12 ก.ค. 2023 เวลา 01:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Asteroid City

Review Part 2
คนเราจะไม่สามารถตื่นได้ ตราบใดที่ยังไม่พลอยหลับ
เป็นประโยคที่เป็น key sentence ของเรื่องนี้ และคงจะเป็น Moral of the story ที่ผู้กำกับต้องการที่จะสื่อ
การที่ตัวหนังมีการอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่องว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงละครเวที เป็นการบอกแบบกลายๆ ว่าอย่าดูแบบซีเรียสขนาดนั้น และทุกอย่างรวมทั้งภาพยนตร์ก็เป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น สิ่งนี้อธิบายได้ด้วยหลักของ Hyperreality หรือเป็นปรากฎการณ์ที่ข้อมูลที่ส่งผ่านตัวกลางให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่าหรือพอๆ กับการที่ได้อยู่กับเหตุการณ์จริง ในภาพยนตร์ก็คือการที่สร้างความจริงเสมือนผ่านสายตาผู้ชมอีกที
ว่ากันตามตรงแล้วทุกตัวละครเพียงแค่พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พ่อที่ต้องการปลอบลูก คุณตาที่เป็นห่วงหลาน ทหารที่เพียงแค่ทำตามคำสั่งรัฐบาล วัยรุ่นที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง คุณครูที่พยายามดูแลนักเรียน หรือแม้แต่นักเขียนที่พยายามคิดบทออกมาให้ดีที่สุด
ทุกตัวละครมาอยู่ในสถานที่เดียวกันและเผชิญ point of no return ในเหตุการณ์ร่วมกันและพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถึงแม้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องแต่งที่แสดงบนเวทีแต่ก็จริงอย่างถึงที่สุด เพราะว่าถ้าใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปแล้ว hyperreality ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ในใจผู้ชมอย่างง่ายดาย
ประโยคที่เป็นหัวข้อนั้น หากได้รับชมภาพยนตร์มาแล้วก็จะรู้ทันทีว่ามีการย้ำถึงประโยคนี้มากๆ เหมือนกับพยามทำให้บทสรุปของทุกอย่างเป็นไปดังประโยคนี้ กลายเป็นว่าต้องมานั่งคิดทบทวนว่าผู้กำกับต้องการจะสื่ออะไร บางทีอาจจะไม่ต้องคิดมากเพราะจริงๆมันเป็นเพียงคำตอบที่ตัวละครหลักของเรื่องกำลังตามหาอยู่ก็เท่านั้น เสน่ห์ของ hyperreality ก็คือถึงแม้ว่า art direction จะดูมีความห่างจากความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน วิธีการเล่าเรื่องที่เป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์ และละครเวที ก็จะทำให้ทุกอย่างที่เห็นดูเกิดขึ้นจริงได้ทั้งหมด
ภาพยนตร์แนวนี้กับอนิเมชั่นมีส่วนที่เหมือนกันก็คือ story board ที่ชัดเจนจะทำให้กระบวนการสร้างมีความสมบูรณ์แบบและควบคุมได้ และการที่ระหว่างดูภาพยนตร์แล้วในขณะเดียวกันก็นึกถึงการสร้างเบื้องหลังที่มีความเฉพาะตัวก็เป็นเสน่ห์ที่มีภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่สามารถให้ผู้เขียนได้จริงๆ เพราะกระบวนการสร้างภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในความสนใจของผู้เขียนด้วย เพราะสิ่งที่ยากกว่าการสร้างภาพยนตร์ ก็คือการสร้างภาพยนตร์และยังมีคนแนะนำให้ดูในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าจนกลายเป็นที่จดจำในทางที่ดี
สิ่งที่ผู้กำกับได้พัฒนาขึ้นมาเทียบกับผลงานก่อนหน้า ก็คือการทำให้ตัวละครมี moment ในชั่วขณะหนึ่งเป็นของตัวเอง การสื่อสารผ่านทางอารมณ์มีส่วนช่วยในการเข้าใจตัวละครเมื่อเทียบกับการมีแต่การกระทำออกมา สิ่งนี้ผู้เขียนอาจจะนึกไปเองก็ได้ แต่ก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ โดยเฉพาะตัวละครของผู้เป็นพ่อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในผู้กำกับในตำนาน ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนอย่างมากทั้งในช่วงของละครเวทีและฉากเบื้องหลัง
ในองค์ที่สามของภาพยนตร์นั้น ทุกอย่างก็คือ Chaos ที่ค่อยๆ สะสมและพร้อมที่จะระเบิดตลอดเวลา การสร้าง surprice element ในหลายๆ ครั้งทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตามต่อไปจากการทิ้ง foreshadow ในองค์ก่อนๆ แม้ว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นในบทละครเวทีจะจบลงเช่นไร บางทีการออกมาพักแล้วคิดด้วยเหตุผลหลังจากที่มีการปะทุทางอารมณ์ก็สามารถสร้างฉากจบที่ดีกว่าเดิมได้ สำหรับคนที่ได้รับชมมาแล้วก็คงจะรู้ว่าหมายถึงอะไร
บางทีบทสรุปอาจจะไม่สำคัญเท่าเส้นทางที่ได้เดินมาด้วยกันกับตัวละคร ถึงแม้ว่าจะไม่รู้ภูมิหลัง แต่ว่าอารมณ์และการกระทำในช่วงจังหวะสถานการณ์ร่วมกันก็เป็นสิ่งที่บอกว่าแต่ละตัวละครให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด ซึ่งจุดนี้ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ได้ดี บทภาพยนตร์ทำให้ตัวละครแต่ละตัวมีเอกลักษณ์ที่สูงจนเมื่อกลับมาดูอีกรอบคุณจะรู้ทันทีว่าแต่ละตัวละครเป็นคนแบบไหน ถึงแม้จะเป็นตัวประกอบของตัวละครรองอีกทีก็ตาม
โฆษณา