11 ก.ค. 2023 เวลา 04:10 • สิ่งแวดล้อม
ติมอร์ตะวันออก

เส้นทางมิตรภาพไทย-ติมอร์-เลสเต

เส้นทางมิตรภาพไทย-ติมอร์-เลสเต จากการรักษาสันติภาพสู่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ ๔๐ และครั้งที่ ๔๑ ได้มีมติรับรองในหลักการที่จะรับติมอร์-เลสเต (ติมอร์ฯ) เข้าเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนลำดับที่ ๑๑ ในอนาคต และต่อมาที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ ๔๒ ที่เมืองลาบวน บาโจ อินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ได้ประกาศแผนงานและขั้นตอนให้ติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับติมอร์ฯ ในฐานะประเทศใหม่ที่เพิ่งได้รับเอกราชมาเพียง ๒๐ ปี พัฒนาการที่สำคัญครั้งนี้จะส่งผลให้ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต” สามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น และพวกเราจะเห็นพัฒนาการของติมอร์ฯ เด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป
ติมอร์ฯ เป็นประเทศเล็ก ๆ ขนาดเท่ากับจังหวัดอุบลราชธานีของไทย ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซียและต่อมาได้รับเอกราชเมื่อปี ๒๕๔๕
ภาพถ่ายโดย นายซัดดัม สะแต เจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ได้หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ก่อนที่ติมอร์ฯ จะประกาศเอกราช โดยประเทศไทยได้ทำภารกิจร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือติมอร์ฯ ทำให้ชาวติมอร์ฯ รู้จักคนไทยและประเทศไทยในบทบาทผู้ที่เข้าไปร่วมก่อร่างสร้างประเทศติมอร์ฯ ซึ่งได้ต่อยอดเป็นการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา จวบจนปัจจุบันที่ทั้งสองประเทศได้ก้าวมาเป็นพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายสาขา
ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์ฯ ทันทีที่ติมอร์ฯ ประกาศเอกราช โดยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ทั้งสองประเทศได้ประกาศการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ ๓ (รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรนอร์เวย์) ในวันเดียวกับที่ติมอร์ฯ ได้ประกาศเอกราช
ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์ฯ ทันทีที่ติมอร์ฯ ประกาศเอกราช
ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยได้มีบทบาทร่วมกับสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในการรักษาสันติภาพในติมอร์ฯ ในหลายภารกิจ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ประกอบด้วยการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (United Nations Mission in East Timor: UNAMET) กองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก (International Force in East Timor: INTERFET)
องค์กรบริหารชั่วคราวของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UN Transitional Administration in East Timor: UNTAET) และภารกิจสนับสนุนของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UN Mission of Support in East Timor: UNMISET) จวบจนติมอร์ฯ ประกาศเอกราชในปี ๒๕๔๕
ภาพถ่ายโดย พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐเอกราช ภารกิจการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ฯ มีความโดดเด่นกว่าภารกิจอื่น ๆ ในอดีต เนื่องจากเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมและมีมิติที่หลากหลาย
โดยให้ความสำคัญกับภารกิจด้านการรักษาความมั่นคง (security) การพัฒนา (development) และธรรมาภิบาล (good governance) อย่างสมดุลและเท่าเทียมกัน (อ้างอิง: พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ และพลโท นพดล มังคละทน. “การรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก: ความสำเร็จและบทเรียน” ในเส้นทางมิตรภาพ ๒ ทศวรรษ ไทย - ติมอร์-เลสเต. ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ: ๒๕๖๕, หน้า ๘๗-๘๘.) ในการนี้ กองกำลังของไทยได้มีบทบาทโดดเด่นในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในติมอร์ฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนา โดยได้นำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ให้ชาวติมอร์ตะวันออก รวมถึงได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู
การสร้างเสถียรภาพ การสร้างอาชีพและการพัฒนาการเกษตร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมทักษะด้านกีฬา ส่งผลให้ผู้นำ นักการเมือง และรัฐบุรุษของติมอร์ ตลอดจนชาวติมอร์ฯ รู้จักและมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทยและประเทศไทยเรื่อยมา
ภาพถ่ายโดย พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
ภาพถ่ายโดย นายซัดดัม สะแต เจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภายหลังจากที่ติมอร์ฯ ได้รับเอกราช ประเทศไทยได้ต่อยอดความสัมพันธ์กับติมอร์ฯ เรื่อยมา โดยไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (development partner) ที่สำคัญของติมอร์ฯ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายการต่างประเทศของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเข้มแข็งของประเทศกำลังประเทศ หรือที่เรียกว่า Global South ในกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ (south-south cooperation) เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (development partner) ที่สำคัญของติมอร์ฯ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายการต่างประเทศของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยในส่วนของติมอร์ฯ ไทยได้ดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ด้วยการให้ทุนฝึกอบรม/ดูงาน ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำโครงการหมู่บ้านต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (Self-Sufficiency Village Model) และการส่งผู้เชี่ยวชาญไทยและอาสาสมัครไทยไปปฏิบัติหน้าที่ที่ติมอร์ฯ ทั้งในด้านการเกษตร สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษา
ภาพถ่ายโดย นายซัดดัม สะแต เจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งดำเนินการในโรงเรียน ๖ แห่ง พร้อมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและโครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านต้นแบบ ๓ แห่งอีกด้วย
ภาพถ่ายโดย นายซัดดัม สะแต เจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
ปัจจุบัน ไทยยังคงสานต่อความร่วมมือด้านการพัฒนาร่วมกับติมอร์ฯ โดยให้ความสำคัญต่อการบูรณาการและการตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจของติมอร์ฯ รวมถึงช่วยสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของติมอร์ฯ ในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ เพื่อปูทางสู่ความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ในอนาคต
โดยทุนการศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมบุคคลากรที่ไทยมอบให้ติมอร์ฯ ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของติมอร์ฯ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการพัฒนาสถาบันและธรรมาภิบาล รวมถึงการฝึกอบรมต่อยอดความต้องการเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาธารณสุขและ อาชีวศึกษา
นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีความสัมพันธ์ไทย-ติมอร์ฯ เมื่อปี ๒๕๖๕ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการให้ทุนการศึกษาจำนวน ๒๐ ทุนแก่ชาวติมอร์ฯ ในระยะเวลา ๕ ปี รวมถึงได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมต่อยอดความต้องการเฉพาะด้านของติมอร์ฯ ด้วย
ติมอร์ฯ ในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบกฎหมายในประเทศให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและมิตรประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติภายในปี ๒๕๗๓
บทบาทของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของติมอร์ฯ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ อีกทั้งจะช่วยให้ติมอร์ฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงเพื่อเตรียมการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียนในอนาคตที่จะสามารถมีบทบาทสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบทั้งในเวทีภูมิภาคและนานาชาติต่อไป
* ทีมงาน Blockdit กระทรวงการต่างประเทศได้รับความอนุเคราะห์บทความฉบับนี้จากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ให้เผยแพร่ผ่านช่องทาง Blockdit
โฆษณา