Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anontawong's Musings
•
ติดตาม
1 ก.ค. 2023 เวลา 12:02 • ความคิดเห็น
ชีวิตไม่ต้องมี Purpose ก็ได้
(เคล็ดวิชาชีวิตจากพี่อ้น IMET MAX ตอนที่ 3)
ดำเนินมาถึง mentoring session ครั้งที่ 3 กับ “พี่อ้น” วรรณิภา ภักดีบุตร ซีอีโอบริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) ที่มาเป็น mentor ให้โครงการ IMET MAX รุ่นที่ 5
รอบนี้พี่อ้นเลือกร้าน Lady L Garden Bistro ในซอยสมคิด ร้านตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมปาร์คนายเลิศมาก่อน
พี่อ้นมีของฝากมาให้พวกเราคนละสองชิ้น
ชิ้นแรกคือถุงผ้าลายผลิตภัณฑ์คลาสสิคในเครือโอสถสภา มีสามลายให้เลือกคือ “ลิโพ” “ทัมใจ” และ “ยากฤษณากลั่น” (ผมเลือกทัมใจ)
ส่วนชิ้นที่สองคือหนังสือ “ชีวิตดั่งสายน้ำ” ซึ่งเป็นชีวประวัติของ “คุณยายสุนัย สิริเวช” คุณยายแท้ๆ ของพี่อ้น
หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อแจกลูกหลานและผู้ที่รักนับถือท่านเนื่องในงานวันเกิดครบรอบ 99 ปี และเมื่อคุณยายลาจากไปอย่างสงบเมื่อปี 2021 ด้วยสิริอายุ 109 ปี ลูกหลานก็ช่วยเติมเต็มเนื้อหาช่วงสุดท้ายและแจกจ่ายให้เป็นของที่ระลึกแขกที่มาร่วมงาน โดยมี “ช้อนชา” เป็นของชำร่วยอีกหนึ่งชิ้นติดกับหนังสือมาด้วย เพราะตอนที่คุณยายเสียใหม่ๆ มีเพื่อนบ้านมาขอช้อนบ้านคุณยายไปเก็บไว้ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุยืน
1
เมนูที่เราสั่งในวันนี้ได้แก่ Rocket Salad, Baked Whole Seabass, Smoked Salmon Pizza และตามด้วยของหวานอย่าง Crepe Suzette with Vanilla Ice cream และ Sticky Toffee Pudding
1
การพบปะกันครั้งนี้เราคุยเรื่องส่วนตัวกันหลายเรื่อง แต่ก็ยังมีข้อคิดและบทเรียนที่น่าจะมีประโยชน์กับคนทำงาน โดยเฉพาะคนที่ต้องเป็นผู้นำในองค์กรครับ
1.หัวหน้าต้องเป็นตัวของตัวเอง
พี่อ้นจะพูดเสมอว่าเราอย่าพยายามเป็นอะไรที่เราไม่ได้เป็น
“หัวหน้าควรจะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด เพราะเดี๋ยวลูกน้องจะปรับตามเอง แต่ถ้าเราไปพยายามฝืนทำในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น ลูกน้องจะงงว่าตกลงเราเป็นคนยังไงกันแน่”
.
2.สั่งงานโดยไม่สั่ง
ผู้บริหารชอบบ่นว่าคนในองค์กรไม่ค่อยมี leadership แต่ผู้บริหารเคยถามตัวเองหรือไม่ว่าเราให้โอกาสให้คนของเราได้คิดเอง-ทำเองมากพอหรือยัง
1
พี่อ้นมองว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้นำที่ดี คือการจับประเด็นและตั้งคำถามสำคัญ ซึ่งเหมาะกับผู้นำประเภท mentor/coach ที่ไม่ชอบออกคำสั่ง แต่ชอบตั้งคำถามให้ลูกน้องไปคิดต่อเอาเอง
1
เมื่อเราไม่ออกคำสั่ง แต่กระตุก/กระตุ้นให้เขาได้คิด เมื่อเขามาเสนออะไรที่เราเชื่อว่าน่าจะใช้การได้ หน้าที่ของเราคือการบอกเขาว่าเราเห็นด้วย จากนั้นก็แน่ใจได้เลยว่างานนี้จะเกิดแน่นอน เพราะมันเป็นความคิดที่มาจากตัวเขาเอง และเขาจะมี ownership ในงานนั้นอย่างเต็มเปี่ยม
“เรามาที่นี่เพื่อ get things done ส่วนใครจะเป็นเจ้าของความคิดพี่ไม่สนใจ”
.
3.เมื่อลูกน้องทำสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง
พี่อ้นมีความเชื่อว่าคนทำงานส่วนใหญ่ล้วนมีความตั้งใจดีเป็นที่ตั้ง
ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาด หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม เวลาพี่อ้นเรียกลูกน้องคนนั้นมาคุย พี่อ้นจะถามก่อนเสมอว่าทำไมถึงทำแบบนั้นลงไป ตอนที่ทำลูกน้องคนนั้นกำลังคิดอะไรอยู่
1
เมื่อเริ่มต้นด้วยการพยายามเข้าใจความคิดของลูกน้อง บทสนทนาย่อมจะไปต่อได้ เพราะมันจะตั้งอยู่บนการกระทำและความคิด ไม่ใช่บนตัวตนหรือนิสัย ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังมักจะคุยกันไม่จบ
1
.
4.คิดให้รอบก่อนคิดจะเอาใครออก
เคยมีน้องที่เป็นเจ้าของธุรกิจปรึกษาพี่อ้นว่ามีหัวหน้าคนหนึ่งที่อยู่มานาน เป็นกำลังสำคัญของบริษัท แต่มีปัญหาส่วนตัวซึ่งกระทบกับการทำงานและอาจลุกลามไปถึงคนอื่นๆ ในองค์กรได้ จึงกำลังชั่งใจอยู่ว่าควรจะเชิญออกดีหรือไม่
“คำถามแรกก็คือ คุณขาดเขาได้มั้ย?”
น้องคนนั้นนิ่งคิดอยู่นาน แล้วก็ยอมรับว่าถ้าขาดเขาไปตอนนี้บริษัทน่าจะลำบาก
นั่นก็แสดงว่าการมีเขาอยู่ยังเป็นสิ่งจำเป็น และเรายังต้องซื้อเวลาไปก่อน
“คำถามถัดไปก็คือ เราคิดว่าเขาจะเปลี่ยนตัวเองได้ไหม”
1
ถ้าเราเชื่อว่าทำได้ เราก็ต้องคุยกับเขาและบอกเขาให้ชัดเจนถึงความคาดหวังของเรา พร้อมทั้งพยายามช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่เพื่อให้เขาจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
และคำถามสุดท้ายที่ต้องถามก็คือ “เรามีแผนรองรับแล้วหรือยัง”
ไม่ว่าหัวหน้าคนนี้จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หรือไม่ เราก็ควรมีแผนสองรองรับเอาไว้เสมอ ถ้าเขาปรับปรุงได้ก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ดีขึ้น องค์กรก็ต้องอยู่ให้ได้โดยไม่มีเขา
1
.
5.เปิด-ปิดสวิทช์ในตัวเรา
คนในกลุ่มปรึกษาพี่อ้นว่า จะทำอย่างไรเมื่อต้องพูดคุยกับ stakeholder ที่เราพยายามจะเข้าใจเขาเป็นอย่างยิ่ง แต่เขากลับไม่เข้าใจเรา และบางครั้งก็พูดในสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจ
พี่อ้นบอกว่าถ้าเราเป็นคนที่มี empathy สูง แต่อีกฝ่ายมี empathy ต่ำ เราจะรู้สึกว่าตัวเราเล็กมาก และเขาจะตัวใหญ่มาก ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการสนทนา
“บางทีเราก็ต้องปิดสวิทช์ empathy ของเราและใช้จุดแข็งอย่างอื่นแทน”
1
พี่อ้นเป็นคนที่มี woo ต่ำมาก จึงไม่ชอบไปงานเลี้ยง ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยงตลอด
คนที่มี woo ต่ำคือคนที่เวลาไปงานปาร์ตี้แล้วจะไม่ค่อยคุยกับใคร ขณะที่คนที่มี woo สูงๆ จะสนุกกับการพูดคุยกับคนที่เพิ่งรู้จักกันได้อย่างไม่เคอะเขิน
ถ้าเจองานเลี้ยงที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ พี่อ้นก็จะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เราจะเปิดสวิทช์ learner (ความเป็นคนชอบเรียนรู้) เราไม่ได้ไปงานนี้เพื่อรู้จักคนใหม่ แต่ไปเพื่อที่จะเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เมื่อคิดได้แบบนี้ ความรู้สึกไม่อยากไปงานเลี้ยงก็ลดน้อยลง
1
[ทั้ง empathy woo และ learner เป็นธีมใน StrengthsFinder แบบทดสอบที่ทำให้รู้ว่าจุดเด่นและจุดด้อยของเรามีเรื่องอะไรบ้าง อ่านรายละเอียดได้ในตอนที่ 1]
.
6.เคล็ดลับสำหรับคนคิดไม่จบ
พี่อ้นเปินคนคิดที่คิดเยอะและคิดนาน ซึ่งบางคนในกลุ่มเราก็เป็นเช่นนั้น พี่อ้นจึงแนะนำว่าให้ลองจดบันทึก
พี่อ้นเองเขียน journal มานานแล้ว โดยปัจจุบันเขียนด้วยสไตล์ “บูโจ” (BUJO – Bullet Journal) ซึ่งใช้สมุดเล่มเดียวในการจดทั้งโน้ตและทำ to-do list
สมุดเล่มหนึ่งพี่อ้นจะใช้ได้ประมาณ 3 เดือน ดังนั้นปีหนึ่งจะเขียนได้สี่เล่ม พี่อ้นเก็บเอาไว้ครบทุกเล่มและชอบกลับไปอ่านเล่มเก่าๆ เพื่อทบทวนว่าแต่ก่อนเคยคิดอะไรเอาไว้บ้าง
“พี่เป็นคนถ้าคิดแล้วคิดไม่จบ แต่ถ้าเขียนแล้วมันจบ”
1
.
7.ชีวิตไม่ต้องมี Purpose ก็ได้
เมื่อตอนกลางเดือนมิถุนายนที่มี IMET MAX outing ที่จันทบุรี เรามีการทำ group mentoring พี่อ้นจึงได้พูดคุยกับ mentee คนอื่นๆ ซึ่งก็นำปัญหาหนักอกมาเล่าให้พี่อ้นและ “พี่บา” ภาณุ อิงคะวัต mentor อีกท่านหนึ่งได้รับฟัง
1
พี่อ้นได้ข้อสังเกตว่าหลายคนรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา เพราะยังหา passion หรือ purpose ของตัวเองไม่เจอ บางคนก็รู้สึกว่ายังจัดการชีวิตตัวเองได้ไม่ดีพอ จนพี่อ้นถึงกับคุยกับพี่บาว่า จริงๆ mentee เขาก็อยู่ของเขาดีๆ แต่พอมาเข้า IMET MAX กลายเป็นรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีปัญหาขึ้นมาซะอย่างนั้น
1
“Is your problem really a problem?” พี่อ้นถามพวกเราให้คิดต่อ
ก่อนจะมาเป็น CEO ที่โอสถสภา พี่อ้นเคยอยู่ Unilever มา 30 ปี
องค์กรที่เป็น Multinational Company (MNC) มักจะมีเวิร์คช็อปที่สอนให้พนักงานเขียน Life purpose ของตัวเอง
“พี่ไม่อินเลย แต่ถ้าไม่เขียนเขาก็ไม่ให้เรากลับบ้าน”
พี่อ้นถูกที่ทำงานจับเข้าเวิร์คช็อปให้เขียน life purpose/life vision หลายต่อหลายครั้ง
1
“สรุปสุดท้ายแล้วมันมีประโยชน์มั้ยพี่?” ผมถามแหย่
พี่อ้นนิ่งคิดนิดนึงก่อนจะยิ้มส่ายหน้า
ในมุมมองของพี่อ้น สำหรับคนจำนวนมาก ถ้าเรายังหา vision หรือ purpose ไม่เจอก็ไม่เป็นไร ขอแค่เราใช้ชีวิตให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดในทุกวัน แล้วบางเหตุการณ์จะพาเราไปเจอเองว่าความหมายของชีวิตหรือเป้าหมายที่เราควรตั้งคืออะไร
2
พี่อ้นเคยจดบันทึกเอาไว้ตอนอายุ 27 ว่า
1
“I will be healthy and happy every day of my life”
คงเรียกไม่ได้ว่าเป็น purpose แต่เป็น motto ของพี่อ้นที่ยึดถือตลอดมา
และเท่านั้น สำหรับบางคนก็อาจเพียงพอแล้วรึเปล่าสำหรับการมีชีวิตที่ดี?
—–
Reflection
ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือของ OSHO คุรุทางจิตวิญญาณชาวอินเดียผู้ล่วงลับไปแล้ว
หัวข้อการพูดคุยในครั้งนี้ทำให้ผมนึกถึงถ้อยคำที่โอโชเคยกล่าวเอาไว้
1
“จงจำไว้ ชีวิตของคุณจะสูญเปล่าถ้าคุณวิ่งตามเป้าหมายบางอย่าง เพราะชีวิตนั้นไม่มีเป้าหมาย มันคือการละเล่นที่ไร้จุดประสงค์
บทกวีเกิดขึ้นเพราะมันไม่มีเป้าหมาย เหตุใดกุหลาบจึงผลิดอก จงถามกุหลาบ มันจะตอบว่า ‘ฉันก็ไม่รู้ แต่การผลิดอกนั้นงดงาม จะต้องรู้ไปเพื่ออะไรเล่า’
ถามนก ‘ทำไมเจ้าจึงร้องเพลง’ นกก็จะงงงวยกับคำถามไร้สาระที่คุณถาม การร้องเพลงนั้นสวยงาม มันเป็นสิริมงคล ทำไมถึงต้องถามด้วย
ชั่วขณะนี้ สรรพสิ่งที่ดำรงอยู่คือการเฉลิมฉลอง ทุกสิ่งยกเว้นตัวคุณ ทำไมถึงไม่เข้าร่วมด้วยเล่า ทำไมถึงไม่เป็นเช่นดอกไม้ เพียงผลิบานโดยไร้เป้าหมาย และเหตุใดจึงไม่เป็นเช่นแม่น้ำ ที่ไหลไปโดยไร้ความหมาย ทำไมถึงไม่เป็นเช่นมหาสมุทรที่คำรามก้อง เพียงพอใจที่จะเป็น”
อาจมีบางคนที่ “ไม่ถูกใจสิ่งนี้” เพราะตัวเองพบว่าการมี life purpose นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญหรือกระทั่งเป็นสิ่งจำเป็น
แต่อย่างที่ผมเคยกล่าวไปในตอนที่ 1 ว่าดอกไม้มีได้หลายสี การดำเนินชีวิตไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว
ถ้าจะมีสูตรสำเร็จในชีวิตอะไรสักอย่าง ก็คือการตระหนักได้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นอย่าพยายามไปวิ่งตามชีวิตของคนอื่น เพราะเราทุกคนมีที่มาที่ต่างกัน และมีที่ไปที่ต่างกัน
2
หัวหน้าของผมมักจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่าไม่มีอะไรถูกหรือผิด มีแค่เวิร์คหรือไม่เวิร์คสำหรับเราเท่านั้น
2
เราฟังคนอื่นได้ เราเรียนรู้จากคนอื่นได้ แต่สุดท้ายเราต้องหาเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเราเองครับ
2
33 บันทึก
32
21
33
32
21
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย