Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
17 ก.ค. 2023 เวลา 10:55 • ท่องเที่ยว
จากเกาะชวา ถึงบาหลี .. ดินแดนแห่งเทพเจ้าและภูเขาไฟ
เกาะชวา .. เป็นดินแดนที่มีมายาวนาน ย้อนไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 1.7 ล้านปี เมื่อครั้งมนุษย์ชวา (Java Man) ยังคงเร่ร่อน เก็บหา ไล่ล่าอยู่ในเขตชวาตอนกลาง
.. ติดตามมาด้วยการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียสู่หมู่เกาะต่างๆ จวบจนมีการก่อร่างสร้างเมืองและอาณาจักรใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ .. อำนาจถูกเปลี่ยนมือ เจ้าผู้ครองนครก็เปลี่ยนไป
.. จากอาณาจักรศรีวิชัยที่นับถือพุทธศาสนา เป็นอาณาจักร มัชปาหิต ที่นับถือฮินดู .. ทว่าที่สุดอำนาจก็เสื่อมลง เปิดทางให้ศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นใหญ่
.. ช่วงเวลาหลายพันปีมานี้ เกาะชวาจึงกลายเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมความเชื่อที่มีสัดส่วนลงตัวและหลากหลายที่สุด
ความศรัทธาทางศาสนาได้ก่อเกิดงานศิลป์ชิ้นเอกขึ้นมากมายบนเกาะแห่งนี้ แม้ว่าหลายแห่งจะกลายเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีเพียงกองหินเก่าคร่ำคร่า แต่เมื่อมองลึกลงไปในความเก่าของอิฐหินแต่ละก้อนแล้ว .. นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการแสวงหาคุณค่าและคำถามที่ต้องการคำตอบจากอดีต
บนอาณาจักรของพระเจ้า
ประเทศอินโดนีเซียประกอบขึ้นด้วยเกาะนับหมื่นเกาะ วัฒนธรรมนับพัน แต่ละท้องที่จะมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลากหลาย .. เฉพาะที่ศูนย์กลางอำนาจบนเกาะใหญ่อย่างชวาและสุมาตรา หากศึกษาจากบันทึกของพ่อค้าโรมันที่เข้าไปตั้งสถานีการค้าทางตอนใต้ของอินเดียประมาณปี คศ. 100 ซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ..
.. มีเรือที่มิใช่สัญชาติอินเดียได้ขนเครื่องเทศและพริกไทยจากตะวันออกเข้ามายังท่าครั้งละหลายลำ ..
.. เรือเหล่านี้ต้องมาจากชวาและสุมตรา อย่างไม่ต้องสงสัยแน่นอน
ศาสนาแรกที่เข้ามาสู่ชวาและสุมาตราตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ ที่ 1 หรือ 2 คือ ศาสนาฮินดูจากอินเดีย และพวกพราหมณ์ก็อาศัยมากับเรือสินค้าที่ข้ามฟากไปมาระหว่างอินเดียกับสุมาตราหรือชวานั่นเอง
กษัตริย์ในอาณาจักรน้อยใหญ่ก็สมประโยชน์มายกตนให้เป็นเทพ หรือองค์อวตารแห่งพระนารายณ์ ง่ายๆแบบนั้นเลย .. นอกจากพราหมณ์จะมาสอนให้กษัตริย์รู้จักวิธีการใช้อำนาจ และวิธีติดต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังคอยแนะนำวิธีการปกครองบ้านเมืองและผู้คนอีกด้วย
ศาสนาพุทธ .. เข้ามาปะปนกับศาสนาฮินดูและความเชื่อดั้งเดิมของคนท้องถิ่น มะตะรัมโบราณ** ที่สร้างทั้งโบโรบูดูร์ และปรัมบานันแทบจะเวลาเดียวกันเมื่อ คริสต์ศตวรรษที่ 8 หรือ 9 เป็นตัวชี้ที่ดีว่า คนบนเกาะชวาตอนนั้นนับถือทั้งฮินดูและพุทธที่เอื้อกันได้กับความเชื่อท้องถิ่น เอื้อประโยชน์ต่อกษัตริย์และความเป็นอยู่ของผู้คนไปพร้อมๆกัน
พออิสลามมีอิทธิพลทางการค้าในแถบชายฝั่งมะละกา ชวา และสุมาตรา ตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ ที่ 15 .. กษัตริย์และผู้คนก็หันไปนับถืออิสลาม เพื่อสะดวกในการติดต่อค้าขายกับพวกพ่อค้าซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และพอใจที่จะติดต่อกับคนมุสลิมด้วยกัน
.. เมื่อผู้คนในเมืองชายฝั่งหันมานับถือศาสนาอิสลามจนเป็นปึกแผ่นดีแล้ว จึงค่อยๆใช้กำลังขยายอำนาจอิทธิพลลึกเข้าไปในแผ่นดิน จนทั้งเกาะกลายเป็นมุสลิมในที่สุด
พวกที่อยู่บนแผ่นดิน .. เคยชินกับวัฒนธรรมแบบเกษตรและระบบอุปถัมภ์แบ่งชั้นวรรณะมาช้านาน จนไม่สามารถปรับตัวให้หันเหไปนับถือสิ่งใหม่ได้เหมือนกับคนที่อยู่ตามชายฝั่ง รวมถึงพวกที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพวกมุสลิม จึงพากันหนีออกจากชวากลาง ข้ามน้ำข้ามทะเลไปสืบสานความเชื่อของตนต่อบนเกาะบาหลี
.. ปัจจุบัน คนบาหลีจึงยังนับถือศาสนาฮินดูในแบบเฉพาะของตนเอง
**มะตะรัม เป็นชื่อที่ถูกใช้อยู่ 2 สมัย .. สมัยแรกคือ มะตะรัมโบราณในต้น คริสต์ศตวรรษที่ 7 และดำรงอยู่ในชวากลางจนถึงราว คริสต์ศตวรรษที่ 10 ระหว่างนี้เอง “มหาโบโรบูโดร์” ได้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ “ราชวงศ์ไศเลนทร์” ที่นับถือศาสนาพุทธ .. จากนั้นไม่นาน “ราชวงศ์สัญชัย” ซึ่งนับถือฮินดูก็เข้ามามีอำนาจ มีบทบาทแทนราชวงศ์ไศเลนทร์ และได้เข้ามาสร้างเทวสถานฮินดู “ปรามบานัน” ขึ้นมาประชัน
มะตะรัม ในภาคหลัง ถูกนำมาเรียกใหม่ใน คริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อพวกมุสลิมในชวาเหนือเคลื่อนลงมาปราบมุสลิมเดอมักในชวาตอนกลางได้สำเร็จ แล้วเรียกขานอาณาจักรของตนว่า มะตะรัม อีกครั้งหนึ่ง
.. แม้มะตะรัมในภาคหล้งจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีการอ้างว่า ตนนั้นสืบเชื้อสายมาจาก มัชปาหิต กลุ่มอำนาจเก่าที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซีย ผู้นับถือฮินดูพุทธ ก่อนที่จะถูกมุสลิมเดอมักขับไล่ออกจากบริเวณนี้
.. มะตะรัมในภาคหลัง จึงเป็นการทวงคืนอำนาจของมัชปาหิตนั่นเอง .. กษัตริย์มะตะรัมใหม่จึงมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่า ตนเองเป็นสมมุติเทพแบบฮินดู ไม่ใช่เป็นผู้ปกครองและคนธรรมดา
1 บันทึก
2
2
4
1
2
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย