4 ก.ค. 2023 เวลา 18:27 • ข่าว

ผลการศึกษาจิตวิทยา Cinderella Effect ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้

รู้จักผลการศึกษาทางจิตวิทยา Cinderella Effect ที่บอกเราว่าเด็กที่อยู่กับพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงมีโอกาสถูกล่วงละเมิดหรือถูกทารุณกรรมมากกว่าอยู่กับพ่อและแม่แท้ ๆ ถึง 40 เท่า
1
Cinderella Effect เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดย Martin Daly ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากแคนาดาในทศวรรษที่ 1970 ซึ่งนำอธิบายถึงแนวโน้มสถิตที่เพิ่มขึ้นของจำนวนเด็กที่จะตกเป็นเหยื่อถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกทารุณกรรมโดยพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงมากกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด
ซึ่งที่มาของชื่อดังกล่าวเชื่อว่าหลายท่านน่าจะพอเดาได้ว่ามาจาก วรรณกรรมคลาสสิคอย่าง ซินเดอร์เรลลา หญิงสาวผู้สูญเสียมารดาและต้องอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงและพี่สาวใจร้าย ถูกกดขี่ย่ำยีบังคับใช้แรงงาน ทำร้ายด้วยวิธีการสารพัด
จนวันหนึ่งที่เธอได้รับชมคลิปมาดามไปรยา เลยตัดสินใจไปวังของเจ้าชายทิ้งรองแก้วเอาไว้ตรงบันไดในงานราตรี ก่อนที่เธอหลุดพ้นจากแม่เลี้ยงและครอบครัวใจร้ายทั้งหมดนี้เพราะได้สามีเป็นเจ้า (ไปดูเวอร์ชั่นไหนมา!?)
1
โดยผลการศึกษา Cinderella Effect ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อจิตแพทย์ชาวอังกฤษ Peter Scott (1914-1977) ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างของเคสคดีที่มี “ทารกที่ถูกทารุณกรรมปางตาย” และได้ไปพบตัวเลขที่น่าตกใจว่า มากกว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของเคสที่เขาวิจัยค้นคว้าคนที่ทำร้ายเด็กไร้เดียงสา คือ พ่อเลี้ยง
แม้ว่าในตอนนั้นจะยังไม่มีการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อมูลดิบนี้ แต่หลังจากที่ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ได้มีการศึกษาวิจัยต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการกระทำทารุณต่อเด็กจริงหรือไม่ ซึ่งผลการวิจัยส่วนใหญ่ที่ปรากฏออกมาพบหลักฐานเชิงบวกที่เชื่อมโยงการทารุณกรรมเด็กกับความสัมพันธ์ของพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง
การศึกษา Cinderella Effect เริ่มมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อในปี 2007 คู่สามีภรรยาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาวิวัฒนาการ Martin Daly และ Margo Wilson ได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเคสคดีล่วงละเมิด ทารุณกรรม ฆาตกรรม เด็กและเยาวชน จากทั้งบันทึกการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อมูลจากโรงพยาบาล รายงานผู้เสียหาย และข้อมูลการฆาตกรรมอย่างละเอียด
จนได้พบข้อสรุปที่น่าตกตะลึงว่า ลูกเลี้ยงในประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร และมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กมากกว่าเด็กที่อยู่อาศัยกับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดหลายสิบเท่า
ภายหลังจากพวกเขาพบข้อมูลเชิงสถิตในครั้งนี้ ทั้ง Daly และ Wilson จึงได้ทำการศึกษาเพื่อหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จนได้ไปพบสาเหตุของหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้าเหล่านี้อาจมีที่มาจากสัญชาตญาณและการวิวัฒนาการของมนุษย์
โดยปกติทั่วไปพ่อ-แม่ผู้ให้กำเนิดจะมีความผูกพันและมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติในการปกป้องเลี้ยงดูลูกหลานที่เกิดจากเลือดเนื้อเชื้อไขของตน ยอมอดเพื่อลูกอิ่ม เสียสละได้แม้ชีวิตของตน และจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกหลานตนอยู่รอดปลอดภัยและได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านที่กำลังอ่านหรือรับชมคลิปอยู่นี้จะเข้าใจความรู้สึกของ “ลูกต้องมาก่อน”
ซึ่งสิ่งนี้นี่คือจุดที่ Daly และ Wilson พบว่าพ่อเลี้ยง-แม่เลี้ยงไม่มีสัญชาตญาณพื้นฐาน ของการดูแลลูกสำหรับเด็กที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข ไม่มีพันธุกรรมร่วมกัน ตัวอย่างของสิ่งนี้ มีปรากฏให้เห็นตลอดเส้นทางวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญกับลูกหลานทายาทของตนรวมถึงญาติทางสายเลือดใกล้ชิด มากกว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวดองกันในทางสายเลือด และอาจสะท้อนถึงที่มาของคำว่า “สายใยรักแห่งครอบครัว”
อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงทุกคนจะทำร้ายลูกเลี้ยงของตน เพราะพวกเขาพบว่า ถ้าในกรณีที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเป็นคนที่ทัศนคติและมีจิตใจที่ดีในการเป็นพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง พวกเขาก็จะเลี้ยงดูและปฏิบัติต่อเด็กในความดูแลได้ในแบบเดียวกันกับที่พ่อแม่ทางสายเลือดปฏิบัติต่อลูกของตน
แต่ในกรณีที่พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงไม่ได้มีทัศนคติเช่นนั้นมันทำให้ความเสี่ยงที่เด็ก ๆ ที่ไร้เดียงสาจะตกเป็นเหยื่อทารุณกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการแก้แค้น ประชดประชัน หรือเป็นทางออกในการระบายอารมณ์ที่รุนแรงในกรณีที่ พวกเขาเกิดปัญหาขัดแย้ง หรือต้องการแสดงความไม่พอใจต่อผู้ปกครองร่วมของพวกเขา
เนื่องจากเด็ก ๆ ที่อยู่ในความดูแลนั้นมีบทบาททางสังคมต่ำกว่า อำนาจในการต่อรองน้อยกว่า และเปราะบางมากกว่า ซึ่งนั่นนำไปสู่ความโหดร้ายของคำอธิบายที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการ Cinderella Effect
ทั้งนี้ทั้งนั้น ขออนุญาตเน้นกันอีกครั้งย้ำกันอีกว่าไม่ใช่ทุกกรณีที่พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงจะทำร้ายลูกเลี้ยง เช่นเดียวกันกับที่ไม่ใช่ทุกกรณีที่เด็กจะปลอดภัยแม้จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่บังเกิดเกล้าแท้ ๆ ก็ตาม เพราะนี่เป็นเพียงหนึ่งงานวิจัยที่สะท้อนหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว
สุดท้ายนี้หากคุณพบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ขออย่าได้เพิกเฉย คิดว่ามันเป็นเรื่องของครอบครัวชาวบ้าน ให้แจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าช่วยเหลือ โดยแจ้งข้อมูลของผู้กระทำและเด็กที่ถูกทำร้าย ลักษณะการทำร้าย และรายละเอียดเหตุการณ์ เช่น เวลาและสถานที่เกิดเหตุ ให้หน่วยงานเหล่านี้รับทราบ
🔴 สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม
🔴 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-1196
โฆษณา