12 ก.ค. 2023 เวลา 14:39 • การศึกษา

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงเวลาหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ

ผมได้คุยกับท่านอาจารย์พะนอม  แก้วกำเนิด อดีตอธิบดีหลายกรม เช่น กรมสามัญศึกษา กรมวิชาการ กรมการฝึกหัดครู เป็นต้น  ขณะนี้ท่านอายุ 90 ปีแล้ว แต่สุขภาพและความจำท่านยังแจ๋ว สามารถขับรถไปบรรยายในต่างจังหวัดได้สบาย
ท่านเล่าเรื่องราว เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงศึกษาธิการให้ผมฟังหลายเรื่อง  มีเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจ อยากนำมาเล่าต่อคือ การยุบรวมกรมสามัญศึกษากับกรมวิสามัญศึกษา
ท่านเล่าว่า ช่วง พ.ศ. 2515  กรมวิสามัญศึกษา ซึ่งดูแลโรงเรียนมัธยม มี ดร.ก่อ 
สวัสดิพาณิชย์ เป็นอธิบดี และมี
อาจารย์ฐะปะนีย์  นาครทรรพ เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์   ส่วนกรมสามัญศึกษา ซึ่งดูแลโรงเรียนประถม  มีอาจารย์เกรียง กีรติกร เป็นอธิบดี  และมีอาจารย์สมาน  แสงมลิ เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการโอนการจัดการศึกษาในระดับประถมไปขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)  ดังนั้นจึงทำให้กรมสามัญศึกษา ซึ่งดูแลโรงเรียนประถมต้องถูกยุบมารวมกับกรมวิสามัญศึกษาโดยปริยาย  และใช้ชื่อว่า "กรมสามัญศึกษา"(ใหม่)
แต่ก็ยังคงดูแลนโยบายด้านวิชาการในระดับประถมอยู่  รวมทั้งดูแลโรงเรียนระดับประถมที่เป็นโรงเรียนต้นแบบซึ่งกระทรวงศึกษาธิการขอมาดูแลไว้ไม่กี่โรงเรียนด้วย  กรมสามัญศึกษา(ใหม่)นี้มีดร.ก่อ เป็นอธิบดีและอาจารย์สมาน 
แสงมลิ ย้ายมาเป็นรองอธิบดี
และเมื่ออาจารย์ฐะปะนีย์  นาคร
ทรรพ หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา(เดิม)โอนไปเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อาจารย์
พะนอม แก้วกำเนิด จึงถูกย้ายจากสำนักงานการศึกษาเอกชน มาเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา(ใหม่)แทน
ต่อมาราว พ.ศ. 2523 เมื่อ ดร.สิปปนนท์  เกตุทัศน์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งเป็นช่วงที่ทางผู้บริหารและครูโรงเรียนประถมไม่พอใจที่อยู่ใต้การปกครองของกระทรวงมหาดไทย(องค์การบริหารส่วนจังหวัด) จึงได้รวมตัวเรียกร้องขอกลับมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่นักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาเรียกร้องให้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.)ด้วย
ดร.สิปปนนท์ได้ขอให้ ดร.รุ่ง  แก้วแดง มาเป็นที่ปรึกษา และช่วยคิดเรื่องการนำการศึกษาระดับประถมมาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง  ซึ่งได้รับกำลังสนับสนุนและความร่วมมือจากโรงเรียนประถมทั่วประเทศ   จนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ สามารถก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.)ได้ใน พ.ศ.2523  และมีอาจารย์สมาน  แสงมลิ เป็นเลขาธิการ สปช. คนแรก  โดยมี ดร.รุ่ง  แก้วแดง เป็นรองเลขาธิการ
ผมเคยอ่านเจอข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติ ดร.สิปปนนท์ เล่มหนึ่ง(จำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว) ซึ่งท่านเปิดเผยความตั้งใจว่า หลังจากตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.)ได้สำเร็จแล้ว ท่านก็อยากทำให้กรมสามัญศึกษา ซึ่งดูแลโรงเรียนมัธยม ตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการมัธยมศึกษาแห่งชาติ(สมช.) ด้วย  แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร และท่านก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเสียก่อน เรื่องนี้จึงยุติลง
ผมเลยคิดต่อเองว่า ถ้าตอนนั้นสามารถตั้ง สมช.สำเร็จ  การตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ใน พ.ศ. 2546 อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ 
ใครมีข้อมูลเรื่องนี้ที่อ้างอิงได้ก็อยากให้นำมาแลกเปลี่ยนกันบ้างครับ
โฆษณา