21 ก.ค. 2023 เวลา 14:00 • สุขภาพ

คนอายุ 25-29 ทั่วโลก เสี่ยงเป็น "มะเร็ง" มากขึ้นแบบไม่รู้ตัว

National Cancer Institute ของสหรัฐให้ข้อมูลว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ตรวจพบครั้งแรกมากที่สุดในกลุ่มคนที่มีอายุ 65-74 ปี โดยค่ามัธยฐาน (median) คืออายุ 66 ปี แต่งานวิจัยล่าสุดพบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คนที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งนั้นอายุน้อยลงไปเรื่อยฯ
[เรื่อง: ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ]
รายงานข่าวเชิงลึกในหนังสือพิมพ์ Financial Times (The unexplained rise of cancer among millennials 22 June 2023) มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกลุ่มคนอายุ 25-29 ปี โดยที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไร
2. สำหรับกลุ่มอายุ 15-39 ปีนั้น อัตราการตรวจพบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นมากถึง 70% ในประเทศกลุ่ม G20 (ปี 1990-2019) เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของการเป็นโรคมะเร็งทั้งหมดในกลุ่มนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 24%
3. ประเภทมะเร็งที่พบมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในกลุ่มอายุ 15-39 ปีนั้นมีอีกอย่างน้อย 5 ประเภท คือ มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharynx cancer) เพิ่มขึ้น 104% มะเร็งต่อมลูกหมาก เพิ่มขึ้น 95% มะเร็งไตเพิ่มขึ้น 88% และมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid) เพิ่มขึ้น 81%
ทั้งนี้ มะเร็งก็ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดในกลุ่มผุ้สูงอายุ แต่ประเด็นหลักที่น่ากลัวคือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่า คนเราเป็นมะเร็งตอนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและตรวจพบโรคร้ายนี้ช้าเกินไป
เพราะแพทย์นึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว จึงมิได้รีบแนะนำให้ไปตรวจหาโรคนี้อย่างทันท่วงที
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะอาหารการกินและการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา (“scientists are increasingly convinced that changes in nutrition and ways of living that began in the mid 50s are part of the answer”)
1
การกินอาหารมากเกินไป จนทำให้น้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ แต่นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า อาหารการกินดังกล่าว ยังอาจส่งผลให้ความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (gut microbiome) ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย “ดี” และแบคทีเรีย “ไม่ดี” ได้รับผลกระทบในเชิงลบ
ทั้งนี้ในกระเพาะของมนุษย์นั้น จะมีจุลินทรีย์จำนวนหลายสิบล้านล้านตัว และมีส่วนสำคัญในการย่อยอาหาร การทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการดูแลสุขภาพโดยรวม (มีงานวิจัยที่ค้นพบว่ากระเพาะอาหารนั้นก็เป็น “สมอง” แห่งที่ 2 ของร่างกาย ที่ทำงานร่วมกับสมองที่อยู่ในหัวของเรา)
ประเด็นคือ การกินอาหารที่ “ไม่ดี” กล่าวคือ มีน้ำตาลและไขมันจำนวนมาก ทำให้จุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของเรา (gut microbiome) ปรับเปลี่ยนความสมดุลไปในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งนี้ สำหรับการกินอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมีดังนี้
1. การกินเนื้อแดงในปริมาณมาก
2. การกินเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง (เช่น ไส้กรอก) เป็นประจำ
3. การกินเนื้อสัตว์ปิ้งย่างโดยใช้อุณหภูมิสูง
4. การไม่ค่อยกินผัก ผลไม้และกากอาหาร (fiber)
5. การสูบบุหรี่
6. การดื่มสุราเกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชายและเกิน 1 แก้วสำหรับผู้หญิง
นอกจากนั้น การไม่ออกกำลังกาย และการมีน้ำหนักตัวเกินหรือการเป็นโรคอ้วนก็เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งอย่างมากเช่นกัน ตรงนี้ผมต้องขอย้ำว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (วันละ ½ ชั่วโมงทุกวันหรือ ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง 13 ประเภท
ที่สำคัญคืองานวิจัยตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ในวารสาร Medicine & Science in Sport & Exercise โดยนักวิจัยที่สหรัฐ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ที่ติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งเต้านมของคนไข้ 1,340 คน
พบว่าเมื่อรักษาโดยคีโมแล้ว คนไข้ที่ออกกำลังกายตามเกณฑ์ ทั้งก่อนการเป็นโรคมะเร็ง และหลังการรักษา จะลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาอีกได้มากถึง 50% เมื่อเทีบกับคนไข้ที่ไม่ออกกำลังกาย
ประเด็นที่ต้องทิ้งท้ายเอาไว้คือ แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว (กลุ่ม G20) ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า จะตามมาเกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนาในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตปรับเปลี่ยนไป ในทิศทางเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้ว
โฆษณา