Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักปรัชญานอกรีต - Freethinker
•
ติดตาม
11 ก.ค. 2023 เวลา 03:44 • ปรัชญา
สาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้คน "เลิกนับถือศาสนา" ?
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าคนไม่มีศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากทั่วโลก ซึ่งน่าเหลือเชื่อว่าโลกเราทุกวันนี้มีคนที่ประกาศตัวว่าเป็นคนไร้ศาสนา (irreligious persons) เป็นจำนวนมากข้อมูลจาก The Pew Research Center องค์กรที่วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก ระบุว่าสถิติของ “คนไร้ศาสนา” เพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคน เมื่อปี 2008 มาเป็น 1,100 ล้านคน ในปี 2019
ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสามรองจากผู้นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม และล่าสุดเปิดเผยรายงานชุดใหม่ระบุว่า คนรุ่นใหม่เข้าร่วมศาสนาน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ากลุ่มคนที่ไม่นับถือศาสนาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เป็นกลุ่มที่ไม่นับถือศาสนามากกว่ากลุ่มอื่นในทุกๆ มิติ
ถ้ามองจากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าในระยะเวลาเพียง 11 ปี มีสถิติคนที่ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนาเพิ่มขึ้นถึง 1,065 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่รวดเร็วและก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก จากข้อมูลที่ยกมาข้างต้นยังไม่รวมผู้ที่ระบุว่านับถือศาสนาเฉพาะเพียงในทะเบียนบ้านเท่านั้น แต่แทบไม่ได้ปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมตามศาสนาที่ระบุเลย
และคาดว่าจนถึงปัจจุบันมีคนไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และนับวันยิ่งมีแนวโน้มที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล หากตัดภาพมามองที่ประเทศไทยแม้มีประชากรที่ไม่นับถือศาสนาอยู่ราว 2% จากจำนวนประชากรทั้งหมด แต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงวิกฤติศรัทธาที่นับวันจะลดน้อยถอยลง
ก่อนที่จะมาหาสาเหตุว่าทำไมคนถึงเลิกนับถือศาสนา ก็ต้องมาดูกันก่อนว่า “เรานับถือศาสนาไปเพื่ออะไร?” คำตอบโดยพื้นฐานว่าการนับถือศาสนานั้นก็เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งในการพ้นจากความทุกข์ที่เผชิญอยู่ ในอดีตศาสนาเปรียบเสมือนสิ่งหนึ่งที่ถ่ายทอดระบบความคิด ความเชื่อ กฎเกณฑ์เรื่องศีลธรรมว่าชีวิตของมนุษย์ควรจะปฏิบัติอย่างไร อยู่เพื่ออะไร และตายแล้วไปไหน ศาสนาก็เป็นสิ่งที่ให้คำตอบกับผู้คนในเรื่องเหล่านั้น
แต่เดิมศาสนาเป็นเสมือนสิ่งที่ใช้อธิบายโลกทั้งใบ แต่ปัจจุบันโลกล้วนมีพลวัติ เมื่อโลกวิวัฒน์จนถึงปัจจุบันไปสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดทางปรัชญาทำให้คนตั้งคำถามใช้เหตุผลมากขึ้น เมื่อโลกมีลักษณะเป็นพลวัตเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ผู้คนมีมุมมองต่อศาสนาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน
“ฉันไม่มีศาสนา” อาจกลายเป็นคำตอบสามัญในยุคปัจจุบัน เพราะชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่มากมายโดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่มีแนวโน้มเลือกใช้ชีวิตโดยไม่มีศาสนา สาเหตุที่เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งมาจากระบวนการของรัฐที่แยกตัวออกจากศาสนา (Secularism) ในกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากในยุโรปให้นิยามตนเองว่าไม่นับถือศาสนาใด ๆ
ซึ่งนอกจากปัจจัยเรื่องการแยกตัวระหว่างรัฐกับศาสนาแล้ว คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมองว่าศาสนจักรไม่สามารถก้าวทันความคิดพฤติกรรม และคุณค่าที่เป็นความต้องการของคนรุ่นใหม่ ผนวกกับจุดยืนของศาสนจักรยังขัดกับสภาพความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน
การที่ผู้คนในโลกตะวันตกออกมาปฏิเสธศาสนามากขึ้นผมเห็นว่ามันเป็นการยืนยันใน “เสรีภาพ” เหนือความเชื่อความศรัทธาของศาสนา และหลายเรื่องที่ศาสนานั้นมีบทบาทที่ขัดแย้งกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางศีลธรรมต่าง ๆ ที่ขัดกับหลักเสรีภาพและความเท่าเทียมของมนุษย์ ทำให้อาจมองได้ว่าทิศทางความเชื่อของศาสนาไปกันไม่ได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่
ในอดีตศาสนาถือเป็นความจริงสูงสุด เป็นเสมือนเจ้าของความดี และถ้าใครบอกว่าไม่มีศาสนาก็กลายเป็นไม่มีความดีไปด้วย แต่เมื่อในโลกสมัยใหม่คนเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่ศาสนาเคยสอนมันใช่จริง ๆ หรือ สิ่งที่ศาสนาเคยบอกว่าผิดในโลกปัจจุบันก็ถูกตั้งคำถามว่ามันผิดจริง ๆ หรือ อย่างเช่นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในศาสนากระแสหลักของโลกมักมีปัญหากับเรื่องนี้ และถือเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ของศาสนา ในอดีตพันปีที่แล้วคนเหล่านี้เป็นฝ่ายผิดโดยไม่เคยมีการตั้งคำถาม ทั้งการไม่ยอมรับ การเหยียดหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
แต่เมื่อยุคสมัยใหม่ก็ไม่พ้นการตั้งคำถามโดยการยืนยันในเสรีภาพว่าสิ่งเหล่านั้นคือ “สิทธิมนุษยชน” และความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องผิดอีกต่อไป ความเชื่อของศาสนาในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดคำถามมากมาย ในโลกสมัยใหม่ที่ไร้ซึ่งความจริงและความดีสูงสุดอีกต่อไป มันเป็นปรากฏการณ์ของความเชื่อทางศาสนาที่ปะทะกับความคิดสมัยใหม่ ในชุดความเชื่อระหว่างเสรีภาพและความศรัทธา
การตั้งคำถามกับความเชื่อความศรัทธาทางศาสนาก็ล้วนมีมาตลอดประวัติศาสตร์ เพียงแต่ถ้าเราพูดถึงมิติทางประวัติศาสตร์สมัยยุคกลางของยุโรป ศาสนามีอำนาจ มีอิทธิพล จำกัดเสรีภาพของมนุษย์ แต่ในยุคปัจจุบันมนุษย์ถือว่าตนเองมีเสรีภาพที่จะตั้งคำถามได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไรก็แล้วแต่ล้วนถูกตั้งคำถาม ซึ่งในแง่หนึ่งศาสนาก็พยายามรักษาสภาวะที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่แตะไม่ได้เอาไว้ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกท้าทายด้วยมนุษย์ที่ยืนยันเสรีภาพที่จะถามได้ทุกเรื่อง
ถ้าถามว่าทำไมคนถึงเลิกนับถือศาสนา โดยธรรมชาติแล้วผู้คนโดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดมาก็มักถูกระบุว่านับถือศาสนาอะไรตามพ่อแม่หรือครอบครัวก่อนที่จะรู้จักศาสนาจริง ๆ เสียอีก การที่เป็นคริสเตียนก็เพราะพ่อเขานับถือศาสนาคริสต์ เขานับถือพุทธก็เพราะที่บ้านเขานับถือศาสนาพุทธ ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือคนทั่วไปโดยส่วนมากมีความเชื่อโดยขาดเหตุผล
การมีความเชื่อเช่นนี้เขาไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้นนอกจากเชื่อตามที่พ่อแม่เขาเชื่อมา แต่คนที่ออกจากศาสนานั้นต้องใช้ความคิดและเหตุผล เขาอาจไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่พ่อแม่เขาเชื่อตาม ๆ กันมา ทำให้เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดที่เขาเริ่มตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผลต่อความเชื่อที่ตนเองยึดถือ และถ้าศาสนาไม่มีเหตุผลมากพอให้เชื่อก็เป็นธรรมชาติที่เขาจะทิ้งและเดินออกมาจากศาสนา
การศึกษาในต่างประเทศเรื่อง Religion Landscape Study ที่สำรวจชาวอเมริกันจำนวน 35,000 ราย ใน 50 มลรัฐทั่วประเทศพบว่า คนส่วนใหญ่ที่ระบุว่าไม่มีศาสนานั้น 78% เติบโตมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จนกระทั่งโตขึ้นจึงเริ่มพบว่าตนเองไม่เชื่อในศาสนา โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลตรงกันว่า เพราะหลักวิทยาศาสตร์มีความน่าเชื่อถือมากกว่า
และรองลงมาคือพวกเขาเชื่อในเรื่องสามัญสำนึกและตรรกะเหตุผลมากกว่าการเชื่อในสิ่งใดที่ไม่มีเหตุผลรองรับ นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า การที่เลิกนับถือศาสนาเป็นเพราะไม่ชอบลำดับชั้นของกลุ่มศาสนา ศาสนากลายเป็นธุรกิจมากเกินไป และส่วนหนึ่งก็มองว่าวงการศาสนาเองมีเรื่องอื้อฉาวที่ทำให้เสื่อมศรัทธาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ดังกล่าว คืองานวิจัยโดย พิปปา นอร์ริส และ รอนอลด์ อิงเกิลฮาร์ท เปิดเผยว่า ยิ่งสังคมมีระบบสาธารณสุขดี มีระบบกระจายอาหารดี ที่อยู่อาศัยเพียงพอ ความยากจนต่ำ และมีความเท่าเทียมกันสูง คนในสังคมนั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มสูงที่จะไม่นับถือศาสนา ในทางตรงกันข้าม สังคมที่ชีวิตคนไม่แน่นอน ความกินอยู่แร้นแค้น และมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตสูง คนก็มักจะยิ่งเคร่งศาสนา”
ซึ่งในกรณีนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะการที่ศาสนาดำรงอยู่ได้ก็เพราะตอบสนองต่อ “ความไม่มั่นคง” ของชีวิตมนุษย์ เช่นเดียวกับการเกิดศาสนาแรก ๆ ของโลก อย่างศาสนาผีหรือศาสนาบูชาธรรมชาติ (Animism) เมื่อเกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภัยธรรมชาติเหล่านั้นส่งผลกระทบตอความมั่นคงในชีวิต และเมื่อคนในยุคนั้นไม่สามารถจัดการหรือหาคำอธิบายกับภัยเหล่านั้นได้ จึงสร้างศาสนาไว้บูชาอ้อนวอนเพื่อสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
จึงไม่แปลกถ้าสังคมที่ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่มั่นคง ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาศาสนาเพื่อตอบสนองความต้องการในเรื่องต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังผลการศึกษายังพบความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับการไม่มีศาสนาด้วย คนรายได้สูงนั้นมีแนวโน้มที่จะไม่นับถือศาสนามากกว่าคนรายได้ต่ำ และคนที่การศึกษายิ่งสูงก็ยิ่งแนวโน้มมากที่จะไม่นับถือศาสนา ในจำนวนประชากรอเมริกัน มีประมาณ 49 เปอร์เซ็นต์ที่จบปริญญาตรี แต่คนอเมริกันที่ไม่นับถือศาสนานั้นมีกว่า 72 เปอร์เซ็นต์ที่จบปริญญาตรี
ถ้าดูจากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าถามถึงจุดเปลี่ยนในการไม่นับถือศาสนา ก็ต้องเริ่มจากการมองว่าศาสนานั้นไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต พึ่งพาไม่ได้ ไม่ชอบพิธีกรรม เป็นเรื่องงมงายไม่สามารถพิสูจน์ได้ และผิดหวังต่อตัวศาสนาไม่ว่าจะเป็นบุคคลนักบวชหรือศาสนองค์กร เป็นต้น
ปรากฏการณ์นี้มันทำให้เราตระหนักว่า กว่า 5 ศตวรรษที่ผ่านมาโลกสมัยใหม่ขยายกว้างมาก การพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่ว่าคุณจะชอบวิทยาศาสตร์หรือไม่ ชอบการศึกษาตะวันตกหรือไม่ ชอบพลวัตของยุคสมัยใหม่หรือไม่ แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ช่วยให้การเข้าถึงทรัพยากรและความรู้ของคนธรรมดาเปิดกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทำให้ศาสนาที่เป็นศูนย์กลางความจริงสูงสุดของโลกไม่ได้ทำหน้าที่นั้นในแบบสากลอีกต่อไปแล้ว ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้หมายความเขาไม่สนใจความจริงของชีวิต แต่เขาเชื่อว่าชีวิตสามารถเข้าถึงความจริงได้โดยไม่ต้องพึ่งกรอบคิดทางศาสนา
ซึ่งเราอาจมองได้ว่าการที่คนไม่เชื่อในศาสนามากขึ้น และการเสื่อมถอยของศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดความก้าวหน้าในโลกตะวันตก นั่นก็เพราะเมื่ออำนาจทางศาสนาเสื่อมถอยลง ปรัชญาก็มีบทบาทและที่ทางในสังคมมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งเหตุผล (Age of reason) หรือยุคสมัยแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment)
ในขณะที่ยุคก่อนหน้าที่ศาสนาเรืองอำนาจถูกเรียกว่า “ยุคมืด” (Dark age) ซึ่งสิ่งที่เป็นภาคปฏิบัติของการเชื่อมั่นในเหตุผลคือความก้าวหน้าทาง “วิทยาศาสตร์” ซึ่งเวลาต่อมาวิทยาศาสตร์ก็นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี จนเกิดเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม นำมาสู่วิถีการผลิตครั้งใหญ่
The Age of Enlightenment
ซึ่งความเสื่อมถอยของอำนาจทางศาสนานี้ไม่ใช่เป็นความท้าทายเพียงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ยังท้าทายกับทกศาสนาว่าจะอยู่บนโลกสมัยใหม่ที่เคารพใน “สิทธิมนุษยชน” และการตระหนักเรื่อง “เสรีภาพ” ได้อย่างไร เมื่ออยู่ในโลกที่มนุษย์ถือว่ามีเสรีภาพในการเป็นตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพที่จะนับถือหรือทิ้งศาสนา
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าศาสนาจะยังไม่หายไปไหน ศาสนาอาจเปลี่ยนรูปแบบจากความจริงสูงสุด ความเชื่อ,พิธีกรรม กลายเป็นทางเลือก เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณมากกว่าเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ เพราะบางครั้งเหตุผลก็ไม่อาจให้คำตอบได้ทุกอย่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ศาสนาที่ทำหน้าที่แบบ “อำนาจนิยม” นับวันจะยิ่งหายไป
อำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในศาสนาพุทธไทย
เมื่อดูเหตุผลของการที่คนเลิกนับถือศาสนานั้นก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้ามองในโลกตะวันตกโดยหลัก ๆ แล้วคือการไม่เชื่อในพระเจ้ารวมถึงเรื่องเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ว่ามีอยู่จริง หรือที่เรียกว่า “อเทวนิยม” (Atheism) แต่การที่คนเลิกนับถือศาสนาก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นเอทิสต์อย่างเดียว โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งก็มีกลุ่มที่ไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติก็ส่วนหนึ่ง แต่บางส่วนก็ไม่ได้เลิกเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเสียทีเดียว
สำหรับคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นพุทธศาสนิกชน การที่เลิกนับถือศาสนาอาจหมายถึงการไม่นับถือศาสนาในวิธีเดิม ๆ อาจเลิกเชื่อหรือไม่เข้าร่วมในพิธีกรรม ไม่ศรัทธาในพระ ไม่เข้าวัดทำบุญ หรือไม่ทำตามจารีตประเพณีต่าง ๆ แต่ทว่าบางทีอาจยังมีความเชื่อในบางแนวคิดตามหลักพุทธอยู่บ้าง อย่างเช่นการเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม หรือกลุ่มที่เชื่อในเรื่องของโชคชะตา การดูดวง ซึ่งจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ “มูเตลู” ที่เติบโตขึ้นมากในสังคมไทยปัจจุบัน
ซึ่งคนกลุ่มนี้มีคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า SBNR หรือ Spiritual But Not Religious คืออาจเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติบางอย่างแต่ไม่นับถือหรือไม่สังกัดกับศาสนาใด
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ จริง ๆ แล้วคนไทยอาจไม่ได้มีปัญหากับตัวศาสนาพุทธเท่ากับอำนาจครอบงำที่มาพร้อมกับศาสนาพุทธแบบไทย ๆ โดยเฉพาะในระบบการศึกษา ถ้าเป็นเด็กนักเรียนไทยที่เคยเรียนในโรงเรียนรัฐก็อาจเคยประสบกับการถูกยัดเยียด ทั้งการเรียนหรือการทำกิจกรรมทางศาสนาที่ทางโรงเรียนนั้นบังคับให้ปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นการมีวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับในโรงเรียนในชั้นประถมและมัธยม
การบังคับทำกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่น การบังคับนั่งสมาธิคาบพระพุทธ, การบังคับไปค่ายปฏิบัติธรรม, การบังคับสวดมนตร์หน้าเสาธง, การบังคับให้ท่องจำ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการถูกบังคับให้ต้องทำ ซึ่งให้ความรู้สึกถูกกดทับและมีอำนาจน้อยลง ขณะที่การใช้ความรู้แบบยุโรป ๆ วิทยาศาสตร์ ๆ ทำให้เรามีอาจในการที่จะต่อต้าน, ถกเถียง, กบฏ ต่อผู้ที่ใช้อำนาจบังคับเรา
และสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาอำนาจนิยมคือ “สถาบันครอบครัว” การที่มีอำนาจนิยมเช่นนี้เหมือนที่ มิเชล ฟูโกต์ เคยกล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน”
การที่บังคับให้นักเรียนต้องปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เข้าร่วมฝึกฝนทางจิตวิญญาณนั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อใครเลยนอกจากชนชั้นปกครอง กลายเป็นการว่านั่งสมาธิที่เอาเข้าจริงแล้วมีประโยชน์หลายอย่าง และ มีผลการวิจัยรองรับ กลับกลายเป็นแผลทางใจของการถูกบังคับ ซึ่งนัยยะของการบังคับให้ต้องทำกิจกรรมทางศาสนาเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อสอนให้นักเรียนมีเครื่องมือทางจิตวิญญาณหรือได้ข้อคิดอะไรกลับไป แต่เป็นไปเพื่อตอกย้ำสถานะทางอำนาจที่เหนือว่าของ “พระ-ครู-พี่เลี้ยง-ระบบ” ที่จะคอยลงโทษหากไม่ประพฤติตามที่ระบบได้วางไว้
หลังจากจบค่ายที่ว่ามานักเรียนก็ยิ่งแปลกแยกออกจากศาสนา ศาสนาเองก็ยิ่งถอยห่างจากประชาชนไปแนบแน่นกับชนชั้นปกครองมากขึ้น ซึ่งการสอนศาสนาพุทธแบบอำนาจนิยมนี้เอง เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลให้คนไทยรุ่นใหม่เลิกนับถือศาสนาพุทธ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเหตุมาจากความรู้ความเข้าใจ, ข้อถกเถียงในระดับปรัชญา หรือ การเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นความรู้สึกของการต่อต้านการถูกกดทับด้วยอำนาจ จึงไม่แปลกที่คนๆ นึงสามารถจะมูไปด้วย ไม่มีศานาไปด้วย เชื่อในวิทยาศาสตร์ไปด้วยได้
ข้อมูลอ้างอิง
วารสารมานุษยวิทยาศาสนา ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (2566)
ธีม : เสรีภาพกับศาสนา (Freedom and Religion)
ในบทความ ที่ยืนอันจำกัดของคนไม่มีศาสนาในสังคมไทย
กันตพงศ์ งามวงสา (64-90)
https://drive.google.com/file/d/1v4AGfy_dOTrkzFQOSP8_3vOkAmj838__/view
แนวคิด
ปรัชญา
ศาสนา
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย