10 ก.ค. 2023 เวลา 03:53 • ไลฟ์สไตล์

คงไม่มีใครเถียงว่ามีเงินย่อมดีกว่าไม่มี

แต่คำถามที่ว่ายิ่งมีเงินเยอะยิ่งมีความสุขจริงหรือไม่?
ไม่ใช่คำถามที่จะตอบกันได้ง่ายๆ เพราะคำถามข้อนี้ทำเกิดความขัดแย้งระหว่างงานวิจัยของ Daniel Kahneman เจ้าพ่อวงการจิตวิทยาการลงทุน และ Matthew Killingsworth นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania
โพสต์นี้เราจะมาดูกันว่าบทสรุปแล้ว เงินซื้อความสุขได้จริงหรือไม่?
╔══════════════════╗
เงินซื้อความสุขได้หรือไม่ไม่รู้
แต่เงินต่อยอดความมั่งคั่งได้ ที่
╚══════════════════╝
เริ่มกันที่งานวิจัยของ Daniel Kahneman (ต่อไปจะขอเรียกว่า DK) ที่จัดทำขึ้นในปี 2010 กันก่อน งานวิจัยนี้จัดทำโดยการแจกแบบสอบถามรายวันกับครอบครัวชาวอเมริกัน 1,000 ครัวเรือน ที่มีรายได้แตกต่างกันไป ตลอดช่วงระยะเวลาปี 2008-2009
โดยในแบบสอบถามจะมีชุดคำถามที่ทำให้ DK สรุปได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกมีความสุขหรือไม่ในวันนั้น จากนั้น DK จึงนำผลการตอบแบบสอบถามที่เก็บมากว่า 450,000 ชุดมาตีความ
ผลสรุปของ DK คือ ยิ่งมีรายได้เยอะ ความสุขก็เพิ่มขึ้นตาม แต่ว่าเมื่อคนเรามีรายได้ถึงราว 7.5 หมื่นเหรียญต่อปี (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ต่อให้หาเงินได้เพิ่มไปมากกว่านี้เท่าไรก็ตาม ความสุขกลับไม่เพิ่มขึ้นแล้ว
ซึ่งตัวเลข 7.5 หมื่นเหรียญ ถือว่าไม่ได้เยอะแยะอะไรมากมายสำหรับชาวอเมริกัน เพราะตัวเลขนี้เป็นเพียงรายได้ของคนชั้นกลางที่พอมีพอกินเท่านั้นเอง
ทางด้าน Matthew Killingsworth (ต่อไปจะขอเรียกว่า MK) ก็ได้จัดทำงานวิจัยในลักษณะเดียวกันในช่วงปี 2009-2015 แต่มีการขยายฐานการเก็บแบบสอบถามที่มากขึ้น โดยเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันบน smart phone กับกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันราว 34,000 คน
แอปที่ว่าจะยิงคำถามวันละ 2-3 ครั้ง ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อสอบถามสารทุกข์สุขดิบของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้ MK เก็บตัวอย่างได้กว่า 1.7 ล้านครั้ง
และผลสรุปของ MK ก็พบว่า ยิ่งมีรายได้เยอะ ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตาม แต่ผลลัพธ์นี้ขัดแย้งกับ DK ตรงที่ว่า งานวิจัยของ MK กลับ “ไม่พบ” เพดานจุดอิ่มตัวของความสุขเลย นั่นก็หมายความว่า ยิ่งรวย ยิ่งแฮปปี้ นั่นเอง
เมื่องานวิจัยชั้นนำของโลกสองชิ้นให้ผลไม่ตรงกัน ทั้ง DK และ MK จึงตัดสินใจร่วมมือกันในการวิจัยเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่นี้พึ่งถูกตีพิมพ์ช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมานี่เอง และข้อสรุปของมันถือว่าน่าแปลกใจมากเพราะทั้ง DK และ MK กลับถูกทั้งคู่!
ก่อนอื่นเลย DK ยอมรับว่าฐานข้อมูลของ MK ดีกว่า ดังนั้น ทั้งสองจึงใช้ฐานข้อมูลชุดนี้ในการวิเคราะห์ แต่สิ่งที่ทั้งสองเพิ่มเข้าไปในงานวิจัยชิ้นนี้คือการ “แบ่งกลุ่มตัวอย่างไล่ตามลำดับความสุข” โดยคนในแต่และกลุ่มตัวอย่างมีรายได้ทั้งมากและน้อยปะปนกันไป
สิ่งที่ทั้งสองค้นพบคือ
• สำหรับกลุ่มคนที่มีความสุขมาก ความสุขของพวกเขาไม่ใช่แค่เพิ่มขึ้นตามรายได้ แต่มันกลับเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งเมื่อรายได้ผ่าน 7.5 หมื่นเหรียญต่อปี
• สำหรับกลุ่มคนที่มีความสุขปานกลาง ความสุขของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรงตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีจุดอิ่มตัว หลักฐานนี้ตรงกันกับงานของ MK ที่ทำไว้ตอนแรก
• สำหรับกลุ่มคนที่มีความสุขน้อย ความสุขของพวกเขาเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่จำกัดที่ประมาณ 7.5 หมื่นเหรียญต่อปี ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังจุดนี้ไปแล้วไม่ได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด หลักฐานนี้ตรงกันกับงานของ DK ที่ทำไว้ตอนแรก
ข้อสรุปใหม่ของทั้ง DK และ MK ชี้ให้เห็นว่า “เงินเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต” การที่ตัวเราเองมีความสุขเพราะปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นเพราะครอบครัว เพื่อนฝูง สุขภาพ การงาน ฯลฯ ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
โดยปัจจัยอื่นๆเหล่านี้เองที่จะยิ่งทำให้เราเอนจอยกับเงินที่หาได้มากขึ้นแบบทวีคูณนั่นเอง
อ่านงานวิจัยแบบละเอียดที่: https://www.pnas.org/doi/epdf/10.1073/pnas.2208661120
📍 อย่าลืมตั้งค่าการติดตามเพจเป็นแบบ Favorite เพื่อไม่ให้พลาดทุกประเด็นสำคัญจากเรา!
🌟 รับข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนให้มากขึ้น อย่าลืมเป็นเพื่อนกับเรา
Add line: @KKPS
หรือคลิกที่ https://go.edge.co.th/LINEKKPS
#EDGE #EDGEInvest #กองทุนรวม #ลงทุน #วางแผนลงทุน #Oneofakind
โฆษณา