4 ก.ค. 2023 เวลา 09:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อนาคตของการเงินธนาคาร ตอนที่ 3 "ธนาคารชั้นนำที่ปรับตัวสู้โลก"

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงซบเซา ตลาดหุ้นก็ perform ต่ำต้อยติด 3 อันดับรั้งท้ายของโลก ภาคการเงินธนาคารของไทยดูเหมือนจะยังแข็งแกร่งอยู่ แต่ภาวะการแข่งขันภายในภาคนี้ก็รุนแรงมาก
ในด้านหนึ่งผู้บริโภคมองเห็นและจับต้องได้ ว่ามีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตัลอย่างค่อนข้างพร้อมเพรียง การทำธุรกรรมผ่านแอปเริ่มเป็นเรื่องปกติประจำวัน
แต่อีกด้านหนึ่งเราก็เห็นภาวะแอปล่มต่อเนื่องนาน ๆ ของบางธนาคาร หรือเกิดการฉ้อโกงที่ทะลุผ่านกำแพงความปลอดภัยของธนาคาร เกิดขึ้นให้เห็นบ่อย ๆ
พร้อมกันนี้นโยบาย digital (only) bank ก็กำลังเป็นรูปธรรม รวมไปถึงสกุลเงินดิจิตัลของธนาคารกลาง (central bank digital currency - CBDC) ที่กำลังใกล้เข้ามา
นี่ยังไม่นับประเด็นที่อาจจะมีนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรของธนาคารในประเทศขึ้นอีกหลังตั้งรัฐบาลใหม่
พูดโดยรวม digital transformation กำลังทำให้ภาคการเงินธนาคารสั่นไหว และการปรับตัวอย่างต่อเนื่องยังจำเป็นอย่างยิ่ง
1
ตัวอย่างธนาคารชั้นนำที่ปรับตัวสู้โลก
ในโลกนี้มีรูปแบบธนาคารสมัยใหม่ที่พอเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว ลองดูบางธนาคารที่ "พร้อมรับอนาคต" เริ่มจากธนาคารใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
Standard Chartered ธนาคารข้ามชาติชื่อดังของอังกฤษ ให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่มทางด้านดิจิตัล เช่นกัน ธนาคารแห่งนี้ใช้ AI และ data analytics เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์กับธนาคารแบบเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ธนาคารยังเปิดตัวสนับสนุนนวัตกรรม Fintech และร่วมมือกับบริษัท startup จำนวนมาก
1
DBS Bank มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ เป็นที่รู้จักในฐานะธนาคารที่พยายามนำพาสู่ความเปลี่ยนผ่านทางดิจิตัล (digital transformation) และลงทุนอย่างมากในเทคโนโลยี AI, data analytics และระบบอัตโนมัติ automation เป็นธนาคารที่ไปเปิดให้บริการดิจิตัลล้วน (digital-only) ที่ประเทศอินเดีย
ING Group เป็นธนาคารข้ามชาติของเนเธอร์แลนด์ ที่โฟกัสในเรื่องของนวัตกรรมด้านดิจิตัลและบริการที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ธนาคารแห่งนี้ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและกระชับกระบวนการทำงานของธนาคารเอง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบริษัทด้าน Fintech หลายแห่งเพื่อมองหาแนวทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้ดิจิตัล
JP Morgan Chase & Co. ยักษ์ใหญ่รายนี้ลงทุนอย่างหนักในเทคโนโลยีด้าน data analytics กับ artificial intelligence (AI) และได้ริเริ่มโครงการ Quorum ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับให้ลูกค้าองค์กรใช้บล็อกเชนส่วนตัวได้ พัฒนาขึ้นจาก Ethereum ในปี 2016
(แต่บริการ Quorum นี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และถูกขายออกไปในที่สุด เพราะการมุ่งรักษาความเป็นส่วนตัวมาก ทำให้มีปัญหาในเรื่อง scalability)
ในอีกด้านหนึ่ง ก็เห็นมีธนาคารดิจิตัลล้วน ๆ อีกหลายแห่งที่เริ่มให้บริการ เช่น Revolut ที่ให้บริการมากมายกว้างขวาง เช่น การโอนเงินต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเงินตรา และผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ มีลูกค้ามากกว่า 10 ล้านคนแล้วใน 30 ประเทศ
1
หรือ Monzo ซึ่งเป็นธนาคารดิจิตัลอีกแห่งหนึ่ง ที่ให้บริการธนาคารบนมือถือ และมีลูกค้ามากกว่า 5 ล้านคนในอังกฤษ
ธนาคารที่เปลี่ยนผ่านทางดิจิตัลได้สำเร็จ จะพบว่า ผลประกอบการมักจะดีขึ้น ปริมาณเงินในบัญชีกระแสรายวัน บัญชีเงินฝาก ที่สูงขึ้น อัตราต้นทุนต่อรายได้ที่ต่ำลง มีลูกค้าเพิ่มขึ้นและรักษาลูกค้าไว้ได้
แต่เห็นอย่างนี้แล้ว อย่าคิดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางดิจิตัลเสมอไป แท้จริงแล้วพวกที่ไปได้ดีกลับมีเป็นส่วนน้อย และยิ่งถ้าเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีหรือที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน
จากกรณีตัวอย่างของ JP Morgan ที่กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้เลยว่า การก้าวไปสู่เทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว แม้จะดำเนินโดยรายใหญ่ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ประกันความสำเร็จ
ในตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า ความล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิตัลในแวดวงธนาคาร เกิดขึ้นจากอะไร
โฆษณา