5 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

ไขข้อข้องใจแผนที่ “รัฐปัตตานี” แผนที่ฉบับ ‘ความเท็จ’ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลายคนคงได้เห็นการแชร์ภาพหนึ่งซึ่งชัดเจนว่าเป็นแผนที่แสดงอาณาเขตของรัฐปัตตานี (Patani State) จนก่อให้เกิดกระแสถกเถียงกันในวงกว้างว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ ? จัดทำขึ้นโดยผู้ใด ? และเหตุใดผู้จัดทำจึงกล้าที่จะ ‘เคลม’ ว่าดินแดนของรัฐปัตตานีมีอาณาเขตไปไกลจนถึงจังหวัดชุมพร หรือแท้จริงแล้วในอดีตปัตตานีมีอาณาเขตมาถึงเพียงนี้เชียวหรือ ?
ทั้งนี้ตอบได้ว่าแผนที่ฉบับนี้เป็น ‘ของจริง’ แต่เป็น ‘ของเก่า’ ที่จัดทำขึ้นโดยขบวนการ ‘เบอซาตู’ (BERSATU) ซึ่งเป็นองค์การร่มหรือองค์การกลางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ๆ ได้แก่ บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และ มูจาฮิดิน ปัตตานี
กลุ่มเบอซาตูภายใต้การนำของ วันกาเดร์ เจ๊ะหมาน (เสียชีวิตในปี 2562) ได้พยายามนำเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างไทย-ปัตตานีมาใช้กันอย่างจริงจัง ซึ่งตราสัญลักษณ์ของกลุ่มเบอซาตูที่อยู่เหนือแผนที่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ากลุ่มเบอซาตูนั่นแหละที่เป็นคนทำแผนที่ฉบับนี้ขึ้นมา แม้จะระบุปีที่ชัดเจนไม่ได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงหลังปี พ.ศ. 2532
ปัจจุบันกลุ่มเบอซาตูได้ล่มสลายไปแล้ว แผนที่ฉบับนี้จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการฯ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน เช่น บีอาร์เอ็น หรือพูโลอีกต่อไป โดยตอนนี้กลุ่มที่ยังเหลืออยู่ได้ลดเพดานการต่อสู้ลงมา เหลือแค่การเคลมเพิ่มเติมเพียงแค่จังหวัดสงขลาเท่านั้น
นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่าแผนที่ฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสดงอาณาเขตของอาณาจักรปัตตานี/ปตานี (Patani) แต่อย่างใด หากแต่เป็นการพยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนให้ขยายออกไปเหนือพื้นที่ของปัตตานีเดิม กล่าวคือ ได้อ้างพื้นที่ด้านบนสุดไปจนถึงจังหวัดชุมพร รวมถึงได้อ้างถึงพื้นที่ภาคใต้ตอนบนซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับอาณาจักรปัตตานีโบราณเลย
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้จัดทำแผนที่ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ในการจัดทำเลย จึงกล่าวได้ว่าแผนที่ฉบับนี้เป็น ‘ความเท็จ’ เกือบทั้งสิ้น เพราะมันคือเป็นการเชื่อมโยงตรรกะมั่ว ๆ ของพวกชาตินิยมมลายูสุดโต่งภายใต้การนำของกลุ่มเบอซาตู หากอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร และสิ่งที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนพยายามสื่อสารอยู่ทุกวันนี้เป็นจริงหรือไม่ มาติดตามต่อได้ที่นี่ https://tinyurl.com/5x52x3mz
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory #เบอซาตู #รัฐปัตตานี #มลายู
โฆษณา