3 ก.ค. 2023 เวลา 02:43 • ประวัติศาสตร์
The Church of the Beatitudes

จะขอตามไปสุดหล้า

ศศิรี sasiree
ตอน คำเทศนาบนภูเขาบรรลือโลก
ในตอนนี้คณะของเราพากันเดินขึ้นทางชันไปสู่ โบสถ์แปดเหลี่ยม (Church of Beatitudes) ที่ตั้งสง่าอยู่บนเขา ลมเย็นแห่งทะเลกาลิลีปะทะใบหน้า จึงรู้สึกสดชื่นแม้แดดค่อนข้างแรง เป็นโบสถ์สถาปัตยกรรม Neo Byzantine แม้จะไม่อลังการแต่ก็งามตา ถูกสร้างเมื่อ 90 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง แต่จริงๆแล้วมีหลักฐานที่นักจาริกแสวงบุญได้บันทึกไว้ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4 ว่าชาวคริสต์ได้มาเยี่ยมเยียนสถานที่นี้เป็นเนืองๆ
ต่อมาในปี 1930 คณะฟรานซิสกัน *(1) ซึ่งมีฐานอยู่ในอิตาลี ได้สร้างโบสถ์นี้ขึ้นเพื่อรำลึกถึงคำเทศนาของพระเยซูบนภูเขา (sermon on the mount) อันเป็นคำเทศนาที่สำคัญที่สุดและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ยาวครอบคลุม 3 บท คือบทที่ 5 6 และ 7 ในพระธรรมมัทธิว ประกอบด้วยหลักการการดำรงชีวิตแบบคริสเตียนแท้
“แต่เราบอกท่านว่าอย่าต่อสู้กับคนชั่ว ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย ... จงรักศัตรูของท่านและอธิษฐานเผื่อผู้ที่ช่มเหงท่าน .. ถ้าท่านรักแต่ผู้ที่รักท่านท่านจะได้บำเหน็จอะไร? “ ท่าน มหาตมา คานธี ได้กล่าวไว้ว่า คำเทศนาบนภูเขานี้เติมเต็มท่าน และปลอบโยนจิตวิญญาณที่ปวดร้าวของท่านได้เสมอ ท่านได้ยึดถือการต่อสู้ด้วยอหิงสาจนนำมาซึ่งการปลดปล่อยอินเดียในที่สุด
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของคำเทศนาบนภูเขาคือ พร 8 ประการที่โบสถ์แปดเหลี่ยมได้ถ่ายทอดสัญญลักษณ์มา Beatitudes แปลว่า supreme blessedness นั่นคือ พรที่ชาวคริสต์ได้รับเมื่อเขามีคุณลัษณะชีวิต หรือ ประสบการณ์บางประการอันแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินสวรรค์
ภายในโบสถ์มีกระจกสี 8 บาน ที่ผนัง 8 ด้านของโบสถ์ สลักพร 8 ประการ 4 ประการแรกสะท้อนลักษณะภายในเรา และก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์เรากับพระเจ้า ส่วน 4 ประการหลังสะท้อนลักษณะภายนอกของเรา
ภายในโบสถ์แปดเหลี่ยม
“คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณก็เป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขาทั้งหลาย”
หมายความว่า เมื่อเรารู้ตัวว่าเราบกพร่องด้านจิตวิญญาณ เราก็จะได้มุ่งหาพระเจ้าเพื่อการเติม การซ่อมแซม ?
“เพราะเหตุนี้ อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตน ว่าจะเอาอะไรกิน เอาอะไรดื่ม..... มีใครสามารถต่ออายุของตนให้ยืนนานขึ้นอีกนิดหนึ่งได้ “ มัทธิว 6. 25-33
นี่แหล่ะ ก็มาจาก คำเทศนาบนภูเขาของพระองค์
“คนที่โศกเศร้าก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับการหนุนใจ “
ข้อนี้น่าจะหมายถึง โศกเศร้าในความบกพร่องทางจิตวิญญาณเรา แต่ในโลกคนบาป เราก็มีเหตุอื่นให้พาเศร้าได้ไม่ก็น้อย ไม่ว่าจะในตัวเราเอง คนรอบข้าง ไกลไปอีกก็สังคมรอบเรา
หรือถ้าเกี่ยวกับอิสราเอล ก็คือ holocaust ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวหกล้านคน ในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 1939 -1944 เมื่อวานกรุ๊ปของเราไปเยี่ยมชม Yad Vashem ในเยรูซาเล็ม ทีนี่เป็นอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว มันโศกเศร้าสุดจะพรรณา แต่เรื่องราวของ Oskar Schindler *(2) หรืออย่างของ Chiune Sugihara *(3) ที่ช่วยชีวิตคนยิวในช่วงนั้นไว้ ก็ทำให้ใจเราชุ่มชื่นคลายเศร้าได้บ้าง
“คนที่สุภาพอ่อนโยน ก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก”
ความถ่อมใจและความสุภาพอ่อนโยนเป็นเรื่องเดียวกัน เราถ่อมใจพอหรือไม่ที่จะยอมรับความบกพร่องทางจิตวิญญาณแล้วแสวงหาการช่วยเหลือ คนเราจะสุภาพอ่อนโยนได้อย่างแท้จริงต้องเริ่มต้นที่ใจ หาไม่แล้ว เราอาจจะแสดงออกความสุภาพได้ต่อหน้าผู้คน ลูกค้า คนรวย คนสวย คนหล่อ แต่กับคนที่ไม่ได้มีตำแหน่ง อาทิ คนรับใช้ในบ้าน เราก็อาจจะดุดันเป็นยักษ์เขี้ยวโง้งก็ได้ ถ้าเช่นนี้ก็โดนพระเยซูตำหนิแน่ เหมือนที่พระองค์ว่าพวกฟาริสี หน้าซื่อใจคด
“คนที่หิวและกระหายความชอบธรรมก็เป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่ม”
การหิวกระหายความชอบธรรมเป็นอย่างไรหนอ อยากทำตามรักษาพระบัญญติของพระองค์นั้นใช่หรือไม่ ใจฉันคิดว่าคงต้องมีทั้งสองอย่าง เมื่อเรารักพระองค์ เราก็จะอยากเชื่อฟังปฎิบัติตาม
“คนที่ใจเมตตาก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับพระเมตตาตอบ”
ใจเมตตาจะถูกทดลองทันทีเมื่อเราต้องเมตตาต่อผู้ที่เคยทำร้ายเรา ความเมตตามิใช่เพียงช่วยคนที่เดือดร้อน แต่คือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ทำผิดและให้อภัยเขา และมักมีการลงมือทำบางสิ่งเพื่อแสดงความเมตตาด้วย พระเยซูทรงเน้นเรื่องนี้ ดังเรื่องอุปมา ทาสผู้ไม่ยอมอภัย (มัทธิว 18.23-25 ) พระเยซุตรัสว่า “เราประสงค์ความเมตตา ไม่ประสงค์สัตวบูชา” ถึงสองครั้ง ใน มัทธิว 9.13 และ มัทธิว 12.7 พระธรรมโฮเชยา 6.6 ก็ยืนยันเช่นกัน
“คนที่มีใจบริสุทธิ์ ก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้เห็นพระเจ้า”
“คนที่สร้างสันติสุขก็เป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาทั้งหลายว่าเป็นลูก”
มนุษยชาติมักประกาศว่า ต้องการสันติ แต่เราพยายามกันมาหลายพันปี โดยมากล้มเหลว หากเราจะสร้างสันติสุขท่ามกลางความปั่นป่วนของโลกนี้ เราคงต้องเริ่มที่ตัวเองและในบ้านของเราก่อนใช่หรือไม่
“คนที่ถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ก็เป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขาทั้งหลาย”
จากประวัติศาสตร์คริสตจักร ขอสรุปว่าการถูกข่มเหงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้เชื่อ 300 กว่าปีหลังศริสตกาลชาวคริสต์โดนอย่างสาหัสสากรรจ์
ต่อมาในยุคมืด ผู้ที่เห็นต่างก็ถูกข่มเหงในนามของจักรวรรดิโรมัน เกิดการข่มเหงในยุค reformation ปฎิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ในศตวรรษที่ 16 เนื่องจากมีแนวความเชื่อที่แตกแขนงออกไป อย่างไรก็ตาม พรที่ 8 พระเยซูได้สัญญาว่า ท่านเหล่านั้นจะได้รับแผ่นดินสวรรค์ นี่กระมัง คือกำลังให้ผู้เชื่อที่เปี่ยมด้วยศรัทธาสามารถก้าวต่อไป
เชิงอรรถ
(1) คณะฟรานซิสกัน Franciscans ก่อตั้งโดยพระคาทอลิก Francis of Assisi ในปี 1209
(2) Oskar Schindler เป็นนักธุรกิจชาวเยอรมันในโปแลนด์ ที่ช่วยเหลือคนยิวเป็นพันคนให้รอดจากการฆ่าล้างฯด้วยการจ้างคนเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานชิ้นส่วนอาวุธที่เขาควบคุม
(3) Chiune Sugihara นักการทูตชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ใน ลิทัวเนีย เอาหน้าที่การงานและชีวิตเข้าเสี่ยง โดยช่วยคนยิวนับพันคนด้วยการออกวีซ่า เพื่อให้คนยิวข้ามผ่านแดนได้ ประเทศอิสราเอลได้ยกย่อง Sugihara ให้เป็น the Righteous Among the Nations ผู้ชอบธรรมของประชาชาติ ปัจจุบันลูกหลานของผู้ที่รอดชีวิตมีอยู่ถึงกว่า 100,000 คน
พระเยซูเทศนาบนภูเขา
โฆษณา