5 ก.ค. 2023 เวลา 09:00 • ข่าว

ความเสมอภาคของคนพิการ

...สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมมากครับ ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป็นการพัฒนาที่อาศัยประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งคนพิการ เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเป้าหมายของเอเปกที่เน้นการพัฒนาและเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน...
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา
สังคมไทยโดยพื้นฐานทราบกันทั่วไปว่าเป็นสังคมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ยังมีคนบางส่วนเห็นว่าเมื่อมีสิทธิความเท่าเทียมและความเสมอภาคแล้วก็ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา
ผมมองว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นสิ่งที่ดีที่นำไปสู่สังคมน่าอยู่ และการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียมก็สำคัญเช่นกันควบคู่กับการการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคมจะต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่ก้าวล่วงสิทธิของคนที่เราเกื้อกูลมากจนทำให้รู้สึกว่าด้อยกว่าและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ในกลุ่มคนพิการในอนาคต
สิทธิความเท่าเทียมและความเสมอภาคในสังคมไทยปัจจุบัน ได้รับความสนใจและมีกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีโครงสร้างการบริหารองค์กรภาครัฐเฉพาะที่เข้ามารับผิดชอบดูแล โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ มีโครงสร้างที่เปิดกว้างให้คนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีความเท่าเทียมมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายที่ดี โครงสร้างการบริหารจัดการที่ดี ก็ยังไม่สามารถที่จะบูรณาการแบบไร้รอยต่อเกี่ยวกับแนวคิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบสังคมไทยดั้งเดิมได้ทั้งหมด ดังนั้น ควรมีการสื่อสารสาธารณะเพื่อเผยแพร่แนวคิดการช่วยเหลือเกื้อกันแบบสังคมดั้งเดิมให้ทุกคนรับรู้รับทราบว่า ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือคนพิการก็ต้องการที่จะเป็นผู้ให้ และผู้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
ดังนั้น หากมีการเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สังคมไทยมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนดังเช่นสังคมไทยในอดีต
สำหรับประเด็นนโยบายระดับมหภาค คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงโยบายเป็นจำนวนมาก ทั้งการแก้ไขกฎหมาย การเสนอนโนบายไปสู่ฝ่ายบริหารโดยตรง รวมทั้งนำเสนอเนื้อหาสาระในแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ
เรื่องการปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ เพื่อตอบโจทย์คนพิการมากขึ้นเป็นนิติบุคคล การขึ้นทะเบียนคนพิการ การจัดหมวดหมู่ การจัดระเบียบสถิติข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ทำให้คนพิการและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้อย่างแท้จริง
ที่มาภาพ : www.freepik.com
สำหรับการบูรณาการประเด็นความต้องการเกี่ยวกับคนพิการกับการพัฒนากระแสหลัก พบว่า มีการจ้างงานคนพิการโดยหน่วยงานภาครัฐน้อยลงมาก แม้ว่าจะมีกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีออกมาคุ้มครองเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการ เมื่อปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๖๐ แต่ยังมีความเป็นห่วงอนาคตของคนพิการจะหลุดออกจากระบบการจ้างงานโดยหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น จึงจัดทำข้อเสนอให้มีการพิจารณาศึกษา มีการจัดเสวนา สัมมนา และมีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ วุฒิสภา กรณีคนพิการร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ มีคนพิการร้องเรียนเข้ามาทุกวัน ซึ่งหลังจากรับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และไกล่เกลี่ยหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน เรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายไปแล้วส่วนหนึ่ง
นอกจากการปฏิบัติภารกิจในการพิจารณาศึกษาเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ การจัดสัมมนา และเสวนา เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน และการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการจัดอบรมให้กับบุคลากรรัฐสภา กลุ่มตำรวจรัฐสภา และพนักงานบริการในรัฐสภา เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ และจัดอบรม ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เพื่อให้บุคลากรรู้จักแนวทางการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานกับคนพิการได้อย่างถูกต้อง
โดยการฝึกอบรมมีการฝึกปฏิบัติและการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน และมีการแสดงบทบาทสมมุติระหว่างการอบรม เพื่อสร้างมิติในการรับรู้ได้ลึกซึ้งมากกว่าการสอน และได้เชิญวิทยากรจากองค์กรของผู้พิการ และคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา ให้ความรู้แก่ผู้ข้ารับการอบรม
โดยการจัดอบรมในครั้งต่อไป
คณะอนุกรรมาธิการฯ มีแนวทางจัดอบรมขยายผลไปยังกลุ่มผู้บริหารของรัฐสภา และบุคลากรรัฐสภาระดับกลาง รวมถึงการทำเวิร์กช็อปให้กับสมาชิกวุฒิสภาที่สนใจเข้าร่วมอบรม เพื่อให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และนำผลการอบรมมารวบรวมจัดทำเป็นคลิปต้นแบบการฝึกอบรม และเผยแพร่ให้ความรู้ในกิจกรรมอื่น ๆ ในนามของวุฒิสภาต่อไป
ที่มาภาพ : www.freepik.com
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนปฏิรูปประเทศ ในระยะที่ ๑ แม้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ แต่เนื้อหาและเจตนารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ ๖ ก็ยังคงดำเนินการ ต่อไป โดยแผนดังกล่าวหาแล้วเสร็จจะบังคับใช้ตั้งแต่ (พ.ศ. ๒๕๖๖ -๒๕๗๐) และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง หรือแผนประจำปีของกรมต่าง ๆ ควรนำเนื้อหาสาระของการปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ
การขึ้นทะเบียนคนพิการ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การจัดสภาพแวดล้อมให้ทุกคนได้เข้าถึง การบูรณาการประเด็นคนพิการเข้าสู่กระแสหลัก และการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับประเด็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนพิการให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ได้ร่วมหารือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานระดับนโยบายภาครัฐ ทำให้ทราบว่ามีกฎหมายให้อำนาจในการตรวจสอบการทำงาน การเข้าถึงสิทธิคนพิการข้ามกระทรวงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันดังกล่าว คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ขอให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ นำแผนปฏิรูปทั้งหมดไปบรรจุไว้ในร่างแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ ๖ ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ได้รับไปดำเนินการ
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๔-๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมาธิการฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ จัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกัน โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ หากไม่สำเร็จก็ดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องหยุด เพราะความต้องการของประชาชนจะหยุดไม่ได้
หากเราทำไม่สำเร็จก็ต้องดำเนินการต่อให้สำเร็จด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ และขอยืนยันจะทำหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ และดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของผมครับ
สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมมากครับ ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป็นการพัฒนาที่อาศัยประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งคนพิการ เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเป้าหมายของเอเปกที่เน้นการพัฒนาและเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยอาศัยประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้เติบโต ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงบริการ เข้าถึงกิจการพัฒนา และเข้าถึงการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกัน
สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนและการสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้ครอบคลุม และพัฒนาคนทั้งมวลนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างแท้จริงครับ.
ที่มาภาพ : www.freepik.com
โฆษณา