8 ก.ค. 2023 เวลา 12:00

อินโทรเวิร์ต VS โรคกลัวสังคม เราเป็นแบบไหนกันแน่?

มีใครกำลังเป็นแบบนี้ไหม? เป็นคนที่มีสังคมวงเล็กๆ และพยายามปกป้องการใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างสุดฤทธิ์ ไม่ค่อยแบ่งเวลาไปให้คนอื่น แถมยังต้องใช้เวลาพักหนึ่งกว่าจะรู้สึกสบายใจและเปิดใจให้กับคนใหม่ๆ รวมถึงเลี่ยงการพูดอะไรขึ้นมาจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องพูดจริงๆ
1
เวลาไปงานสังสรรค์หรือสถานที่ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเยอะๆ ก็จะรู้สึกประหม่าขึ้นมาในใจ บางครั้งคนอื่นก็บอกว่าเราเป็นคนเก็บตัว เป็นคนเงียบขรึม หรือเป็นคนขี้อาย ส่วนเราก็คงจะเรียกและอธิบายว่าตัวเองเป็น “อินโทรเวิร์ต” หรือ “คนเก็บตัว”
แต่บางครั้งมันอาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพราะเบื้องหลังความรู้สึกไม่แลเหลียวหรือไม่สนใจการเข้าสังคมมันอาจจะมีเหตุผลอะไรที่ซ่อนลึกลงไปในจิตใจก็ได้ อย่างเช่นเราอาจจะเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม..
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สงสัยว่า จริงๆ แล้วเราเป็นอินโทรเวิร์ตหรือเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมกันแน่ ก็ลองมาสำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กับบทความนี้ดู
“อินโทรเวิร์ต”
ถึงแม้ว่าอินโทรเวิร์ตกับโรคกลัวสังคมอาจดูค่อนข้างคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีอะไรหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่แตกต่างอย่างแรกเลย ก็คงจะต้องเป็นเรื่องนี้ – “อินโทรเวิร์ตหรือการเก็บตัวเป็นบุคลิกภาพ ไม่ใช่ภาวะทางสุขภาพจิต”
อินโทรเวิร์ตจะเป็นคนที่ต้องดึงพลังงานออกมาจากภายในเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ส่วนใหญ่เลยชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากกว่ากับคนอื่น ย้ำว่า “ชอบ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบปกติทั่วไปไม่ได้ และไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่ติดบ้านตลอดเวลาด้วย
ถ้าใครที่เป็นคนเก็บตัว ก็ “อาจ” มีลักษณะต่อไปนี้
[  ] มีทักษะการฟังที่ดี
[  ] ไม่ชอบการเผชิญหน้ากับคนอื่นๆ
[  ] ชอบแชร์ความรู้สึกและความคิดผ่านงานเขียนหรืองานศิลปะ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า อินโทรเวิร์ตเป็นบุคลิกภาพ ซึ่งก็หมายความว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา ดังนั้นคนที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ก็เลยมองว่า การที่ตัวเองเป็นแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตและไม่ได้รู้สึกแย่กับการที่ตัวเองเป็นแบบนี้
“โรคกลัวสังคม”
โดยทั่วไปแล้วโรคกลัวสังคมหมายความว่า เรามีอาการประหม่าและหวาดกลัวเป็นอย่างมากเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเจอผู้คนหรือเมื่อนึกถึงสถานการณ์เหล่านั้น ซึ่งความกลัวนี้มักเกิดจากการที่เรามีความคิดว่าคนอื่นจะปฏิเสธหรือตัดสินเราในแง่ลบ
นั่นหมายความว่า ในขณะที่อินโทรเวิร์ตไม่เข้าสังคมเพราะชอบอยู่อย่างสันโดษ แต่คนที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมนั้นในใจลึกแล้วก็อยากเข้าสังคม แต่รู้สึกประหม่าหรือหวาดกลัวก็เลยเลือกที่จะไม่เข้าสังคมเสียดีกว่า
ถ้าใครที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม ก็ “อาจ” มีลักษณะต่อไปนี้
[  ] มักจะรู้สึกกังวลเมื่อต้องทำอะไรน่าอายหน่อยๆ ในที่สาธารณะ
[  ] หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่ไม่ได้รู้จักดีขนาดนั้น
[  ] รู้สึกเหงาเพราะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในแบบที่ตัวเองต้องการได้
ทีนี้เรามาดูกันว่าความต่างขั้วระหว่าง “อินโทรเวิร์ต” กับ “โรคกลัวสังคม” มีอะไรบ้าง
1) คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตบางครั้งไม่อยากเข้าสังคมเพราะ “ต้องใช้พลังงานเยอะ” แต่กับคนที่เป็นโรคกลัวสังคม ไม่อยากเข้าสังคมเพราะ “กลัวการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ”
2) อินโทรเวิร์ตเป็นบุคลิกภาพที่ “ติดตัวมาตั้งแต่เกิด” แต่โรคกลัวสังคม “ถูกหล่อหลอม” ขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว
3) อินโทรเวิร์ตรู้สึกว่าเราเป็นคนที่ “ควบคุมชีวิตของตัวเอง” แต่คนที่เป็นโรคกลัวสังคมจะรู้สึก “ไม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้” เพราะความกลัวของตัวเอง
4) สำหรับอินโทรเวิร์ตแล้วการอยู่คนเดียวช่วย “ชาร์จพลัง” ให้ตัวเองกลับมาเป็นปกติได้ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวสังคม การอยู่คนเดียวจะทำให้ “เบาใจแค่ชั่วครู่ชั่วคราว”
5) อินโทรเวิร์ต “ไม่กังวล” ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร แต่คนที่เป็นโรคกลัวสังคมจะ “กลัวการตัดสิน” จากคนอื่น
6) อินโทรเวิร์ตสามารถ “เอนจอย” กับกิจกรรมทางสังคมได้ แต่คนที่เป็นโรคกลัวสังคมจะรู้สึก “อับอาย” เวลาทำกิจกรรมทางสังคม
7) อินโทรเวิร์ต “ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องสมบูรณ์แบบ” แต่คนที่เป็นโรคกลัวสังคม “ชอบวิจารณ์ตัวเองในแง่ลบ”
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าทุกคนมีโอกาสเป็นโรคกลัวสังคมได้ โดยในฝั่งของอินโทรเวิร์ตมีงานวิจัยที่ชื่อว่า “Higher-and lower-order personality traits and cluster subtypes in social anxiety disorder” ได้ชี้ให้เห็นว่า โรคกลัวการเข้าสังคมอาจพบได้บ่อยในคนที่เป็นอินโทรเวิร์ต
ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าเอ็กซ์โทรเวิร์ตจะสนุกกับการเข้าสังคม แต่ก็มีโอกาสประสบกับการกลัวการเข้าสังคมได้เช่นกัน โดยเมื่อเผชิญกับความวิตกกังวลก็จะมีอาการทางร่างกายและอารมณ์บางอย่างเหมือนกับอินโทรเวิร์ต เช่น ตัวสั่น เหงื่อออก และหัวใจเต้นเร็ว
แต่ก็จะมีดีเทลหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกัน เช่น อินโทรเวิร์ตที่กลัวการเข้าสังคมจะรู้สึกกดดันที่ต้องสร้างความบันเทิงให้กับคนอื่น แต่ถ้าให้เลี่ยงการเข้าสังคมไปเลยก็จะทำให้รู้สึกทุกข์ใจไม่แพ้กัน พูดง่ายๆ คือมีความผสมปนเประหว่างความต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับความวิตกกังวล
วิธีก้าวข้ามความกังวลเมื่อต้องเข้าสังคม
หากใครรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรคนี้คือ “หาเวลาไปพูดคุยกับนักจิตบำบัด” เพราะอาการกลัวการเข้าสังคมมันไม่ใช่แค่ความเขินอายทั่วๆ ไป แต่มันเป็นเรื่องของภาวะทางสุขภาพจิต ซึ่งในบางครั้งเราก็ไม่สามารถแก้ไขอาการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นใครที่มีอาการดังกล่าว จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดก็คือการไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
แต่สำหรับคนที่อยากลองเริ่มดูแลจิตใจของตัวเองเบื้องต้น ก็สามารถทำได้หลายวิธีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น..
[  ] สำรวจดูว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความวิตกกังวล เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขต่อไป
[  ] เมื่อเริ่มรู้สึกกังวลมากๆ ให้ลองท้าทายความคิดลบของตัวเอง ด้วยการหันมาหามุมดีๆ ของเรื่องที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่อง Spotlight Effect คือการที่คนเรามักจะคิดไปเองว่าทุกคนจะต้องให้ความสนใจกับการกระทำหรือความคิดของเราตลอดเวลา เพื่อคลายความกังวลลง
[  ] เริ่มลองลงมือทำอะไรเล็กๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกกังวลในการเข้าสังคมน้อยลง เช่น พูดชมการแต่งตัวของเพื่อนหรือจัดงานเล็กๆ ที่เชิญมาเฉพาะคนสนิท
“อินโทรเวิร์ต” กับ “โรคกลัวสังคม” ถึงแม้ว่าจะดูคล้ายๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างกันพอสมควร หากใครลองสังเกตตัวเองแล้วพบว่า เราไม่ได้มีความสุขกับการอยู่คนเดียวและรู้สึกว่าการเข้าสังคมเป็นเรื่องยากสำหรับตัวเอง ก็ต้องบอกว่าอย่างน้อยในวันนี้เราก็ได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น ต่อไปเราก็แค่ต้องดูแลตัวเองให้ถูกวิธีเพื่อที่จะได้ก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านี้ไปได้
อ้างอิง 
- Introvert, Shyness, and Social Anxiety: What’s the Difference? : Mind My Peelings - https://bit.ly/42NCqKk
- Yes, Introversion and Social Anxiety Are Two Different Things : Crystal Raypole, Healthline -  https://bit.ly/449j57q
- Can Extroverts Have Social Anxiety? Signs And How To Cope : Olivia Guy Evans, SimplyPsychology - https://bit.ly/3qQT91T
- Ready to Overcome Social Anxiety? These 9 Tips Can Help : Crystal Raypole, Healthline - https://bit.ly/3PqtIhX
#psychology
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา