5 ก.ค. 2023 เวลา 00:16 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

เบื้องหลังความจริง หายนะโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

วันที่ 11 มีนาคม 2011 เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจของคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น
ด้วยเพราะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูด ที่ระดับความลึกที่ 24.4 กิโลเมตร บริเวณนอกชายฝั่งแปซิฟิก ด้านตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะภูมิภาคโทโฮคุ ส่งผลให้เกิดสึนามิความเร็ว 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงของคลื่น 10 เมตร เข้าถาโถมชายฝั่งด้านตะวันออกของญี่ปุ่น
4
ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 คน สูญหายอีกนับหมื่น และคนบาดเจ็บอีกมากมาย นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเป็นอันดับ 4 ของโลก และรุนแรงมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นนับตั้งแต่ที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
9
ซึ่งเหตุการณ์สึนามิครั้งนี้ได้ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะถูกคลื่นซัดไฟดับทั้งหมดรวมไปถึงยังได้ทำลายระบบแหล่งกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรอง และระบบหล่อเย็นแท่งปรมณูเสียหาย จึงทำให้มีปัญหาในการลดความร้อนของแท่งนิวเคลียร์ เตาปฏิกรณ์บางส่วนจึงหลอมละลาย จนนำไปสู่การระเบิดบางส่วน ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ หน่วยที่ 1 กับหน่วยที่ 3 ส่งผลให้มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา รัฐบาลต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนกว่า 2 แสนคนในอาณาเขตโดยรอบต้องอพยพหนี
2
นี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ที่เราทราบจากสื่อทั่วโลกในการนำเสนอออกมา แต่เราไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังเหตุการณ์ภายในวันนั้นว่าทำไมแท่งนิวเคลียร์ถึงมีปัญหา มาวันนี้เหตุการณ์ผ่านไป 12 ปี ก็ได้มี ซีรีส์ญี่ปุ่นนำเหตุการณ์ครั้งนี้มาเล่าโดยอ้างอิงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิชิ ซีรีส์เรื่องนี้มีชื่อว่า “The Days วันวิบัติ”
1
The Days คือ ซีรีส์ 8 ตอน ทาง Netflix ที่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิชิในช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิซัดเข้าใส่ตัวโรงงาน ตัวซีรีส์ตีแผ่ให้เราเห็นเบื้องลึก เบื้องหลังอย่างสมจริงกับโศกนาฎกรรมครั้งนั้นที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 7 วัน โดยยึดเอาจากคำให้การของ โยชิดะ มาซาโอะ ผู้จัดการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ หัวหน้าปฏิบัติการณ์กู้วิกฤตในครั้งนั้น
การที่สึนามิซัดเข้าใส่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จนทำให้ระบบไฟฟ้าดับทั้งหมด ระบบไฟสำรองดีเซลก็เสียหาย ระบบหล่อเย็นแท่งนิวเคลียร์จึงไม่ทำงาน ความร้อนจึงค่อยๆ สูงขึ้นที่แท่งนิวเคลียร์ ซึ่งหากปล่อยไว้กัมมันตภาพรังสีจะรั่วไหลและที่สุดแท่งนิวเคลียร์ก็จะระเบิด นับเป็นวิกฤตร้ายแรงที่เขย่าประเทศญี่ปุ่นไปทั้งประเทศ
2
วิกฤตครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีตัวอย่างกรณีในประเทศใด ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่รู้และไม่ทราบวิธีรับมือแก้ไขปัญหา เราจะเห็นภาพตั้งแต่ระดับ วิศวกร เจ้าหน้าที่ ผู้จัดการ ประธาน ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ต่างไม่รู้ว่าจะรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไร
3
เอาตำราคู่มือการรับมือวิกฤตภัยนิวเคลียร์ต่างๆ หาทุกหน้าก็ไม่เจอแนวทางการรับมือ การติดต่อสื่อสารระหว่างคนหน้างาน หัวหน้างาน มายังรัฐบาลก็มีปัญหา ข้อมูลมีจำกัด คนมีอำนาจบริหารก็ไม่รู้เรื่อง คนทำงานก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยเหลือ เราไม่เคยเห็นภาพคนญี่ปุ่นหมดหนทางรับมือเหมือนกับที่เจอในวิกฤตครั้งนี้
6
ที่ทำได้ก็แค่เพียงอาศัยความรู้ประสบการณ์ของคนหน้างานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละอย่างไปทีละเปราะ การตัดสินใจบางเรื่องจึงมีทั้งที่ถูก มีทั้งที่ผิดพลาด อีกทั้งตัวช่วยภายนอกก็ไม่เอื้อต่อการเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งถนนที่ถูกเสียหายถูกตัดขาด
รถปั่นไฟฟ้าถูกทำลายจำนวนมาก รถปั่นไฟที่เหลือก็ขับไปไม่ถึงที่แท่งนิวเคลียร์เพราะมีรถมีถังน้ำมันดิบถูกคลื่นซัดมาขวางถนน ต้องใช้คนจำนวนมากในการลากสายไฟยาว 200 เมตร หนัก 1 ตัน แถมแรงดันไฟฟ้าของรถปั่นไฟก็ไม่เท่ากับของโรงงาน วงจรสวิตซ์บอร์ดที่เชื่อมปรับแรงดันไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าก็เสียหาย ทำให้ความช่วยเหลือจากภายนอกเต็มไปด้วยอุปสรรคความยากลำบาก
3
วินาทีที่ผ่านไปมีความหมายถึงชีวิตที่อาจต้องสูญเสียเพิ่มมากขึ้น ทุกคนจึงพยายามมุ่งมั่นพยายามที่จะกู้วิกฤตในครั้งนี้ให้ได้
หลังดูจบเราจะเห็นว่าฮีโร่ที่กู้วิกฤตในครั้งนี้ได้ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่คนที่เก่งเหนือมนุษย์ ไม่ใช่คนมีอำนาจ ไม่ใช่คนที่ตัดสินใจถูกทุกอย่าง แต่เป็นคนธรรมดาที่อยู่หน้างาน ที่แม้ทุกคนจะกลัว ทุกคนไม่รู้ว่าจะรับมือยังไง แต่ทุกคนก็ไม่ละทิ้งหน้าที่ ยอมเสียสละเสี่ยงชีวิต
ทุ่มเทชีวิตตัวเองเพื่อกู้วิกฤตให้ประเทศญี่ปุ่นผ่านไปได้
4
มันเป็นซีรีส์ที่นำเสนอบทเรียนครั้งใหญ่ของมนุษย์ ถึงพลานุภาพของนิวเคลียร์ที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยเชื่อว่าควบคุมได้ เป็นพลังงานแห่งอนาคต แต่จะเห็นว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาเรากลับไม่สามารถควบคุมอะไรมันได้เลย หนำซ้ำยังกลายเป็นอาวุธทำลายล้างมนุษย์เราเองเสียอีก
4
ภัยธรรมชาติเราคงไม่สามารถห้ามไม่ให้มันไม่เกิดได้
แต่ภัยจากนิวเคลียร์เราสามารถป้องกันมันได้
ก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นบทเรียนให้มนุษย์ได้เข้าใจถึงอำนาจและภัยของนิวเคลียร์ เพื่อที่จะได้มีการวางแผนป้องกัน และไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมกันอีกครับ
3
ปล. 2 ปีให้หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้า นายโยชิดะ มาซาโอะ หัวหน้าปฏิบัติการณ์ในการกู้วิกฤตได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในวัย 58 ปี ทิ้งคำสัมภาษณ์ บทความหนังสือ ให้มนุษย์เราได้ถอดเป็นบทเรียนครับ
6
โฆษณา