10 ก.ค. 2023 เวลา 01:32 • ประวัติศาสตร์
ขอยกเรื่องการเคารพกฎจราจรออกไปก่อนนะคะ ขอกล่าวถึงประเด็นเรื่องรากฐานความคิด อันเป็นที่มาของลักษณะประจำชาติ วินัยของคนในชาติ รูปแบบทางวัฒนธรรมและสังคม
สิ่งที่หล่อหลอมให้คนชาติไหนเป็นอย่างไร มีที่มาจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และประวัติศาสตร์การทำศึกสงคราม
ลองดูจุดร่วมของญี่ปุ่นและเยอรมันค่ะ ทั้งคู่เป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม สิ่งที่ตามมา นอกจากการต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาควบคุมกองกำลังทหาร ฯลฯ เขาต้องสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง
การฟื้นฟูประเทศหลังพ่ายแพ้สงคราม คนรุ่นหลังสงครามในประเทศเหล่านั้นต้องทำอะไรบ้าง สิ่งต่างๆเหล่านั้นล้วนส่งอิทธิพลทางตรงต่อคนรุ่นหลังสงคราม ซึ่งเป็นอิทธิพลที่กว้างและลึกถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานแนวคิดและปฏิบัติตนของคนในชาติ
รากฐานความคิดทั้งหลายเหล่านั้นถูกถ่ายทอดมายังคนรุ่นถัดๆมาค่ะ เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ผู้คนในประเทศเหล่านั้นมีอุปนิสัยเช่นนั้น จนกลายเป็นลักษณะประจำชาติอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ยังมีตัวอย่างให้เห็นอีกมากมาย เช่นอิสราเอลและเวียดนามที่มีประวัติศาสตร์การสู้รบยาวนาน คนของเขาจึงมีความอดทนสูง สู้ไม่ถอย ฉลาดเอาตัวรอด มุ่งตั้งรับป้องกันมากกว่าโจมตี หรือประเทศที่ถูกยึดครองตกเป็นอาณานิคม ก็จะมีวัฒนธรรมแบบผสมผสาน บ้างก็มีลักษณะ “ทั้งรักทั้งเกลียด” ประเทศที่ตนเคยตกเป็นเมืองขึ้น ฯลฯ
พาออกนอกเรื่องไปซะไกล!!
ย้อนกลับมาที่เรื่องการเคารพกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎจราจรหรือกฎใดๆก็ตาม ที่บัญญัติขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ถ้ามีจุดเริ่มต้นมาจาก "การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและบทลงโทษที่รุนแรง" เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วอายุคน สิ่งเหล่านั้นจะฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกไปเอง
เพราะการสร้างจิตสำนึก ปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยสมัครใจ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก จนแทบเป็นไปไม่ได้เลย!!
ดูพวกฝรั่งนักท่องเที่ยว เวลาอยู่บ้านเค้า เค้าก็ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พอมาอยู่บ้านเราสักพัก ความเป๊ะก็คลายไปเอง หรือคนไทยที่ไปเที่ยวหรืออยู่ต่างประเทศก็เช่นกัน ทุกคนกลายเป็นคนเคารพกฎหมายไปเองโดยอัตโนมัติ
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมาย แต่คือการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรง
โฆษณา