Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
FutureTales LAB by MQDC
•
ติดตาม
11 ก.ค. 2023 เวลา 10:04 • ธุรกิจ
The World in 2035
รู้หรือไม่? 11 กรกฎาคม คือ "วันประชากรโลก" (World Population Day)
วันนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักในประเด็นปัญหาของประชากรโลก เพื่อให้ประชาชนรู้จักการวางแผนครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถลดปัญหาความยากจน ลดปัญหาทางสังคม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันในหลากหลายมิติ
1. อายุขัยที่ยาวนานขึ้น สู่ชีวิตที่ใช้ร่วมกับเครื่องจักรกล (From Longevity to Human-Machine Coexisting)
1.1 ชีวิตยืนยาว (Increase in Longevity)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีบทบาทสำคัญในการยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้น จนเป็น “Silver waves” ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบันไปถึงอนาคต ภายในปี ค.ศ. 2030 มีการคาดการณ์ว่าตลาดเทคโนโลยีชีวภาพจะมีมูลค่าถึง 3.44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดหุ่นยนต์ทางการแพทย์จะมีมูลค่าถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดการตัดต่อพันธุกรรมจะทำรายได้สูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2035 ที่อัตราการเติบโตสะสมสูงถึง 21.2% ต่อปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023 - 2035 ทั้งนี้ การสวมใส่หรือติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัว (Wearable devices) และการนำวิทยาการข้อมูลมาใช้ จะทำให้สามารถติดตามและคาดการณ์สถานการณ์สุขภาพของบุคคลล่วงหน้าได้
มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ว่าในปี ค.ศ. 2035 มนุษย์หนึ่งคนอาจมีอุปกรณ์เชื่อมต่อถึง 16 ชิ้น อย่างไรก็ตาม อายุขัยที่ยืนยาวและอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ทำให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าอัตราส่วนระหว่างแรงงานผู้เสียภาษีกำลังเข้าสู่ภาวะไม่สมดุลกับจำนวนผู้ที่ต้องการใช้สวัสดิการรัฐหรือการดูแลจากคนวัยแรงงาน
ยกตัวอย่างเช่น จำนวนแรงงานในประเทศไทยที่กำลังจะลดลงถึง 11% ภายในปี ค.ศ. 2040 ทั้งที่สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลคิดเป็น 3.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เป็นต้น ทำให้รัฐบาลหลายประเทศประกาศยืดอายุการเกษียณงานของประชาชนออกไป เช่น จากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี เป็นต้น และปรับนโยบายการดูแลประชาชนให้สอดคล้องกับรายได้ของวัยแรงงาน รวมถึงออกมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะและศักยภาพต่อการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพตนเองได้ในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม: Extreme Scenarios for Human Life
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1400360557435481
อ่านเพิ่มเติม: 5 Innovations that are revolutionizing global healthcare
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1419201005551436
อ้างอิงจาก
Genome Editing Market Analysis
https://www.researchnester.com/reports/genome-editing-market/
Biotechnology Market Size to Worth Around US$ 3.44 Trillion by 2030
https://www.biospace.com/article/biotechnology-market-size-to-worth-around-us-3-44-trillion-by-2030/
Medical Robotics Market Size
https://www.globenewswire.com/news-release/2022/08/08/2494103/0/en/Medical-Robotics-Market-Size-Worth-USD-35-2-Billion-by-2030-at-21-3-CAGR-Report-by-Market-Research-Future-MRFR.html
The Internet of Things How the Next Evolution of the Internet Is Changing Everything
https://www.cisco.com/c/dam/en_us/about/ac79/docs/innov/IoT_IBSG_0411FINAL.pdf
THAILAND 2035: HORIZON SCANNING OVERVIEW
https://ippd.or.th/wp-content/uploads/2020/04/Thailand-2035-Horizon-Scanning-Overview-3.pdf
1.2 อีกขั้นของการพึ่งพาเทคโนโลยี (Technological Oases)
พัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ถูกต่อยอดและเข้ามามีบทบาทในหลายอุตสาหกรรม รวมไปถึงชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ ระบบโครงสร้างเครือข่ายสัญญาณ 6G ปัญญาประดิษฐ์ WEB 4.0
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสร้างประสบการณ์เหนือจริง (Extended reality / Immersive technologies) การรับประสาทสัมผัสผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of senses) เป็นต้น จะทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อประสบการณ์และการเดินทางระหว่างโลกกายภาพและโลกเสมือนได้อย่างไร้รอยต่อ เกิดเป็นการผนวกรวมตัวตนจริงและตัวตนดิจิทัลที่หลากหลายและลื่นไหลเข้าด้วยกัน ผู้คนในปี ค.ศ. 2035 ไม่จำเป็นต้องยึดโยงการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ หรือการผ่อนคลายกับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอีกต่อไป
นอกจากนี้ เทคโนโลยีภายในอาคารและที่พักจะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ปลอดภัย สะดวกสบาย มีสุขภาวะที่ดี และเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลมากขึ้น
การยกระดับจาก Internet-of-Things (IoTs) เป็น Internet-of-Behavior (IoB) และ Internet-of-Everything (IoE) มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 เครื่องพิมพ์สามมิติจะถูกขายไปในระดับครัวเรือนในการผลิตอาหารและยาเฉพาะบุคคล ในขณะที่ตลาดบ้านและสภาพแวดล้อมอัจฉริยะมีแนวโน้มเติบโตจาก 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2023 เป็น 6.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตสะสมปีละ 29.7% ในระยะคาดการณ์ปี ค.ศ. 2023 - 2030
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดหุ่นยนต์ที่เป็นเพื่อนกับมนุษย์ (Companion robots) เพื่อคลายความเหงา หรือเพื่อออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาร่างกาย สติปัญญา และสังคมของผู้ใช้งาน จะเติบโตจาก 7.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2021 เป็น 2.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2027 ที่อัตราการเติบโตสะสมปีละ 25.57% ในระยะคาดการณ์ปี ค.ศ. 2021 - 2027 และเริ่มมีการนำไปใช้ในทางการแพทย์และการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: 10 Futures from Now to 2030 EP. 2 [Robot as Co-Worker]
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1397007507770786
อ่านเพิ่มเติม: Metaverse Building Blocks | The Four Scenarios :
https://www.futuretaleslab.com/research/metaversebuildingblock
อ้างอิงจาก
Ambient Assisted Living And Smart Home Market Size
https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/ambient-assisted-living-smart-home-market-report
1.3 ความไม่แน่นอนของตลาดแรงงาน (Uncertain Workforce)
หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ตลาดงานไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งงานที่มีรูปแบบซ้ำเดิม งานที่ต้องใช้ข้อมูลวิเคราะห์ผลเพื่อตัดสินใจ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น มีความกังวลว่างานที่จะหายไปจากการถูดทดแทนโดยเทคโนโลยีจะมีมากกว่างานที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ประกอบกับแรงงานในอนาคตที่ไม่มีทักษะเพียงพอที่จะใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ จะกลายเป็นแรงงานที่ไร้ประโยชน์และตกงาน
รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานให้มีความพร้อมต่ออนาคต ทั้งทักษะงาน (Core competencies) และทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ (Soft skills) โดยไม่ควรจำกัดขอบเขตการทำงานให้อยู่เพียงแค่ภายในประเทศ แต่ควรส่งเสริมให้แรงงานเป็น Digital/Cloud workforce ที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้เพื่อนำรายได้เข้าสู่เศรษฐกิจภายในประเทศ มีการคาดการณ์ว่าผู้ที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Digital nomad) ที่เดิมมีจำนวน 35 ล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ. 2022 จะเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมากถึง 1 พันล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ. 2035
โดยพบว่า แรงงานศักยภาพสูงเหล่านี้มีมุมมองการเป็นประชาคมโลก (Global citizen mindset) ไม่ยึดติดกับประเทศไทยประเทศหนึ่ง ต้องการท่องเที่ยวหรือโยกย้ายไปใช้ชีวิตหลากหลายที่ และต้องการหลีกหนีความวุ่นวายจากความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่ากังวลว่า การยึดโยงตลาดแรงงานกับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในวงกว้างและในหลากหลายมิติ เช่น ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรในผลงานสร้างสรรค์ อคติของอัลกอริธึมในการดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ผลเพื่อการตัดสินใจ (Algorithmic bias) การพึ่งพา AI มากเกินไป เป็นต้น การผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้จึงควรมีมาตรการที่รัดกุมและรอบด้าน ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมที่ใช้ความเป็นมนุษย์ (Human touch) ให้เติบโตไปพร้อมกัน
อ่านเพิ่มเติม: Tech-Enabled Job Replacement and Advancement
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1440359033435633
อ่านเพิ่มเติม: Human-Robot Relationship
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1375073286630875
อ้างอิงจาก
The Future of Jobs Report 2023
https://www3.weforum.org/docs/WEF_Future_of_Jobs_2023.pdf
One billion workers could be digital nomads by 2035
https://www.talintinternational.com/one-billion-workers-could-be-digital-nomads-by-2035/
2. 1.5°C ตัวเลขสุดอันตรายที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมาย
การตั้งเป้าหมายควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีแนวโน้มเป็นจริงได้ยาก มีการคาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 66% ที่อุณภูมิเฉลี่ยโลกจะพุ่งสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงปี ค.ศ. 2023 - 2027 และยังอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2050
ปัจจุบัน พื้นผิวโลกได้เสื่อมโทรมลงไปแล้ว 40% และมีสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำมากกว่า 1 ล้านสายพันธุ์ (Species) กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกินขึ้นมาก่อนตลอด 10 ล้านปีที่ผ่านมา โดย 79% ของความเสี่ยงเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากกระบวนการการผลิตอาหาร การใช้ประโยชน์จากดินและทะเลของมนุษย์ (72%) การสร้างสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (29%) และระบบพลังงานและการทำเหมือง (18%)
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มชัดเจนว่าทั่วโลกจะต้องประสบภัยจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและถี่มากขึ้น โดยผลกระทบเหล่านั้นจะส่งผลสืบเนื่องกลับมายังคุณภาพชีวิต สภาพสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ว่าหากสถานการณ์ PM 2.5 และไนโตรเจนไดออกไซด์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในปี ค.ศ. 2035 จะมีผู้คนอย่างน้อย 2.5 ล้านคนเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งปอด เป็นต้น เนื่องจากปัญหาคุณภาพอากาศ
นอกจากนี้ ทุกองศาที่เพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกยังสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น 0.32 - 1.18% และสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.2% นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับความสูญเสียของการผลิตข้าวสาลีในภูมิภาคเอเชียใต้ถึง 4 - 5 ล้านตัน
มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี ค.ศ. 2030 - 2040 ศักยภาพการผลิตข้าวตามฤดูกาลของประเทศบังกลาเทศจะลดลงถึง 20% และทำให้ประเทศดังกล่าวประสบกับสภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารถึง 88% สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าจะมีคนมากกว่า 77 ล้านคนทั่วโลกประสบกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในปี ค.ศ. 2050 และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2040 จะมีประชากรเด็กทั่วโลกถึง 25% ที่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรง
สถานการณ์น้ำแข็งขั้วโลกในแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ที่กำลังละลายอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 1.5 และ 2.7 แสนล้านตันต่อปีกำลังทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างน้อย 97 มิลลิเมตรจากการประเมินในช่วงปี ค.ศ. 1992 - 2020 มีความกังวลว่าน้ำแข็งที่ละลายและกระจายไปในมหาสมุทรทั่วโลกเหล่านั้นอาจปนเปื้อนไปด้วยเชื้อโรคโบราณที่แต่เดิมเคยสูญพันธุ์ไปแล้ว และอาจกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในยุคนี้
และยังมีข้อกังวลว่าภายในปี ค.ศ. 2100 ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก 148 - 272 มิลลิเมตร จะส่งผลให้เมืองสำคัญในหลายประเทศทั่วโลกต้องจมน้ำ และทำให้ประชากรในเมืองเหล่านั้นไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป เป็นการยืนยันภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการคาดการณ์จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ยินยอมอันเนื่องจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยธรรมชาติที่จะมีจำนวนมากถึง 1.2 พันล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ. 2050
ปัจจุบัน ประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเกาะบอร์เนียวภายในปี ค.ศ. 2024 พร้อมกับการอพยพข้าราชการมากกว่า 1.5 ล้านคนไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่หนึ่งในสามของจาการ์ตากำลังจะจมน้ำภายในปี ค.ศ. 2050 เนื่องจากระดับน้ำจากทะเลชวาที่สูงขึ้น ประกอบกับปัจจุบัน อินโดนีเซียต้องเผชิญกับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศและปัญหาน้ำท่วม
อ่านเพิ่มเติม: Climate Refugee: Visa for Climate-Stressed Migrants
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/pfbid0UKiJtg6fFuaAkZrv3RVuCtAQE41xb9MP9g7DTgqJs2zzJ7Z23nG8N1PfzEFojCX3l
อ้างอิงจาก
Global temperatures set to reach new records in next five years
https://public.wmo.int/en/media/press-release/global-temperatures-set-reach-new-records-next-five-years
A dire forecast: Scientists used AI to find planet could cross critical warming threshold sooner than expected
https://edition.cnn.com/2023/01/30/world/global-warming-critical-threshold-climate-intl/index.html
Prospects for the World Economy in 2035
https://dash.harvard.edu/bitstream/handle/1/17370729/CooperEconomyin20352014.pdf?sequence=3&isAllowed=y
Dislocation and disruption: climate change in the Indo-Pacific in 2035
https://www.aspistrategist.org.au/dislocation-and-disruption-climate-change-in-the-indo-pacific-in-2035/
Climate and food security in 2035
https://www.aspistrategist.org.au/climate-and-food-security-in-2035/
Ice Sheets
https://climate.nasa.gov/vital-signs/ice-sheets/#:~:text=Antarctica%20is%20losing%20ice%20mass,adding%20to%20sea%20level%20rise
.
Greenland, Antarctica lost 7,560 billion tonnes of ice sheet mass in last 3 decades, accounted for quarter of global sea-level rise
https://www.downtoearth.org.in/news/climate-change/greenland-antarctica-lost-7-560-billion-tonnes-of-ice-sheet-mass-in-last-3-decades-accounted-for-quarter-of-global-sea-level-rise-88887
Estimating the costs of air pollution to the National Health Service and social care: An assessment and forecast up to 2035
https://doi.org/10.1371/journal.pmed.1002602
Why is Indonesia moving its capital from Jakarta to Borneo?
https://apnews.com/article/indonesia-capital-kalimantan-climate-borneo-environment-eb0f8ad12e07bb105546296d88192834
2.1 ทุกสายตาจับจ้องมองสีเขียว (All Eyes on Green)
ทั่วโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการปฏิวัติเขียว (Intense green revolution) หรือการให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตรรวมไปถึงการลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรจะเติบโตจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021 เป็น 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตสะสม 9.3% ต่อปีในระยะคาดการณ์ปี ค.ศ. 2021 - 2030 ประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เช่น ให้ความสำคัญกับการเดินมากกว่าการใช้ยานพาหนะ เป็นต้น ภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรมจะถูกคาดหวังให้แสดงออกต่อสาธารณะและเดินหน้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส เช่นเดียวกับภาครัฐที่จะไม่สามารถประวิงเวลาหรือสงวนท่าทีเกี่ยวกับการออกมาตรการหรือการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังได้อีกต่อไป
เช่น การเก็บภาษีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำสะอาดในภาวะขาดแคลนน้ำ การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Carbon footprint) การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เป็นต้น นอกจากนี้ การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบายและติดตามการดำเนินงานของรัฐด้วยเทคโนโลยี (GovTech) เช่น บล็อกเชนเพื่อการเลือกตั้ง รวมไปถึง AI Dashboard สำหรับติดตามสถานการณ์ภายในประเทศ เป็นต้น จะกลายเป็น ข้อเรียกร้องพื้นฐานจากภาคประชาชนในอนาคต
และเพื่อให้ทุกชีวิตสามารถมีชีวิตรอดต่อไปในวันข้างหน้า จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี เช่น การหาความมั่นคงทางอาหารใหม่ เช่น การปลูกพืชจากสวนแนวตั้งหรือสวนกลางเมือง การพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหาร การพัฒนาธัญพืช โปรตีนจากพืช และโปรตีนจากแมลงแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังต้องมีการแก้ไข บรรเทา และฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยพิบัติไปพร้อมกัน เช่น การนำความรู้วิศวกรรมธรณีไปใช้จัดการความร้อนจากแสงอาทิตย์ การฟื้นฟูชีวนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ การพัฒนาวัสดุชีวภาพอย่างภาชนะจากเห็ดรา อาคารจากขยะบีบอัด แสงไฟจากพืช แหล่งพลังงานจากสาหร่าย เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: Future of World Environment 2023 - 2025
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1346286026176268
อ่านเพิ่มเติม: Futures From Now to 2030: Culture of Preparedness
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1399274190877451
อ่านเพิ่มเติม: Marine Cloud Brightening
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1210447746426764
อ่านเพิ่มเติม:Green Is The New Brown, Making Desert Becomes Green Nature Sources
https://www.futuretaleslab.com/articles/greenisnewbrown
อ่านเพิ่มเติม: Environmental Personhood
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1364347997703404
อ้างอิงจาก
Global Agricultural Biotechnology Market 2021-2030
https://www.researchandmarkets.com/reports/5450127/global-agricultural-biotechnology-market-2021
3. โลก-เชื่อมโยง-แตกแยก (Hyperconnected Fragmented World)
ปี ค.ศ. 2035 จะเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่ทั่วโลกต่างจับกลุ่มเพื่อหาพันธมิตรและแสวงหาผลประโยชน์จากกันและกัน ในขณะเดียวกันก็หวาดระแวงและช่วงชิงความได้เปรียบซึ่งกันและกันไปด้วย
สภาวการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่การจัดโซนหรือ “บล็อก” ทางการเมือง ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจ หรือด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค หลายประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย จะพยายามช่วงชิงความเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม 5.0 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับกระบวนการผลิต เป็นต้น และในช่วงเวลานี้เอง จะเป็นเวลาที่หลายประเทศจำเป็นต้องเลือกว่าจะขับเคลื่อนต่อไปในรูปแบบใด ระหว่างรัฐบาลหลายพรรคการเมืองหรือเผด็จการนิยม (Pluralism vs. Totalitarianism)
การเฝ้าระวัง (Surveillance) และประเด็นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เช่น การก่อการร้ายทางไซเบอร์ (Cyber-terrorism) สงครามทางไซเบอร์ (Cyber-wars) รวมไปถึงการก่อสงครามด้วยอาวุธอัตโนมัติ (Autonomous wars) จะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญในอนาคต
มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมทางไซเบอร์จากเดิม 8.44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2022 จะพุ่งสูงถึง 23.84 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2027 การเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ
และยังมีการคาดการณ์อีกว่าปริมาณการซื้อขายของหุ้นในตลาดการให้บริการความมั่นคงทางไซเบอร์จะเติบโตขึ้นจาก 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2023 เป็น 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2028 ที่อัตราการเติบโตสะสมปีละ 9.63%
นอกจากนี้ มีแนวโน้มชัดเจนว่าความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่เป็นพันธมิตรกับจีนหรือสหรัฐอเมริกาจะต้องตัดสินใจเลือกซื้อขายและใช้งานระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของขั้วอำนาจใดขั้วอำนาจหนึ่ง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงควบคู่กับความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นคู่ค้า
มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจตั้งแต่ปี ค.ศ. 2030 เป็นต้นไป จะยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูง ส่งผลให้ทั่วโลกมีความเสี่ยงและต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเงินเฟ้อ ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคแบบการเพิ่มมูลค่า (Value-added consumerism)
อีกทั้งศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ยจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษที่ 2.2% ต่อปีจนถึงปี ค.ศ. 2030 เงินดอลลาร์อาจเฟ้อขึ้นถึง 3.08% ต่อปีนับตั้งแต่ ค.ศ. 2022 - 2030 ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 27.49% ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตก อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ การขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและระบบการปกครอง และภาวะความไม่สงบในสังคม (Social unrest)
มีการคาดการณ์ว่าสถานกาารณ์ความเหลื่อมล้ำโลกในปี ค.ศ. 2035 อาจเลวร้ายถึงขั้นที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) ให้มากกว่า 5% ได้เลย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ซึ่งยังทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีอัตราการเกิดของประชากรอย่างต่อเนื่อง เช่น เอเชียใต้อย่างอินเดีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา จะกลายเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองและเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความพยายามในการสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่และเศรษฐกิจทางเลือก (Alternative economies) เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพื่อตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน
มีการคาดการณ์ว่าผู้คนในอนาคตจะยิ่งมองหาความมั่งคั่งและความมั่นคงรูปแบบอื่นนอกเหนือจากเงินที่ผลิตโดยรัฐบาล การจัดการสินทรัพย์โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล ไปจนถึงการยินยอมขายข้อมูลส่วนตัวเพื่อสร้างรายได้หรือแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ (Personal data economy) เป็นต้น
ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลในอนาคตจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวทางการกำกับดูแลเศรษฐกิจทั้งในเชิงกฎหมาย นโยบาย และการคิดภาษีรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบดำเนินการ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคกลุ่มมุสลิม ซึ่งจะกลายมาเป็นอีกกลุ่มตลาดที่น่าจับตามองในอนาคต สนับสนุนให้เกิด “Open-source Prosumers” หรือการให้ผู้คนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงให้การสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมต้นทุนต่ำ (Frugal innovation) ให้เกิดขึ้นได้จริงในระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางเติบโตก้าวหน้า
อ่านเพิ่มเติม: Future of World Politics 2023 - 2025
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1348569409281263
อ่านเพิ่มเติม: Future of World Economy 2023 - 2025
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1363049844499886
อ่านเพิ่มเติม: How World War Would Change Our Lives
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1141109516693921
อ่านเพิ่มเติม: Reglobalization: Three Miracles to Create a Preferable Future
https://www.futuretaleslab.com/articles/reglobalization
อ้างอิงจาก
World Bank warns of 'lost decade' in global growth without bold policy shifts
https://www.reuters.com/markets/world-bank-warns-lost-decade-global-growth-without-bold-policy-shifts-2023-03-27
Prediction: Value of $1,000,000 from 2022 to 2030
https://www.officialdata.org/us/inflation/2022?endYear=2030&amount=1000000&future_pct=0.03#:~:text=The%20dollar%20had%20an%20average,assumption
Global Trends to 2035 Economy and Society
https://www.europarl.europa.eu/RegData/etudes/STUD/2018/627126/EPRS_STU(2018)627126_EN.pdf
THAILAND 2035: HORIZON SCANNING OVERVIEW
https://ippd.or.th/wp-content/uploads/2020/04/Thailand-2035-Horizon-Scanning-Overview-3.pdf
Cybercrime Expected To Skyrocket in Coming Years
https://www.statista.com/chart/28878/expected-cost-of-cybe
3.1 อวกาศ-ช่วงชิง-ดินแดน-ผลประโยชน์ (Space Race)
วิวัฒนาการในการทำสงครามที่พัฒนาจากสงครามรบพุ่งเป็นสงครามไซเบอร์และสงครามการค้าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ในอุตสาหกรรมเดิม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ แต่จะขยับเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันทางอวกาศ การแย่งชิงเพื่อยึดครองและอ้างสิทธิเหนือทรัพยากรที่ไม่มีบนโลก
เช่น การทำเหมืองบนอวกาศ (Space mining) จะกลายเป็นความท้าทายใหม่ของมนุษยชาติ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อการย้ายถิ่นฐานหรือการสร้างอาณานิคมต่างดาวแล้ว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศยังจะกลายเป็นแต้มต่อทางวิทยาการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนบนโลกและเป็นจุดแข็งใหม่ทางเศรษฐกิจ เช่น จรวดติดอาวุธไร้คนขับ ดาวเทียมสอดแนมห่วงโซ่อุปทาน เครื่องบินเร็วเหนือเสียง เป็นต้น
ปัจจุบันมีดาวเทียมมากกว่า 7 หมื่นดวงที่กำลังตั้งกำหนดการปล่อยตัวขึ้นสู่วงโคจร โดยเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2022 พบว่ามีการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private equity) เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศมากถึง 2.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐใน 1,791 บริษัท สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนโดยรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก
เช่น สหรัฐอเมริกาจัดสรรงบประมาณมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการลงทุนในอวกาศเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (US National Security Space investment) ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี ค.ศ. 2022 ถึง 19.5% เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอวกาศโลกซึ่งเดิมมีมูลค่า 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2020 จะเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2040 ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยทบต้นปีละ 8.5%
อ่านเพิ่มเติม: Signals of Change: Futures of Space Movement 2060
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1414881922650011
อ่านเพิ่มเติม: Ep.3 A World Waiting for Generation Beta in 2050
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1291423181662553
อ่านเพิ่มเติม: Commercial Imagery (Spy) Satellite, Business Opportunity or Security Threat?
https://www.futuretaleslab.com/articles/spysatellite
อ้างอิงจาก
The future of space: It’s getting crowded out there
https://www.mckinsey.com/featured-insights/the-next-normal/space
Riding the exponential growth in space
https://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/aerospace-defense/future-of-space-economy.html
Global Space Economy Market Analysis: COVID-19 Impact and Forecast up to 2026
https://ts2.space/en/global-space-economy-market-analysis-covid-19-impact-and-forecast-up-to-2026
An aerospace engineer explains what makes China’s new hypersonic missiles such a threat
https://www.fastcompany.com/90901362/an-aerospace-engineer-explains-what-makes-chinas-new-hypersonic-missiles-such-a-threat
ข่าวรอบโลก
ประชากรโลก
การใช้ชีวิต
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย