13 ก.ค. 2023 เวลา 04:30 • การศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

DNAข้น รับน้องใหม่มนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สกลนคร ตรีมรากเหง้าสังคมวัฒนธรรม

ถึงแม้เสียงในสังคมจะแตกกัน มีเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้อง แต่จัดอย่างสร้างสรรค์กระแสสังคมมีแนวโน้มสนับสนุน อีกหนึ่งเรื่องราวการสานสัมพันธ์รับขวัญน้องใหม่ ของสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ ใช้กลไกกระบวนการวิศวกรสังคม สร้างสรรค์กิจกรรม “เอิ้นขวัญน้องใหม่ สายใยมนุษยศาสตร์” รับน้องแบบฮักแพงหลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวสัมพันธ์ ในปีการศึกษา 2566
แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 ตามพรบ.วิทยาลัยครู มุ่งพัฒนาให้บัณฑิตมีอัตลักษณ์ “มีอุดมการณ์ มองกว้าง คิดไกล ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม นำการพัฒนา” ปัจจุบันเปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรีจำนวน 10 สาขา ในปีการศึกษา 2566 นี้ มีนักศึกษาใหม่เข้าเรียนประมาณ 490 คน
กิจกรรมสานสัมพันธ์รับขวัญน้องใหม่ในครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก ต้องรับมือกับน้อง ๆ ที่หลากหลายทางความคิดมากมาย แต่พี่ Staff ผ่านกระบวนการฝึกทักษะวิศวกรสังคม ได้นำทักษะ Soft Skill 4 อย่างมาใช้ ได้แก่
1.ทักษะในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงทักษะด้าน Public Speaking (Communication Imformation and Media Literacy)
2.ทักษะในการทำงานกับผู้อื่น (Collaboration) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป็น Leadership คือ ทักษะในการเป็นผู้นำ และ Teamwork ทักษะในการทำงานเป็นทีมกับผู้อื่น
3.ทักษะในการคิดวิเคราะห์และทักษะในการแก้ปัญหา Problem Solving (Critical Thinking)
4.ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และคิดเชิงนวัตกรรม (Creativity and Innovation)
ซึ่งเป็นคุณลักษณะของวิศวกรสังคมที่พี่ Staff ได้ฝึกอบรมและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่สามารถบริหารจัดการกับน้องนักศึกษาผ่านไปอย่างปลื้มปิติ เอ่ยได้เลยว่ามาร้อยคนรับได้ร้อยคนมาพันคนต้อนรับได้พันคน
ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีฯ
กำหนดการเริ่มจากพิธีเปิดโดยมี ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีฯ พร้อมด้วยประธานสาขาแต่ละวิชา กล่าวให้โอวาท จากนั้นเป็นพิธีเชิญตราคณะฯ และตราแต่ละสาขา ต่อด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกแขนน้องใหม่ ช่วงบ่ายเป็นการเข้าฐานกิจกรรมและเกมการละเล่นต่าง ๆ อย่างสรรค์สร้างแฝงด้วยแนวคิด ช่วงค่ำตัวแทนน้องใหม่แต่ละสาขาเล่าความรู้สึก จากนั้นเป็นพิธีจุดเทียนส่องใจเป็นแสงสว่างส่องทาง และพิธีปิด
กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการให้เสรีภาพคนรุ่นใหม่ คือรุ่นพี่ Staff ได้คิดอ่านขับเคลื่อนในสิ่งที่สร้างสรรค์ภายใต้กรอบเงื่อนไขที่เป็นธรรมในทุกขั้นตอน ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะเกินความคาดหวังเสมอ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องดีที่สุดแต่ก็ให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
อยากจัดงานรับน้องครั้งนี้ สร้างไว้ให้เป็นตำนานเพื่อเล่าขานให้รุ่นต่อ ๆ ไป เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมในปีถัดไปหรือทำให้ดีกว่าครั้งนี้ ฝากถึงผู้จัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้รุ่นน้องครั้งต่อไป อยากให้คิดใหม่เปลี่ยนการจัดกิจกรรมไปจากเดิม ให้คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นที่เอ่ยถึงในระดับประเทศ
ธนารักษ์ ถึงคำภู รองนายกสโมสรคณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์
ธนารักษ์ ถึงคำภู
น้องธนารักษ์ เล่าว่า ช่วงเตรียมงานได้รับบทบาทหน้าที่เป็นเหมือนออแกไนซ์เซอร์ วางแผน มอบหมายงานให้ทีม ภารกิจเรามีทั้งหมด 10 ฝ่าย ถูกถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่ และประสบการณ์ตัวเองจากการได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ทีม Staff มีทั้งหมด 60 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการสโมสรนักศึกษาฯ 30 คน ไม่เพียงพอต้องขอความร่วมมือจากนักศึกษาชั้นปีที่สอง 30 คน
ก่อนวันงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจมากว่างานจะออกมาสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ตลอด 3 ปีที่ผมศึกษาอยู่ การรับน้องคณะมนุษย์ฯ ในครั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ พิธีอัญเชิญตราคณะมนุษยศาตร์ฯ และตราแต่ละสาขา มีกิจกรรมสันทนาการขับร้องเพลงเพื่อดึงดูดน้องปีหนึ่งอยู่ร่วมกิจกรรม ดีใจที่กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จไปตามสิ่งที่คาดหวังไว้ น้องใหม่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก ที่สำคัญได้ฟังเสียงสะท้อนจากน้อง ๆ แล้วปิติมาก ได้แก่ จะนำรูปแบบการจัดงานไปสานต่อในปีถัดไป ขอบคุณที่มีคนพาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
เป็นเสียงพลังของคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงบนวิถีการมีพี่น้อง
ภาพจำที่เกิดขึ้นในวันนี้เหมือนกันกับบรรยากาศ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ถูกบ่มเพาะจากกิจกรรมรับน้องตอนที่เข้ามาเป็นนักศึกษาใหม่ (ปี 2546) แบบนี้ที่ใช่เลย การรับน้องบนความหลากหลายสไตล์มนุษย์ ทีม Staff ปีนี้มาฟื้นฟูความเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมที่งดงามยิ่งตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อสืบสานฟื้นฟูความเหนียวแน่นของชาวมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรมของพี่ผู้มาก่อนที่ต้องดูแลน้องโอบกอดช่วยเหลือเกื้อกูลกันส่งต่อความห่วงใยจากรุ่นสู่รุ่น
อ.สายฝน ปุนหาวงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนบริหารโครงการและงบประมาณ
อ.สายฝน เปิดเผยว่า เป็นการปลูกฝังและบ่มเพาะความสมานฉันท์ ความผูกพันระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน บินสู่ที่สูงไม่ได้” สิ่งนี้ที่ครูในดวงใจที่เป็นผู้ให้ (ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร : อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) คอยย้ำเตือนเสมอมา
กิจกรรมทุกอย่าง พี่และน้องเป็น key player เสมอกัน เคารพกันและกันและยอมรับความแตกต่างที่หลากหลายสไตล์มนุษยศาสตร์ ครั้งแรกที่เปิดเรียนเริ่มต้นที่หอประชุมแห่งนี้และวันสำเร็จการศึกษาก็ที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน อยากให้เก็บภาพความทรงจำที่งดงามในวันนี้ไว้เป็นพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา ขอให้น้อง ๆ ลูกศิษย์ใช้ชีวิต 4 ปี ที่นี่ อย่างมีคุณค่าและความหมาย เป็นบัณฑิตที่เป็นที่พึ่งของคนทุกข์ยาก ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อตอบแทนภาษีของพี่น้องประชาชน
เป็นการย้ำชัดบทบาทหน้าที่พร่ำสอนให้บัณฑิตมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งใน
ขณะที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาไปแล้วของคณาจารย์
อ.สายฝน ปุนหาวงค์
กระบวนเวทีวัฒนธรรมจะดึงดูดและหลอมรวมผู้คนได้ง่ายที่สุด “ความม่วนซื่นโฮแซว” เป็นเอกลักษณ์ของคนอีสาน เสียงพิณ เสียงแคน ร้องลำมันฝังอยู่ใน DNA ทุกข์สุขจับมือกันเดินผ่านไปจนสิ้นสุดกิจกรรม ปลดปล่อยเต็มที่และ “ขอให้มีความสุขร่วมกับมิตรสหายที่อยู่ตรงหน้า เพราะไม่รู้วันข้างหน้าเราจะมีโอกาสได้ร่ำลากันหรือไม่”
เป็นเวลามากกว่า 50 ปี ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร “ได้บ่มเพาะหล่อหลอม ความเหมือนที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์” ถือเป็นการส่งต่อ“มรดกทางวัฒนธรรม ในการรับน้องใหม่สไตล์มนุษย์” ที่สร้างคุณค่าและความหมายสืบไป
โฆษณา