9 ก.ค. 2023 เวลา 05:00 • สุขภาพ

‘แอสปาร์แตม’ ก่อมะเร็ง? อีกด้านของ ‘น้ำตาลเทียม’ ที่ฟัง WHO พูดไม่หมด

อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด! หลัง “WHO” เตรียมบรรจุ “แอสปาร์แตม” เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง สื่อนอกเจาะเพิ่ม พบความเสี่ยงเทียบเท่า “ว่านหางจระเข้-คลื่นโทรศัพท์มือถือ” ต้องบริโภคสูงสุด 36 กระป๋อง จึงเป็นโทษต่อร่างกาย
หลังมีการนำเสนอข่าวว่า “WHO” (World Health Organization) เตรียมประกาศให้ “แอสปาร์แตม” (Aspartame) ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือ “น้ำตาลเทียม” เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยสินค้าที่ถูกจับตามองและน่าจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด คือ “น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล” ที่มีการใช้สารแทนความหวานอย่าง “แอสปาร์แตม” เป็นส่วนประกอบสำคัญ
1
“แอสปาร์แตม” (Aspartame) เป็นชนิดหนึ่งของสารทดแทนความหวานหรือน้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners) นิยมใช้เติมรสชาติอาหาร ขนม และเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ โดยน้ำตาลเทียมมีคุณสมบัติให้รสชาติความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลจากธรรมชาติ ที่สำคัญยังให้พลังงานต่ำหรือไม่มีพลังงาน น้ำตาลเทียมจึงได้รับความนิยมในประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่โดยปกติต้องใช้ส่วนผสมของน้ำตาลธรรมชาติในปริมาณมาก
2
แผนการเตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นหนึ่งในสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเป็นการอ้างอิงจากผลการประเมินทบทวนงานวิจัย 1,300 ฉบับ ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer) หรือ “IARC” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การอนามัยโลก
1
ปัจจุบัน IARC จำแนกประเภทอาหารและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง 4 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มที่ 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to Humans) เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป, แร่ใยหิน, แคดเมียม, ยาสูบ
2. กลุ่มที่ 2 2A สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ (Probably Carcinogenic to Humans) เช่น อาชีพช่างทำผม, คนทำงานกลางคืน
1
3. กลุ่มที่ 3 2B สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (Possibly Carcinogenic to Humans) เช่น ว่านหางจระเข้, ผักดอง, คลื่นโทรศัพท์มือถือ
4. กลุ่มที่ 4 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (Not classifiable as to its carcinogenicity to humans) หมายความว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการจำแนก
4
หากอ้างอิงตามรายงานข่าวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจะพบว่า “WHO” เตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่ม 2B คือ “Possibly Carcinogenic to Humans” หรือกลุ่มที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา IARC ถูกตั้งคำถามจากสังคมอยู่บ่อยครั้งถึงความน่าเชื่อถือที่มักสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคมาโดยตลอด ทั้งการจัดแบ่งประเภทของสารก่อมะเร็งที่คลุมเครือรวมถึงหลักฐานบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในอดีต IARC เคยมีกรณีคล้ายกันนี้ สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบริโภคที่นำไปสู่การฟ้องร้องและกดดันให้ผู้ผลิตคิดค้นสูตรอาหารใหม่ และเปลี่ยนไปใช้สารประกอบอื่นๆ แทน
1
เคท โลทแมน (Kate Loatman) ผู้อำนวยการบริหารสภาสมาคมเครื่องดื่มระหว่างประเทศ (The International Council of Beverages Associations) ให้ความเห็นว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขควรระมัดระวังประเด็นนี้อย่างยิ่ง เพราะอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดของผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น มากไปกว่านั้น หากพวกเขามองว่า สารทดแทนความหวานอันตรายแล้วหันกลับไปบริโภคน้ำตาลมากขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพอีกหรือไม่
1
โฆษณา