5 ก.ค. 2023 เวลา 03:35 • ประวัติศาสตร์

รุ้จัก "บางกอกรีคอร์เดอร์" หนังสือพิมพ์ฉบับแรก ต้นกำเนิดสู่ "ราชกิจจานุเบกษา"

หนังสือพิมพ์ The Bangkok Recorder ได้ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ออกมาวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 โดยมีชื่อไทยว่า “หนังสือจดหมายเหตุ” ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์หัวแรกของไทย หรือสยามในเวลานั้นเลยก็ว่าได้
จุดเริ่มต้นของบางกอกรีคอร์เดอร์มาจากการที่หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ผู้เผยแพร่ศาสนาชาวอเมริกัน ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตในการทำหนังสือพิมพ์จาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และเมื่อเหล่าอำมาตย์มุขมนตรีได้ให้ความเห็นชอบรวมถึงให้การสนับสนุน จึงทำให้หมอบรัดเลย์สามารถจัดทำหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ออกมา
หนังสือพิมพ์ในประเทศสยามตอนนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก แม้กระทั่งในหมู่ชนชั้นนำที่อ่านออกเขียนได้ก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรอย่างแน่ชัด จนมีการเรียกกันว่าเป็น “จดหมายเหตุอย่างสั้น”
เพราะด้วยการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนจดหมายเหตุนั่นเอง ในฉบับแรกหมอบรัดเลย์จึงต้องมีการเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าหนังสือพิมพ์คืออะไร มีคุณค่าอย่างไร โดยอธิบายว่าหนังสือพิมพ์นั้นถือว่ามีประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างสูง เป็นแสงสว่างให้กับสังคม และจะช่วยประจานคนที่ทำสิ่งไม่ดี
บางกอกรีคอร์เดอร์มีรูปแบบการนำเสนอในแบบหนังสือพิมพ์อเมริกัน ที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ก็จัดว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมสยามเช่นกัน และได้สร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์และการเขียนในรูปแบบอื่นๆ ในสยามให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
เช่น การเขียนในรูปแบบสารคดี การเขียนบทบรรณาธิการ รวมไปถึงการประดิษฐ์คำใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตามอิทธิพลในจุดนี้ก็ส่งผลต่อแค่ชนชั้นนำซึ่งเป็นส่วนน้อยในสยามเท่านั้น เพราะว่าในขณะนั้นจำนวนประชาชนที่อ่านออกเขียนได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มชนชั้นนำล แต่สิ่งนี้เองก็ส่งผลต่องานเขียนและงานสื่อมวลชนในยุคต่อๆ ไปมาจนถึงปัจจุบัน
หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ เริ่มแรกออกตีพิมพ์ในรูปแบบรายเดือน ก่อนที่จะเป็นการออกเป็นรายปักษ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้บางกอกรีคอร์เดอร์ยังมีการตีพิมพ์ในฉบับภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยทั้ง 2 ฉบับจะมีขนาดที่ต่างกัน 6x9 ส่วนฉบับภาษาอังกฤษจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าอยู่ที่ 12 x 18
แต่ด้วยลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาเฉกเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์อเมริกัน ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่พอใจและคนอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้านายระดับสูงที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลและจำนวนคนอ่านก็น้อยเกินกว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2411 หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ก็ปิดตัวลงในที่สุด
นอกจากวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ และคุณูปการที่ส่งผลต่อวงการสื่อสารมวลชนมาจนถึงในปัจจุบันแล้ว หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ยังเป็นจุดกำเนิดของ “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งรัฐบาลทำออกมาเพื่อตีพิมพ์ข่าวสาร และข้อมูลที่บางกอกรีคอร์เดอร์นำเสนออย่างคลาดเคลื่อนไปอีกด้วย
เรียบเรียงโดย ณัฐภัทร มาเดช
ภาพประกอบโดย Wikipedia
คิดถึงเรื่องสื่อ เปิด #ส่องสื่อ
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co
ติดต่อโฆษณา opinionmediathai@gmail.com
โฆษณา