18 ก.ค. 2023 เวลา 13:07 • การศึกษา

กระบวนการนั้นสำคัญกว่า...

หลายครั้งที่ครูได้รับคำถามว่า
"ทำไมโรงเรียนมอนเตสซอรีที่อื่นบรรยากาศไม่เหมือนของครู"
"ครูพาเด็กเดินป่านี่เป็นวอลดอร์ฟหรือเปล่า"
ก่อนอื่นครูขอเล่าในมุมตนเองว่าทุกแนวทางปรัชญาการศึกษา (ที่เอาเด็กเป็นตัวตั้ง) ไม่ว่าจะ Montessori, Waldorf, Reggio Emilia หรือ Holistic บูรณาการองค์รวม ล้วนมีปลายทางเดียวกันคือส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยสูงสุด ให้เด็กได้ใช้"ของขวัญ"ที่เขามีแต่กำเนิดมาพัฒนาตัวเองจนมี self และ EF ให้พร้อมเรียนรู้และใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป
เพียงแต่ละแนวปรัชญานั้นมีเครื่องมือในการพาเด็กไปสู่จุดนั้นคนละแบบ มีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นคนละอย่าง เด็กจึงอาจมีบุคลิกต่างกันตามสิ่งแวดล้อมและรูปแบบการเรียนรู้ที่โตมา หากเรามองอย่างนี้ครูว่าจะทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้น เข้าใจและไม่ยึดติด ยืดหยุ่นได้มากขึ้น
ไม่มีข้อห้ามว่าเด็กมอนเตสซอรีจะไม่เดินป่า
ไม่มีข้อห้ามว่าเด็กมอนเตสซอรีจะไม่ปั้นดิน
ไม่มีข้อห้ามว่าเด็กมอนเตสซอรีจะไม่ละเลงสีน้ำ
ไม่ว่าจะเป็น เดินป่า แยกขยะ รีไซเคิล ย้อมผ้า เล่านิทาน ศิลปะจากสิ่งรอบตัว ทำอาหาร ทำสวน ร้องเพลง เล่นดนตรี ปั้นขี้ผึ้ง ถักไหมพรม ทำงานไม้ งานช่าง ร้อยมาลัย ไปวัด ดูดาว ทดลองวิทยาศาสตร์ จัดนิทรรศการ เล่นไล่จับ ออกกำลังกายบู๊สุดซอย ฯลฯ
มอนเตสซอรี 3-6 ทำได้ทั้งหมด เพราะล้วนเป็นกิจกรรมพัฒนา self และขับเคลื่อนให้เกิด normalization ทำให้เด็กปรับตัวเข้ากับสิ่งรอบตัวได้ #แก่นของแต่ละปรัชญาจึงอยู่ที่กระบวนการขับเคลื่อนมากกว่าจะมาแบ่งว่ากิจกรรมนี้ของมอนเตสซอรี กิจกรรมนี้ไม่ใช่
หากครูมอนเตสซอรีบังคับให้เด็กทุกคนทำงานเหมือนกัน บอกวิธีทุกขั้นทุกตอนจนเด็กไม่สามารถสร้างสรรค์ตามจังหวะของตัวเองได้ ใช้คำพูดทำลายเซลฟ์ ไม่เคารพเด็ก ไม่คละอายุ ใช้หน้าจอสอนภาษา หากครูไม่พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กพึ่งพาตนเอง ไม่ได้ยึดหลัก help me to do it myself ไม่มี work cycle ที่ได้คุณภาพ ไม่มี freedom with limits กรณีเหล่านี้ครูมองว่ามีปัญหาแต่จะไม่เอางานที่เด็กทำมาแบ่งแยกกัน
ฉะนั้น การที่โรงเรียนมอนเตสซอรีจะจัดกิจกรรมต่างกันไปบ้างตามบริบทของแต่ละพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังขา และคงเป็นไปไม่ได้ที่โรงเรียนมอนเตสซอรีในเมืองใหญ่จะพาเด็กเดินป่าทุกวันเพราะเขาไม่สามารถหาสถานที่แบบนั้นได้ใกล้ตัว จึงไม่สามารถนำมาวัดว่านี่ใช่หรือไม่ใช่มอนเตสซอรีจนกว่าเราจะได้เห็นกระบวนการ
จุดร่วมของมอนเตสซอรี คือ
1. การใช้แนวโน้มความเป็นมนุษย์ จิตซึมซับและช่วงเรียนรู้ไวให้เกิดผล (เข้าใจพัฒนาการ)
2. การมีสิ่งแวดล้อมที่ตระเตรียมไว้ให้เด็กเกิดการพึ่งพาตนเอง ได้เรียนรู้ตามจังหวะของตนเอง มีอิสระและขอบเขตที่สนับสนุนพัฒนาการ
3. มี work cycle ที่ได้คุณภาพ ใช้งานสร้างตัวตนที่พร้อม มิใช่สร้างเด็กที่รู้ไปหมดหรืออ่านออกเขียนได้ตามที่ผู้ใหญ่ว่าควรรู้
4. มีครูที่ดี เป็น prepared adults ที่สังเกตเป็นและมีความแยบคาย
5. มีเป้าเพื่อให้เด็กพึ่งพาตนเองได้ (มี self) และเข้าสู่ normalization (มี EF มีจิตใจที่สมดุลพร้อมเรียนรู้)
ครูเองเคารพและชื่นชมกับทุกปรัชญา ทุกวันนี้ก็ยังติดตามดูหลายโรงเรียนจนกลายมาเป็นเพื่อนกันแม้จะไม่ใช่ครูมอนเตสซอรีเหมือนกัน หลายกิจกรรมครูก็ได้มาจากโรงเรียนบูรณาการและโรงเรียนอื่นก็นำมตซรไปปรับใช้เหมือนเราบ้าง
ครูพบว่านี่คือความงดงามของการศึกษา ที่เราสามารถจัดกระบวนทัศน์ ยืดหยุ่น แลกเปลี่ยน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันเพื่อให้เด็กๆได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดแท้จริง
#บันทึกครูมอนเตสซอรี
#montessoriguidesdiary
โฆษณา