Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Tell Me Yours
•
ติดตาม
11 ก.ค. 2023 เวลา 15:08 • หนังสือ
ฉันแข็งแกร่งพอที่จะเชื่อความคิดของตัวเอง
หลายคำถามสำคัญในชีวิต มักเป็นคำถามที่ไม่ว่าเราจะค้นหาข้อมูลมากแค่ไหน หรือถามผู้เชี่ยวชาญอีกกี่คนก็คงไม่ได้คำตอบ “เพราะมันไม่มีคำตอบตายตัว”
คำถามที่ไม่มีถูกมีผิด ค้นหาข้อมูลไปก็เสียเวลาเปล่า สิ่งที่ทำให้ได้คำตอบคือ “คิด” และ “แสดงความคิดเห็น” ต่างหากล่ะ ขอยกตัวอย่างคำถามเหล่านี้ตามปกหนังสือเลยแล้วกัน
“ฉันควรเรียนต่อสาขาอะไร”
“เราควรมีลูกกันเมื่อไหร่”
“ผมควรลาออกตอนนี้หรือรอไปก่อนดี”
มันก็คงไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดใช่ไหมล่ะ ขึ้นอยู่กับ condition ส่วนตัวของแต่ละคน
Chikirin เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้เรามองเห็นความสำคัญของการแสดงความคิดเห็น และกล้าแสดงความคิดเห็นออกมา
หลายครั้งเราเองก็เผลอคิดไปว่าตัวเองก็ได้แสดงความคิดเห็นออกมาแล้วนี่นา แต่สิ่งที่ทำบางทีอาจเป็นเพียงการตอบสนองเท่านั้น แยกกันยังไงน่ะหรอ
“การแสดงความคิดเห็น” จะทำให้เรารู้จุดยืนของผู้พูดได้อย่างชัดเจน เช่น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อยู่ฝ่ายซ้ายหรืออยู่ฝ่ายขวา
แต่หากฟังแล้วก็ยังไม่รู้จุดยืนที่แท้จริง ต่อให้คำพูดจะดูสวยหรูมีหลักการ หรือแม้แต่ดูฉลาดมากแค่ไหน นั่นก็เป็นเพียง “การตอบสนอง”
ไม่แปลกที่คนเรามักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น เพราะการแสดงความคิดเห็นมันทำได้ยากกว่า
เริ่มจากต้องรู้จักเข้าใจตัวตนของตัวเอง ต้องผ่านกระบวนการคิด และหาวิธีที่ถนัด เพื่อแสดงจุดยืนนั้นออกไป (นี่ยังไม่นับรวมความกล้าที่จะก้าวข้ามความกลัวว่าตัวเองจะคิดผิดอีกนะ ซึ่งไม่ต้องกลัวมากจนเกินไป ตราบใดที่มันคือความคิดเห็น มันก็ไม่มีถูกมีผิด)
แต่การตอบสนองนั้นทำได้ง่ายกว่ามาก โดยเฉพาะในยุค social media แบบนี้ ที่ช่วยให้เราตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่าแทบจะไม่ต้องใช้ความคิดเลย อย่างการกดไลค์ ส่งสติ๊กเกอร์ แม้กระทั่งการคอนเมนท์
หลายครั้งคนที่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง กลับกลายเป็น “เป้านิ่ง” ที่รอทัวร์มาลงเสียอีก บางคนแค่เข้ามาตอบสนองโดยไม่แสดงจุดยืนของตัวเองด้วยซ้ำ คอมเมนท์เหล่านี้มักมาในรูปแบบ
- อย่าเหมารวมสิ
- เป็นไปไม่ได้
- แสดงหลักฐานออกมา
- หรอ แบบนั้นไม่ถูกนะ
- ฉันว่าคุณยังไม่เข้าใจ
- ทำไมถึงมีความคิดแบบนั้น
- ถ้ายังไม่เห็นข้อมูล ก็พูดอะไรไม่ได้หรอกครับ
อ่านคอมเมนท์เหล่านี้แล้ว ก็ยังไม่รู้จุดยืนของผู้พูดเลยใช่ไหมคะ เพราะเขาแค่เข้ามา “ตอบสนอง” เท่านั้น
ลองจินตนาการดู ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แบบไหน ไม่ว่าคุยกันเรื่องอะไร ก็สามารถตอบสนองออกมาด้วยคอมเมนท์พวกนี้ได้ โดยไม่ต้องอ่านโพสเลยด้วยซ้ำค่ะ เพราะมันแทบจะไม่ต้องใช้ความคิด
—————————
เราว่าน่าสนใจนะและคงเป็นประโยชน์กับตัวเองที่จะฝึกคิด ฝึกแสดงความคิดเห็นกับเหตุการณ์ต่างๆที่พบเจอบ้าง
เริ่มจากเรื่องสำคัญในชีวิตของตัวเองก็ได้
บางคนไม่ชอบคิดเลย แม้จะเป็นเรื่องของตัวเองก็ยังให้น้ำหนักความคิดเห็นจากคนอื่นมากจนลืมไปว่า มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น ต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อนสนิท หรือดารานักแสดงอีกกี่คนมาตอบ มันก็เป็นเพียงความคิดเห็นอยู่ดี (แต่พอเป็นความคิดเห็นจากคนมีชื่อเสียง เราก็ทึกทักไปเองว่ามันดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่า)
แล้วเรื่องสำคัญในชีวิตของตัวเอง เราจะไม่อยากลองคิดหาคำตอบด้วยตัวเองหรอ คนที่รู้ดีที่สุดน่าจะเป็นเรานี่นา
อย่างเหตุการณ์ที่หมอต้องการความคิดเห็นจากตัวผู้ป่วยหรือญาติในเรื่องสำคัญ เช่น การตัดสินใจผ่าตัด ตัดสินใจให้ยาคีโม บ่อยครั้งคนไข้และญาติเองมักบอกว่า “แล้วแต่หมอเถอะ” เพราะคิดว่าหมอเก่งกว่า รู้มากกว่า น่าจะตัดสินใจได้ดีกว่า
แต่จริงๆมันไม่มีคำตอบที่ถูกเลย เป็นเพียงทางเลือกในการรักษา ขึ้นอยู่กับความพร้อมของญาติและตัวผู้ป่วยเอง ที่รู้ดีที่สุดว่าวิธีไหนเหมาะกับชีวิตของตัวเอง เราจะอยากให้หมอ(คนอื่น)มาตัดสินใจแทน แล้วแบกรับภาระที่ตามมาจากการตัดสินใจนั้นไว้กับตัวเองจริงๆหรอ
———————-
พิมพ์มาซะยาวเหยียด สุดท้ายแล้วบางคนอาจจะบอกว่าอยากแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ถนัดเขียนไม่ถนัดบรรยาย จริงๆการแสดงจุดยืนเพื่อสร้างตัวตนและเพิ่มความโดดเด่นให้ตัวเองมีหลายรูปแบบมาก ลองหาวิธีที่ถนัดแล้วออกมาแสดงตัวตนของตัวเองกันเถอะ
ตัวอย่างวิธีที่ Chikirin แนะนำ
- คำพูด
- การเขียน
- การเล่าเรื่อง
- บทกวี
- การแสดง
- รูปถ่าย
- ภาพวาด
- ทำนอง เพลง จังหวะ
- เสียงเครื่องดนตรี
- เสียงมนุษย์
- ร่างกาย (เต้น เล่นละคร ออกกำลังกาย)
- ภาพเคลื่อนไหว
- อาหาร
- โปรแกรม
- สิ่งประดิษฐ์
- ธุรกิจ
- พฤติกรรม
“ความคิดเห็นนั้นไม่มีถูกมีผิด มีแต่คนที่แข็งแกร่งพอเท่านั้นที่จะกล้าพูดมันออกไปอย่างมั่นใจ”
รีวิวหนังสือ
แนวคิด
หนังสือ
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย