการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอีกด้วย
บรรยากาศการร่วมงานแลกเปลี่ยนมุมมองด้านนโยบายการต่างประเทศสถานการณ์โลก ณ ประเทศสิงคโปร์
การปฏิบัติภารกิจที่มากมายและหลากหลายในช่วงเวลาเพียง ๑ ปี ทำให้เราอยากทราบว่าภารกิจใดเป็นภารกิจที่ดิวประทับใจมากที่สุด ?
คำตอบที่เธอตอบกลับมานั้นน่าสนใจอย่างมาก ดิวประทับใจภารกิจการฝึกคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) มากที่สุด ซึ่งการฝึกคอบร้าโกลด์ คือการฝึกซ้อมรบร่วมกันของกำลังพลทหารมากกว่า ๗,๐๐๐ นาย จาก ๓๐ ประเทศ ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
เราจึงต้องถามซ้ำอีกรอบว่าอะไรที่ทำให้นักการทูตสาวคนนี้ ประทับใจต่อการฝึกยุทธ์การสะเทินน้ำสะเทินบกนี้ เธอตอบว่าเธอประทับใจภารกิจนี้มากที่สุดเพราะนี่เป็นภารกิจที่เธอไม่คาดคิดว่า บุคคลข้ามเพศอย่างเธอจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมต่อภารกิจที่มีกลิ่นอายความเป็นชายสูงขนาดนี้ โดยเธอได้เข้าร่วมฝึกอบรมภารกิจด้านมนุษยธรรมกับเหล่านายทหารคอบร้าโกลด์เป็นเวลา ๓ วัน ด้วยกัน โดยเธอบอกอีกว่าเหล่าชายชาติทหารทุกนายนั้นให้เกียรติเธออย่างยิ่งตลอดระยะเวลาการฝึก
ดิว ขณะเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ ประจำปี ๒๕๖๖
เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ... (จริงหรือ)
ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ เราอยากให้ดิวทิ้งท้ายอะไรถึงเพื่อน ๆ ทุกคนจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดิวบอกว่ามีประโยคหนึ่งที่เธอเคยได้ยินมาตลอดเมื่อใครสักคนเปิดเผยอัตลักษณ์ของตน คือ “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” เธอบอกว่าเธออยากให้ทุกคนตั้งคำถามกับประโยคนี้ ว่า LGBTQ+ ทุกคนไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านการทำดี การตั้งใจเรียนให้ได้เกรด ๔ หรือการตั้งใจทำงานให้หนักกว่าชายหญิงทั่วไป โดยทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ก็ตาม ควรจะได้รับการยอมรับและความเคารพในความเป็นตัวตนอย่างเสมอภาคกัน
“เป็นตัวของตัวเอง แค่นั้นก็พอแล้ว” น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมกับทุก ๆ คนมากกว่า เพราะการเป็นตัวของตัวเองและไม่พยายามฝืนอัตลักษณ์ โดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของทุกฝ่ายซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพตนเองและผู้อื่นอย่างเสมอภาค นี่แหละที่ทำให้ดิวได้เป็นนักการทูตตามความฝันของเธอได้สำเร็จ
เธอเชื่อว่า หากทุกคนกล้าเดินตามความฝันโดยโอบรับความเป็นตัวตนของตนเองอย่างมั่นใจ และไม่ให้ทัศนคติเชิงลบใด ๆ มาเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องมีนักการทูตข้ามเพศคนที่ ๒ และ ๓ และรุ่นต่อมาอีกมากมายแน่นอนในรั้วกระทรวงการต่างประเทศแห่งนี้
โฆษณา