8 ก.ค. 2023 เวลา 10:38 • ไลฟ์สไตล์

เพราะชีวิตต้องใช้เงิน เราจึงต้องวางแผนการเงิน

แนวทางวางแผนการเงินประกอบด้วย 2 ส่วน 1. ขั้นตอนมีอะไรบ้าง ต้องเริ่มจากอะไร 2. บริหารสัดส่วนเงินในแต่ละขั้นเป็นอย่างไร
ส่วนแรก หากเสิร์ชในอากู๋จะพบสิ่งที่เรียกว่า “พีรามิดทางการเงิน” ซึ่งมีตั้งแต่ 3 - 5 ขั้น แต่สำหรับเรา เอาแค่ 2 ขั้นก็พอ คือ
ขั้นแรก เป็นการสร้างรากฐานที่ดี โดยมีการบริหารสัดส่วนรายได้ออกมา 4 ส่วน คือ
1) Fix Cost ส่วนของการใช้หนี้หรือรายจ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายยอดเดิม ๆ ทุกเดือน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน ค่าเทอมลูก(เอาค่าเทอมทุกเทอมใน 1 ปีมารวมกันหาร 12) ค่าเช่าห้อง เป็นต้น และหากอยากมีเงินเหลือไปสู่ขั้นที่ 2 อาจต้องทบทวนรายจ่ายบางรายการว่าโปะ ปิด ได้หรือไม่
2) Saving ส่วนของการเก็บออมเงินเผื่อตกงาน ส่วนนี้แล้วแต่กำหนดเลยว่าเท่าไหร่ เผื่อตกงานกี่เดือน แต่ละเดือนต้องมีเงินเท่าไหร่ และเมื่อเก็บเงินส่วนนี้ครบตามเป้าแล้ว เดือนต่อ ๆ ไป เงินส่วนนี้จะกลายเป็นเงินเหลือในแต่ละเดือน
3) Variable Cost ส่วนของรายจ่ายผันแปร คือรายจ่ายที่มากน้อยขึ้นอยู่กับการบริโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่านมลูก เป็นต้น และเช่นเคย หากอยากมีเงินเหลือไปสู่ขั้นที่ 2 ตัองทบทวนรายจ่ายในรายการที่อาจจะฟุ่มเฟือย
4) Insurance ส่วนของการโอนย้ายความเสี่ยงทั้งเรื่องการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย การเจอโรคร้ายแรงแล้วต้องออกจากงาน รวมถึงการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง และการประกันความเสี่ยงต่อทรัพย์สินอย่างเช่น บ้าน รถยนต์ เป็นต้น โดยเป็นการโอนย้ายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นไปให้บริษัทประกัน
เพราะหากว่าเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้เราสูญเสียเงินออมที่เราอุตส่าห์เก็บไว้เผื่อตกงาน รวมถึงมันจะทำให้เราต้องเป็นหนี้เพิ่ม กระทั่งทำให้เราขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งเบี้ยประกันจะเป็นยอดเท่าไหร่ในแต่ละเดือนก็ขึ้นอยู่กับทุนประกันที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ (ไม่ควรทำทุนประกันที่สูงเกินไป เพราะมันไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจะไม่สามารถจ่ายได้ต่อเนื่อง ระยะยาว)
และเมื่อเราจัดสรรปันส่วนรายได้ในแต่ละเดือนไปยังส่วนต่าง ๆ แล้ว หากมีเงินเหลือ จึงไปสู่ขั้นที่ 2
ขั้นสอง คือการไปสู่เป้าหมายเงินก้อนสำหรับอนาคต เช่น ซื้อ/สร้างบ้าน ดาวน์รถยนต์ ทุนการศึกษาลูก ทุนตั้งหลักสำหรับชีวิตของลูก เงินก้อนสำหรับใช้วัยเกษียณหรือสำหรับใช้แม้เราจะไม่ทำงานแล้วแต่ก็จะยังมีรายได้หรือเงินปันผลมากินทุกเดือน
ในขั้นนี้ เป้าหมายของแต่ละคนต่างกัน วงเงินแต่ละเรื่องก็ต่างกัน กำหนดเอาเองได้เลย โดยช่องทางที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายในแต่ละเรื่องมี 4 ช่องทางคือ
1) Up Skill เอาเงินที่เหลือจากขั้น 1 ไปเรียนรู้เพิ่มเติม เพิ่มศักยภาพ สร้างคอนเน็คชั่นที่จะทำให้เรามีความรู้มากขึ้น มีทักษะมากขึ้น ในการทำอาชีพเสริมหรือสร้างธุรกิจ รวมถึงการมีความรู้มากขึ้นในการลงทุนในตลาดหุ้น(ถ้าจะลงทุนในหุ้นอ่ะนะ)
2) Saving สำหรับเป้าหมายระยะสั้น 3 - 5 ปี และไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นได้ สามารถใช้วีธีออมเงินปกตินี่แหละ อาจจะฝากกับธนาคารแบบฝากประจำ หรือหาบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยดีหน่อย
3) Investment การลงทุน อันนี้แนะนำสำหรับเป้าหมายเงินก้อนในระยะ 5 ปีขึ้นไป และการลงทุนแม้จะเป็นความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนรวม ก็ยังมีโอกาสสูญเสียเงินต้นอยู่ประมาณนึง แต่ถ้าได้ผลตอบแทนก็จะได้เยอะกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
4) Insurance for Saving ทำประกันสะสมทรัพย์ ซึ่งเหมาะกับการมองยาว เป็นเป้าหมายระยะยาวเช่น สำหรับวัยเกษียณอีก 20 - 30 ปี หรือสำหรับทุนตั้งหลักชีวิตให้ลูกอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งมีข้อดีคือไม่สูญเสียเงินต้นและยังได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารและบางแผนประกันได้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวม
โดย 4 ช่องทางนี้ ก็แล้วแต่ความสะดวกและการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคนว่าจะเลือกวิธีการไหนในการไปสู่เป้าหมายเงินก้อนสำหรับอนาคต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา