1 ก.ค. 2023 เวลา 14:11 • ธุรกิจ

ไม่อยากทำงานที่เดิม แต่ก็ไม่มีที่ไป รู้จักกับภาวะ “Grumpy Staying”

Grumpy Staying หรือภาวะทนอยู่แบบไม่พอใจ หมายถึง ภาวะที่พนักงานรู้สึกไม่มีความสุขและไม่พอใจกับงานที่ทำ แต่ยังคงทำงานที่บริษัทต่อไป เพราะพวกเขาก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก พนักงานที่เกิดภาวะนี้มักจะเลือกทำงานให้เสร็จ ๆ ไป แทนที่จะใช้ความพยายามและความสามารถทำออกมาให้ดี
รายงานผลสำรวจประจำปี 2023 จาก Gallup พบว่า พนักงาน 122,416 คนทั่วโลกมีผู้อยู่ในภาวะ Quiet quitting มากถึง 59% และ Loud quitting อีก 18% ภาวะเหล่านี้สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็น Grumpy Staying ได้
ซึ่งคนเหล่านี้นอกจากจะขาดแรงจูงใจในการทำงานแล้ว ไม่สนใจและใส่ใจกับคุณภาพของงานที่จำเป็นต้องทำ ยังอาจกลายเป็นเนื้อร้ายขององค์กรที่สร้างบรรยากาศการทำงานที่ Toxic จนทำให้คนดี ๆ ต้องเป็นฝ่ายลาออกไปแทน ซึ่งการที่องค์กรมีพนักงานแบบ Grumpy Staying อยู่จะส่งผลเสียต่อการดำเนินงานและการเติบโตขององค์กรแน่นอน
1
>>> รับมืออย่างไรกับ Grumpy Staying
หากคิดดูดี ๆ พนักงานเหล่านี้รู้สึกไม่ชอบงานที่ทำอยู่และสาเหตุที่พวกเขาไม่ลาออกและเปลี่ยนไปทำงานที่พวกเขาสนใจก็เป็นเพราะ ยังไม่มีโอกาสดี ๆ ในการทำงานหรือยังไม่มีที่ไป จึงต้องทนทำงานที่ไม่ชอบต่อไป
การแก้ไขปัญหาของภาวะนี้อาจจะดูเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นปัญหาที่เกิดเฉพาะตัวบุคคลจริง ๆ แต่สิ่งที่องค์กรทำได้คือการตั้งรับและให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานเหล่านี้ โดยอาจจะเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า ‘การที่พนักงานอาจจะไม่ได้รู้สึกสนุกกับงานที่ทำนั้นเป็นเรื่องปกติ’ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทำงานที่ชอบ
Steve Immelt CEO ของสำนักงานกฎหมายระดับโลกอย่าง Hogan Lovells เผยว่าวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือพนักงานที่รู้สึกไม่สนุกกับงานที่ทำคือ การสร้างจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจในการทำงาน การพูดคุยกับพนักงานเหล่านี้ถึงเป้าหมายและสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ให้ง่ายและชัดเจน
การทำแบบนี้จะช่วยให้ช่วยให้ทุกคนเข้าใจว่า บริษัทกำลังพยายามบรรลุอะไร ต้องการทำอะไร และงานของแต่ละคนมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งจากข้อมูลที่ Immelt สำรวจพบว่า พนักงานที่เข้าใจเป้าหมายขององค์กรกว่า 74% จะมีส่วนร่วมและกระตือรือร้นเกี่ยวกับงานของตนมากขึ้น
แต่ข้อสำคัญคือ อย่าเน้นไปที่การพูดถึงผลลัพธ์มากเกินไป เพราะพนักงานไม่ได้รับแรงจูงใจจากการการบรรลุเป้าหมาย พวกเขาได้รับแรงจูงใจจากความรู้สึกที่ว่างานของพวกเขามีความหมายแก่องค์กร ดังนั้น การสร้างจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนสามารถส่งผลดีต่อทั้งประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละบุคคล และความมุ่งมั่นที่มีต่อองค์กรได้ด้วยนั้นเอง
ติดตามข่าวสารโลกธุรกิจและเทคโนโลยีแบบอัปเดตก่อนใคร ในทุกช่องทางของเรา
โฆษณา