12 ก.ค. 2023 เวลา 05:11 • ประวัติศาสตร์

โหราศาสตร์ยูเรเนียนตามแนวทางสำนักโหราศาสตร์ฮัมบวร์ก

รีวิวและวิพากษ์หนังสือ:โหราศาสตร์ยูเรเนียนตามแนวทางสำนักโหราศาสตร์ฮัมบวร์ก ของหมอมาร์ค
หนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วเหมือนได้นั่งคุยนักโหราศาสตร์สำนักฮัมบวร์ก ได้คลี่คลายข้อสงสัยที่มีมาช้านาน เนื้อหาโหราศาสตร์ยูเรเนียนมักย่อยยาก เมื่อเทียบกับโหราศาสตร์แขนงอื่น เพราะต้องมีองค์ความรู้ทางด้านเรขาคณิต คณิตศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา สังคมศาสตร์ และ สารพัดศาสตร์แขนงอื่น
อาจารย์ที่ถ่ายทอดในไทย ก็มีแนวทางสอนการถ่ายทอดที่แตกต่างกันไป บ้างเน้นที่ปัจจัยโดด การใช้เรือนชะตา การอ่านชะตา การใช้มุมสัมพันธ์แบบสากล บ้างเน้นที่มุมสัมพันธ์ 45 องศา ตามแบบจานคำนวณ 360 และ 90 องศาที่พัฒนาแต่เริ่มแรก ไปจนถึง 22.5 ที่พัฒนาสมัยหลัง ตลอดจนถึงทุกองศาล้วนสำคัญ
ทำให้ผู้มาทีหลัง ที่มีการเรียนการแลกเปลี่ยนจากหลายๆสำนัก เกิดความไม่แน่ใจว่า ต้นฉบับแต่ดั้งเดิมนั้นเป็นอย่างไร
หนังสือเล่มนี้จึงสามารถตอบข้อสงสัยได้ในระดับที่น่าพอใจ
ผู้แปลและเรียบเรียงมีประสบการณ์ตรงด้านโหราศาสตร์ยูเรเนียน รวมถึงเป็นผู้พัฒนาโปรแกรมผูกดวงชะตาในระบบนี้ จึงมีความรู้ความเข้าใจศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้เป็นอย่างดี ได้ใช้ความอุตสาหะในการแปล เรียบเรียงและขยายความ(ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก) จากต้นฉบับภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ ให้เป็นภาษาไทย แม้จะย่อยไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านโหราศาสตร์ยูเรเนียนมาบ้าง
คำถามสำคัญของนักศึกษาโหราศาสตร์ส่วนมากที่มีซิกเซ้นท์จำกัด คือ ความอยากรู้ว่าว่าปัจจัยฟากฟ้าใด (จะเรียกว่าพระเคราะห์ ดาว จุดเจ้าชะตา หรืออื่นๆ) จะแสดงผลในช่วงเวลาใด ในเรื่องราวใด อีกนัยหนึ่งนักศึกษาโหราศาสตร์กลุ่มนี้ รวมถึงตัวข้าพเจ้า ต้องการระบบโหราศาสตร์ที่พิสูจน์ถูกผิดได้จริง เพื่อคัดทิ้งหลักการที่ใช้ไม่ได้ผล และเพื่อต่อยอดหลักการที่ใช้ได้ ให้เหมาะกับสภาพสังคมแวดล้อม และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโหราศาสตร์ยูเรเนียน เป็นศาสตร์พยากรณ์แขนงหนึ่งที่สามารถทำงานนี้ได้ดี
แล้วโหราศาสตร์ยูเรเนียนคืออะไร
ข้าพเจ้าลองใช้องค์ความรู้ที่อ้างอิงจากหนังสือเล่มนี้ ประกอบกับข้อคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวนำมาอธิบายได้ดังต่อไปนี้
Udo Rudolph ผู้สืบทอดโหราศาสตร์สำนักฮัมบวร์ก ให้คำจำกัดความ โหราศาสตร์ยูเรเนียน ด้วยสูตรพระเคราะห์สนธิว่า
มฤตยู+อาพอลลอน-ฮาเดส = เทคนิค + ประสบการณ์ + ของเก่า
รวมความแล้วโหราศาสตร์ยูเรเนียน ไม่ใช่ทฤษฎีที่คิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการรวบรวมเทคนิคการพยากรณ์โหราศาสตร์ของนักโหราศาสตร์รุ่นเก่า อย่างน้อยตั้งแต่ยุคกลางของยุโรป ไปจนถึง ยุคกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นเทคนิค ที่นักโหราศาสตร์ร่วมสมัยได้ละเลย หรือลืมเลือน ไปแล้ว (หน้า25)
ประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ยังบ่งบอกว่า ในการตีความ หรือแปลความหมาย และการออกแบบคำพยากรณ์ ต้องอิงกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่หน้างาน บริบทสังคม สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นร่วมสมัย ไม่สามารถกำหนดคำพยากรณ์ที่แน่นอนตายตัวที่ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะที่ยังมิได้รับการพิสูจน์ทดสอบ
ฉะนั้นในการบรรจุคำพยากรณ์ใน Rule Book ช่วงแรกๆจะอิงกับผลการทดสอบค้นคว้า ก่อนที่จะมาเพิ่มเติมความหมายเชิงปรัชญาของโหราศาสตร์ยุคโบราณ ในภายหลังที่กระทำโดย Hermann Lefeldt ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ในปี1946 ได้มีการรวมความหมายดาวพลูโต และดาวทิพย์อีก 4 ดวง ของ Seiggruen ที่มีการตีความโดย Lefeldt เอง
ดังนั้นหากต้องการหางานที่เป็นต้นแบบของ Witte จริงๆควรหาฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 1-3 ราวปี1928-1932 มาอ่าน ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน!
แล้วอะไรคือเทคนิคของเก่าที่โหราศาสตร์ยูเรเนียน นำมาใช้
1.หลักการสมมาตร (หน้า2-5, 74-77) นำมาจากหลักการทฤษฎีการสะท้อน Antiscia-Contracia ที่ว่าด้วยการสะท้อน ของปัจจัยฟากฟ้าบนเส้นระวิมรรค ที่มีความห่างจากจุด Equinox เท่ากัน หลักการนี้ใช้กันตั้งแต่ยุคต้นของคศต.จนถึงยุคกลาง ในเรื่องของ Arabian Part ที่รู้จักกันดี คือ Part of Fortune หรือ จุดองคลาภ
ซึ่งพัฒนามาเป็นศูนย์รังสี สำหรับ 2 ปัจจัย ซึ่งหมายถึงจุดกึ่งกลาง (จุดสะท้อน) ของสองปัจจัย ที่เรียกว่าMidpoint ทางเรขาคณิตมีตำแหน่งเดียวตรงจุดกึ่งกลาง 2 ปัจจัยที่มีง่ามมุมแคบ หรือ Halfsum ทางคณิตศาสตร์ที่มี 2 ตำแหน่งที่เป็นจุดกึ่งกลางทั้งมุมกว้าง-แคบ รวมถึงจุดอิทธิพล (Sensitive point) ที่กำหนดโดย 3 ปัจจัย บนหลักการเดียวกัน
หน้า 7 มีการอธิบายถึงศูนย์รังสี และจุดกึ่งกลาง ที่ซับซ้อน และอิงปรัชญา มากเกินไป
2. การพยากรณ์จรตามอายุขัยโดยใช้ โค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc Direction) (หน้า172-187) อาทิตย์โคจร 1วัน เท่ากับอายุขัยมนุษย์ 1ปี ซึ่งเป็นเทคนิคที่พัฒนามาจาก Primary Direction ในตำรา Tetrabiblos ของ Ptolemy
นอกจากนี้ยังมีการใช้ดาวทิพย์ 4ดวง ของ A.Witte (คิวปิโด ฮาเดส เซอุส โครโนส ใน หน้า11-15) และอีก 4 ดวง ของ F.Sieggrun (อาพอลลอน แอดเมตอส วัลคานุส โพไซดอน ใน หน้า16-20) ซึ่งถือเป็นภาคประสบการณ์ของสำนักนี้ที่สร้างสรรค์ขึ้นจนเป็นเอกลักษณ์ช่วยขยายขอบเขตการพยากรณ์ความหมายได้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น
อันที่จริงดาวทิพย์ (Trans-Plutonian) หรือพระเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลที่อยู่เลยพลูโตออกไป ในระยะที่เรียกว่าแถบวงแหวน Kuiper belt ในสมัยนั้นยังเชื่อกันว่า สามารถค้นหาและระบุระยะทาง-อัตราโคจรด้วยสมการคณิตศาสตร์ – ฟิสิกส์ แต่การที่ดาวทิพย์ทั้ง 8 ดวงไม่มีค่า Declination (ตำแหน่งบนเส้น Celestial equator ที่ทำให้เกิดการปัดเหนือ-ใต้ จากเส้นระวิมรรค) บ่งบอกว่าดาวทั้ง8ดวงไม่ได้มีอยู่จริง
โดย Witte อาศัยวางตำแหน่งดาวที่คิดค้นในดวงชะตา ณ วันเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ โดยดาวคิวปิโด เป็นดวงแรกที่คิดค้นขึ้นมาจากงานแต่งงาน ส่วนอีก 4 ดวงที่ F.Sieggrun คิดขึ้น ไม่ได้รับการยอมรับจาก A.Witte ก่อนที่จะยอมนำมารวบรวมไว้ใน Rule Book ฉบับพิมพ์ปี 1946 (หน้า118) ว่ากันว่าถึงขั้นทำให้ F. Sieggrun ลดบทบาทในกลุ่มลง (อ้างจาก Michael Feist หลาน U.Rudolph ผู้สืบทอดสำนักฮัมบวร์ก)
น่าสังเกตว่า คิวปิโด (ตามๆกัน) เซอุส(นำฝูง) ฮาเดส (เสื่อม) โครโนส(สูง) เป็นความหมายที่ใช้ได้ดีในการขยายความในสังคมการเมืองเวลานั้น ขณะที่อีก 3 ดวงที่เหลือ อาพอลลอน(เพิ่มขึ้น ) แอดเมตอส(ลดลง) วัลคานุส(พลังสสาร) โพไซดอน(พลังทางจิต) มีความหมายไปในทางนามธรรม พิสูจน์ถูกผิดได้ยาก และซ้ำซ้อนกับความหมายดาวเคราะห์ ที่มีมาก่อนหน้า ได้แก่ ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวเนปจูน ก่อนที่จะได้รับการยอมรับในเวลาต่อมาจากนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนในยุคหลัง
เนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วน
หน้า21 เรื่อง ความเชื่อมโยงระหว่างขั้ว/ด้านตรงข้าม กับ ระบบเหตุผล เป็นการอธิบายวิธีออกแบบคำพยากรณ์ของคนสมัยนั้น ที่นิยมการตีความดาวเคราะห์ ทั้งดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ที่มีอยู่เดิม รวมถึงดาวทิพย์ 8 ดวง ด้วยคุณสมบัติที่ตรงข้ามกันตามทฤษฏีของคู่ (Dualism) ว่าด้วยการประทะสังสรรค์ของสองปัจจัยที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกัน ที่ตะวันตกเรียกว่าวิภาษวิธี (Dialectic)
เป็นวิธีที่มีมาแต่โบราณในหลายลัทธิศาสนาและปรัชญาบนโลก ทั้งหยิน-หยางของจีน ปฏิปุจฉาของ โสเครติสหรือแม้แต่พระพุทธเจ้า แนวคิดทางสายกลางของนาคารชุน ไปจนถึงความคิดจิตนิยมเชิงประวัติศาสตร์ของเฮเกล และสสารนิยมของคาร์ล มากซ์ ที่นักโหราศาสตร์นำปฏิสัมพันธ์ พฤหัส/เสาร์ มาอธิบายวัฏจักรต่างๆของสังคมมนุษย์ ที่ไม่มีพลังใดสามารถดำรงอยู่อย่างถาวร มักถูกท้าทายด้วยพลังใหม่ และพลังใหม่ถูกท้าทายโดยพลังที่ใหม่กว่าต่อไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น
หน้า25 ตัวเลขกำเนิดกับความสมมาตร 360 องศา ภาพประกอบที่เป็นซีรีย์ของจำนวนเฉพาะในจักราศี บวกกันได้ 9 เป็นเพียงอาศัยการเล่นกลทางคณิตศาสตร์ตามคุณสมบัติของเลขฐาน 10 หาจำนวนเฉพาะที่บวกกันได้ 9 มาใส่ แต่ใจความสำคัญอยู่ที่ ผู้เขียนต้องการบอกว่า มุมสัมพันธ์ที่สำคัญของโหราศาสตร์ยูเรเนียน คือ ฮาโมนิก 45 ได้แก่ 45, 90, 135, 180, 225, 270 , 315, 360
นอกจากนี้โหราศาสตร์ยูเรเนียนได้ลดบทบาทความหมายมุมสัมพันธ์เชิงคุณภาพลง จากดีไม่ดี มาเป็นแรงหรือไม่แรง ทำนองใช้ประโยชน์เป็นก็ดี ใช้ประโยชน์ไม่เป็นก็ไม่ดี
หน้า29-37 เรื่องการปรับแก้เวลาเกิด โดยการนำดวงของเจ้าชะตามาเปรียบเทียบกับอาทิตย์ของคนใกล้ชิด เพื่อกำหนดเมอร์ริเดียน (Mc) และ ลัคนา(As) ใหม่ ก่อนนำมาทดสอบกับดวงจรปัจจุบัน (Transit) และดวงจรตามอายุขัย (Direction) วิธีการนี้มีจุดอ่อน หลายอย่าง กรณีเจ้าชะตามีคู่ครองหลายคน หรือมีลูกหลายคน หรือมิได้มีความผูกพันกัน อาจจะมีความขัดแย้งกันเองได้
ขณะเดียวกันในทางเหตุผล ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์กระทำต่อกัน ควรมีการแสดงผลทางโหราศาสตร์มากกว่าสถานภาพ (อาจเว้นคนที่มาจาก DNA เดียวกันจริงๆ) อันที่จริงการใช้ผลต่าง (Difference) ของปัจจัยโดด/ศูนย์รังสี/จุดอิทธิพลสำคัญ 3 ชุดขึ้นไปที่มีความต่าง (Difference) เท่ากันสามารถใช้สอบเวลาเกิดได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผลต่างนั้นๆมีขนาดเท่ากับโค้งสุริยยาตร์ ก็นำมาใช้ปรับแก้เวลาเกิดได้อยู่แล้ว (ควรต้องรู้ช่วงเวลาเกิดที่ใกล้เคียงเพราะ จันทร์จะคลาดเคลื่อนได้มาก)
หน้า55 เรื่องโหราศาสตร์แห่งการสมมาตร เล่าความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ว่า Witte ได้รับอิทธิพล แนวคิดจาก Pracht ลูกศิษย์ของ Alan Leo เรื่องการใช้ Arabian Part และโค้งสุริยยาตร์ นำมาสู่การเขียนบทความแรกในปี 1913 และเข้าร่วมกลุ่ม Kepler Circle ที่มี Sieggrun เป็นผู้ก่อตั้ง ในปี 1915 รวมถึงได้เขียนแนะนำโหราศาสตร์ยูเรเนียน ในปี 1918
หน้า59- 90 แนะนำพระเคราะห์สนธิ อธิบายเรื่องแนวคิดเรื่องพระเคราะห์สนธิ (Planetary Pictures) ว่ามีความเป็นมาจากเรื่องการสะท้อนแกนสมมาตร จากจุด Equinox จากเรื่อง Antiscia-Contracia จนพัฒนามาเป็นศูนย์รังสี (Midpoint/ Halfsum) จุดกึ่งกลาง จุดสะท้อน จุดอิทธิพล(Sensitive Point) ผลต่าง (Difference) ในปัจจุบัน
1
หน้า83 เรื่องพระเคราะห์สนธิ อธิบายและแยกความแตกต่างระหว่างศูนย์รังสี(Midpoint) ผลรวม(Sum) จุดอิทธิพล (Sensitive Point) ผลต่าง(Difference) ที่น่าสังเกต พระเคราะห์สนธิในยุคแรก จะตีความสัมพันธ์พระเคราะห์สนธิเชิงเรขาคณิต อยู่ในวงจำกัด เพียง A/B , A + B , A+B-C ซึ่งเป็นความหมายของจุด เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ และ A-B ซึ่งเป็นความหมายของโค้ง
ใช้กำหนดปีทีเกิดเหตุการณ์ โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จำกัดองศา (บางคนเข้าใจผิด ว่าต้องมีความสัมพันธ์เชิงมุมฮาโมนิก ต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องของดาวเข้ารูป คือศูนย์รังสี/อิทธิพล มาพิจารณามุมสัมพันธ์กับจุดเจ้าชะตาหรือจุดตั้งรับ)
ขณะที่ Carl Perch นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนร่วมสมัย ได้เพิ่มความสัมพันธ์พระเคราะห์สนธิเชิงพีชคณิตครอบคลุมไปถึง A/B , A/B//C, A+B-C, A+B+C, A-B+C, A-B-C ผลจากการขยายความทฤษฏีการสะท้อนไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมปัจจัยสะท้อน ผ่านบทความของตน
ซึ่งทาง U.Rudolph ได้นำมาบรรยายในงานประชุมนักโหราศาสตร์โลกในเมืองไทยเมื่อปี 2518 และท่านอ.จรัญ พิกุลได้แนวคิดและแรงบันดาลใจมาจัดทำจานสองชั้นเป็นผลสำเร็จในอีก 3 ปีถัดมา จนสามารถขยายขอบเขตของศูนย์รังสี-จุดอิทธิพลเพิ่มเติมได้อีกมากมาย (กลายเป็นกองทัพจุด ตามคำศัพท์ที่ท่านบัญญัติ) จนเป็นโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว
หน้า91 – 98 เรื่องจุดเปลี่ยนในชีวิต
พิจารณาจาก
จุดเจ้าชะตา (ลัคนา เมอร์ริเดียน อาทิตย์ จันทร์ ราหู เมษ) ประเภท v (Direction) และ p (Progression) หรือจุดเจ้าชะตา + โค้งสุริยยาตร์ ถึงปัจจัยสำคัญในดวงชะตา
ศูนย์รังสี ที่มีจุดเจ้าชะตาเข้าร่วมมากที่สุด
พุธ/เสาร์ = การเดินทาง
ศุกร์ / อังคาร (v) ถึง จุดเจ้าชะตา คือการแต่งงาน
การใช้มุม 22.5 (อาจารย์ผดุง ผึ่งประเสริฐ สำนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนนนทบุรี ใช้มุมนี้ร่วมกับ อังคาร เสาร์ มฤตยู ฮาเดส ใช้ดูโรคภัยไข้เจ็บอย่างกว้างขวาง ถึงขั้นทำสูตรพระเคราะห์สนธิเรื่องโรคภัยไข้เจ็บออกมาโดยเฉพาะ)
หน้า99 – 110 ว่าด้วยเทคนิคต่างๆในการอ่านดวงชะตา
การใช้ดวงประจำปี สัมพันธ์กับอาทิตย์เจ้าชะตา (Solar Return) การพิจารณาลัคนา และเมอริเดียน ของดวงคราส การพิจารณาดาวเดินถอยหลัง ดาวพฤหัส ดวงอมาวสี (New Moon) และดิถีจันทร์ (Moon phase) ปิดท้ายด้วยดวงตัวอย่างของคนที่ขายบ้านได้เร็ว (หน้า 109) เป็นการนำทฤษฏีโหราศาสตร์สากลเรื่องวงรอบเข้ามาร่วมพิจารณาอย่างกว้างขวางครอบคลุม ซึ่งมักพบเห็นกันมากในเรื่องการพิจารณาดวงบ้านเมือง
ทางด้านโหราศาสตร์สากลนี้ทางด้านอาจารย์จรัญ พิกุล และศิษย์เอกอาจารย์วรเชษฐ์ ตียเกษมได้ใช้วิธีการนี้เป็นรากฐานของพิจารณาดวงชะตาโดยภาพรวมก่อน และตามด้วยโหราศาสตร์ยูเรเนียนระบบจานสองชั้นเพื่อการเจาะลึกในประเด็นสำคัญ ในลำดับไป
หน้า111 – 117 ยูเรเนียนจากเยอรมันสู่สหรัฐ บอกเล่าประวัติความเป็นมา เริ่มจาก
Richard Svehla แปลตำราพระเคราะห์สนธิเป็นภาษาอังกฤษ เขียนบทความ และตั้งชื่อ Uranian Astrology
Hans Niggemann เปิดสอน
Roger Jacobson เขียนหนังสือ The Language of Uranian Astrology เป็นหนังสือระดับคลาสสิกจนถึงทุกวันนี้
Uranian Society จัดพิมพ์นิตยสาร URANIA ตั้งแต่ปี 1980 ขยายแวดวงนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนให้กว้างขวางขึ้น
หน้า120 A.Kniepf กับ A.Witte อ้างถึงบทความแรกของ Witte ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์เชิงฮาโมนิคของสี ตัวเลข และเสียง ดนตรี (ตลอดจนถึงสนามพลังของราศีจักร และความสัมพันธ์เชิงมุมทางโหราศาสตร์ ในบทความต่อๆมา) นั้นได้รับแนวคิดจากสมมติฐานและทฤษฎีของ A.Kniepf เรื่องสนามแม่เหล็ก (Electrodynamics)
ที่จริงโหราศาสตร์ในยุคศตวรรตที่ 20 โดยเฉพาะช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ได้พยายามถูกทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการสรรหาคำอธิบาย และสมมุติฐานเชิงทฤษฎีตามกลศาสตร์นิวตันและควอนตัมฟิสิกส์ตามองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งหลายสมมติฐานก็ไม่ได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา แต่ก็เป็นความจำเป็น เนื่องจากความสามารถอธิบายกลไกลทางด้านโหราศาสตร์ ให้ดูเป็นเหตุเป็นผลเชิงวิทยาศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับของคนร่วมสมัยมีความจำเป็นต่อการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านนี้
หน้า188 ว่าด้วยพระเคราะห์สนธิฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ อธิบายเรื่องจุดเจ้าชะตาทั้ง 6 (เมษ เมอริเดียน จันทร์ อาทิตย์ ลัคนา ราหู) จานหมุน 90 องศา ที่มุมกุม เล็ง ฉาก อยู่ตำแหน่งเดียวกัน และสามารถดูมุม 22.5 ได้ด้วย
หน้า193 ระบบโหราศาสตร์ยูเรเนียน มีการกล่าวถึงระบบเรือนชะตาเมอริเดียน ลัคนา จันทร์ อาทิตย์ แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดการใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเรือนชะตาสะท้อน ที่จุดตั้งต้นของเรือนชะตา 1 - 4 – 7 – 10 ในทุกเรือนชะตาจะสะท้อนมายังเรือนที่ 3 เสมอ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงไม่ได้อธิบายถึงความจำเป็นและความแตกต่างของการใช้ระบบเรือนชะตา เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับระบบพระเคราะห์สนธิ
สุดท้าย แนะนำระบบโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตั้งแต่หน้า 122 – 187 หรือราว 66 หน้า เป็นบทความยาวสุด คิดเป็นเนื้อหา 1 ใน 3 ของเล่ม ผู้เขียน R. Svehla ได้เขียนแนะนำ หลักการและแนวคิดโหราศาสตร์ยูเรเนียนโดยสังเขป เพื่อแนะนำนักศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนียนในสหรัฐ มีเนื้อหาค่อนข้างกระชับ และครอบคลุมประเด็นสำคัญโดยสังเขป ที่นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนต้องรู้
หมอมาร์ค หรือคุณสมัคร บัวชู ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ ได้แปล เรียบเรียง และอธิบายความด้วยความละเอียด รอบคอบ และอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง มีการไฮไลศัพท์สำคัญ ที่ควรรู้ เพื่อให้ผู้อ่านได้มีโฟกัส รวมถึงได้ใส่เนื้อหาที่เป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษมาประกอบ แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อบทความนี้เป็นอย่างมาก อันที่จริงบทความนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็ว่าได้ ทำให้หนังสือเล่มนี้ จัดอยู่ในหนังสืออ้างอิง และบันทึกช่วยจำ ประกอบการศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนียน ได้เป็นอย่างดี
โหราทาส
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖
๒๒:๒๒ นาฬิกา ณ กรุงเทพมหานครฯ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา