4 ก.ค. 2023 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์

Self-Sufficient House

ความมั่นคงด้านการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้รวมถึงแค่การมีปัจจัยสี่คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคที่เพียงพอแบบวันต่อวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประกันคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 2 พันล้านคนที่ไม่มีอาหารที่ถูกหลักโภชนาการรับประทาน โดยหนึ่งในสามของคนจำนวนนั้นยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาด นอกจากนี้ยังมีคนอีกกว่า 759 ล้านคนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และถึงแม้องค์การสหประชาชาติจะเน้นย้ำให้นานาชาติบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SDG Goals) ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนทรัพยากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณการบริโภคพลังงานจะกลับมาเทียบเท่ายุคก่อนโรคระบาดและเพิ่มมากขึ้นถึงปีละ 12% นอกจากนี้ หากไม่มีการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดีพอ ความต้องการน้ำทั่วโลกจะมีมากเกินกว่าที่แหล่งน้ำจะตอบสนองได้ถึง 40%โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) มีการประเมินว่าพื้นที่ดังกล่าวจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำมากขึ้นถึง 4 เท่าภายในปี ค.ศ. 2050 ส่งผลให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารตามมา ในบางประเทศอาจมีผลผลิตผลทางการเกษตรลดลงถึง 60%
เพื่อแก้ไขปัญหาความกดดันด้านการอยู่อาศัยดังกล่าว หลายฝ่ายจึงพยายามสร้างระบบนิเวศที่อยู่อาศัยซึ่งจะสามารถประกันความมั่นคงทั้งทางด้านอาหาร น้ำ อากาศ (ออกซิเจน) และพลังงานให้กับผู้อยู่อาศัยได้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือยังต้องพยายามรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมและพยายามไม่ทำให้สถานการณ์ภาวะโลกรวนย่ำแย่ลงไปมากกว่าเดิม
แนวคิดดังกล่าวอาจมาตั้งแต่ในลักษณะของแคปซูลที่อยู่อาศัยเมื่อโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ไปจนถึงบ้านที่ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองและยังสามารถบริหารจัดการน้ำ อาหาร พลังงานไฟฟ้า รวมถึงการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เหมาะสมได้ตามรูปแบบการใช้ชีวิตของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายของหลายโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน
และถึงแม้แนวคิดการอยู่อาศัยให้ได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์อาจเป็นแนวคิดที่ดูสุดโต่งและเป็นไปได้ยาก แต่ปัจจุบันก็มีนวัตกรรมหลายอย่างที่พยายามทำให้มนุษย์สามารถไปได้ถึงจุดนั้น
เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ สวนเกษตรอัจฉริยะภายในที่อยู่อาศัย การคิดค้นระบบพลังงาน off-grid หรือการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบพลังงานจากส่วนกลาง การศึกษาระบบเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบปิด ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรทั้งน้ำ อาหาร อากาศ และพลังงานภายในที่อยู่อาศัยได้ด้วยนวัตกรรมการออกแบบและการก่อสร้างรวมไปถึงเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อสร้างบ้านและชุมชนยุคใหม่ที่มีความยั่งยืน
นอกจากนี้งานวิจัยเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยบนอวกาศยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดการรังสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยใหม่ ๆ บนโลก เช่น โครงการ MELiSSA (Micro-Ecological Life Support System Alternative) ของ European Space Agency ซึ่งกำลังวิจัยระบบการอยู่อาศัยด้วยตัวเองบนอวกาศให้มีความมั่นคงในการผลิตอาหาร น้ำ ออกซิเจนจากของเสีย เป็นต้น
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- หากระบบนิเวศแบบปิดหรือการอาศัยอยู่ภายในบ้านโดยสมบูรณ์แบบสามารถเกิดขึ้นได้จริง จะเป็นโอกาสของหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง แต่ก็จะเป็นความท้าทายที่หลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าอย่างห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ต้องเริ่มปรับตัวและหาแนวทางธุรกิจใหม่ ๆ
- การอยู่อาศัยภายในบ้านและการติดต่อกับโลกภายนอกด้วยวิธีออนไลน์แบบสมบูรณ์อาจส่งผลเสียต่อการทักษะการเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างในด้านพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และสติปัญญาในเด็ก
อ้างอิงจาก
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #SelfSufficientHouse #Sustainability #MQDC
โฆษณา