2 ก.ค. 2023 เวลา 00:15 • ท่องเที่ยว
วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

ไหว้พระวัดระฆังแล้วจะมีชื่อเสียงโด่งดัง เหมือนกับระฆังที่ดังก้องกังวาน

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า
“ไหว้พระวัดระฆังแล้วจะมีชื่อเสียงโด่งดัง เหมือนกับระฆังที่ดังก้องกังวาน”
ที่มาที่ไปของวัดระฆังเป็นยังไง
วันผมจะพาทุกคนเที่ยวไปหาคำตอบกันครับ
1
วัดระฆัง หรือที่มีชื่อเต็มว่า วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณถูกสร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยา แต่เดิมชื่อว่า วัดบางหว้าใหญ่
ต่อมาในสมัยธนบุรี
พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวัง ใกล้วัดบางหว้าใหญ่ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัด ได้ขุดพบระฆังโบราณสมัยอยุธยาที่มีเสียงดังกังวาน จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้ใหม่ที่วัดบางหว้าใหญ่ ๕ ลูก พร้อมกับได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “ วัดระฆังโฆสิตาราม” ตามระฆังดังก้องกังวานที่ได้ขุดพบ
ด้วยประวัติและชื่อเสียงของวัด
ทำให้เมื่อผมได้มาแถวย่านวังหลัง จึงหาโอกาสไปไหว้วัดระฆังโฆสิตาราม
ผมเดินจากตลาดวังหลังทะลุซอยมาประมาณ ๔๐๐ เมตร ก็ถึงบริเวณวัด ตรงด้านหน้าเป็นลานโล่งปลูกต้นไม้ มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ลังกาขนาดใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานเมล็ดพันธ์ที่ได้มาจากลังกาให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี นำมาปลูกไว้ที่นี่
เมื่อหันกลับไปที่ริมน้ำจะมีท่าเรือ และรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ขนาดใหญ่ ในท่านั่งสวดพระคาถา ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี หรือ หลวงพ่อโต พระมหารเถระรูปสำคัญที่ได้รับความเคารพศรัทธานับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังในปี พ.ศ. ๒๓๙๕-๒๔๑๕
ท่านเป็นผู้ปรับปรุงแก้ไข พระคาถาชินบัญชร บทสวดโบราณให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจากต้นฉบับเดิม พระคาถาชินบัญชรนี้ได้รับการยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และเป็นที่นับถือของคนไทยกันอย่างกว้างขวาง
เมื่อผมได้เห็นรูปปั้นหลวงพ่อโตที่ริมน้ำเจ้าพระยา ผมจึงเดินเข้าไปไหว้สักการะท่านพร้อมกับสวดพระคาถาชินบัญชรเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัว
จากนั้นผมจึงเดินเข้าวัดระฆังทางประตู พรหมรังสี ๒๕๐๗
ผมเดินเข้าพระอุโบสถ เพื่อกราบไหว้ พระประธานยิ้มรับฟ้า ที่เป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางสมาธิ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือรับพุทธโอวาท
พระประธานยิ้มรับฟ้า ได้พระนามนี้มาจาก ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ได้เสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตารามแห่งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า พอเข้าประตูพระอุโบสถวัดระฆังทีไร พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที พระประธานองค์นี้จึงได้พระนามว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” มานับแต่นั้นมา
ข้างในพระอุโบสถมีภาพเขียนจิตรกรรมที่งดงามมาก ที่ด้านหน้าพระประธานเป็นภาพเขียนพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเป็นภาพเขียนพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเป็นภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เหลือด้านบนจะเป็นภาพเทพชุมนุม ด้านล่างจะเป็นภาพทศชาติ ภาพวาดทั้งหมดนี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นผลงานล้ำค่าของศิลปะวัฒนธรรมไทย
ผมกราบไหว้องค์พระประธานยิ้มรับฟ้า แล้วนั่งมองดูงานจิตรกรรมโดยรอบพระอุโบสถ พร้อมกับผมถือโอกาสนั่งสมาธิไปด้วย ขณะนั้นลมพัดผ่านเข้ามาข้างในเย็นสบาย และไม่มีเสียงใดๆ มารบกวน จึงทำให้การนั่งสมาธิในครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกดี จิตใจสงบเป็นอย่างมาก
เมื่อเดินออกมาจากพระอุโบสถ ก็จะเห็น พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) อยู่ด้านหน้าฝั่งซ้ายมือเรา
พระวิหารนี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีอาริยเมตไตรย และพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี)
1
สมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี
รวมทั้งยังเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย
ฝั่งตรงข้ามพระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ก็จะเป็นพระวิหารสมเด็จ ๒๕๐๓
ภายในพระวิหารสมเด็จ ๒๕๐๓ จะประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังรูปที่ ๖
พระรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัต เสนีวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังรูปที่ ๗
และพระรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อศรางกูร) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังรูปที่ ๘
ผมเข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูป และพระรูปองค์ต่างๆ ทั้งสองพระวิหาร แล้วเดินออกมาเลี้ยวซ้าย
ก็จะพบกับ พระปรางค์องค์ใหญ่ พระปรางค์องค์นี้ รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างขึ้นมา
โดยจัดเป็นพระปรางค์ต้นแบบของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ มีทรวดทรงที่งดงาม จึงยึดถือเป็น
แบบฉบับของการสร้างพระปรางค์ในยุคต่อมา
ถัดจากพระปรางค์องค์ใหญ่เดินเลยขึ้นไปก็จะเห็น หอระฆัง ที่รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสร้างไว้ สืบเนื่องจากในสมัยนั้นได้ขุดพบระฆังเสียงดี เสียงดังกังวาน ท่านจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำระฆังที่ถูกขุดพบนี้ไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หอระฆังแห่งนี้จึงได้ถูกสร้างขึ้นมา พร้อมทั้งพระราชทานระฆัง ๕ ลูก เอาไว้แทน
1
ตรงข้ามกับหอระฆังจะมีสวนสาธารณะที่นำไปสู่ เรือนไม้สามหลังแฝด
ซึ่งเรือนไม้แห่งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็น หอพระไตรปิฎก
ความเป็นมาของหอพระไตรปิฎก
สืบเนื่องในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้โปรดให้รื้อตำหนักทองที่เคยเป็นที่ประทับมาไว้ที่วัดระฆัง
เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช แต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เกิดไฟไหม้เสนาสนะสงฆ์ลุกลามไปไหม้ถึงตำหนักทอง
จึงโปรดให้มีการซ่อมแซมใหม่ กลายเป็นหอพระไตรปิฎกในปัจจุบัน
เรือนไม้หอพระไตรปิฎกแห่งนี้งดงามมาก ทั้งรูปทรงสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารทรงไทยยอดแหลม ใช้แผ่นไม้สัก
ตีลายฝาปะกน ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงราย ทั้งรูปภาพวาดจิตรกรรมที่อยู่ภายใน
อีกทั้งภายในยังมีหอพระไตรปิฎกประดิษฐานตู้พระไตรปิฎก ๒ ตู้ ทางด้านซ้ายและขวาของเรือน เขียนลายรดน้ำประดับอยู่ที่ตู้
ทั้งหมดนี้เป็นมรดกล้ำค่าของประเทศไทยเราเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีหอพระไตรปิฎกหลังเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ในคณะ ๒ ของวัด ผมเดินออกน้องประตู พรหมรังสี ๒๕๐๗ ที่เดินเข้ามาในตอนแรก
แล้วเดินตรงไปเลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมซอยก็จะเจอหอพระไตรปิฎกหลังเล็ก หอนี้เป็นเรือนไม้ตีฝาปะกน ปิดทอง
และทาสีเขียวสด ทั้งประตูและหน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงดงามเป็นอย่างมาก
ที่อยู่ติดกับหอพระไตรปิฎกหลังเล็กก็จะเป็นพระตำหนักแดง
เชื่อกันว่าพระตำหนักแดงเคยเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
โดยภายในพระตำหนักได้อัญเชิญพระรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาประดิษฐานไว้
เพื่อให้ผู้ที่เคารพรักพระองค์ ได้มาสักการะบูชา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
ผมใช้เวลาภายในวัดระฆังโฆสิตารามแห่งนี้อยู่นานพอสมควร
ผมคิดว่าการมาวัดระฆังโฆสิตารามในครั้งนี้ของผม ได้ให้ประโยชน์กับผมเป็นอย่างมาก
ซึ่งนอกจากผมจะได้ความสงบ ความเบิกบานใจจากการได้เคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแล้ว
ผมยังได้เรียนรู้ความงดงามทางสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
ศิลปวัฒนธรรม จิตรกรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีต
เวลาเราเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ
เราก็มักไปเที่ยวตามสถาปัตยกรรมโบราณ
สถานที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา
งานศิลปวัฒนธรรม
งานจิตรกรรม พื้นที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ
วัดระฆังก็เองเช่นกัน ที่เป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมความเชื่อของไทยเราได้เป็นอย่างดีครับ
1
โฆษณา