1 ก.ค. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

4ช่องต้องรู้ EP.28 : พนักงานสี่กลุ่มเมื่อจำแนกด้วยระดับคุณธรรม

4ช่องต้องรู้ EP.28 ในวันเสาร์นี้ ขอนำเสนอเรื่อง พนักงานสี่กลุ่มในองค์กร เมื่อจำแนกโดยใช้ระดับคุณธรรม [Moral Quotient : MQ หรือ Morality Quality] ของบุคคลเป็นเกณฑ์ในการจำแนก
เราเคยกล่าวถึง ความฉลาดทางการเรียนรู้ หรือ IQ [Intelligence Quotient] กับ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ [Emotional Quotient] ของคนในองค์กรที่จำแนกด้วยตารางสี่ช่องมาแล้ว
การจำแนกบุคคลโดยใช้ MQ นี้ เป็นอีกหนึ่งมุมมองด้านการบริหารงานบุคคลที่น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นคุณประโยชน์แก่กิจการได้ดีทีเดียวในยุคนี้
🔎 ระดับคุณธรรม [Moral Quotient] หมายถึงอะไร?
คำว่า “คุณธรรม” (ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต), ๒๕๕๓.) ให้นิยามไว้ว่า “คุณธรรม : ธรรมที่เป็นคุณ, ความดีงาม, สภาพที่เกื้อกูล”
ในที่นี้ พูดภาษาชาวพุทธก็คือ ผู้ที่มีคุณธรรม หมายถึง บุคคลผู้มีศีล (โดยเฉพาะศีล ๕ เป็นเบื้องต้น) มีความเชื่อมั่นศรัทธาในเรื่อง กฎแห่งกรรม และใช้หลักธรรมที่เหมาะสมในการ ประพฤติตนชอบทั้งกาย วาจาและใจ
🔎 ตารางสี่ช่องจำแนกบุคคลด้วยคุณธรรมได้อย่างไร?
ใช้กติกาคือ
(1) แกนตั้ง: แทน “บทบาทหน้าที่ในงาน” [Job Roles] ของพนักงานผู้นั้น
แบ่งออกเป็น 2 บทบาท คือ (1) ในฐานะลูกน้อง และ (2) ในฐานะหัวหน้าหรือผู้นำองค์กร
(2) แกนนอน: แทน “ระดับคุณธรรมของบุคคล” [Level of Moral Quotient: MQ]
ซึ่งก็แบ่งออกได้เป็นสองจำพวก คือ (1) ผู้ที่พร่องคุณธรรม หรือ คนที่ไม่มีศีล ๕ และไม่ประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม กับ (2) ผู้ที่มีคุณธรรม หรือ คนที่มีศีล ๕ และประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม
🔎 พนักงานสี่กลุ่มที่เราอาจพบได้ในองค์กรทั่ว ๆ ไป มีดังนี้
🔹กลุ่มที่ [1]: “ลูกน้องที่ปกครองยาก” [Troublesome Follower]
ได้แก่ พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความบกพร่องด้านคุณธรรม เป็นกลุ่มพนักงานที่สร้างความหนักใจให้แก่หัวหน้าอยู่เสมอ หากมีงานสำคัญ หัวหน้าก็มักจะไม่กล้าใช้งาน เพราะกลัวจะไปทำให้องค์กรเสียหาย
ครั้นปล่อยให้ทำงานที่มีมูลค่างานต่ำไปวัน ๆ ซึ่งย่อมจะไม่ก้าวหน้า แต่คนกลุ่มนี้ก็จะพอใจในงาน แต่ไม่พอใจตอนประเมินผลงานปลายปี มักจะออกมาเรียกร้องกล่าวหาว่า ตนถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนาย หากเป็นองค์กรที่มีสหภาพแรงงาน บุคคลกลุ่มนี้ จะเป็นคนที่ active มาในกิจกรรมของสหภาพฯ แม้ตำแหน่งงานอาจไม่สูงนัก แต่ทำตัวเป็นผู้กว้างขวาง และคอยรักษาผลประโยชน์ให้พนักงานในทุกเรื่อง จนลืมนึกถึงประโยชน์ของกิจการโดยรวม
🔹กลุ่มที่ [2]: “ลูกน้องที่วางใจได้” [Trustworthy Follower]
ได้แก่ พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม พนักงานกลุ่มนี้มักจะมีคุณธรรมข้อ อิทธิบาท ๔ เป็นหลักใจในการปฏิบัติหน้าที่ ควบคู่กับมีศีล ๕ คนกลุ่มนี้จึงสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ไว้วางใจของหัวหน้า เมื่อมีงานสำคัญ ก็ต้องเรียกใช้บริการเพราะหัวหน้าเชื่อถือในคุณภาพและประสิทธิภาพของเขา กับทั้งจะไม่แพร่งพรายความลับของบริษัทอย่างเด็ดขาด
ดังนั้น บุคคลในกลุ่มนี้ จึงมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วและไต่เต้าขึ้นไปได้สูง (ผิดกับลูกน้องในกลุ่มแรก ที่เมื่อรู้ความลับอะไร ก็มักจะแสดงออก เพื่อโชว์ว่าตนมีความสำคัญสามารถรู้ความลับของกิจการได้)
🔹กลุ่มที่ [3]: “ผู้นำจอมโกง” [Corrupted Leader]
เป็นหัวหน้างานหรือผู้บริหารที่บกพร่องด้านคุณธรรม มักจะใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ผิด เพื่อประโยชน์ส่วนตน ทำให้องค์กรเสียหาย สร้างผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องที่เชื่อฟังคำสั่งตน สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีแก่คนที่เกี่ยวข้องด้วย จัดได้ว่า เป็นกลุ่มพนักงานน่าอันตรายต่อองค์กรมากที่สุดในสี่กลุ่มนี้
🔹กลุ่มที่ [4]: “ผู้นำด้านจิตวิญญาณ” [Authentic Leader]
เป็นหัวหน้างานหรือผู้บริหารที่เปี่ยมคุณธรรม จึงสามารถครองใจคนส่วนใหญ่ในองค์กรได้ (แม้ว่า อาจมีศัตรูอยู่บ้าง คือกลุ่มคนที่ถูกขวางทางทำมาหากิน แต่ก็มักจะทำอะไรผู้นำแบบนี้ได้ยาก)
ผู้นำที่เปี่ยมคุณธรรมนี้ จะนำพาองค์กร สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนอย่างแท้จริง จัดว่า เป็นบุคคลที่หาได้ยากมากจริง ๆ ผู้นำเหล่านี้จะใช้ “พรหมวิหาร ๔” ในการปกครอง ร่วมกับคุณธรรมอื่น ๆ เช่น หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น
🔎 คุณธรรมสำคัญของผู้นำองค์กร
🔹 (1) พรหมวิหาร ๔ : (คือคุณธรรมสี่ประการของพรหม) ได้แก่
- เมตตา (ความรักในเพื่อนมนุษย์/การให้ไมตรีแก่บุคคลที่มีฐานะเสมอกัน)
คำว่า เมตตา ตรงกับคำว่า “ไมตรี” ในภาษาสันสกฤตซึ่งภาษาไทยยืมมาใช้ ผู้ที่มีความเมตตาย่อม “ให้ความรัก” แก่เพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เกิดความเป็นธรรมในสังคม ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก จึงเกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ ซึ่งคำว่า “ทีมเวิร์ค” ก็มาเอง
- กรุณา (ความเอื้อเฟื้อ/การให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า)
ในฐานะผู้บังคับบัญชา ที่มีความกรุณา ก็จะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ และให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสมเหตุสมผล ตามผลงานของลูกน้องแต่ละคน โดยปราศจากอคติลำเอียง
- มุทิตา (ความพลอยยินดีด้วย เมื่อบุคคลอื่นได้รับสิ่งที่ดีกว่าตน)
หัวหน้าบางคนที่พร่องมุทิตา มักจะอิจฉา ริษยาผู้อื่นแม้กับลูกน้องของตน บางคนก็ไม่เว้น เมื่อเขาได้ดี ก็ไม่พอใจ อาจกลั่นแกล้ง หรือ ให้โทษแก่คนเหล่านั้น เพราะขาดคุณธรรมข้อมุทิตานี้นั่นเอง
- อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง)
เมื่อลูกน้องคนใด ทำผิด ก็ต้องได้รับโทษตามกฎระเบียบ หัวหน้าที่มีอุเบกขาธรรม ก็จะไม่เอนเอียงไปช่วยเหลือปกป้องผู้กระทำผิด แม้ว่าอาจช่วยได้ก็ตาม แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำ เพราะเชื่อมั่นศรัทธาใน กฏแห่งกรรม
🔹 (2) หิริ โอตตัปปะ (ธรรมคุ้มครองโลก) : (หิริ ความละอายแก่ใจ คือละอายต่อความชั่ว ส่วน โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป ความเกรงกลัวต่อทุจริต)
เราจะพบว่า ยิ่งผู้นำระดับสูงในองค์กร ขาดคุณธรรมสองข้อนี้ (หิริ โอตตัปปะ) ยิ่งสร้างความเสียหายได้มาก เราได้ยินข่าวดังในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ผู้บริหารระดับสูง มีการปล่อยให้เกิดการตกแต่งบัญชีอย่างขนานใหญ่ต่อเนื่องกันมาหลายปี จนขาดทุนมากมาย ราคาหุ้นตกลงไปกว่า 90% และต้องถูกถอดออกจาก SET 100 หรือกระทั่งออกจากตลาดหลักทรัพย์ [Delisted] ไปเลย สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมากในเวลานี้ ก็เพราะผู้บริหารขาดคุณธรรมคุ้มครองโลกสองประการนี้ นั่นเอง
🔎 ข้อชวนคิด
มีโคลงโลกนิติบทหนึ่งที่มีเนื้อความใกล้เคียงกับสาระสำคัญใน EP นี้ว่า
ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้ฤาไหว
พบกันใหม่วันเสาร์หน้าครับ
โฆษณา