16 ก.ค. 2023 เวลา 09:01 • ธุรกิจ

สัญญาเกิดขึ้นได้แค่เพียงกด “👍” จากคดี South West Terminal Ltd. v Achter Land

เมื่อไม่นานมานี้ศาลของประเทศแคนาดาในคดี South West Terminal Ltd. v Achter Land ได้มีคำพิพากษาว่าสัญญาสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการส่งอิโมจิ “👍” ซึ่งคำพิพากษดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงไปของโลกปัจจุบัน เราจึงขอนำมาเล่าให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับตัวละครในเรื่องนี้กันก่อน ฝ่ายแรกคือ South West Terminal Ltd. หรือ “SWT” ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าทางการเกษตร และมี Mr. Kent Mickleborough เป็นตัวแทนคอยทำหน้าที่จัดซื้อวัตถุดิบในการผลิตให้แก่บริษัท ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือ Achter Land & Cattle Ltd. หรือ “Achter” ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำฟาร์ม และมี Mr. Chris Achter เป็นกรรมการบริษัท โดย Mr. Chris Achter มี Mr. Bob Achter เป็นพ่อ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2021 Mr. Kent ได้ส่งข้อความแจ้งราคาวัตถุดิบให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ ทราบ ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อความก็มี Mr. Chris และ Mr. Bob รวมอยู่ด้วย หลังจากนั้น Mr. Bob จึงได้โทรศัพท์ไปหา Mr. Kent และหลังจากวางสาย Mr. Kent ได้โทรศัพท์ไปหา Mr. Chris
ต่อมา Mr. Kent จึงได้จัดทำสัญญาซื้อขายระหว่าง SWT กับ Achter โดย SWT ตกลงซื้อเส้นใยพืช จำนวน 86 ตัน จาก Achter ในราคาตันละ 669.26 เหรียญ โดยมีกำหนดส่งมอบกันในเดือนพฤศจิกายน ซึ่ง Mr. Kent ได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายดังกล่าวแล้ว และได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปส่งไปให้ Mr. Chris พร้อมกับข้อความว่า “Please confirm flax contract” ส่วน Mr. Chris ได้ตอบกลับมาด้วยอิโมจิ “👍”
แต่เมื่อถึงกำหนดส่งมอบสินค้า Achter กลับไม่ได้ส่งมอบเส้นใยพืชให้แก่ SWT แต่อย่างใด จึงทำให้ SWT ฟ้องคดี Achter ต่อศาล โดยระบุว่า Achter เป็นฝ่ายผิดสัญญาและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วน Achter ได้ให้การปฏิเสธว่า ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ SWT และสัญญาที่ Mr. Kent ส่งมานั้น ไม่สามารถบังคับได้ เนื่องจากฝ่าย Achter ยังไม่ได้ลงชื่อในสัญญา
จึงมีปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า มีสัญญาซื้อขายระหว่าง SWT กับ Achter หรือไม่ โดยในประเด็นนี้ศาลเห็นว่า มีสัญญาซื้อขายระหว่าง SWT กับ Achter แล้ว เนื่องจากการส่งอิโมจิ “👍” นั้น ย่อมเพียงพอแล้วที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า Achter ตกลงเข้าทำสัญญากับ SWT
นอกจากนี้ อิโมจิ “👍” ยังถือเป็นการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย สัญญาซื้อขายฉบับนี้จึงมีการลงชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามกฎหมายแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ Achter เป็นฝ่ายผิดสัญญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ SWT
.
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ : www.canlii.org/en/sk/skkb/doc/2023/2023skkb116/2023skkb116.html
ที่มา : South West Terminal Ltd. v Achter Land, 2023 SKKB 116 (CanLII)
โฆษณา