Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บันทึกของฉัน
•
ติดตาม
19 ก.ค. 2023 เวลา 18:15 • หนังสือ
รีวิว วันของนกฮูก ของ เลโอนาร์โด ชัชชา
ว่ากันว่าประเทศที่มีความใกล้เคียงไทยที่สุด ไม่ใช่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเพื่อนบ้านรอบข้างไทย หากเป็นประเทศที่มีรูปทรงรองเท้าบูทในทวีปยุโรป ชื่อ “อิตาลี”
คำกล่าวนี้เป็นจริงมากน้อยเพียงใดอาจยังถกเถียงกันได้อยู่ แต่หากเราลองเปลี่ยนชื่อบุคคล เปลี่ยนชื่อสถานที่ และแทนด้วยอะไรที่ฟังดูไทยๆ เชื่อว่าคงหลายคนคงเคลิ้มตามจนลืมไปว่าต้นเรื่องทั้งหมดเกิดในอิตาลี ไม่ใช่ไทย
ในที่นี้ขอละประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ (ที่ชาวอิตาเลียนก็มีประสบการณ์ลมหายใจภายใต้ระบอบเผด็จการคล้ายกับไทย) ไว้ก่อน แต่ขอชวนเปรียบเทียบผ่านนวนิยายมาเฟียซิซิลีเรื่อง “วันของนกฮูก” (Il giorno della civetta) ของ Leonardo Sciascia
เรื่องของเรื่องเกิดจากชายคนหนึ่งถูกลอบยิงอย่างโจ่งแจ้งกลางจัสตุรัสเมืองซิซิลี แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดกลับหายวับภายในพริบตา ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากหรือมีส่วนร่วมเป็นพยาน แต่ท้ายที่สุด ด้วยกลวิธีบางประการ “เบ็ลลอดิ” ตำรวจเจ้าของคดีก็สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้
เบ็ลลอดิค้นพบว่า เบาะแสที่เขาค้นพบเป็นเพียงห่วงหนึ่งที่มีข้อคล้องต่อไปยังห่วงแห่งอาชญกรรมอื่นๆ มากมาย คดีนี้ไม่ได้เป็นเพียงการฆาตกรรมเพราะชู้สาวอย่างที่ตำรวจทั่วๆ ไปมักด่วนสรุป แต่มันคือการจ้างวานฆ่าเพื่อเบียดเบียนผลประโยชน์เข้าตนเองของมาเฟียท้องถิ่นผู้มากบารมี ผู้ซึ่งจะพาเขาเดินไปใส่กุญแจมือรัฐมนตรีหรือผู้แทนราษฎรของประเทศได้
ปัญหาคือ ทั้งๆ ที่การฆ่าและการค้าของมาเฟียมีอยู่จริง รัฐขณะกลับปฏิเสธการมีอยู่ของมาเฟีย และทำให้มันเป็นแค่กลุ่มคนใน “จินตนาการ” แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาเฟียเหล่านี้มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับอำนาจรัฐ หากเราอ้างคำของ Sciascia ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ มาเฟียก็เป็นระบบที่เกิดขึ้นและขยายตัวอยู่ภายในรัฐนั่นเอง
คำให้การตอนหนึ่งในเรื่องสะท้อนบอกชัดเจน
“ไม่รู้สิครับ...ก็คงเป็นเพื่อนฝูง ธนาคาร พยายามหาช่องทางเหมาะๆ เข้าไปอยู่ในแวดวงการเมือง... ผมว่าช่องทางที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ก็คนปกครองคือคนออกกฎหมาย ใครอยากได้ประโยชน์จากกฎหมายก็ต้องอยู่กับคนที่ปกครอง” (น.122-123)
ขณะเดียวกัน อีกฉากหนึ่งยังบรรยายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐที่มีความคล้ายคลึงกับไทยอย่างมาก (หากเราเชื่อกรอบคิด “ครอบครัวจินตกรรม” ที่พยายามให้คนๆ หนึ่งเป็นพ่อ แม่ พี่ หรือลุง ของเรา แม้พวกเขาจะไม่ได้เกี่ยวพันในเชิงสายเลือดใดๆ กับเราก็ตาม)
“ครอบครัวคือรัฐของชาวซิซิลี รัฐที่หมาย
ถึงรัฐสำหรับเรา เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก เป็นองค์กรที่มีขึ้นโดยการบังคับ แล้วกำหนดให้มีภาษี การรับราชการทหาร ตำรวจ และสงคราม ... ชาวซิซิลีอาจคลั่งไคล้แนวความคิดของรัฐ และก้าวขึ้นไปบริหารรัฐบาล แต่รูปแบบอันแน่ชัดและชี้ขาดของสิทธิและหน้าที่ของพวกเขาคือครอบครัว ซึ่งย่นย่อหนทางสู่ความโดดเดี่ยวของผู้ชนะ” (น. 149)
การถูกทำให้เป็นครอบครัวเดียวกันยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่างตอบแทนที่ทำให้ผู้รับต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของผู้มีอิทธิพล (หรือก็คือ “คนดี”) ไปโดยปริยาย ภาระทางศีลธรรมที่ผู้รับเหล่านี้ต้องแบกรับคือการไม่ทำตัวอกตัญญูหักหลังเปิดโปงความผิดที่คนดีผู้มีอิทธิพลได้ก่อขึ้น ดังที่ผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งกล่าวปกป้อง “ผู้ใหญ่” ผู้เป็นหัวหน้ามาเฟียอย่าง “ดอนมาเรียโน”
“ถ้าคุณรู้จักดอนมาเรียโนอย่างที่ผมรู้จัก คุณจะไม่พูดถึงมลทินเลย คนแบบนี้น่ะ ขอผมพูดเถิด หายาก ผมจะไม่พูดว่าเพราะศรัทธาที่แกมีต่อศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย... แต่ผมจะพูดว่าเพราะความซื่อสัตย์ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ และภูมิปัญญาของแก... คนผู้นี้ประเสริฐนัก ผมรับประกันได้เลย ยิ่งถ้าคิดว่าแกไร้การศึกษา ไร้วัฒนธรรม... แต่คุณรู้ว่าหัวใจอันบริสุทธิ์นั้นมีค่ากว่าวัฒนธรรมมากแค่ไหน... แล้วนี่ไปจับคนแบบนี้ เหมือนจับโจรผู้ร้าย” (น. 93-94)
ฉากเดียวกันนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า เสียงของประชาชนเป็นสิ่งไร้ความหมายในสังคมเช่นนี้ หรือหากจะมีความหมายอะไรสักอย่าง ก็เป็นได้เพียงถ้อยคำหมิ่นประมาท (ที่อาจให้บรรดาคนดีร้องต่อศาลว่าพวกเขาได้รับความเสียหาย) เท่านั้น
“เสียงของประชาชน... เสียงขอประชาชนมันคืออะไรหรือ เสียงในอากาศ เสียงลม ที่พัดพาถ้อยคำหมิ่นประมาท ใส่ความ และแก้แค้นด้วยวิธีสกปรก... แล้วอีกอย่าง มาเฟียคืออะไรรึ... มาเฟียก็เป็นแค่เสียงคนบอกว่ามี แต่อยู่ที่ไหนไม่รู้... เสียง... เสียงที่ลอยไปแล้วดังก้องอยู่ในหัวคนที่เชื่อคนง่าย”
ในทำนองเดียวกับที่เพื่อนใหม่ของเบ็ลลอดิฟังเรื่องมาเฟียซิซิลีของเขาในฐานะเป็นแค่เรื่องแปลกพิสดาร (exotic) ต่างชาติก็งุนงงกับสิ่งพิสดารที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ที่คนซึ่งเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ทำให้สูญหาย หรือทำธุรกิจสีเทา สามารถไต่เต้าและมีอำนาจในสังคมได้อย่างหน้าตาเฉย ซ้ำยังมีคนจำนวนหนึ่งประโลมเลียด้วยการเชิดชูว่าเขาเป็นคนแสนประเสริฐอีกด้วย
และด้วยความบังเอิญหรืออื่นใดก็ไม่ทราบ Sciascia จำเป็นต้องเขียนถึงมาเฟียที่มีอยู่จริงด้วยการบอกว่าสิ่งที่อยู่ในนวนิยายเล่มนี้เป็นเพียงเรื่องจินตนาการ การเขียนถึงผู้มีอิทธิพลในบ้านเมืองนี้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปิดบังว่ากำลังพูดถึงใครเพื่อที่ความสงบในชีวิตจะได้ไม่ถูกรบกวน
แต่ก็มิวาย การจำเป็นต้องปิดบังก็อาจมีผลร้ายตามมาเช่นกัน เพราะหากใครดันร้อนตัวว่าคำวิจารณ์ที่เขียนนั้นกำลังกล่าวถึงตน (หรือเข้าใจว่ากล่าวถึงคนที่ตนเชิดชู) ชีวิตของผู้วิจารณ์ก็จะเดือดร้อนเอาได้ง่ายๆ เพราะในทำนองเดียวกับที่อิตาลีเคยปฏิเสธว่ามาเฟียไม่มีอยู่จริง การมีอยู่ของอำนาจฉ้อฉลในบ้านเมืองนี้ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการพิสูจน์เช่นกัน
… แม้ว่าเราจะเห็นกันอยู่ตำตา
ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่า
ความคิดเห็น
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย