Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
สร้างผลงานและแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คืองานของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม “ครีเอทีฟ”
เคยดูโฆษณาในโทรทัศน์แล้วหัวเราะจนท้องแข็งหรือเปล่า?
เคยรู้สึกประทับใจจนน้ำตาซึมจากการอ่านบทความสั้นๆ ในอินเทอร์เน็ตบ้างไหม?
หรือเคยเห็นการออกแบบสินค้าชิ้นหนึ่งที่น่าทึ่งจนต้องร้อง “ว้าว!” บ้างหรือเปล่า?
กว่าจะผลิตออกมาเป็นผลงานที่สามารถมอบความประทับใจแก่ผู้ชมได้ จะต้องผ่านการกลั่นกรองจากคนในสายอาชีพหนึ่ง ซึ่งอาชีพนี้จำเป็นต้องใช้ทั้งทักษะเฉพาะด้าน จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่สูงกว่างานปกติทั่วไป เราสามารถเรียกคนที่อยู่ในสายอาชีพนี้รวมๆ ได้ว่า “นักครีเอทีฟ”
อุตสาหกรรมครีเอทีฟครอบคลุมหลายอาชีพจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่มาก ถ้าเป็นวงการโทรทัศน์ นักครีเอทีฟสามารถเป็นได้ทั้ง ผู้กำกับ ผู้จัดละคร นักเขียนบท หรือเอเจนซีโฆษณา ถ้าเป็นวงการสื่อบนโซเชียลมีเดีย อาชีพของนักครีเอทีฟที่เราน่าจะคุ้นเคยที่สุดคือ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator)”
“คอนเทนต์ครีเอเตอร์” หมายถึงนักครีเอทีฟที่สร้างผลงานอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ (เช่น Facebook, Youtube, TikTok, Instagram) พวกเขาอาจมีช่องหรือเพจเป็นของตนเอง อาจสังกัดอยู่ในบริษัทสื่อออนไลน์ บริษัทเอเจนซี และอาจเป็นฟรีแลนซ์ก็ได้ รูปแบบของงานสามารถเป็นได้ทั้งงานเขียน งานกราฟิก งานโปรโมตสินค้า งานโฆษณาและงานตัดต่อวิดิโอ
เนื่องจากอาชีพประเภทคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นสายงานผลิตที่อาจเกี่ยวข้องได้กับทั้งบริษัท ลูกค้า และผู้คนจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ในแต่ละวันครีเอเตอร์จึงอาจพบทั้งปัญหาภายในและปัญหาภายนอก หากคุณเองก็เป็นครีเอเตอร์เหมือนกัน ลองดูว่าปัญหา 7 ข้อที่เราลิสต์มานี้ตรงกับคุณมากน้อยแค่ไหน
1
1. ความคิดสร้างสรรค์ตามไม่ทัน “เดดไลน์”
บางวันครีเอเตอร์อาจตื่นขึ้นมาพร้อมกับแรงกายและแรงบันดาลใจอันท่วมท้น แต่บางวันกลับพบว่างานไม่เป็นดั่งใจเอาเสียเลย ยิ่งคุณหันไปมองตารางงานที่แน่นขนัดและวันเดดไลน์กำลังใกล้เข้ามา ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงกดดันที่ทำให้ข้อมูลในหัววิ่งวุ่นตีกันสับสนไปหมด
การคิดผลงานให้เสร็จทันกำหนดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จากการสำรวจนักการตลาดและคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมครีเอทีฟกว่า 400 คนในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2021 พบว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นตรงกันว่า อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการทำงานของพวกเขาคือ “การเร่งทำงานให้เสร็จตรงตามกำหนดการณ์”
สาเหตุที่คนเราไม่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ได้อย่างที่ต้องการมักเกิดจากหลายปัจจัย อาจเป็นเรื่องของสภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่เตรียมมาไม่พร้อมกับการทำงาน วิธีแก้ไขคือการรักษาสมดุลของเวลาการทำงานและการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ความเครียดไม่สามารถทำให้เราเกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ เราอาจลองหยุดคิดสักพัก ลองออกไปเดินเล่นข้างนอก หรือเปลี่ยนจุดโฟกัสเป็นกิจกรรมอื่นแล้วค่อยกลับมาคิดงานต่อ
2. งานของเราต้อง “โดดเด่น” จากคนอื่น
หลายๆ ตำแหน่งในอุตสาหกรรมครีเอทีฟเป็นอาชีพที่อาศัยทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก หมายความว่าขอแค่คุณมีความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถก้าวเข้าสู่วงการครีเอทีฟได้ นอกจากนั้น เราจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากการที่คนหันมาเสพสื่อบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เกิดอาชีพใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นวงการครีเอทีฟจึงมีการแข่งขันที่สูงมาก
โดยรายงาน Global Entertainment & Media Outlook 2022-2026 ของ PwC ได้ศึกษาและคาดการณ์จำนวนของผู้บริโภคสื่อบันเทิงใน 52 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พบว่า อุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงในปี ค.ศ. 2022 เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 7.3% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 89 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2026 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 4.6% ต่อปี หรือเป็นมูลค่าราว 104 ล้านล้านบาท
นอกจากจะเป็นงานหินสำหรับครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ที่ต้องสร้างตัวตนและผลงานให้โดดเด่นจนเป็นที่หมายตาลูกค้าและผู้ชมจำนวนมากแล้ว ในรายงานของ Marketing Land พบว่า 44% ของนักครีเอทีฟที่ทำงานในบริษัทเอเจนซียอมรับว่า พวกเขาต่างต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมากตั้งแต่ตอนสมัครงานเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับคนทำงานสายครีเอทีฟคือ การไม่หยุดพัฒนาตนเอง ต้องน้อมรับคำวิจารณ์ หมั่นหาข้อมูลความรู้ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อสายงานอยู่เสมอ เพื่อสร้างคุณค่าและสร้างเอกลักษณ์ในงานของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่น
3. ลูกค้าบรีฟงาน “นิดเดียว” แต่อยากได้งานตรงใจ
“ขอน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ High-Fashion”
ครีเอเตอร์มักต้องนั่งปวดหัวกับการบรีฟงานที่เหมือนจำกัดอยู่แค่ในความคิดของลูกค้า แม้ว่าข้อมูลจากการบรีฟและการอธิบายความต้องการของลูกค้าจะสำคัญและเป็นประโยชน์ต่องานมาก แต่เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยประสบปัญหากับการที่ลูกค้าไม่สามารถอธิบายความต้องการของตนเองได้ เลยทำให้การตีความบรีฟของลูกค้ากลายเป็นอุปสรรคใหม่ที่ชิ้นใหญ่ยิ่งกว่าเดิม
ในรายงานของ The Better Briefs Project ที่ทำการสำรวจนักการตลาดและนักครีเอทีฟกว่า 1,731 คน พบว่า 80% ของนักการตลาดเชื่อว่า ตนเองได้เขียนบรีฟที่สมบูรณ์แบบให้กับทางฝั่งเอเจนซีแล้ว ในขณะที่ทางฝั่งนักครีเอทีฟของบริษัทเอเจนซีมีเพียง 10% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น
4. ฝันยิ่งใหญ่ แต่ให้ “งบน้อย”
อีกหนึ่งความหนักใจที่สายครีเอทีฟต้องยอมรับเลยคือ “ไอเดียที่ยิ่งใหญ่ บางครั้งก็มาพร้อมกับต้นทุนที่ใหญ่ยิ่ง” ทำให้บางครั้งหัวหน้าแผนกการตลาดหรือลูกค้าของคุณอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับแผนของคุณสักเท่าไหร่ จึงต้องให้กลับไปแก้ไขใหม่หลายครั้งเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายขององค์กรให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากครีเอเตอร์สามารถสื่อสารความคุ้มค่าของแผนงานนั้นได้อย่างชัดเจน และสามารถอธิบายความเป็นไปได้ของแผนงานนั้นอย่างสร้างสรรค์ ก็อาจทำให้บริษัทหรือลูกค้าเปลี่ยนใจยอมทำตามแผนนั้นก็เป็นได้
5. สื่อสารงานกัน “ไม่เข้าใจ”
ก่อนมีเทคโนโลยีหรือช่วงที่ยังมีการทำงานในออฟฟิศปกติ เวลาที่ต้องมีการหารือกันเรื่องไอเดียบางอย่างในทีม เราสามารถเดินเข้าไปหากันถึงโต๊ะหรือนัดประชุม และแลกเปลี่ยนความเห็นจนสามารถสรุปเป็นภาพรวมจากทุกคนที่เกี่ยวข้องพร้อมกันได้
ทว่าเมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายอาชีพต้องทำงานจากที่บ้าน การสื่อสารจึงต้องเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมาคั่นกลาง และกลายเป็นอุปสรรคใหม่ขึ้นมา เพราะการอธิบายความคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวอักษรมักมีข้อจำกัด ที่อาจทำให้เราและฝั่งตรงข้ามเห็นภาพไม่ตรงกัน
ดังนั้นการสื่อสารโดยมีเทคโนโลยีมาคั่นกลางจะต้องคำนึงถึงความชัดเจนและความละเอียดของสารเป็นสำคัญ ในบางเรื่องที่ต้องการความเห็นโดยเฉพาะ ควรใช้การโทรมากกว่าการส่งข้อความ นอกจากนั้น การวาดภาพให้เห็นตรงกันตั้งแต่เริ่มต้นบรีฟงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรทำการพูดคุยให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่ต้นว่าจุดประสงค์ของงานมีอะไรบ้าง และแต่ละฝ่ายมีความต้องการแบบไหน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและการแก้ไขงานซ้ำไปซ้ำมา
6. “ความต้องการลูกค้า” คืออันดับหนึ่ง
ครีเอเตอร์มักใช้แรงบันดาลใจเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้เป็นชิ้นงานที่น่าจดจำ แต่ทว่าบางครั้งกลับทำให้หลงลืมความต้องการของลูกค้า และคงมีหลายครั้งที่ความต้องการของครีเอเตอร์มีทิศทางตรงกันข้ามกับของลูกค้าไปเลยก็มี ครีเอเตอร์จึงต้องเผชิญหน้ากับการรักษาสมดุลของ “มาตรฐานของตนเอง” และ “ความพึงพอใจของลูกค้า” ไว้เสมอ
หากผลงานบางชิ้น ครีเอเตอร์รู้สึกว่าสามารถพัฒนาให้ดียิ่งกว่านี้ได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อตัวลูกค้าเอง ครีเอเตอร์อาจต้องใช้วิธีการสื่อสารที่สร้างสรรค์เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจจุดประสงค์ และหาจุดตรงกลางร่วมกับลูกค้า
7. วิ่งตามไม่ทันกระแสโลก
การจะสร้างผลงานที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน คือต้องสร้างเนื้อหาที่ผู้ชมกำลังรู้สึกสนใจ แต่ในหนึ่งวันมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย วันนี้สังคมถกเถียงประเด็น A วันพรุ่งนี้ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นสนใจประเด็น B การจะจับกระแสความคิดของคนหมู่มากให้ทัน และสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ในทุกวันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
กระแสโลกที่กล่าวมานี้ยังรวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอีกด้วย เพราะปัจจุบัน “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” กำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมงานครีเอทีฟอย่างมาก AI สามารถเขียนบทความ ตัดต่อวิดีโอ และสร้างภาพกราฟิกได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่ามนุษย์หลายเท่า แม้แนวโน้มที่ AI จะมาทำงานแทนมนุษย์ในสายงานครีเอทีฟอย่าง 100% อาจจะยังดูห่างไกล แต่ถ้าครีเอเตอร์สามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำงานได้อย่างเชี่ยวชาญ วงการครีเอทีฟจะต้องสั่นสะเทือนอย่างมากแน่นอน
“นักสร้างสรรค์” ไม่ว่าอยู่ในวงการหรือทำอาชีพใด ต่างมีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงความรู้หลายแขนงเข้าด้วยกัน แล้วตกผลึกมาเป็นความคิดหรือไอเดียที่พร้อมจะทำให้ผู้คนบนโลกตกใจได้เสมอ สายงานครีเอทีฟจึงเป็นอาชีพที่ต้องมีการเรียนรู้ข้อมูลใหม่เสมอ และต้องสั่งสมประสบการณ์ตลอดชีวิต
อ้างอิง
- 5 Challenges Facing Creatives That Leaders Need to Address: Russ Somers -
https://bit.ly/433YRLq
- Ten Ideas for Dreamers Surviving a Creative Industry: Sarah Elizabeth Haines -
https://bit.ly/3NBDFqv
- The 5 biggest challenges facing creative agencies today!: Willow Littlewood -
https://bit.ly/3Xy9Yev
- เจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า: ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ -
https://pwc.to/43bM2hY
#worklife
#creative
#contentcreator
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
missiontothemoon
ความรู้
พัฒนาตัวเอง
10 บันทึก
10
5
10
10
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย