Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน "ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
15 ก.ค. 2023 เวลา 07:20 • การศึกษา
ประชาธิปไตยในวิถีชีวิต
ตามหลักการศึกษาเพื่อชีวิต และสังคม ถือว่ากระบวนการจัดการศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้เพื่อเตรียมการสำหรับนำไปใช้ในชีวิตอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้ดำเนินชีวิตจริงไปพร้อมกับการเรียนด้วย เพราะเราไม่แน่ใจว่าความรู้ที่เรียนในปัจจุบันอีก 10 หรือ 20 ปี ข้างหน้าจะยังคงทันสมัยใช้การได้เหมือนเดิมหรือไม่
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยไม่ต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่เสียก่อน
การเสริมสร้างประชาธิปไตยในสถานศึกษาก็เช่นกัน คงมิใช่เพียงแค่สอนให้ผู้เรียนเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ควรปลูกฝังให้เกิดในวิถีชีวิตของผู้เรียนด้วยการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน โดยใช้หลักการประชาธิปไตย ทั้งหลักสิทธิเสรีภาพ หลักเหตุผล หลักความเสมอภาค หลักการยึดถือเสียงข้างมาก และหลักภราดรภาพ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิตทุกขณะจิตอย่างเป็นธรรมชาติ จึงจะสามารถหล่อหลอมกล่อมเกลาให้ผู้เรียนมีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
แนวทางการสร้างเสริม
การสร้างเสริมประชาธิปไตยในวิถีชีวิตให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา ควรกระทำพร้อมกันทุกจุด คือ
1.การจัดองค์กรบริหารให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย แม้ผู้บริหารสถานศึกษาจะมีอำนวจสั่งการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาก็ตาม แต่ก็ควรใช้บทบาทในฐานะผู้จัดการและผู้ร่วมงานที่เปิดโอกาสและคอยกระตุ้นให้บุคลากรได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับผิดชอบด้วยการจัดองค์กรในสถานศึกษาให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่น มีการกระจายงาน มอบหมายงานให้บุคลากรได้ทำงานตามความรู้ความสามารถทั้งที่เป็นรายบุคคล คณะกรรมการ คณะทำงาน หรือกลุ่ม เป็นต้น
2. การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย โดยหลักสูตรการศึกษาทุกฉบับต่างกำหนดจุดหมาย หลักการและโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพียงแต่สถานศึกษาควรใช้ศิลปะในการบริหารหลักสูตรโดยแปลงหลักสูตรแต่ละกลุ่มสาระไปสู่การจัดการเรียนรู้ให้บรรลุผลก็จะสร้างเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ โดยมิได้มุ่งแต่สอนเนื้อหาความรู้อย่างเดียว แต่พยายามจัดกิจกรรม โดยยึดผู้เรียนเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา
โดยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างความตระหนัก วิเคราะห์ทางเลือก กำหนดทางเลือก เลือกทางเลือกที่เหมาะสม ลงมือปฏิบัติ ประเมินผลการปฏิบัติ ปรับปรุงและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
3. การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย กิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานศึกษามีมากมายหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมตามหลักสูตร ทั้งกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และกิจกรรมแนะแนว รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆที่สถานศึกษาเปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม หรือรวมกลุ่มกันของสถานศึกษดำเนินการจัดกิจกรรม กิจกรรมชุมนุมต่างๆ กิจกรรมคณะกรรมการนักเรียน กิจกรรมวันสำคัญ กิจกรรมตามนโยบาย กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เป็นต้น
4. การจัดบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่สะอาด สดชื่น ร่มรื่น สวยงาม ที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นโดยนักเรียน ครู อาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษา จะเป็นครูที่พูดไม่ได้ที่มีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างความรู้สึกนึกคิดและจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยแก่บุคลากรในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี
หากสถานศึกษาสามารถสร้างเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทั้ง 4 จุดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ก็คงจะทำให้ผู้เรียน ครู อาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ซึมซับบรรยากาศประชาธิปไตยในวิถีชีวิตและติดตราตรึงใจ เป็นนิสัยที่ถาวร เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งในสังคมประชาธิปไตย
1. สารพัฒนาหลักสูตร ปีที่ 12 อันดับที่ 111 มิถุนายน-กันยายน 2535 หน้า 13-15.
2. วารสารระฆัง ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 (พฤษภาคม - กรกฎาคม 2536) หน้า 6-7.
https://www.gotoknow.org/posts/23955
ประชาธิปไตย
โรงเรียน
การศึกษา
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย