30 มิ.ย. 2023 เวลา 10:27 • ศิลปะ & ออกแบบ

ครั้งแรกของ จ.นครพนม กระทรวงวัฒนธรรม นำ “การแสดงโขน” ร่วมบวงสรวงพญานาค

จะเรียกว่าเป็นความแปลกใหม่เลยก็ว่าได้สำหรับ “การแสดงโขง” เพราะปกติส่วนใหญ่จะเห็นการแสดงในโรงละครแห่งชาติ หรือสถานที่ปิด น้อยมากที่จะเห็นการแสดงโขนในสถานที่โล่งแจ้ง ภายนอก (Outdoor) นอกจากการแสดงในมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูง เช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ มหรสพสมโภชงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือการแสดงที่เป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป และที่สำคัญคือหาชมได้ยากมาก
แต่ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของพี่น้องชาวจังหวัดนครพนมและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงาน “บวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช” ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566 เพราะวันแรกของพิธีเปิดงานทางวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จะได้นำชุดการแสดงโขนมาแสดงให้พี่น้องชาวจังหวัดนครพนมและนักท่องเที่ยวได้ชมกันแบบเต็มอิ่ม
อาจารย์กิตติยา ทาธิสา ซึ่งเป็นหัวหน้างานเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ทราบมาว่า จะนำนักแสดงโขนกว่า 100 ชีวิต มาทำการแสดงที่จังหวัดนครพนมในงานเทศกาลงานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาวจังหวัดนครพนม กับชุดการแสดงที่จะเกิดขึ้น ทีมงานนักแสดงน้อง ๆ นักศึกษา ๆ ตั้งใจฝึกซ้อมเป็นอย่างดี อยากจะร่วมถ่ายทอดจิตวิญญาณอันเป็นมรดกไทยที่ทรงคุณค่าให้ออกมาสวยงามและสมบูรณ์แบบมากที่สุด
การแสดงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกที่เป็นพิธีเปิดจะเป็นการแสดงบูชา “องค์พญาศรีสัตตนาคราช” ในบทการแสดงจะกล่าวถึงเรื่องราวของพญานาค มีชุดการแสดง เครื่องแต่งกาย ที่สื่อถึงพญานาคและโขนร่วมด้วย โดยการแสดงชุดนี้จะใช้เวลา 8 นาที ส่วนช่วงที่สอง เป็นการแสดงโขนฉบับเต็ม จำนวน 1 ชั่วโมง ในชุดการแสดงที่มีชื่อว่า “พรหมพงศ์วงศ์อสุรา” ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับ พระลักษมณ์ พระราม รามเกียรติ์ และทศกัณฐ์ เป็นการแสดงที่มีคุณค่า จึงอยากให้ทุกคนมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ร่วมกัน
การแสดงโขนในครั้งนี้ เป็นการแสดงภายใต้โครงการ “การแสดงโขนทั่วทิศแผ่นดินไทย” ที่ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม อยากเผยแพร่มรดกวัฒนธรรม “โขน” ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด โดยแต่ละปีจะมีชุดการแสดงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในปีนี้เป็นชุดการแสดง “พรหมพงศ์วงศ์อสุรา”
โขน (Khon) เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการ และอ่อนช้อย เป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง เช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้น เช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์ และเพลงดนตรีเข้ามาประกอบการแสดง
ในการแสดงโขนผู้ที่แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตา ให้สามารถมองเห็นการแสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน
ทั้งนี้ “โขน” ยังได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2561 ว่าเป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ’ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน งานนี้ผู้จัดชุดการแสดงบอกว่าต้องมาชมให้ได้ เพราะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่น่าตื่นเต้นรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่
ภาพ : สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ข่าว/บทความ : นครพนมโฟกัสนิวส์
#เที่ยวนครพนม #บวงสรวงพญานาค #องค์พญาศรีสัตตนาคราช #บูชาพญานาค #รำบวงสรวงพญานาค #นครพนม #ข่าวนครพนม #โฟกัสตรงประเด็น #นครพนมโฟกัสนิวส์
โฆษณา