Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
จากตำนาน สู่มหกรรมครั้งประวัติศาสตร์ “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย”
ชีวิตในแต่ละวันของแต่ละคน แน่นอนว่า ต้องเจอกับอะไรต่าง ๆ มากมาย หลากหลายด้วยขนาดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการผ่อนคลายจึงเป็นทางออกที่ดีในการทำให้ชีวิตไม่เคร่งเครียดมากจนเกินไป โดยการผ่อนคลายของคนเรามีอยู่มากมายหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับ เล่นเกม เม้าธ์มอยกับคนรู้ใจที่เป็นได้ทั้งเพื่อนและแฟน หรือไม่ก็ฟังเพลง
เมื่อกล่าวถึงเพลงแล้ว ย่อมมีแนวเพลงที่แตกต่างกันไปตามความชื่นชอบของแต่ละคน เฉกเช่นเดียวกับ “เพลงลูกทุ่ง” ที่เป็นแนวเพลงหนึ่งซึ่งอยู่คู่กับสังคมและเป็นที่คุ้นหูคนไทยมาอย่างยาวนาน
สมัยก่อน เพลงลูกทุ่งยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่มีการแบ่งแยกที่ชัดเจนว่า เพลงไหนหรือเพลงอะไรที่เป็นลูกทุ่ง เนื่องจากเพลงไทยล้วนมีพัฒนาการมาจากเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้านที่มีทำนองการขับร้องแบบเอื้อนเอย ใช้เครื่องดนตรีไทยทั้งบรรเลงและประกอบเป็นจังหวะ ภายหลังเมื่อมีการไหล่บ่าทางวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา จึงได้มีการนำทั้งดนตรีไทยและสากลมาผสมผสานกัน กลายมาเป็นเพลงไทยสากลที่ฟังง่าย ร้องง่าย จำได้ง่าย และมักเรียกลักษณะจากแนวการร้องของนักร้องแต่ละคนมากกว่า เช่น แนวรำวง แนวเพื่อชีวิต
นอกจากนี้ นักประพันธ์เพลงรุ่นเก่า ๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลง เพราะถือว่าดนตรีเป็นภาษาสากลและต่างเป็นเพลงไทยสากลด้วยกันทั้งนั้น แต่ต่อมาได้มามีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน เมื่อราวปี พ.ศ. 2498 โดย ป.วรานนท์ นักจัดรายการวิทยุ เรียกนักร้องประเภทเพลงชีวิตที่ชาวบ้านฟังกันทั่วไปว่า “นักร้องตลาด” ส่วนอีกแนวหนึ่งที่เป็นเพลงประเภทการแต่งอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า “เพลงผู้ดี” ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกว่าเพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุง ตามลำดับ
ป.วรานนท์ (ภาพ: แม่ไม้เพลงไทย)
สง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2531 กล่าวว่า เพลงลูกทุ่ง เป็นเพลงที่มีเนื้อหาง่าย ๆ มีความเป็นพื้นบ้าน เล่าอย่างตรงไปตรงมา บรรยายถึงเรื่องราวของชีวิต ความงดงามของป่าเขา เรื่องตลกขบขัน หรือบางทีก็เสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยบ้าง มีทำนองที่มีพื้นฐานมาจากเพลงพื้นบ้านอย่างเพลงแหล่ เพลงฉ่อยหรือเพลงเรือ เครื่องดนตรีประกอบก็เป็นชนิดที่พอหาได้ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งเครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตีและเครื่องเป่า
สง่า อารัมภีร (ภาพ: saisampan.net)
ครูใหญ่ นภายน หรือจ่าสิบเอก สมาน นภายน กล่าวว่า เพลงที่คาดว่าน่าจะเป็นแนวเพลงลูกทุ่งแรก ๆ ได้แก่ เพลง สาวชาวไร่ (บ้างก็ว่า โอ้...เจ้าสาวชาวไร่) ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ ผลงานการประพันธ์ของเหม เวชกร ใช้ร้องประกอบการแสดงละครวิทยุเรื่อง สาวชาวไร่ ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ
ครูใหญ่ นภายน หรือจ่าสิบเอก สมาน นภายน (ภาพ: MGR Online)
ส่วนพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง-เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2534 เห็นว่า เพลง ขวัญของเรียม ผลงานการประพันธ์ของพรานบูรพ์ ที่ใช้ในการประกอบภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า น่าจะเป็นต้นแบบของเพลงลูกทุ่ง เพราะการร้องมีใช้ลูกเอื้อน ลูกขัดและมีเนื้อหาแบบเพลงลูกทุ่ง
พยงค์ มุกดา (ภาพ: RATE YOUR MUSIC)
สำหรับคำว่า “ลูกทุ่ง” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่อง ลูกทุ่ง แล้วมีเพลงประกอบภาพยนตร์ซึ่งประพันธ์ทำนองโดย หม่อมหลวงพวงร้อย อภัยวงศ์ และพระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ชื่อเพลง ต้อนกระบือ
หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ประจำวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายน พ.ศ. 2482 พาดหัวข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง ลูกทุ่ง (ภาพ: ไทยบันเทิง)
แต่คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อจำนง รังสิกุล ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ได้ริเริ่มรายการที่มีชื่อว่า “เพลงลูกทุ่ง” ขึ้น มีประกอบ ไชยพิพัฒน์ เป็นผู้จัดรายการ ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2507 จนได้รับความนิยมและแทรกซึมไปตามวงดนตรีต่าง ๆ เริ่มเรียกวงของตนเองว่า “วงดนตรีลูกทุ่ง” และนักร้องนิยมเรียกตัวเองว่า “นักร้องเพลงลูกทุ่ง”
ประกอบกับเมื่อภาพยนตร์ต่างประเทศชื่อ “Your Cheating Heart” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของแฮงก์ วิลเลียมส์ (Hank Williams) นักร้องแนวชนบท (Country music) ชาวอเมริกันได้ออกฉายในประเทศไทย ทำให้เป็นคำที่ฮิตและติดหูของคนไทย สามารถเข้าใจถึงความหมายของเพลงลูกทุ่งได้
โปสเตอร์ ภาพยนตร์เรื่อง Your Cheating Heart เมื่อปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507, ภาพ: IMDb)
หลังจากนั้น ก็ได้มีครูเพลงและนักร้องในแนวเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นไพบูลย์ บุตรขัน ผู้ประพันธ์เพลง ค่าน้ำนม ที่มีเนื้อหากล่าวถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก หรือจะเป็นเพลง กลิ่นโคนสาปควาย ที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงวิถีชีวิตชาวไร่ชาวนาอันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งทั้งสองบทเพลงขับร้องโดย ชาญ เย็นแข
หน้าปกอัลบั้มเพลง ค่าน้ำนม ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข (ภาพ: มติชนออนไลน์)
หรือจะเป็นเพลงที่มีทำนองเรียบ ๆ ลื่นหู มีเนื้อหาเกี่ยวกับครูผู้เปรียบดังเรือจ้างอย่างเพลง แม่พิมพ์ของชาติ ที่ประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองโดย สุเทพ โชคสกุล มีวงจันทร์ ไพโรจน์ เป็นผู้ขับร้อง
หน้าปกคาสเซ็ทเทป อัลบั้มเพลง แม่พิมพ์ของชาติ ขับร้องโดย วงจันทร์ ไพโรจน์ (ภาพ: Shopee zcherlockholmes80s)
นับแต่นั้น เพลงลูกทุ่งก็ได้มีการพัฒนาตัวเองเรื่อยมาจนเกิดเป็นยุคต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงบทบาทสำคัญในการยืนหยัดให้เพลงลูกทุ่งได้อยู่เคียงข้างสังคมไทยต่อ ๆ ไป
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ การที่ครูเพลงและนักร้องลูกทุ่งส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดและภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “แหล่งปราชญ์ศิลปิน”
สืบเนื่องจากการที่ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต-ลาว ได้ถูกแผ่อำนาจลงมาทางลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง ตามเส้นทางการค้าจากโยนกเชียงแสน ล้านนาลงไปทางทิศใต้ กับล้านช้าง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ อีกเส้นทางหนึ่ง เมื่อประมาณพันปีก่อน ทำให้ในพื้นที่ของสุพรรณภูมิเต็มไปด้วยผู้คนจากเชื้อชาติต่าง ๆ แล้วยังเป็นต้นตอของสำเนียงเหน่อที่ชาวสุพรรณบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง เช่น นครปฐม ราชบุรี สิงห์บุรี ใช้สื่อสารกัน
รวมถึงได้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมการขับลำคำคล้องจอง อย่างเดียวกับโยนกเชียงแสน ล้านนา ล้านช้าง และหลวงพระบางเข้ามาในสุพรรณภูมิอีกด้วย เป็นต้นแบบให้คนลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลองมีการละเล่นร้องรำทำเพลงเป็น “กลอนหัวเดียว” ไว้ใช้ร้องโต้ตอบแก้กันของชายหญิง คละเคล้ากันกับภาษาและวัฒนธรรมของเขมรที่หลงเหลืออยู่ในอยุธยา
ปัจจุบันการละเล่นร้องรำทำเพลงก็ได้พัฒนากลายมาเป็นเพลงพื้นบ้านที่สำคัญ เช่น ขับเสภา เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงเรือ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นทำนองเพลงที่ให้ความสำคัญกับเสียงโหยหวน เอื้อนเอย และการใช้ลูกคอ แล้วจากเพลงพื้นบ้านทั้งหลายเหล่านั้น ก็ได้กลายมาเป็นรากฐานให้กับเพลงลูกทุ่งของไทยในเวลาต่อมา ทั้งในเรื่องของเนื้อร้อง ทำนอง การขับร้อง และการบรรเลงดนตรี
จนมาถึงราวปี พ.ศ. 2528 2529 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านดนตรี ทำให้กระแสตลาดเพลงได้เทหน้าตักไปให้กับเพลงแนวสตริงมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ เพลงลูกทุ่งเริ่มลดความนิยมลงจนถึงขั้นซบเซา
เป็นเหตุให้ในปี พ.ศ. 2532 นายกร ทัพพะรังสี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีความคิดที่จะรื้อฟื้นความเป็นลูกทุ่งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับนักร้องผู้มีผลงานเพลงที่โดดเด่นและได้รับความนิยม ตลอดจนผู้ประพันธ์ทำนองและคำร้อง
กร ทัพพะรังสี (ภาพ: CRI Online)
โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ภายหลังได้รับการจัดตั้งเป็น “กระทรวงวัฒนธรรม” ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545) นำโดย นายเอกวิทย์ ณ ถลาง เลขาธิการในขณะนั้น ทำการคัดเลือกบทเพลงต่าง ๆ ไว้หลายสิบเพลง แล้วขึ้นทะเบียนเป็น “ทำเนียบเพลงลูกทุ่งดีเด่น” มีการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา
ภาพวาดนายเอกวิทย์ ณ ถลาง (ภาพ: เฟซบุ๊ก แฟนเพจ พิพิธภัณฑ์นักอ่าน นักเขียน นักแปล)
พร้อมกับให้มีการจัดมหกรรมเพลงลูกทุ่งครั้งประวัติศาสตร์ขึ้น ภายใต้งานที่มีชื่อว่า “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย” โดยก่อนหน้านั้น วันที่ 12 กันยายน 2532 เหล่าบรรดาศิลปินเพลงลูกทุ่ง ประกอบด้วย นักร้อง ผู้ประพันธ์ทำนองและคำร้องได้เข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ 16 กันยายน 2532 มหกรรมเพลงลูกทุ่งครั้งประวัติศาสตร์ “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย” ก็ได้เปิดม่านการแสดงขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) หรือ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
และในโอกาสเดียวกันนั้น ทางคณะผู้จัดงานได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรด้วย หากแต่ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับก่อนที่การแสดงจะจบลง ภายหลังได้มีการเปิดเผยถึงเรื่องราวนี้ โดยเจนภพ จบกระบวนวรรณว่า แม้จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปก่อน แต่พระองค์ก็ได้ทอดพระเนตรการถ่ายทอดสดจนจบรายการ
ในมหกรรมครั้งนั้นได้มีการแบ่งลำดับการแสดงออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ตามวิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่งไทย ประกอบด้วย ยุคต้นเพลงลูกทุ่ง ยุคทองเพลงลูกทุ่ง ยุคภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง และยุคเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ รวมถึงได้มีการรวบรวมเอานักร้องแถวหน้าทั่วฟ้าเมืองไทยมาร่วมถ่ายทอดผลงานอย่างคับคั่ง ทั้งที่เป็นต้นฉบับและตัวแทนเสียงร้อง ได้แก่
ชัยชนะ บุญนะโชติ, ศรีบาง วรนาศรี, ทูล ทองใจ, ปอง ปรีดา, ชินกร ไกรลาศ, ชาย เมืองสิงห์,
สุรชัย สมบัติเจริญ, ผ่องศรี วรนุช, ยอดรัก สลักใจ, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เพลิน พรหมแดน, นพพร เมืองสุพรรณ,
ไพรวัลย์ ลูกเพชร, เรียม ดาราน้อย, สมัย อ่อนวงศ์, บุปผา สายชล, ละอองดาว-สะกาวเดือน โสธรบุญ, พนม นพพร, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, กังวาลไพร ลูกเพชร, รุ่งเพชร แหลมสิงห์, เสรี รุ่งสว่าง, ยุพิณ แพรทอง, เอกกวี ศรีชล,
อรอุมา สิงห์ศิริ, สันติ ดวงสว่าง, ศรเพชร ศรสุพรรณ, ศรชัย เมฆวิเชียร, อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์, คัมภีร์ แสงทอง, ศิรินทรา นิยากร, รักชาติ ศิริชัย, สุนารี ราชสีมา และปิดท้ายการแสดงครั้งนั้นด้วย “ราชินีลูกทุ่ง” คนสำคัญ อย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ รวมทั้งสิ้น 35 ท่าน จาก 51 บทเพลง
แล้วในโอกาสนี้ ยังได้รับเกียรติเป็นพิเศษจากบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่มีชื่นชอบและเกี่ยวข้องกับเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ พรทิพา บูรณะกิจบำรุง ร้องให้เสียงอินโทรดักชั่น (Introduction) ในเพลง ล่องใต้ ร่วมกับชัยชนะ บุญนะโชติ กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขับร้องเพลง สาวทุ่งในกรุงเทพ ต้นฉบับเป็นของพนม นพพร
กานท์ การุณวงศ์ นักแต่งเพลงรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ขับร้องเพลง บ่เป็นหยังดอก ร่วมกับสมัย อ่อนวงศ์
และศันสนีย์ นาคพงศ์ ผู้ประกาศข่าวมากความสามารถจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ขับร้องเพลง สาวผักไห่ ร่วมกับเอกกวี ศรีชล
นอกจากนักร้องคุณภาพระดับตำนานที่ได้ขับขานบทเพลงอย่างไพเราะเพราะพริ้งแล้ว ยังมีนักดนตรีรับเชิญจำนวนหนึ่งมาช่วยสร้างสีสันในบทเพลงต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ สมชาย เพี้ยวสำอาง (ฟลูต) , พันโท วิชิต โห้ไทย (แซกโซโฟน), ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ขลุ่ย), จิรศักดิ์ ปานพุ่ม (กีตาร์), สุทิน ลัทธิ (ทรัมเป็ต),
ทองจันทร์ ศรชัย (แคน) , สุทิน ดวงเดือน (ไวโอลิน), มืด ไข่มุก (เพอร์คัสชั่น), ชาญชัย บัวบังศร (แอคคอร์เดียน) และควบคุมการบรรเลงดนตรี โดยประยงค์ ชื่นเย็น นักเรียบเรียงเสียงประสานระดับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน
รวมถึงผู้ดำเนินรายการในแต่ละช่วง ประกอบด้วย พยงค์ มุกดา กับประจวบ จำปาทอง ในช่วงยุคต้นเพลงลูกทุ่ง, วาณิช จรุงกิจอนันต์ ในช่วงยุคทองเพลงลูกทุ่ง, วิทวัส สุนทรวิเนตร กับมยุรา ธนะบุตร ในช่วงภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง และเจนภพ จบกระบวนวรรณ ในช่วงเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่
แม้จะใช้เวลาทำการแสดงไปหลายชั่วโมงด้วยกันก็ตาม แต่ก็สามารถสร้างความประทับให้กับผู้ชมในหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และที่ติดตามผ่านการถ่ายทอดสดโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นครั้งหนึ่งที่เพลงลูกทุ่ง เพลงที่มีทำนองราบเรียบ ไม่มีคำสวยหรูใด ๆ จะได้มีโอกาสมาประกาศถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามถึงเพียงนี้ได้
ภายหลังการแสดง กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2532 (ภาพ: มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ)
แล้วจากการที่มีงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยเกิดขึ้น เสมือนหนึ่งเป็นพื้นที่ให้นักร้องได้ฝากอะไรบางอย่างไว้ให้กับสังคม นอกจากกลิ่นอายของความเป็นเพลงลูกทุ่ง อย่างการที่แฟนเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งคนสำคัญที่ยังมีความชื่นชอบและคิดถึงสุรพลเสมอมาแม้จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ต่างก็ได้พากันมาคล้องมาลัยน้ำใจให้แก่สุรชัย สมบัติเจริญ ผู้ถ่ายทอดบทเพลงแทนผู้เป็นพ่ออย่างท่วมท้น จนมาลัยน้ำใจเหล่านั้นล้นเหนือศีรษะของสุรชัย ทำเอาเจ้าตัวเองถึงกับบอกเองว่าไม่ไหว นั่นคือเหตุการณ์หนึ่ง
ภาพหน้าหนังสือพิมพ์ รายงานข่าวเกี่ยวกับบรรยากาศงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2532 (ซ้าย) มาลัยน้ำใจล้นศีรษะของสุรชัย สมบัติเจริญ ขณะกำลังถ่ายทอดบทเพลงแทนผู้เป็นพ่ออย่างสุรพล สมบัติเจริญ (ขวา) กร ทัพพะรังสี แม้จะเป็นรัฐมนตรีแต่ก็มีใจรักในเสียงเพลงลูงทุ่ง ขณะกำลังขับร้องเพลง สาวทุ่งในกรุงเทพ (ภาพ: Pantip)
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการที่สุรชัย สมบัติเจริญ ได้กล่าวขอบคุณบรรดาแฟน ๆ ทั้งหลายที่ยังคงชื่นชอบในผลงานเพลงของพ่อ พร้อมกับได้ประกาศอย่างกร้าวว่า “ผมไม่เคยขายเพลงพ่อผมให้กับใคร” สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในบทเพลงทั้งหมดของสุรพล สมบัติเจริญ
นำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เพลง ลานเทสะเทือน ก็เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ได้รับการคัดเลือก แต่กลับไร้วี่แววของสายัณห์ สัญญา ต้นฉบับของเพลงดังกล่าว คงมีแต่สันติ ดวงสว่าง เป็นผู้ขับร้องแทน รวมถึงวันรับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ สายัณห์ สัญญาก็ม่ได้มารับด้วย
บางส่วนของข่าวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ในบทเพลงทั้งหมดของสุรพล สมบัติเจริญ จนนำมาสู่วลีที่ว่า "ผมไม่เคยขายเพลงพ่อผมให้กับใคร" ที่สุรชัย สมบัติเจริญ ประกาศอย่างแข็งกร้าวไว้ในระหว่างการแสดง กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2532 (ภาพ: Pantip)
หรือแม้แต่ขณะที่ละอองดาว-สะกาวเดือน โสธรบุญ กำลังขับร้องเพลง เด็กท้องนา ใกล้จะจบแล้วก็ได้ปรากฏฝาแฝดอีกคู่หนึ่งมาคล้องมาลัยให้กับนักร้องลูกทุ่งฝาแฝดคู่แรกและคู่เดียวของเมืองไทย ซึ่งก็คือ เอกพันธ์และบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ นั่นเอง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม งานมหกรรมครั้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ จึงได้มีการต่อยอดด้วยการจัดงานดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ขึ้น ในวันที่ 7 กรกฏาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมกับได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรด้วย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ครั้งนั้น ได้มีการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ส้มตำ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาขับร้องเปิดการแสดงโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ พร้อมกับได้มีการรวบรวมเอานักร้องระดับคุณภาพมาร่วมถ่ายทอดผลงานเพลง ทั้งที่เป็นต้นฉบับและตัวแทนเสียงร้อง ได้แก่
แผ่นเสียงเพลง ส้มตำ ซึ่งได้อัญเชิญมาขับร้องประกอบภาพยนตร์เรื่อง ส้มตำ โดย บุปผา สายชล (ภาพ: TNews)
ชินกร ไกรลาศ, ขวัญจิต ศรีประจันต์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, ดาว บ้านดอน, เพชร พนมรุ้ง, แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์, กาเหว่า เสียงทอง, ศรเทพ ศรทอง, จินตหรา พูนลาภ, ชัยชนะ บุญนะโชติ, ยอดรัก สลักใจ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ศักดิ์สยาม เพชรชมภู, ชาย เมืองสิงห์, สาลิกา กิ่งทอง, ศักดิ์ศรี ศรีอักษร, พิมพา พรศิริ, ศรีสอางค์ ตรีเนตร, เพลิน พรหมแดน, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, สุวารี เอี่ยมไอ,
ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว-สะกาวเดือน โสธรบุญ, ผ่องศรี วรนุช, เสรี รุ่งสว่าง, กังวาลไพร ลูกเพชร, โรม ศรีธรรมราช, สุนารี ราชสีมา, ชายธง ทรงพล และศิรินทรา นิยากร รวมทั้งสิ้น 32 ท่าน จาก 35 บทเพลง
แล้วในโอกาสนี้ ยังได้รับเกียรติเป็นพิเศษจากต้นฉบับเพลงลูกทุ่งบางท่าน แม้สุขภาพจะไม่อำนวยแต่ก็ยังมีความอุตสาหะมาปรากฏตัวให้ผู้ชมได้เห็นหน้าค่าตากัน ประกอบด้วย พจน์ พนาวัน ต้นฉบับของเพลง ยิ้มแป้น ซึ่งขับร้องแทนโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ และนิยม มารยาท ต้นฉบับของเพลง บ้านนาสัญญารัก ซึ่งขับร้องแทนโดย ยอดรัก สลักใจ
นอกจากนั้น ยังมีนักดนตรีรับเชิญอีกจำนวนหนึ่งมาช่วยสร้างสีสันให้กับบทเพลงต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่ สมัย อ่อนวงศ์ (แคน), ดลฤดี เขียววิจิตร (จะเข้), ยิ่งยวด ยรรยงสถิต (เม้าท์ฮอร์แกน), ชาญชัย บัวบังศร (แอคคอร์เดียน), ชุมพล ศรีนวล (ไวโอลิน) หรือแม้แต่สุทิน ดวงเดือน (ไวโอลิน) และควบคุมการบรรเลงดนตรี โดยประยงค์ ชื่นเย็น
รวมถึงผู้ดำเนินรายการในแต่ละช่วง ประกอบด้วย พยงค์ มุกดา, ดำรง พุฒตาล, มนตรี เจนอักษร และเจนภพ จบกระบวนวรรณ
หลังจากนั้น ในวันที่ 1 ตุลาคม 2534 เหล่าบรรดาศิลปินเพลงลูกทุ่ง ประกอบด้วย นักร้อง ผู้ประพันธ์ทำนองและคำร้องได้เข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตด้วย
ภายหลังการแสดง กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 (ภาพ: มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ)
ซึ่งจากการแสดงทั้ง 2 ครั้งที่ผ่าน ในปี 2532 และ 2534 นั้น รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม หนังสือที่ระลึกและเทปเพลงทั้งหมด ได้นำไปสมทบทุนให้กับกองทุนช่วยเหลือศิลปินเพลงลูกทุ่งที่ตกทุกข์ได้ยาก ส่วนวงการเพลงลูกทุ่งก็ค่อย ๆ ซบเซาลงไปอีกครั้ง พร้อมกับการเสียชีวิตของพุ่มพวง ดวงจันทร์หลังจากนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2535
ประกอบการที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มีความพยายามที่จะจัดงานเชิดชูเกียรติให้กับวงการเพลงลูกทุ่ง ในชื่อที่ใกล้เคียงกับกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เช่น กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง...สืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2537 เป็นต้นแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นในปี 2532 และ 2534 ดังที่เจนภพ จบกระบวนวรรณได้บรรยายถึงบรรยากาศต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย
รวมถึงความรู้สึกเสียดายที่มีต่อกระทรวงวัฒนธรรมผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ว่า ทางกระทรวงฯ ไม่ได้มีโอกาสรื้อฟื้อเมกาโปรเจกต์ที่สำคัญอย่างกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยนั้นกลับขึ้นมาอีก จึงทำให้เพลงลูกทุ่งที่ได้รับการขึ้นทำเนียบให้เป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่น นอกจากบทเพลงที่ได้ถูกถ่ายทอดออกไปผ่านงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยทั้ง 2 ครั้ง รวมกับเพลงอื่น ๆ เป็น 100 เพลง ต้องสาบสูญไปโดยปริยาย
แต่โดยส่วนตัวของแอดมินแล้วคิดว่า เพลงลูกทุ่งไม่ได้หายไปไหน สังเกตได้จากแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Youtube ที่ได้มีผู้ใช้บางรายนำบทเพลงลูกทุ่งอันไพเราะ หรือจะเป็นบันทึกการแสดงสดของนักร้องลูกทุ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน รวมถึงงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเก็บเอาไว้กับตัว นำออกเผยแพร่กันอย่างมากมาย แม้จะผิดลิขสิทธิ์ไปบ้างก็ตาม
หรือแม้แต่การนำเพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจบางเพลงมาทำการคัฟเวอร์ (Cover) ด้วยทำนองใหม่ ๆ การนำไปประกอบการแสดงในโอกาสสำคัญตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในแต่ละที่ตามโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสุนทรภู่ วันภาษาไทยแห่งชาติ แล้วนำไปเผยแพร่ก็มี ซึ่งก็ได้แสดงให้เห็นว่า ยังมีคนให้ความสนใจในเพลงลูกทุ่งอยู่ แม้จะไม่ได้นิยมมากเหมือนเมื่อก่อนแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ก็ด้วยเพราะตามหลักแห่งสัจธรรมชีวิตที่มีเกิดแล้วต้องมีดับ ไม่มีสิ่งใดที่จะจีรังยั่งยืนอยู่ค้างฟ้าไปได้ชั่วนิจนิรันดร์ แม้แต่เสาไฟฟ้าที่ใคร ๆ ก็เห็นว่าแข็งแรง ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งอาจจะเกิดผุกร่อนแล้วพังลงมาเอง หรือถูกรถชนจนพังก็ได้ใครจะไปรู้ แต่ถึงอย่างนั้นภาพความงดงามต่าง ๆ ของเพลงลูกทุ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหกรรมครั้งประวัติศาสตร์อย่าง “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย” ทั้ง 2 ครั้ง หากใครที่ได้ทันรู้เห็นหรือพบผ่านมาเจอเข้าในภายหลังก็จะต้องเกิดเป็นความชื่นมื่นคืนสุขและอิ่มเอมใจในความเป็นเพลงลูกทุ่งอย่างแน่นอน เช่นที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยกล่าวไว้ว่า
...อยากจะฝากบอกถึงแฟน ๆ ว่า อย่างน้อย…เพลงลูกทุ่งอาจจะเชยสักนิดนึง ในสายตายุคที่มีเพลงสตริงหันเหเข้ามามาก แต่ก็เป็นอะไรที่จริงใจนะคะ อยากจะฝากไว้ว่า ช่วย ๆ กันอนุรักษ์กันไว้ด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาก แต่นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี...
(ภาพ: หนังสือ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 33)
ขอเชิญรับชมบันทึกการแสดงสด กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้ดังนี้
📺 กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 (
https://youtu.be/MngNrEJ7sZA
)
📺 กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 (
https://youtu.be/xZI35ann61Y
)
อ้างอิง:
●
3 ทศวรรษ คอนเสิร์ต "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" กับวาทะเด็ด "ผมไม่เคยขายเพลงพ่อให้ใคร" โดย Pantip (
https://pantip.com/topic/39252483
)
●
เจนภพ จบกระบวนวรรณ 16 กันยายน 2016 (
https://www.facebook.com/131078776961675/photos/a.172341949502024/1134813053254904/?type=3&locale=th_TH
)
●
เจนภพ จบกระบวนวรรณ 29 กันยายน 2016 (
https://www.facebook.com/131078776961675/photos/a.172341949502024/1144853775584165/?type=3&locale=th_TH
)
●
เจนภพ จบกระบวนวรรณ 30 กันยายน 2016 (
https://www.facebook.com/131078776961675/photos/a.172341949502024/1145925195477023
)
●
เจนภพ จบกระบวนวรรณ 16 กันยายน 2020 (
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3346030782133109&id=131078776961675
)
●
เจนภพ จบกระบวนวรรณ 16 กันยายน 2021 (
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=388810442614591&id=100044569143506
)
●
ที่มาของเพลงลูกทุ่ง โดย สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ (
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=33&chap=2&page=t33-2-infodetail01.html
)
●
บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ตกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1 2532| ชุดที่ 3 ยุคปัจจุบัน โดย Youtube M.Da_Thestory (
https://www.youtube.com/watch?v=4eexZOhIN5k
)
●
สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขับลำแบบลุ่มน้ำโขง ในเมืองสุพรรณดั้งเดิม โดย มติชนสุดสัปดาห์ (
https://www.matichonweekly.com/sujit/article_412796
)
●
สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงดนตรีเมืองสุพรรณ รากฐานแข็งแรงนับพันปี โดย มติชนสุดสัปดาห์ (
https://www.matichonweekly.com/sujit/article_408670
)
●
หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางรำพึง ลีละเมฆินทร์ (พุ่มพวง ดวงจันทร์) 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
●
Concert ต้นฉบับแท้[ชุดเต็ม] กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 [2532] 51เพลงประวัติศาสตร์ กว่า 4.30 ชม. โดย Youtube Siammelodies (
https://youtu.be/29yahMPMDK0
)
●
Full Concert กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค ๒ บันทึกบทเพลงดีเด่นรางวัลพระราชทาน 36 เพลง 7 กค.2534 โดย Youtube Siammelodies (
https://youtu.be/Smk0RPSkU_U
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย #เพลงลูกทุ่ง
เพลงไทยน่าฟัง
เพลงไทย
เพลง
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย