Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Future Perfect
•
ติดตาม
10 ก.ค. 2023 เวลา 09:41 • ยานยนต์
ถอดบทเรียนความผิดพลาดจาก "Better Place" สตาร์ทอัพธุรกิจสลับแบตเตอรี่ EV
ธุรกิจการสลับแบตเตอรี่ หรือ Battery Swap เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการเติมพลังงานให้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายยิ่งขึ้นกับผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้รถยนต์สามารถนำแบตเตอรี่ที่ใช้งานมาแล้ว มาสลับกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็มแล้วที่สถานีแลกเปลี่ยน ทำให้สามารถเดินทางต่อไปได้โดยไม่ต้องรอเวลาการชาร์จแบตเตอรี่ด้วยตัวเอง
ที่จริงแล้ว แนวคิด Battery Swap เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1896 โดย General Electric หรือ GE ได้ริเริ่มใช้งานจริงในปี 1912 ภายใต้รูปแบบธุรกิจการให้บริการแบตเตอรี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งปี 2007 มีการจุดประกายแนวคิดนี้อีกครั้ง โดยสตาร์ทอัพรายหนึ่งที่มีชื่อว่า “Better Place” เรียกได้ว่าเกิอบจะ “พลิกโลก” ด้วยการปฏิวัติวงการพลังงานสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลได้เลยทีเดียว
หาก Better Place สร้างธุรกิจ Battery Swap ได้สำเร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเข้าไปในสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แทนที่จะต้องเสียเวลารอชาร์จไฟฟ้านานเป็นชั่วโมงด้วยเทคโนโลยีสมัยนั้น เราจะสามารถสลับแบตเตอรี่ที่สถานีแลกเปลี่ยนซึ่งมีแบตเตอรี่ชาร์จแล้วหมุนเวียนอยู่ โดยใช้เวลาสลับแบตเตอรี่ไม่เกิน 2 นาที เร็วพอ ๆ กับการเติมน้ำมันรถยนต์!
ฟังดูแล้วถือว่าตอบโจทย์ผู้ใช้งาน น่าจะก้าวข้ามผ่านความท้าทายที่สำคัญเรื่องระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้าได้ และจูงใจให้ผู้คนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น
ทว่า Better Place กลับไปไม่ถึงดวงดาว โดยต้องปิดกิจการไปเมื่อปี 2013
ทั้ง ๆ ที่โมเดลธุรกิจก็ดูน่าสนใจอยู่ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ Better Place สตาร์ทอัพที่เขย่าวงการพลังงาน และดูเหมือนจะไปได้สวยในช่วงแรก Future Perfect มีคำตอบมาอัพเดทและเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. Photo from inhabitat.com
เกริ่นก่อนว่า กระบวนการ Battery Swap มักใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ช่วยในการสลับแบตเตอรี่อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะนำรถมายังสถานีแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ รถจะถูกสแกนและตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ากับระบบการสลับแบตเตอรี่ได้ จากนั้นระบบกลไกจะยกรถขึ้นจากพื้น ถอดแบตเตอรี่ที่ใช้งานอยู่ออก แล้วติดตั้งแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็มแล้ว พร้อมใช้งานเข้าไปแทน โดยที่กล่าวมานี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
รูปแบบธุรกิจในลักษณะนี้ จะถือว่าแบตเตอรี่ เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ หรือเรียกกันว่า Battery-as-a-Service (BaaS) และผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่มีภาระที่ต้องดูแล ซ่อมบำรุงแบตเตอรี่ มีเพียงตัวรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของหรือครอบครองอยู่
ด้วยโมเดลแบบนี้ ภาระเรื่องแบตเตอรี่จึงตกไปอยู่กับผู้ให้บริการ ถ้าไม่สามารถจัดการสต็อกแบตเตอรี่ที่หมุนเวียนในระบบอยู่ได้ มีต้นทุนทางเทคโนโลยี มีการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง ธุรกิจก็จะมีความเปราะบางมากขึ้นเช่นกัน
ข้อได้เปรียบของธุรกิจ Battery Swap เมื่อเทียบกับการให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่การเพิ่มความสะดวกสบายและลดเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ผู้ใช้รถยนต์สามารถเดินทางไกลโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับระยะทางและเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ และธุรกิจ Battery Swap ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้ามีการใช้งานและยอมรับมากขึ้นในสังคม
Better Place เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2007 โดย ไช อกาสี (Shai Agassi) ชาวอิสราเอลที่ครอบครัวอพยพมาจากอิรัก แนวคิดหลักของ Better Place คือการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในระดับประเทศ โดยมุ่งเน้นให้การเปลี่ยนแปลงจากการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เป็นไปได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ Better Place ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยสถานีแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสำคัญ
ในปี ค.ศ. 2008 Better Place ได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองใช้งานระบบในประเทศอิสราเอล โดยเริ่มจากสร้างสถานีแบตเตอรี่และเริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบสลับแบตเตอรี่ได้ ที่ให้บริการในเขตเทศบาลที่เลือกไว้ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่
Better Place ได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำอย่าง Renault-Nissan ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ากับระบบโครงสร้างของ Better Place และให้รับรองการให้บริการสลับแบตเตอรี่ในสถานีของ Better Place รวมไปถึงการระดมทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ และได้ขยายโครงข่ายสถานีแบตเตอรี่ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงอีก 25 ประเทศ ที่ได้เข้าไปติดต่อเจรจา
ทุกอย่างทำท่าจะไปได้สวย แต่หลังจากดำเนินงานไปได้ไม่นานนัก Better Place พบว่ามีปัญหาในเรื่องของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีความต้องการใช้บริการสถานีแบตเตอรี่น้อยตามไปด้วย จน Better Place ต้องเผชิญกับปัญหาการเงินและสิ้นสุดกิจการในปี ค.ศ. 2013
Cr. Photo from cnet.com
ความล้มเหลวของ Better Place เป็นบทเรียนสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในระดับประเทศ รวมถึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการสร้างนวัตกรรมด้านโมเดลธุรกิจด้วย ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1. ความไม่พร้อมของเทคโนโลยี: ในช่วงเวลาที่ Better Place ก่อตั้ง ประเด็นทางเทคนิคเรื่องการเก็บรักษาและเชื่อมต่อกับระบบแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเป็นอุปสรรค ระบบชาร์จแบตเตอรี่เองก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้รถยนต์ (กรณีที่ต้องชาร์จไฟนอกสถานี) นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ทำให้ระยะทางการขับขี่ของรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถเทียบเคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือยังทำได้ไม่ดีเท่ากับปัจจุบันนี้
ประเด็นเรื่องมาตรฐานของเทคโนโลยีนั้น เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทำให้ Better Place ตกม้าตาย เรียกได้ว่าแต่ละแบรนด์รถยนต์ที่ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานร่วมกัน สร้างความยุ่งยากให้กับระบบสลับแบตเตอรี่ ที่ต้องรองรับรถยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์ ให้สามารถใช้ร่วมกันได้
ลองจินตนาการดูครับว่า ถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์ โดยแต่ละแบรนด์มีมาตรฐานแบตเตอรี่ที่ใช้งานต่างกัน ของใครของมัน ขนาดไม่เหมือนกัน ดีไซน์จุดเชื่อมต่อไม่เหมือนกัน สเปกหรือข้อกำหนดทางเทคนิคต่างกัน ระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ยิ่งจะต้องมีความซับซ้อนหรือมีต้นทุนที่มากขึ้น และต้องมีแบตเตอรี่หลายโมเดล เพื่อให้รองรับกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ
ในทางกลับกัน ถ้าจะโฟกัสแค่เพียงไม่กี่แบรนด์ ก็จะมีปัญหาเรื่องขนาดตลาดที่มีอยู่จำกัด และความคุ้มทุนจากการดำเนินการหรือเรื่อง Economies of Scale ก็จะเกิดได้ยากขึ้นตามไปด้วย
2. ตลาดที่ตอบรับกับระบบนิเวศ (Ecosystem): ทุกการเปลี่ยนผ่าน จะต้องสร้างการรับรู้จากตลาด หรือผู้ใช้งาน ซึ่งในขณะนั้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เติบโตอย่างรวดเร็ว การขายรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่คาดหวัง อันเป็นผลมาจากระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีความพร้อมให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ขนาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังอย่าง Tesla ของอีลอน มัสค์ ที่เริ่มธุรกิจมาก่อนตั้งแต่ปี 2003 มายังแทบจะเอาตัวไม่รอด ในช่วงแรก ๆ ของการขยายตลาด
ระบบนิเวศหรือ Ecosystem มีความสำคัญอย่างไรนั้น ลองดูง่าย ๆ ก็ได้ครับว่า ถ้าระบบนิเวศมีความพร้อม ก็จะช่วยให้ผู้ใช้งานหรือกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีความมั่นใจ และทยอยใช้งานจนเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลใหม่ ๆ ได้
อย่างเช่นกรณีของรถยนต์ไฟฟ้านั้น นอกจากการชาร์จไฟฟ้าหรือเติมพลังงานแล้ว ยังต้องคำนึงถึง รถยนต์ไฟฟ้าที่มีรุ่นให้เลือกได้หลากหลายตามความต้องการ ราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ การชาร์จไฟฟ้าได้สะดวกในทุกรูปแบบการใช้ชีวิต การซ่อมบำรุงที่รองรับ การเปลี่ยนอะไหล่ ระบบการให้บริการในพื้นที่ที่ต่างกันสามารถรองรับได้หรือไม่ ไปจนถึงสิ้นสุดอายุการใช้งานที่ต้องมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือขายเป็นรถยนต์มือสอง
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ระบบเครือข่ายพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบเครือข่ายการเชื่อมต่อข้อมูลให้บริการรถยนต์ไฟฟ้า ก็สำคัญไม่แพ้กันที่จะสนับสนุนให้เกิดความพร้อมของธุรกิจ อีกทั้งต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจที่พร้อมจับมือ รวมไปถึงการสนับสนุน ส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นจากภาครัฐ และเมกะเทรนด์ระดับโลกด้วย เป็นต้น
3. โมเดลธุรกิจที่ไม่แข็งแรงพอ: ด้วยปัญหาและอุปสรรคในสองข้อแรกที่กล่าวมานั้น ทำให้ Better Place มีการลงทุนมหาศาลในการสร้างระบบชาร์จแบตเตอรี่และสถานีบริการ ประกอบกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงนั้นยังไม่ได้เติบโตรวดเร็ว ตัวรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่ผู้ใช้งานคาดหวัง และไม่สามารถขยายตลาดได้ จึงทำให้ Better Place ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ลงทุนหลายราย ก็ไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ในระยะยาว
เมื่อระบบนิเวศไม่เอื้ออำนวย การผลักดันโมเดลธุรกิจให้มีความพร้อมได้นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อกรุยทางให้ธุรกิจเดินหน้าได้ ถ้าสายป่านเงินทุนไม่ได้ยาวพอ เจ็บตัวมาก ๆ เข้า และที่สำคัญคือขยายตลาดต่อไปไม่ได้ด้วยข้อจำกัดอุปสรรคต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าต้องพับเสื่อกลับบ้านกันไป
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโมเดล Better Place นั้น จำเป็นต้องตระหนักไว้ว่าโมเดลรูปแบบเดียวกันที่เคยล้มเหลวในอดีต เมื่อผ่านมาถึงปัจจุบันหรืออีกช่วงเวลาหนึ่งที่มีบริบทต่างออกไป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องล้มเหลวดังเช่นในอดีตด้วย
ปัจจุบันการสลับแบตเตอรี่ หรือ Battery Swap เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือสกูตเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงมีการทดลองใช้กับรถยนต์นั่งด้วยที่ประเทศจีน ซึ่งในบทความถัดไป Future Perfect จะได้มาขยายความต่อว่าโมเดลปัจจุบันมีความแตกต่างจากโมเดล Better Place อย่างไร มีอนาคตหรือไม่ ติดตามกันต่อกับ Future Perfect ครับ
ผู้อ่านสามารถกดติดตามเพจ Future Perfect และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ กันได้เลยครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) Technology Standardization: นวัตกรรมที่ยังไม่มีมาตรฐานทางเทคนิค อาจส่งผลถึงปัญหาความเข้ากันได้ภายในห่วงโซ่คุณค่า และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ
2) Ecosystem: ระบบนิเวศที่รองรับนวัตกรรมหรือโมเดลธุรกิจนั้น มีความพร้อมที่จะจูงใจให้ตลาดยอมรับในการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
3) Timeliness: จังหวะเวลาที่เหมาะสมของนวัตกรรม จะช่วยให้โมเดลธุรกิจประสบความสำเร็จได้ กับบริบทและระบบนิเวศที่พัฒนาขึ้นตามเวลา เหมือนกับผลไม้ที่สุกพร้อมรับประทาน
#FuturePerfect #FuturePerfectExpert #อนาคตกำหนดได้ #Sustainovation #InnovateForSustainableFuture #BatterySwap #รถยนต์ไฟฟ้า
References
1. Cr. Cover Image by
Freepik.com
สิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยี
1 บันทึก
8
10
1
8
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย