6 ก.ค. 2023 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Money 101 - เริ่มต้นนับหนึ่งสู่การเงินอุดมสุข

เป็นหนังสือที่อ่าน 2 วันจบ ไม่ใช่ว่าหนังสือเนื้อหาน้อย ด้วยความหนา 200 หน้า แต่เราอ่านได้ไม่มีเบื่อเลย พิมพ์สีทั้งเล่ม ความรู้ที่อยู่ในหนังสือต่างก็ใกล้ตัวพวกเราทั้งนั้น ทั้งการเก็บออม การใช้จ่าย การลงทุน และการหารายได้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ใครยิ่งเริ่มได้เร็วยิ่งได้เปรียบ
แต่สำหรับคนที่กำลังจะเข้าใกล้วัยเลข 3 อย่างเราๆ เริ่มที่ต้องสร้างครอบครัว เริ่มที่จะมีภาระเพิ่มมากขึ้น หรือที่ในยุคปัจจุบันเขาเรียกว่า Sandwich Generation คือต้องดูแลทั้งข้างบน (พ่อแม่) และข้างล่าง (ลูก) ทำให้คุณค่าของการบริหารด้านการเงินเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการใส่ใจและจริงจังมากยิ่งขึ้นไปอีก
ผมชอบแนวคิดเรื่องการเก็บออมในเล่มนี้มาก ค่อนข้างที่จะเข้ากับนิสัยการใช้เงินของเราได้เป็นอย่างดี 5555
1. เงินเข้าปุ๊ป หักออมปั๊ป - แน่นอนนิสัยการเห็นเงินเหลือเป็นไม่ได้ต้องใช้เนี่ยเป็นสิ่งที่น่าจะแก้ไม่ได้แล้วล่ะ 555 แต่ถ้าเราใช้หลักคิดการหักก่อนใช้ แน่นอนเราก็จะใช้น้อยลง ต่อให้ใช้จนหมดเกลี้ยงบัญชีก็ตาม โดยสัดส่วนที่หนังสือเล่มนี้แนะนำให้หักออมคือประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมด สมมติได้เงินเดือน 50,000 บาท หักออม 5,000 บาท ทุกเดือนๆ แค่ผ่านไปสองปีก็มีเงินแสนแล้วนะเออ
2. การหักภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 10% - เคยทำแล้วแทบจะต้องกินข้าวกับน้ำปลา 5555 แต่เป็นเรื่องที่ดีมากเลยนะ เพราะเดือนนั้นเราจะเห็นเงินในบัญชีออมทรัพย์เราโตขึ้นมากโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ช่วงแรกๆอาจจะลำบากสักหน่อย แต่พอเริ่มไปได้สัก 2-3 เดือน Mindset เราจะค่อยๆเปลี่ยนและกลายเป็นคนไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปเอง ได้ทบทวนการใช้เงินไปในตัวด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การหารายได้เสริมที่ผู้เขียนแนะนำและมีแนวคิดที่น่าสนใจ หลายคนมักจะชอบงานที่ทำแล้วได้เงินมาทันที เพราะเราสามารถเห็นเงินก้อนนั้นได้ทันทีช่วงสิ้นเดือน แต่เราจะไม่ “อดทน” ทำงานที่มันยังไม่ได้เงินแต่เป็นการสร้าง”ทรัพย์สิน” เช่น ช่อง youtube, การปลูกต้นไม้, การเขียนหนังสือ ฯลฯ แรกๆงานพวกนี้จะยังไม่ได้รับรายได้แบบเห็นทันตา คนก็มักจะล้มเลิกยอมแพ้กันไปซะก่อน
แน่นอนหลายคนคงเถียงว่า เมื่อไม่ได้เงินแล้วจะเอาอะไรกินระหว่างนั้นกันล่ะ ตอบได้ด้วยการวางแผนการเงินที่ดี อยากยกตัวอย่างของคุณเคน นครินทร์ ที่เคยเป็นเซลล์แมนขายยาได้เงินเดือนหลักแสน แต่ผันตัวมาเป็นนักเขียนได้เงินเดือนเดือนละ 15,000 ถามว่า เขาอยู่ได้ยังไง คำตอบคือการวางแผนและการเตรียมตัวทางการเงินที่ดี การเก็บออมและมีวินัยทางการเงินเพื่อเป็นตัวช่วยในการแบ่งเบาภาระในช่วงที่ “ทรัพย์สิน” ยังไม่สามารถทำรายได้ได้ คือกุญแจสำคัญในการสร้าง passive income
ในหนังสือยังกล่าวถึงหลักคิดในการสร้าง passive income แบบอื่นๆอีก ทั้งการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา การกู้เงินมาซื้ออสังหาฯปล่อยเช่า การสร้างธุรกิจ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมากถึงขั้น How to แต่ก็ยังคงแนะนำว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้าง passive income
สรุปสั้นๆของหนังสือเล่มนี้คือ การเงินที่ดีเริ่มได้ที่ตัวเรา ไม่สร้างหนี้จนเกินตัว ไม่สร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หักออมก่อนจะใช้ มีวินัยในการลงทุน หมั่นหาความรู้เรื่องการเงิน สร้างทรัพย์สินให้ได้มากกว่าหนี้สินและเมื่อถึงเวลานั้น “อิสรภาพทางการเงิน” ที่เขาเล่าๆกัน เราจะได้สัมผัสมันด้วยตัวของเราเอง
ปล. แต่ต้องไม่ลืมให้ความสุขกับตัวเองด้วย ถ้ามัวแต่หาเงิน เก็บเงิน จนความสัมพันธ์รอบตัวไม่ดี รวมไปถึงความสัมพันธ์กับตัวเองก็ไม่ดี ทุกสิ่งที่ทำมาอาจจะพังทลายลงได้อย่างไม่คาดคิด
โฆษณา