17 ก.ค. 2023 เวลา 09:00

นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ : ทางแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำของไทย

ปัญหานักโทษล้นเรือนจำของประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ซึ่งสาเหตุประการสำคัญของปัญหานี้ ได้แก่ (๑) กฎหมายจำนวนมาก กำหนดโทษทางอาญาให้จำคุก โดยเฉพาะคดียาเสพติด ทั้งผู้ค้า ผู้เสพ หรือผู้ครอบครองไว้เพื่อเสพ ต่างก็ได้รับการระวางโทษจำคุก (๒) โทษปรับเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าเงินในปัจจุบัน จึงไม่สามารถใช้โทษปรับให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ส่งผลให้ศาลเลือกใช้การลงโทษจำคุกเป็นหลัก
(๓) การขาดมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก และ (๔) ระบบการปล่อยตัวชั่วคราวยังขาดประสิทธิภาพ การเรียกหลักประกันเป็นทรัพย์สินก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้กระทำผิดที่ยากไร้ไม่สามารถประกันตัวได้ ทั้งที่อาจเป็นการกระทำความผิดเพียงเล็กน้อยก็ต้องถูกขังเอาไว้ก่อนในระหว่างการสอบสวนดำเนินคดี โดยประเทศไทยถูกจัดลำดับด้านจำนวนผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำแต่ละแห่งรองรับได้ ให้อยู่ในอันดับ ๖ ของโลก อันดับ ๓ ของเอเชีย และอันดับ ๑ ของอาเซียน
ซึ่งจากข้อมูลรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ พบว่ามีผู้ต้องขัง รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๖๑,๓๔๘ คน โดยเป็นผู้ต้องขัง คดียาเสพติดมากถึง ๒๐๗,๖๖๘ คน ในขณะที่จำนวนเรือนจำทั่วประเทศมีเพียง ๑๔๐ แห่งเท่านั้น จึงก่อให้เกิดความแออัดในเรือนจำหรือนักโทษล้นเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณแผ่นดิน ทั้งการดูแลผู้ต้องขังและการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และเนื่องจากปริมาณผู้ต้องขังที่มีจำนวนมากนี้ยังส่งผลให้
การพัฒนาพฤตินิสัยไม่ทั่วถึง
จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ เนื่องจากเมื่อได้รับการปล่อยตัวไปแล้วผู้พ้นโทษไม่สามารถหางานทำได้ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงได้มีแนวคิดและนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ จึงได้มีการริเริ่มโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ ทำให้ผู้พ้นโทษมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อป้องกันการหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก
สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เป็นกรอบแนวคิดที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ จะร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานให้แก่ผู้พ้นโทษและผู้ที่อยู่ในระหว่างพักการลงโทษ และส่ง/รับเข้าไปทำงานในสถานประกอบการที่ภาคเอกชนได้ลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
โดยกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษเข้าไปทำงานในสถานประกอบการให้ได้ จำนวน ๑๖,๐๐๐ คน ต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำเฉลี่ย ๒๑,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อปี จะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณได้มากถึง ๓๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ต่อปี
ที่มาภาพ www.freepik.com
และนอกจากนี้ ในจำนวนผู้ต้องขัง ๑๖,๐๐๐ คน หากให้คุมขังอยู่ในเรือนจำขนาด ๓,๕๐๐ คน จะต้องใช้เรือนจำถึง ๔.๕ แห่ง ซึ่งค่าก่อสร้างเรือนจำ ๑ แห่งนั้น จะต้องใช้งบประมาณราว ๑,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งค่าก่อสร้างเรือนจำสำหรับ ๔.๕ แห่ง จะคิดเป็นงบประมาณสูงถึง ๖,๗๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยควรจะให้มีมาตรการและสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดแรงดึงดูดและแรงจูงใจ
แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติม ภายใต้การเห็นชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
๑. จัดให้มีสถานีรถไฟ หรือท่าเรือเพื่อการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ใกล้เคียง
๒. จัดให้มีพื้นที่ที่อยู่อาศัยของคนงาน (เฉพาะคนงานที่ทำงานในนิคมและครอบครัว) โดยจัดพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ใกล้เคียง โดยเสียค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนลด
๓. การยกเว้นค่าใช้จ่ายร่วมดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมและบริการร่วมดำเนินงาน ค่าประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการลงทุน ค่ากำกับการบริการ กองทุนหลักประกันเพื่อบำรุงรักษาและสร้างทดแทนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
๔. ให้การสนับสนุนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดให้เป็นพื้นที่สีม่วง โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินงานตามกฎหมายผังเมืองเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดระยะเวลาในการใช้พื้นที่เป็นที่ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม
๕. การยกเว้นภาษีส่วนบุคคลให้แก่แรงงานในโครงการที่เป็นผู้พ้นโทษเป็นระยะเวลา ๓ ปี
๖. การให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในเขตพาณิชยกรรม และคนงานในนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ในการยกเว้นหรือลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเข้าถึงสินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยต่ำ และการพัฒนาทักษะแรงงานระดับที่สูงขึ้นเพื่อเสริมสร้างคนงานให้มีประสิทธิภาพ
ที่มาภาพ www.freepik.com
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจะมีบทบาทในการดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ๓ ประการ ดังนี้
๑. ส่งเสริมและดึงดูดให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ที่จะจัดตั้งขึ้น โดยเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการอนุมัติ อนุญาต หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เอื้อแก่การประกอบการ
๒. เตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการบริหารโทษหรือเส้นทางการหมุนเวียนของแรงงานให้เกิดความต่อเนื่อง การส่งเสริมฝึกทักษะอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานตั้งแต่ผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ เมื่อเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ หรือปล่อยตัวพ้นโทษ ก็สามารถป้อนกำลังแรงงานดังกล่าวเข้าสู่ระบบนิคมอุตสาหกรรมต่อไป
๓. สนับสนุนการจัดสร้างที่พักให้แก่ผู้ที่ได้รับการพักโทษที่ออกไปทำงานในสถานประกอบการ เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง สะดวกแก่การเดินทาง และเป็นผลดีต่อการติดตามดูแล กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ได้จัดทำพื้นที่นำร่องต้นแบบ ซึ่งจากการศึกษาในเรือนจำ/ทัณฑสถานกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๒๑ แห่ง ประกอบกับการวิเคราะห์ความพร้อมของเศรษฐกิจในพื้นที่และการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่า มีพื้นที่ซึ่งมีความพร้อมสูงในการดำเนินการโครงการนำร่องต้นแบบ ดังนี้
(๑) จังหวัดสมุทรสาคร สามารถใช้เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก) เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมฝึกทักษะได้
(๒) จังหวัดสมุทรปราการ สามารถใช้เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมฝึกทักษะฝีมือแรงงานรองรับในช่วงเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานก่อนปล่อยตัว
(๓) จังหวัดชลบุรี สามารถใช้เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมฝึกทักษะฝีมือแรงงานรองรับในช่วงเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานก่อนปล่อยตัว
(๔) จังหวัดระยอง สามารถใช้เรือนจำกลางระยอง เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมฝึกทักษะฝีมือแรงงานรองรับในช่วงเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานก่อนปล่อยตัว รวมทั้งเป็นเรือนจำที่มีความพร้อมในการพัฒนาเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขนาดกลางสำหรับรองรับอุตสาหกรรมได้ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม
ในส่วนของความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรมได้ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๑,๒๖๙ หน่วยตัวอย่าง สอบถามเกี่ยวกับการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
อีกทั้งเพื่อเป็นการฝึกทักษะอาชีพพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน ตลอดจนเป็นการสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำลดลง และคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน โดยปรากฏผลสำรวจ ดังนี้
๑. ความคิดเห็นต่อการมีนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๙.๘๙ ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ ๓๒.๘๖ ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ ๔.๐๒ ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ ๒.๙๙ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ ๐.๒๔ ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
๒. ลักษณะของกิจกรรมฝึกวิชาชีพในนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๔.๙๓ ระบุว่า งานประกอบเครื่องยนต์ รองลงมา ร้อยละ ๕๔.๒๒ ระบุว่า เกษตรกรรม ร้อยละ ๕๓.๔๓ ระบุว่า งานผลิตเฟอร์นิเจอร์/งานไม้ ร้อยละ ๔๐.๙๐ ระบุว่า งานเสริมสวย/ตัดแต่งทรงผม และร้อยละ ๓๙.๙๕ ระบุว่า งานประดิษฐ์/ตัดเย็บเสื้อผ้า
ที่มาภาพ www.freepik.com
๓. ลักษณะรูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๔.๐๕ ระบุว่า การตั้งเป็นโรงงานในพื้นที่ปิด (มีข้อจำกัดในการเข้า-ออกพื้นที่) ร้อยละ ๔๓.๕๘ ระบุว่า ควรเป็นโรงงานพื้นที่เปิดเหมือนนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป ร้อยละ ๒.๐๕ ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ ๐.๓๒ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม
๔. แนวคิดการมี “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” จะช่วยให้คนที่เคยกระทำผิดทำผิดน้อยลงหรือไม่ กระทำผิดซ้ำได้หรือไม่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ ๗๓.๔๔ ระบุว่า ช่วยให้คนทำผิดลดลง/ไม่กระทำผิดซ้ำได้ ร้อยละ ๑๕.๘๔ ระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ ๑๐.๒๔ ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ ร้อยละ ๐.๓๒ ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ ๐.๑๖ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล
ในส่วนของความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีการขอความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นั้น โดยส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน
รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษมีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต ซึ่งจะทำให้กระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังมีความครอบคลุมและเป็นระบบยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการให้โอกาส อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้อัตราการกระทำความผิดซ้ำลดลง รวมทั้งเป็นการคืนคนดีสู่สังคม และส่งเสริมการใช้แรงงานภายในประเทศให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าแรงงานจากนอกประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการได้แรงงานคุณภาพซึ่งผ่านการฝึกวิชาชีพมาแล้ว
อีกทั้งภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณในการดูแลผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่มีข้อสังเกตว่า แนวคิดอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จะมีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานเจ้าของเรื่องจะต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาหลักสูตรการฝึกวิชาชีพให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เน้นการสร้างจุดเด่นในการฝึกอาชีพเฉพาะด้านในแต่ละเรือนจำและทัณฑสถาน
บทวิเคราะห์
แนวคิดในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ถือเป็นแนวคิดที่ดีในการส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้พ้นโทษ เป็นการให้โอกาสและทำให้ผู้พ้นโทษมีรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ รวมถึงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำอันเกิดจากการมีผู้กระทำความผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกต้องโทษจำคุกอันเนื่องมาจากปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ ปัญหาโทษปรับที่ยังไร้ประสิทธิภาพ หรือการขาดมาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษ
และนอกจากนี้ในปัจจุบันก็ยังพบว่าผู้ที่พ้นโทษไปแล้วได้หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะความผิดในคดียาเสพติด ซึ่งจากข้อมูลของ
กรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับอัตราการกลับไปกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว พบว่า จำนวนผู้ต้องขังที่กลับไปกระทำความผิดซ้ำภายใน ๑ ปี ภายใน ๒ ปี และภายใน ๓ ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งหมด
ซึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าว คือ ผู้ที่พ้นโทษไปแล้วขาดอาชีพ ขาดรายได้ และไม่ได้รับโอกาสจากสังคมในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เมื่อผู้พ้นโทษเหล่านี้ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้หรือไม่ได้รับโอกาสในการอยู่อาศัยร่วมกับคนในสังคม จึงทำให้หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก ทำให้ปริมาณนักโทษยังคงมีปริมาณสูงและล้นเรือนจำ รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลนักโทษเหล่านี้ในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ
ดังนั้น แนวคิดในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จึงเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยังเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ที่กระทำความผิดให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ มีวิชาชีพในการทำงาน มีรายได้ และไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และรัฐสามารถนำเงินงบประมาณที่ใช้ในการดูแลนักโทษไปพัฒนาประเทศชาติในด้านอื่น ๆ ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าต่อไป
ที่มาภาพ www.freepik.com
จัดทำบทความโดย
นางสาวกรรณิกา พัสระ วิทยากรชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานกฎหมาย ๒ สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
โฆษณา