4 ก.ค. 2023 เวลา 11:53 • ประวัติศาสตร์

ทำไมอเมริกาทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ตอนที่ 1/2

1.
ถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปประมาณ 4-5 ปีก่อนที่การปฏิวัติอเมริกาจะเกิดขึ้น แล้วเราไปบอก ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาว่า อีกไม่นานพวกเขาจะปฏิวัติเพื่อแยกประเทศออกจากประเทศอังกฤษ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่จะไม่เชื่อ และคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้
เหตุผลเพราะอังกฤษในเวลานั้นคือ มหาอำนาจของยุโรป และชาวอังกฤษในทวีปอเมริกาก็ภูมิใจที่ได้เป็นประชาชนของกษัตริย์อังกฤษ พวกเขาจะนึกเหตุผลไม่ออกเลยว่าจะอยากแยกตัวออกจากประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างอังกฤษแล้วตั้งประเทศขึ้นมาใหม่ไปเพื่ออะไร
แต่เรารู้ว่าสุดท้าย อเมริกาจะประกาศอิสรภาพและต่อสู้เพื่อแยกตัวจากอังกฤษ
ในซีรีส์สั้น สองตอนจบนี้ เราจะไปหาคำตอบกันว่า ทำไมชาวอังกฤษในทวีปอเมริกาจึงตัดสินใจทำเช่นนั้น? เราจะไปหาคำตอบว่าอะไรคือต้นเหตุของสงครามประกาศอิสรภาพ?
2. พื้นหลังของความขัดแย้ง
ถ้าจะสรุปย่อที่สุด ก็อาจจะพูดได้ว่า American Revolution เป็นเหตุการณ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ อย่าง “ภาษี” แล้วต่อมาบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นอย่าง “แนวคิดหรือปรัชญาของการปกครอง”
2
เรื่องราวมันเริ่มต้นจากสงครามใหญ่ระหว่างมหาอำนาจในยุโรปหลายประเทศ ที่รู้จักในชื่อ 7 years war หรือสงคราม 7 ปี
แต่ด้วยความที่หลายประเทศในยุโรปขณะนั้น เดินเรือไปยึดครองดินแดนต่างๆ ในหลายทวีปทั่วโลก การรบระหว่างชาวยุโรปจึงไม่ได้จำกัดแค่ในทวีปยุโรป แต่การต่อสู้เกิดขึ้นใน 5 ทวีป ทั่วโลก
สำหรับทวีปอเมริกาเหนือ มหาอำนาจหลักที่ไปต่อสู้แย่งดินแดนกันคือ ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
ในเวลานั้น ฝรั่งเศสครอบครองดินแดนที่ปัจจุบันเป็นภาคเหนือของประเทศอเมริกา และส่วนที่เป็นประเทศแคนาดาปัจจุบัน ส่วนอังกฤษครอบครองดินแดนที่เป็น 13 รัฐซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของอเมริกาที่เราเคยคุยกันไปในซีรีส์ก่อนหน้า เช่น รัฐนิวยอร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ เมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซต เมืองฟิลาเดลเฟียรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นต้น
สำหรับชาวอังกฤษทั้ง 13 รัฐที่อาศัยอยู่ในอเมริกา พวกเขาเรียกสงคราม 7 ปีนี้ว่า French and Indian war เพราะศัตรูที่พวกเขารบด้วยคือ กองทัพที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างฝรั่งเศสและชาวพื้นเมืองอเมริกา (หรือที่พวกเขาเรียกว่าอินเดียนแดง)
สงคราม French and Indian war จบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ ทำให้ฝรั่งเศสต้องเสียดินแดนในทวีปอเมริกาจำนวนมากให้กับอังกฤษ ซึ่งสร้างความอับอาย และโกรธแค้น ให้กับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก
แต่ขณะเดียวกัน แม้ว่าอังกฤษจะชนะสงครามและได้ดินแดนมามากมาย แต่ชัยชนะครั้งนั้นก็สร้างปัญหาให้กับอังกฤษมากมายเช่นกัน
ปัญหาแรกคือ อังกฤษจะดูแลและป้องกันดินแดนต่างๆ ยังไง เพราะในตอนนั้น ชุมชนต่างๆ หรือรัฐทั้ง 13 รัฐของอังกฤษนั้น มีความเป็นเอกเทศกันมาก คือแต่ละรัฐก็มีวัฒนธรรมต่างกันไป ปกครองตัวเองโดยไม่ขึ้นต่อกัน หน่วยเงินที่ใช้ก็ต่างกัน การเดินทางระหว่างกันก็มีไม่มากนัก ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันสักเท่าไหร่ การประสานงานระหว่างกันจึงทำได้ยาก
ปัญหาที่สองคือ ชาวอินเดียนแดงจำนวนมากมาย ที่อาศัยอยู่ทางชายแดนตะวันตก ชุมชนเหล่านี้เคยเข้าร่วมรบเป็นพวกเดียวกับฝรั่งเศสมาก่อน พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไงก็เคยเป็นศัตรูกันมาก่อน จะรู้ได้ยังไงว่าวันหน้าจะไม่ต้องรบกันอีก
ปัญหาที่สาม คือ แม้ว่าอังกฤษจะชนะแล้ว แต่ก็ยังมีชุมชนชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ทางตอนเหนืออีกหลายหมื่นคน ซึ่งก็คือบริเวณที่เป็นประเทศแคนาดาปัจจุบัน จะรู้ได้ยังไงว่าวันหน้าจะไม่กระทบกระทั่งจนเกิดเป็นสงครามรุกรานกันอีก
1
และเพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีปัญหาจนต้องส่งทหารมารบที่อเมริกาอีกรอบ อังกฤษจึงมีนโยบายที่พยายามจะเลี่ยงไม่ให้เกิดสงคราม เช่น
อังกฤษตกลงกับชาวอินเดียนแดง ที่จะเคารพดินแดนของชนพื้นเมือง โดยสัญญาว่าจะไม่เข้าไปรุกราน
อังกฤษให้เสรีภาพของชาวฝรั่งเศสที่อยู่ทางตอนเหนือ โดยให้สามารถปกครองตนเอง ด้วยกฎหมายของตัวเอง และให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งก็คือ คาทอลิก โดยอังกฤษจะไม่เข้าไปยุ่ง
คำถามคือ ชาวอังกฤษ 13 รัฐที่อาศัยอยู่ในอเมริกาคิดยังไงกับนโยบายเหล่านี้กันบ้าง?
คำตอบคือ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก
อย่างแรกชาวอังกฤษในอเมริกาจำนวนหนึ่งหมายตาดินแดนของชาวพื้นเมืองที่อยู่ทางตะวันตกไว้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาเสี่ยงชีวิตไปรบก็เพราะหวังว่าจะได้ดินแดน แต่พอชนะแล้วอังกฤษมาทำสัญญาแบบนี้จึงเหมือนออกแรงฟรีและปิดโอกาสที่พวกเขาจะขยายดินแดน
1
อย่างที่สอง การผ่อนปรนให้กับชาวฝรั่งเศสก็เหมือนเป็นการไปอ่อนข้อแล้วยังให้สิทธิพิเศษกับคนที่ก่อนหน้าเพิ่งจะเป็นศัตรูกันมาหยกๆ
2
แต่ยังมีสิ่งที่สร้างความไม่พอใจไปมากไปกว่านั้นและสุดท้ายจะบานปลายไปใหญ่โตอีกปัญหาหนึ่ง ... นั่นก็คือเรื่องของภาษี
1
3. ภาษีที่ไม่ชอบธรรม?
แต่ไหนแต่ไรมา อังกฤษมีนโยบายที่ให้อิสระกับผู้อพยพชาวอังกฤษที่ไปตั้งรกรากในทวีปอเมริกาอย่างเต็มที่ คือ แทบไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองหรือการเก็บภาษีเลย แต่ละชุมชนหรือแต่ละรัฐ จัดตั้งสภาของตัวเองกันขึ้นมา ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของตัวเอง ซึ่งการไม่เข้าไปยุ่งมากนี้เป็นนโยบายที่นิยมเรียกว่า Salutary neglect
1
แต่หลังสงครามเจ็ดปีสิ้นสุดลง นโยบายของอังกฤษก็เปลี่ยนไป เพราะอังกฤษหมดเงินไปกับสงครามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในการรบกับฝรั่งเศสในทวีปอเมริกา
1
รัฐบาลของอังกฤษจึงมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวอังกฤษในอเมริกา ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากสงครามไปเต็มๆ ควรจะควักกระเป๋ามาช่วยจ่ายบ้างเสียที จึงให้มีการออกกฎหมายภาษีฉบับใหม่ขึ้นมา เรียกว่า The Sugar Act 1764
1
ความแปลกคือ กฎหมายที่ออกใหม่นี้ คือ การให้ “ลด” ภาษีน้ำตาลลงจากเดิม ครึ่งนึง
คืออย่างนี้ครับ กฎหมายนี้เป้าหมายคือ เพิ่มการเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น แต่ภาษีของเดิมที่มีอยู่ถูกมองว่าแพงไปจนเก็บภาษีไม่ค่อยได้ ชาวอังกฤษในอเมริกาจึงหาทางเลี่ยงภาษีด้วยการลักลอบนำเข้าน้ำตาลเถื่อนมาขาย
1
รัฐบาลอังกฤษจึงคิดว่าถ้าลดภาษีลง คงจะเก็บภาษีได้มากขึ้น จึงออกกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันก็ให้มีการจริงจังกับการลงโทษคนเลี่ยงภาษีมากขึ้น เช่น มีบทลงโทษที่หนัก มีความเข้มงวดมากขึ้น มีการสุ่มตรวจค้นเรือสินค้า ถ้าพบว่ามีการลักลอบนำน้ำตาลเถื่อนเข้ามาขาย ก็สามารถลงโทษได้ทันทีโดยไม่ต้องขึ้นศาล
ผลปรากฏว่า การลดภาษีนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอเมริกัน
1
กลุ่มแรกที่ไม่พอใจก็แน่นอนครับ เหล่าพ่อค้าที่เกี่ยวข้องกับการนำน้ำตาลเถื่อนเข้ามาขาย ซึ่งไม่พอใจเพราะเสียผลประโยชน์ แล้วพ่อค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีอิทธิพลและมีชื่อเสียงในอเมริกา
กลุ่มที่สองไม่พอใจเพราะมองว่าการลงโทษทันทีโดยไม่ต้องขึ้นศาล มันละเมิดสิทธิ์ของพวกเขาในฐานะที่พวกเขาก็เป็นประชาชนของชาวอังกฤษเช่นกัน
2
นอกจากนั้นการออกกฎหมายนี้ก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่า รัฐบาลอังกฤษสามารถออกกฎหมายมาบังคับชาวอังกฤษในอเมริกาได้อย่างไร ก็ในเมื่อชาวอังกฤษในอเมริกาไม่ได้มีตัวแทน เพื่อที่จะไปโต้แย้งในสภาเลยสักคน
6
ถ้าการออกกฎหมายมาบังคับแบบนี้เกิดขึ้นได้ ก็หมายความว่า ในวันข้างหน้า รัฐบาลอังกฤษอยากจะออกกฎหมายอะไรมาบังคับใช้กับชาวอังกฤษในอเมริกาก็ได้สิ
1
อ่านมาถึงตรงนี้พอจะเห็นอะไรไหมครับ?
1
ใช่ครับ ไอเดียที่ใช้โต้แย้งเหล่านี้ มันมีกลิ่นอายของยุคเรืองปัญญา หรือ The Enlightenment ที่เกิดขึ้นในยุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางที่มีการศึกษาในอเมริกา ได้อ่านหนังสือของเหล่า ฟิโลโซฟส์ (Philosopes) ทั้งหลาย ทำให้เขารู้สึกว่าสิทธิ์ของพวกเขากำลังถูกรุกล้ำโดยรัฐบาล
Sugar Act เป็นแค่ก้าวแรกๆ ของความขัดแย้งเท่านั้น เพราะอีกประมาณหนึ่งปีถัดมา รัฐบาลอังกฤษก็ออกกฎหมายที่โด่งดังและมีปัญหามากกว่าอีกครั้ง
นั่นก็คือกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ Stamp Act 1765
4. Stamp Act
หัวใจสำคัญของ Stamp Act คือ เอกสารต่างๆ ของราชการจะต้องประทับตราอากรหรือ Stamp ลงไป รวมไปถึงเอกสารอื่นๆ เช่น พินัยกรรม สิ่งตีพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ แผ่นพับ รวมไปถึงไพ่หรือลูกเต๋าก็ต้องจ่ายภาษีนี้ด้วย
คำถามว่า ภาษีนี้แพงมากไหม?
คำตอบคือ ไม่เลยครับ ถูกมาก
แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดสร้างความไม่พอใจก็ยังเหมือนเดิมนั่นก็คือ กฎหมายนี้ รัฐบาลประกาศใช้โดยที่ชาวอังกฤษในอเมริกาไม่มีสิทธิ์จะได้ออกความเห็นเลย และคราวนี้คนที่ได้รับผลของกฎนี้มีค่อนข้างกว้าง จึงนำไปสู่การรวมตัวของม็อบชาวบ้านที่เรียกตัวเองว่า The Sons of Liberty ขึ้นมา
จากนั้นม็อบที่เต็มไปด้วยความโกรธก็เริ่มใช้ความรุนแรงคือไปจับตัวเจ้าหน้าที่เก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลอังกฤษ จากนั้นก็เอาน้ำมันดินเหนียวๆ ไปทาไปตามตัว แล้วก็เอาขนนกมาติดตามตัว ให้เหมือนตัวตลก
1
นอกเหนือไปจากการไม่ยอมจ่ายภาษีแสตมป์นี้แล้ว ชาวอเมริกันก็ยังบอยคอต ไม่สั่งซื้อสินค้าต่างๆ ที่นำเข้าจากอังกฤษด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพ่อค้าในอังกฤษต้องเดือดร้อน สุดท้ายพ่อค้าชาวอังกฤษเหล่านี้ก็ไปเรียกร้องกับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางแก้ไขปัญหา
3
รัฐสภาของอังกฤษจึงยอมถอนและยกเลิกภาษีนี้ไปก่อน แต่ไม่ได้แปลว่าจะยอมแพ้ เพราะต่อมาก็ออกกฎหมายมาใหม่ที่มีชื่อว่า มีชื่อว่า Declaratory Act ใจความหลักคือ ต่อจากนี้ไปรัฐสภาของอังกฤษสามารถออกกฎหมายบังคับใช้ในอเมริกาได้แม้ว่าชาวอเมริกาจะไม่มีตัวแทนในสภาก็ตาม
3
ไม่เพียงเท่านั้น พระเจ้าจอร์ชที่ 3 ยังส่งกองทัพอังกฤษมาที่เมืองบอสตัน เพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น คือจะไม่ปล่อยให้ม็อบชาวอังกฤษทำอะไรตามอำเภอใจหรือใช้ความรุนแรงกับคนของรัฐอีกต่อไป
3
หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็แหย่ๆ กันไป แหย่กันมาเรื่อยๆ ทางรัฐบาลอังกฤษก็ออกกฎหมายเก็บภาษีเล็กๆ น้อยๆ ออกมาเป็นระยะ เป้าหมายหลักคือ เพื่อให้เห็นว่า รัฐบาลอังกฤษมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นได้
2
ส่วนทางอเมริกาก็หาข้ออ้างที่จะไม่จ่ายภาษีนั้น ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเมื่อเห็นว่ากฎหมายไหนโดนต่อต้านมากขึ้น ก็ยอมยกเลิกภาษีนั้น แล้วก็ออกกฎหมายภาษีอื่นมาแทน เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ทำให้ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายแม้จะไม่ยอมกัน แต่ก็ยังไม่พร้อมจะแตกหักเสียทีเดียว
1
แต่แล้วก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนสงครามไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
2
5. Boston tea party
1
ในปี ค.ศ. 1773 รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายใหม่มาอีกชื่อว่า Tea Act
กฎหมายฉบับนี้จริงๆ แล้ว เป้าหมายหลักไม่ได้ออกมาเพื่อจะขูดรีดภาษีจากอเมริกา แต่เป้าหมายหลักของกฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยบริษัทสำคัญของอังกฤษที่ชื่อ British East India company ซึ่งขณะนั้นกำลังมีปัญหาการเงินอย่างรุนแรง
2
ใจความหลักของกฎหมายฉบับนี้คือ บริษัท British East India สามารถที่จะมาขายชาที่อเมริกาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีให้อังกฤษ และยังให้สิทธิ์บริษัท British East India ที่จะขายชาในอเมริกาแต่ผู้เดียว พูดง่ายๆ คือ ช่วยลดต้นทุนและไม่ให้มีใครมาขายแข่ง
1
ที่น่าสนใจคือ ผลโดยรวมของกฎหมายนี้ทำให้ชาที่ถูกกฎหมายในอเมริกา แม้ว่าจะบวกภาษีเข้าไปแล้ว ก็ยังถูกกว่าชาเถื่อนที่ลักลอบขายกันอยู่ในอเมริกา
1
คำถามคือ แล้วชาวอเมริกันชอบกฎหมายนี้ไหม?
คำตอบคือ ไม่ครับ เพราะด้วยเหตุผลเดิมๆ คือพ่อค้าชาที่ลักลอบนำชาเข้ามาเสียผลประโยชน์ ซึ่งหลายคนเป็นเศรษฐีเป็นผู้มีอิทธิพลของอเมริกา นอกจากนั้นหลายคนก็มองว่า เป็นการใช้ราคาของชามาล่อให้ยอมรับกฎหมายภาษี ซึ่งถ้ายอมรับไปสักครั้งแล้ว ก็คงจะโดนกฎหมายอื่นตามมาอีก ผลคือ ชาวอังกฤษในอเมริกาจึงโกรธแค้นกับกฎหมายนี้มาก
2
คืนวันที่ 16 ธันวาคม กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Son of Liberty จึงปลอมตัวด้วยการแต่งกายเป็นอินเดียนแดงแล้วลักลอบขึ้นไปบนเรือของบริษัท British East India company จากนั้นก็โยนหีบใส่ใบชาทิ้งลงทะเลไป 300 กว่าหีบ
1
เหตุการณ์ในคืนนั้นต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อว่า Boston tea party
คราวนี้กษัตริย์กับรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจที่จะไม่ทนอีกต่อไป
1
มีคำสั่งให้นำเรือรบมาปิดอ่าวของเมืองบอสตัน
1
นายพล Thomas Gage ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการรัฐ
มีการประกาศกฎอัยการศึกในเมืองบอสตัน
1
ผู้คนไม่สามารถมาชุมนุมกันได้
รัฐบาลอังกฤษหวังว่า การแสดงท่าทีว่าเอาจริงและส่งทหารมาเช่นนี้จะสามารถกำราบม็อบต่างๆ ให้กลัวและสงบลง
1
แต่ผลที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม
2
เมื่อเมืองบอสตันถูกบีบ ชาวอังกฤษที่อยู่ในทวีปอเมริกาทั้งหลายก็เริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคง เพราะทุกคนรู้ดีว่า ถ้าการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นที่เมืองหรือรัฐหนึ่งได้ เมืองอื่นๆ หรือรัฐอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะโดนเช่นเดียวกันได้
2
รัฐต่างๆ ทั้ง 13 รัฐ ที่ไม่เคยคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงเกิดความรู้สึกร่วมของการถูกขู่เข็ญขึ้นมา แต่ละรัฐจึงมีการส่งตัวแทนเพื่อมาประชุมกันที่เมือง ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1774 เพื่อคุยกันว่าจะทำยังไงกันต่อดี จะตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ร่วมกันอย่างไร
2
และการประชุมกันครั้งนั้น ก็เป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของคนที่ต่อมาจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวอเมริกัน เพียงแต่ในวันนั้น พวกเขาทุกคนยังคิดว่าตัวเองเป็นชาวอังกฤษที่พยายามหาทางต่อรองกับกษัตริย์และรัฐบาลของตัวเอง
1
การประชุมครั้งแรกนั้น ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทั้ง 13 รัฐจะพยายามกดดันอังกฤษด้วยการแบนสินค้าของอังกฤษให้หนักขึ้น แล้วหวังว่ากษัตริย์และรัฐบาลของพวกเขาจะคิดได้และยกเลิกสิ่งที่พวกเขามองว่าไม่ถูกต้อง
1
ส่วนอังกฤษก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้และเลือกที่จะส่งทหารมามากขึ้น
ความขัดแย้งจึงตึงเครียดมากขึ้น
6. Paul Revere’ s midnight ride
เดือนเมษายน ค.ศ. 1775
นายพลเกจ (Thosmas Gage) ได้ข่าวจากสายลับมาว่า ทางอเมริกามีการแอบสะสมอาวุธและดินปืนที่เมือง คองคอร์ด (Concord) ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง บอสตันไปไม่มาก นายพลเกจจึงออกคำสั่งให้กองทหารจำนวนหนึ่งเดินทางไปคองคอร์ดเพื่อยึดอาวุธเหล่านั้นมาทำลาย และยังสั่งให้ไปจับกุมผู้นำของกลุ่ม Son of Liberty ที่เมือง Lexington ด้วย
แต่ข่าวการเคลื่อนพลของทหารอังกฤษ ก็รั่วไหลออกไปเสียก่อน ในคืนวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 ชายสองคน คือ วิลเลียม ดอว์ส (William Dawes) และ พอล เรเวียร์ (Paul Revere) จึงตัดสินใจกระโดดขึ้นหลังม้า แยกเดินทางไปคนละทิศ เพื่อกระจายข่าวตลอดเส้นทางไปเมืองคองคอร์ดและเล็กซิงตัน ว่า ทหารอังกฤษกำลังจะมา
3
เหตุการณ์นี้ปัจจุบันเป็นเหตุการณ์สำคัญของชาวอเมริกันที่มีชื่อเรียกว่า Paul Revere’ s Midnight ride
กลุ่มของทหารชาวบ้านตามที่ต่างๆ ที่เรียกตัวเองว่า Minutemen (หมายถึงพร้อมรบในเวลาแค่ไม่กี่นาที) จึงจับอาวุธ และเดินทางไปเตรียมพร้อมรับมือกับทหารอังกฤษที่เมือง Lexington
แต่เมื่อเผชิญหน้ากันจริงๆ ทหารทั้งสองฝ่ายก็พยายามอย่างที่สุด ที่จะไม่โจมตีใส่กัน เพราะต่างก็ได้รับการกำชับมาว่า ห้ามยิงโดยเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าไม่มีทางเลือกคือโดนโจมตีก่อน จึงจะต่อสู้กลับ
จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนลั่นกระสุนแรกในวันนั้น แต่สุดท้ายกระสุนนัดแรกก็ถูกลั่นออกไป และเป็นกระสุนที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก
2
เพราะหลังจากกระสุนแรกถูกยิงออกไปแล้ว จากนั้นแต่ละฝ่ายก็ระดมยิงใส่กัน
แล้ว ณ จุดนี้ สงครามคงจะเลี่ยงได้ยาก...
...ติดตามต่อตอนจบในวันพรุ่งนี้นะครับ
📍 ชอบเนื้อหาแนวความรู้แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับรางวัลหลายเล่มของหมอเอ้ว
หนังสือทุกเล่มเป็นหนังสือ Best seller ที่รับรองความสนุกและมีสาระ สามารถอ่านรีวิวจากผู้อ่านจริงได้จาก Goodreads
สนใจสั่งซื้อหนังสือ กดเลย!
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3FBx0bx
โฆษณา