7 ส.ค. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

ความยั่งยืนคืออะไร ทำไมธุรกิจต้องใส่ใจเรื่องความยั่งยืน?

- ผลการศึกษาของ Sustainability Institute of ERM พบว่านักลงทุนมองประเด็นของความยั่งยืนมากขึ้น จากเดิมที่มองในแง่ของตัวเลขผลกำไรเป็นรายปี
- ความยั่งยืนมีผลกับการตัดสินใจของนักลงทุน องค์กรที่มีการทำเรื่องความยั่งยืนได้ดีและเปิดเผย จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจะให้ความสนใจและราคาหุ้นสูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เปิดเผยเรื่องความยั่งยืน
- Sustainability Management Processes คือการสอดแทรกความยั่งยืนให้อยู่ในกลยุทธ์ดำเนินกิจการ เพราะความยั่งยืนที่ดีต้องฝังไปกับกลยุทธ์ขององค์กร ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา
- Materiality Analysis คือการวิเคราะห์หาประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ มีผลกระทบบวกหรือลบกับธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder)
- การจะวิเคราะห์ประเด็นความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ต้องลงรายละเอียดใน Value Chain ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ธุรกิจของเราอย่างเดียว
- แนวทางเปิดเผยรายงานเรื่องความยั่งยืน Global Reporting Initiative (GRI) ปัจจุบันจะใช้แนวทาง GRI 3 ที่เริ่มใช้ในปี 2021
ความยั่งยืน หรือ ESG เทรนด์มาแรงในแวดวงธุรกิจทั่วโลก โดยบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์มีความสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ERM Bangkok ในฐานะที่ปรึกษาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยดร.ชัชรี ธีรพงษ์ Principal Consultant คุณทศพร บุญสง Managing Consultant และคุณบงกช ทองสดายุ Principal Consultant จะมาบอกว่าความยั่งยืนสำคัญกับธุรกิจอย่างไร
กลุ่มประเด็นความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมีอะไรบ้าง
1
ESG ประกอบด้วย Environmental สิ่งแวดล้อม : Climate Change Biodiversity การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ระบบการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมในองค์กร , Social สังคม : โอกาสการทำงานที่เท่าเทียมกัน ค่าตอบแทน เสรีภาพในการรวมตัวกันในเรื่องต่างๆ ความปลอดภัยในการทำงาน สิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานและซัพพลายเออร์ การดูแลลูกค้า รับผิดชอบกับสินค้าที่จำหน่ายไป, Governance ธรรมาภิบาล : จริยธรรมทางธุรกิจ การปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับ
ดร.ชัชรีแบ่งกลุ่มประเด็นความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ดังนี้
- Geopolitics : การเมืองในพื้นที่มีผลต่อความยั่งยืน โดยการลงทุนในอนาคตจะเชื่อมโยงกับ ESG มากขึ้น เช่น การขอกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจกับแบงก์ต่างชาติ จะมีกฎระเบียบการให้เงินทุนที่นำเรื่อง ESG เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
- Climate Change : มองประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและพันธกิจบนเวทีโลกในข้อตกลงก๊าซเรือนกระจก Paris Agreement ที่จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการค้าระหว่างประเทศ เช่น การควบคุมนำเข้าส่งออกสินค้าที่ขั้นตอนการผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนก่อน ดังนั้นจึงต้องศึกษาและเข้าใจเรื่อง ESG
- Biodiversity : ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่ต้องระวังการไปสร้างความเสียหายทางชีวภาพ
3
- Respect fundamental rights : ธุรกิจดูแลพนักงานได้ดีขนาดไหน โดยองค์กรที่มีความยั่งยืนสูงจะรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่กับบริษัทให้นานที่สุด เพราะบุคลากรเป็นสินทรัพย์ขององค์กร และต้องเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทให้ต่อสู้กับคู่แข่งได้
นอกจากนี้ยังรวมถึงการดูแลกลุ่มซัพพลายเออร์ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจของเราบริษัทเดียว แต่เป็นการมีส่วนร่วมทั้ง Value Chain ให้มีความยั่งยืนร่วมกัน เช่นประเด็นเรื่อง Human Right ก็ไม่ใช่จำกัดแต่พนักงานของบริษัท แต่ต้องดูการประกอบธุรกิจของบริษัทซัพพลายเชนของเราด้วย ว่าไปละเมิดเรื่อง Human Right เช่นจ้างแรงงานเด็กหรือเปล่า?
ผลการศึกษาของ Sustainability Institute of ERM ที่อังกฤษ ตรงกับที่ UN Global Compact ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ ที่มองเห็นความสำคัญของความยั่งยืนในการบริหารจัดการองค์กร เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในโลกอนาคต เพราะนักลงทุนจะมองประเด็นของความยั่งยืนมากขึ้น จากเดิมที่มองในแง่ของตัวเลขผลกำไรรายปี
แต่ตอนนี้นักลงทุนจะมองว่าบริษัททำอะไรที่สร้างความยั่งยืนองค์กรเพื่อให้มีผลกำไรต่อเนื่องกันไปเป็น 5 ปี 10 ปี ซึ่งนักลงทุนจะดูคะแนนการประเมินเรื่องความยั่งยืนในองค์กรจากหลายหน่วยงาน เช่น ดัชนี DJSI , S&P กลุ่ม MSCI และพบว่ากลุ่มธุรกิจที่ทำ ESG ดี นักลงทุนจะให้ความสนใจ และส่งผลให้ราคาหุ้นสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เปิดเผยเรื่อง ESG สู่สาธารณชน
นอกจากนี้ แนวคิดสำคัญของความยั่งยืน ประกอบด้วย People Planet Profit เป็นการมองภาพอนาคต แสวงหาโอกาสและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น การลงทุนทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกเตรียมรับ Carbon Tax ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในระยะยาวการให้ความสำคัญเรื่อง ESG จึงช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ในส่วนที่เป็นโอกาส ก็มีเรื่อง Green Investment หรือ Green Fund ที่เป็นเงินกู้สีเขียวให้แก่องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนนำมาขยายธุรกิจสร้างผลกำไรก่อนคนอื่น
ทำอย่างไรให้การบริหารจัดการความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในองค์กร
ความยั่งยืนที่ดีต้องฝังไปกับกลยุทธ์ขององค์กร ต้องอยู่ในการทำงานทุกภาคส่วน ไม่ใช่การทำเพิ่มเติมขึ้นมาSustainability Management Processes คือการสอดแทรกความยั่งยืนให้อยู่ในกลยุทธ์ดำเนินกิจการ มีการทำ การประเมินสาระสำคัญเรื่องความยั่งยืน หรือ Materiality Analysis ที่เป็นกระบวนการวิเคราะห์ว่าประเด็นความยั่งยืนอันไหนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ มีผลกระทบบวกหรือลบกับธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) การวิเคราะห์ประกอบด้วย
1
· การวิเคราะห์ประเด็นความสำคัญเรื่อง ESG ที่ธุรกิจเรามีโอกาสจะไปเกี่ยวข้องหรือละเมิดได้ เช่น ในธุรกิจก่อสร้าง ผู้รับเหมาอาจมีประเด็นเรื่องการใช้แรงงานเด็ก แล้วส่งผลกับชื่อเสียงและธุรกิจของเราได้ ทั้งนี้ ประเด็น ESG ด้านต่างๆ จะมีระดับความสำคัญไม่เท่ากันในแต่ละธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจก่อสร้างมักจะมีประเด็นเรื่องสังคม ธุรกิจเกษตร หรือธุรกิจพลังงานจะมีประเด็นกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า ประเด็นไหนที่มีความสำคัญกับธุรกิจเรา
· ดูว่าธุรกิจมีนโยบายที่เกี่ยวข้องประเด็น ESG หรือไม่ เช่น นโยบายสนับสนุนการแก้ปัญหา Climate Change รวมไปถึงกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกในระยะกลาง ระยะยาว รวมถึงการทำ Action Plan , Road Map
· การลงมือทำจริง มีคนรับผิดชอบโครงการที่ทำในแต่ละภาคส่วน มีการเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้นักลงทุนเห็นภาพการจัดการที่ดีของเรา และให้ความสนใจธุรกิจเรามากขึ้น
การวิเคราะห์ประเด็นสำคัญใน Value Chain
Materiality ตามความหมายในตลาดหลักทรัพย์คือ ประเด็นความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ซึ่งการจะหาประเด็นความสำคัญขององค์กร เราต้องเข้าใจองค์กรและบริบทขององค์กรตัวเองก่อน ว่าเราทำธุรกิจเรื่องอะไร เรามีกิจกรรมทางธุรกิจอะไรบ้างที่จะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า ทั้งนี้ การจะวิเคราะห์ประเด็นความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) มีว่ามีใครบ้าง จำเป็นต้องลงรายละเอียดใน Value Chain ทั้งหมด เพราะ Value Chain คือกิจกรรมของการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงส่งมอบสินค้าบริการให้ลูกค้า
1
ดังนั้น การหาผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรเราจึงไม่จำกัดเฉพาะพนักงานเท่านั้น ต้องวิเคราะห์ว่าผู้มีส่วนได้เสียแต่ละเจ้าให้ความสำคัญ มีความเป็นห่วงเรื่องอะไร และMateriality จะเป็นตัวบอกว่าบริษัทควรให้ความสำคัญประเด็นไหนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย
หลักการบ่งชี้หาผู้มีส่วนได้เสีย มาจากวิเคราะห์ว่า 1) ธุรกิจเราต้องพึ่งใครบ้าง 2) องค์กรเราต้องรับผิดชอบใครบ้าง 3) มีใครบ้างที่องค์กรเราต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน 4) องค์กรเรามีอิทธิพลกับใครบ้างและใครมีอิทธิพลกับเราบ้าง 5) กลุ่มที่ให้คำแนะนำ ความคิดเห็นกับธุรกิจเราได้
เมื่อได้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียมาแล้ว ก็ต้องทำ Stakeholder Analysis ซึ่งมีทั้ง Internal Stakeholder และ External Stakeholder เพื่อวางแผนบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสีย
กรอบการรายงานเปิดเผยข้อมูล GRI 3
ทั้งนี้ การทำ Materiality Analysis มีการอ้างอิงมาตรฐานและกรอบการทำงานที่เกี่ยวข้องในการเปิดเผยข้อมูล โดยมีการให้คะแนนเรทติ้ง มี 2 รูปแบบ แบบแรกคือแบบ การให้คะแนนเชิงรุก (Actively) ที่หน่วยงานจะตั้งคำถามให้คะแนน เช่น S&P Global, DJSI Dow Jones Sustainability Index เป็นต้น แบบที่สองคือ การให้คะแนนเชิงรับ (Passively) ที่หน่วยงานเข้ามาดูข้อมูลที่เปิดเผยอยู่รายงานด้านความยั่งยืน และในเว็บไซต์ขององค์กร
แนวทางการเปิดเผยรายงานเรื่องความยั่งยืน หรือ Global Reporting Initiative (GRI) จะบอกว่าการรายงานเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยเรื่องอะไรบ้าง โดยปัจจุบันจะใช้แนวทาง GRI 3 ที่เริ่มใช้ในปี 2021 ซึ่งมีข้อแนะนำการเปิดเผยข้อมูล 4 ขั้นตอน ได้แก่
1) Understand the organization’s context : รู้ว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจขององค์กรมี Value Chain อย่างไร มี Stakeholder กลุ่มใดบ้าง อะไรที่เป็นความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ มาตรฐานในอุตสาหกรรมของธุรกิจให้ความสำคัญกับประเด็นอะไร
2) Identify Actual an Potential Impact : เมื่อรู้ว่าผู้มีส่วนได้เสียเป็นใคร ก็ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับเขา วัดความพึงพอใจ สอบถามความคาดหวัง และเอามาวิเคราะห์ผลที่จะอาจเกิดกับธุรกิจ ทั้งนี้ การประเมินผลและเตรียมแผนรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีระดับต่างกัน (Spectrum of Impact) ทั้งเกิดขึ้นโดยตั้งใจและเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ซึ่งก็ต้องนำมาคิดให้ครบถ้วน
จากนั้น ก็นำผลกระทบมาจับเข้ากับความยั่งยืนทั้ง 3 มิติ นอกจากเรื่องภาวะภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ประเด็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษย์ชนก็เป็นสิ่งที่ GRI ให้ความสำคัญมาก
3) Assess the significant of the impacts : ประเมินขนาดผลกระทบว่าใหญ่ขนาดไหน โอกาสที่เกิดขึ้นของผลกระทบ (Likelihood) ทั้งทางบวกและลบ วงผลกระทบขยายไปถึงใครบ้าง และแนวทางการชดเชยผลกระทบนั้นๆ
4) Prioritize the most significant impacts for reporting : จัดกลุ่มเรื่องผลกระทบเป็นกลุ่มประเด็นสำคัญหัวข้อเดียวกัน เพื่อวางกลยุทธ์จัดการไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการให้ความสำคัญแต่ละกลุ่มอย่างไร เพื่อจะบริหารจัดการทรัพยากรแก้ไขผลกระทบแต่ละกลุ่ม
นอกจากนี้ GRI ยังกำหนดให้ทางบริษัทต้องไปขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก อีกส่วนอาจไปหารือกับผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม จากนั้นก็นำหัวข้อประเด็นสำคัญ (Materiality Topic) ไปเผยแพร่ข้อมูลสู่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน สื่อสารภายในองค์กร ให้ทราบอย่างชัดเจน นำไปสู่การออกนโยบายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นลงมือปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ตรวจสอบผล และเปิดเผยข้อมูล ประเด็นสำคัญหรือ Materiality Topic เป็นเหมือนเข็มทิศ ก่อนจะเดินหน้าลงมือทำอะไร ก็ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะมุ่งหน้าในประเด็นอะไร เรื่องอะไรเป็นอันดับแรก
1
โฆษณา