Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GEO-HIS | ภูมิประวัติศาสตร์
•
ติดตาม
31 พ.ค. เวลา 14:00 • ประวัติศาสตร์
ปาฏิหาริย์อุตสาหกรรมโซเวียต สู่แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (ฉบับที่ 1 ค.ศ. 1928 - 1932) ดำเนินโดยโจเซฟ สตาลิน ที่วางแผนจากส่วนกลาง เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะสั้น จากประเทศเกษตรกรรมที่ล้าหลัง สู่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
เหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติ ผลผลิตทางอุตสาหกรรมตกต่ำ และความหวาดกลัวต่อชาติมหาอำนาจรอบข้าง
ในแผนครอบคลุมตั้งแต่ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสวัสดิการสังคม
ภาคการเกษตรดำเนินนโยบายนารวม คือ รัฐกำหนดโควตาการส่งผลผลิตของชาวนาแก่รัฐ แล้วรัฐนำผลผลิตเหล่านั้นมาแจกจ่ายเอง
ในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลได้โอนกิจการโรงงานของนายทุนเดิมมาเป็นของรัฐ มีการสร้างโรงงานเพิ่มขึ้น และจัดฝึกอบรมแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่ ให้เป็นแรงงานที่มีศักยภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อุตสาหกรรมเหมืองเหล็ก ที่เมืองมักนีโตกอสค์ (Magnitogorsk) ในปี 1930 (ภาพของ Dmitrii Debabov)
มีการกำหนดมาตราการที่รุนแรงในการฝึกแรงงานที่ขาดระเบียบวินัย เช่น การลงโทษให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น การยึดที่พักอาศัย เป็นต้น และยังมีการปราบปรามผู้ที่ประท้วงนโยบายอย่างรุนแรงอีกด้วย
ความสำเร็จของแผน 5 ปี ฉบับที่ 1 ถือเป็นพื้นฐานในการทำให้สหภาพโซเวียตก้าวเข้าสู่การเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตามด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับต่อ ๆ มา
ในแผน 5 ปี ฉบับที่ 2 (1932 - 1937) ถือว่าเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อทางรถไฟสายทรานไซบีเรียสร้างเสร็จ จึงเกิดการกระจายอุตสาหกรรมไปทางตะวันออก และนำทรัพยากรจากไซบีเรียมาใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ปี 1928 ถึงปี 1940 ผลผลิตทางอุตสาหกรรมโซเวียตเพิ่มสูงขึ้นมาก โซเวียตสามารถผลิตอุตสาหกรรมหนักในปริมาณมากเทียบเท่าชาติตะวันตกได้ จนเป็นที่น่าจับตามองในเวลาต่อมา
ความสำเร็จนี้เองทำให้โซเวียตผลิตอาวุธมาต่อกรกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากตั้งตัวได้จากการบุกอย่างสายฟ้าแลบ และปูทางไปสู่ความเป็นชาติคู่แข่งกับสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็น
แผน 5 ปี ทำให้สหภาพโซเวียตเติบโตทางอุตสาหกรรมได้อย่างยิ่งใหญ่ภายใน 10 ปี จนเรียกได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจรัสเซีย (Russia Economic Miracle)
การเติบโตทางอุตสาหกรรมโซเวียตจากแผน 5 ปี ฉบับที่ 2
อย่างไรก็ตาม การผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการวางแผนจากส่วนกลางมาโดยตลอด นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในปลายทศวรรษที่ 1970 - 1980 เช่น คุณภาพสินค้าแย่ เทคโนโลยีล้าหลัง เศรษฐกิจตกต่ำ
ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ปัญหาเศรษฐกิจโลกและสงครามต่าง ๆ นำไปสู่การผ่อนปรนความเข้มงวดและเปิดประเทศในปลายทศวรรษที่ 1980 ในเวลาต่อมาสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลง
รวมโซเวียตมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสิ้น 11 ฉบับ ตั้งแต่ปี 1928 - 1990
เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจเช่นนี้ต้องวางแผนและดำเนินงานจากส่วนกลาง จึงต้องใช้อำนาจมากในการดำเนินงาน
นอกจากจะใช้ในประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่แล้ว ยังนำมาปรับใช้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ปกครองหรือเคยปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ หรือเป็นประเทศที่พึ่งได้รับเอกราช
ตัวอย่างประเทศคอมมิวนิสต์ที่เคยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้น คือ ประเทศในยุโรปตะวันออกและแอฟริกาบางส่วน ส่วนประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยังจัดทำแผนอยู่ ได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม และลาว
ความสำเร็จในช่วงแรกของโซเวียต ทำให้ธนาคารโลกศึกษาวิธีการนี้ และนำมาแนะนำแก่ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศในยุคสงครามเย็น
ประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เคยมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ภูฏาน เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนประเทศที่ยังจัดทำแผนอยู่ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อวางรากฐานทางเศรษฐกิจไทย ภายใต้การแนะนำของธนาคารโลกและสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1961 (พ.ศ. 2504) เป็นต้นมา
สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ (Keynesian Economics) ที่สนับสนุนให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากกว่าแนวคิดเดิมที่สนับสนุนตลาดเสรีที่รัฐมีบทบาทน้อยที่สุด
เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็ให้รัฐเข้าแทรก โดยการจูงใจการลงทุนด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย และรัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเช่น การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1
รูปแบบการดำเนินงานของแผนพัฒนาเศษฐกิจแห่งชาติของไทยจึงแตกต่างจากแผนของโซเวียต โดยใช้การจูงใจทางเศรษฐกิจแทนการบังคับ
ตัวอย่างเช่น การยกเว้นภาษีให้แก่กิจการอุตสาหกรรม การตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าที่ไทยมีความสามารถในการผลิตได้ ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักจากต่างชาติ
รถยนต์ TOYOTA CORONA เป็นรถยนต์รุ่นแรก ๆ ที่ประกอบในไทย และใช้ชิ้นส่วนจำนวนมากที่ผลิตในไทย ตั้งแต่ปี 1965 (พ.ศ. 2508) (ภาพจาก Toyota Motor Corporation, Japan)
นอกจากนี้ยังลงทุนในสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน รถไฟ เขื่อน เกิดวลีที่ว่า น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก
ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตกรค่อนข้างถูกละเลย ปล่อยให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ไม่เสมอภาค กล่าวคือการกำหนดให้ราคาสินค้าเกษตรถูก ทำให้ซื้อสินค้าเกษตรในราคาต่ำ แต่ขายสินค้าอุตสาหกรรมในราคาสูง
ด้านศึกษามีการขยายการศึกษาไปในหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และส่งเสริมอาชีวศึกษา
โดยภาพรวมแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติประสบความสำเร็จพอสมควร โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวของประชากร อุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค
จนเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผน 5 ปี) ฉบับต่อ ๆ มา จนถึงปัจจุบันรวม 13 ฉบับ
อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีขึ้น ปัญหาการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ติดกัปดักรายได้ปานกลาง ไม่พัฒนาสู่ประเทศรายได้สูง ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อ้างอิง :
เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (2566). การทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ: จากวิธีการคอมมิวนิสต์สู่หลักการสำคัญในปัจจุบัน. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
จาก
https://khemmapat.org/article/political-economy/2845/
ศุภสินีนิษฐ์ ทองรุจิโรจน์. (2555). การศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (ฉบับที่ 1 ค.ศ. 1928-1932) ในสมัย โจเซฟ สตาลิน ผลกระทบทางด้านสังคม และวัฒนธรรมในสมัยสหภาพโซเวียต. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
จาก
https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:185965
ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ไทย
russia
บันทึก
10
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย